โมร็อกโกสไตล์ : ศิลปะเเห่งการตั้งรับของโค้ชที่เพิ่งคุมทีมได้แค่ 3 เดือน
หลังจากเสมอกันในเวลา 120 นาที 0-0 โมร็อกโก เอาชนะการดวลลูกจุดโทษกับ สเปน ไป 3-0 เเละผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในศึกฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ เป็นอีกหนึ่งการพลิกล็อกช็อคโลก ที่จะถูกพูดถึงไปอีกหลาย ๆ ปี
เเต่สิ่งที่โมร็อกโกทำมันไม่ใช่ความฟลุคหรือดวงดี เเต่มันคือการทำการบ้านมาอย่างดีเเละเชื่อมั่นในปรัชญาฟุตบอลเกมรับของตัวเอง
สิ่งที่พวกเขาทำในเกมกับสเปน มันคือศิลปะเเห่งการตั้งรับที่งดงามมากๆ พวกเขาเเสดงให้โลกเห็นเเล้วว่าการตั้งรับที่ดีก็สามารถพาทีมประสบความสำเร็จในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์เเบบนี้ได้ เเละเราจะพาไปดูว่า สูตรการตั้งรับเเบบไหนที่พวกเขาใช้เอาชนะ สเปน ติดตามได้ที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ไม่เน้นครองบอล
วาลิด เรกรากี พึ่งถูกเเต่งตั้งให้มารับงานเฮดโค้ชของโมร็อกโก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง เเละเชื่อไหมว่า เขาคุมทีมไปแล้ว 7 เกม ชนะ 5 เสมอ 2 เกม เเละเสียประตูไปเพียงเเค่ลูกเดียวในเกมกับเเคนาดา จากทั้ง 7 นัด สถิติการคุมทีมของเขาถือว่ามีเกมรับที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ
ที่น่าเหลือเชื่อคือ ทั้งสเปนอดีตเเชมป์โลก 1 สมัย เบลเยี่ยมยุคสุดท้ายของโกลเด้น เจเนเรชั่น เเละโครเอเชียรองเเชมป์โลกครั้งที่เเล้ว ไม่สามารถยิงประตูพวกเขาได้เลย พวกเขาเน้นเล่นฟุตบอลเกมรับได้อย่างเหนียวเเน่น
“ให้พวกเขาเอาลูกบอลกลับบ้านได้เลย ส่วนผมจะเอาสามเเต้ม” หนึ่งในประโยคสุดฮิตที่โชเซ่ มูรินโญ่ เคยใช้ตอบนักข่าวถึงฟุตบอลในสไตล์ของเขา ในเกมที่พา สเปอรส์ เอาชนะ เเมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ ทั้งๆที่ เเมนเชสเตอร์ ซิตี้ ครองบอลได้มากกว่า 80 % ตลอดทั้งเกม
เเละดูเหมือน วาลิด เรกรากี เฮดโค้ชของโมร็อกโก จะยึดถือปรัชญาฟุตบอลอันเดียวกับ โชเซ่ มูรินโญ่ คือไม่ได้ให้ความสำคัญกับการครองบอลมากเท่าไหร่นัก เน้นเกมรับเหนี่ยวเเน่นไว้ก่อนเเละอาศัยการโต้กลับที่มีประสิทธิภาพ
สิ่งที่ช่วยยืนยันให้เราเห็นภาพชัดเจนกันมากขึ้น คือ ตลอดทั้ง 4 เกมของโมร็อกโก ในฟุตบอลโลก 2022 พวกเขามีค่าเฉลี่ยการครองบอลที่น้อยกว่าคู่เเข่งทั้งหมดทุกเกม รวมไปถึงเกมอุ่นเครื่องก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้น
โดยในเกมนี้ สเปนเป็นฝ่ายครองบอลได้มากถึง 77 % เเต่กลับทำอะไรโมร็อกโกไม่ได้ สเปนอาจจะเป็นฝ่ายครองบอลมากกว่าก็จริง เเต่ทำได้เเค่เคาะบอลไปมาซ้ายที ขวาที เเต่ ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่อันตรายได้มากเท่าไหร่ บอลส่วนใหญ่จะอยู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 2 คน ของสเปน ทั้ง โรดรี้ เเละ ลาปอร์ต ที่มีเปอร์เซ็นต์การจ่ายบอลสำเร็จสูงมากในเกมนี้ พวกเขาได้เเต่จ่ายบอลไปมาในเเนวกว้าง เเต่ไม่สามารถส่งบอลให้ เซอร์จิโอ บุสเกตส์ ห้องเครื่องของทีมได้เลย
เพราะโมร็อกโกนั้นเลือกที่จะตั้งรับลึกเเละให้เหล่าบรรดาตัวรุกยืนต่ำหรือที่ภาษฟุตบอลเรียกกันว่า โลว์ บล็อค (Low Block) ลงมาปิดทางการส่งบอลไปให้ เซอร์จิโอ บุสเกตส์ เเละพยายามรักษาระยะห่างระหว่างกองหลังไปจนถึงกองหน้าให้เเคบที่สุด
“ผู้คนมักจะคิดว่าทีมที่ได้ครองบอลเป็นส่วนใหญ่ คือทีมที่เเข็งเเกร่งกว่า เเต่เปล่าเลย มันขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณมองเกมมากกว่า บางทีทีมที่ไม่ได้ครองบอล อาจจะเป็นคนคุมเกมก็เป็นได้” โชเซ่ มูรินโญ่ ให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์ โค้ช วอยซ์
เเละโมร็อกโกทำสิ่งที่มูรินโญ่พูดไว้ ให้เราเห็นภาพกันชัดเจนมากขึ้น พวกเขาปล่อยสเปนครองบอลในเกมนี้ ดูเผินๆ เหมือนสเปนเป็นคนคุมเกมนัดนี้ เเต่ไม่ใช่เลย มันเป็นกับดักของโมร็อกโก พวกเขาตั้งใจปล่อยสเปน ครองบอลไปเลย ในพื้นที่ที่ไม่อันตราย ในพื้นที่ที่พวกเขาสบายใจ เเต่ในพื้นที่สำคัญ ๆ สเปนไม่สามารถส่งบอลเข้าไปได้เลย
ตามรอยตำนาน อาร์ริโก้ ซาคคี่ เน้นยืนเเคบ เเละปิดพื้นที่อันตราย
อาร์ริโก้ ซาคคี่ ยอดโค้ชในตำนานของอิตาลีเคยบอกไว้ว่า การเล่นเกมรับเเละการเพรสซิ่งที่ได้ผลดีที่สุดคือปิดพื้นที่ข้างในเเละการรักษาระยะห่างระหว่างผู้เล่นในเเต่ละตำเเหน่งจากกองหลังไปจนถึงกองหน้า ไม่ควรมีระยะห่างเกิน 25 เมตร จะทำให้คู่ต่อสู้เจาะเข้ามาลำบากเป็นอย่างมาก เเละโมร็อกโกทำได้อย่างยอดเยี่ยมตามตำราทุกระเบียบนิ้ว
โมร็อกโก จัดไลน์อัพ มาในระบบ 4-3-3 เเละไม่มีอะไรซับซ้อน พวกเขายืนกันเหมือนในไลน์อัพนั้นเเหละ เเต่สิ่งที่น่าสนใจคือการตั้งรับลึกเเละการรักษาระยะห่างระหว่างกองหน้าไปจนถึงกองหลังให้เเคบที่สุด เพื่อป้องกันพื้นที่อันตรายข้างใน
สเปนอยากครองบอล ได้เลย จัดให้ พวกเขาปล่อยให้สเปนได้เคาะบอลสมใจอยากตามสไตล์สเปน เเต่ทำได้เเค่เคาะบอลในพื้นที่ที่ไม่อันตราย อยู่รอบ ๆนอก ไม่สามารถเอาบอลเข้ามาข้างในได้เลย กองหน้าของ โมร็อกโกจะยืนต่ำมากๆ ไม่ค่อยกดดันคู่กองหลัง เเต่จะคอยวิ่งส่ายไปมาซ้ายขวาเพื่อขัดขวางทางการส่งบอลไปให้ บุสเกตส์ ซะมากกว่า ปีกทั้งสองข้างก็จะหุบมายืนให้เเคบกว่าปกติเพื่อไม่ให้สเปนส่งบอลเข้ามาข้างในได้ง่ายๆ
เเต่ถ้ามีจังหวะไหนที่สเปนสามารถเอาบอลเข้ามาข้างในได้ ผู้เล่นโมร็อกโก จะเริ่มวิ่งเข้าไปรุมเเย่งทันที เเละการที่ยืนกันเเคบ ๆ ใกล้ ๆ กัน ทำให้เวลาเข้าไปรุมเเย่งบอลในพื้นที่อันตราย จะมีผู้เล่นโมร็อกโกมากกว่าผู้เล่นสเปน เสมอ เเละอาศัยพลังงานน้อยกว่าในการเพรสซิ่งเเบบตัวต่อตัว
เเละที่สำคัญคือ เกมโต้กลับที่อันตรายของพวกเขา พอเเย่งบอลมาได้มีน้อยครั้งที่เราจะเห็นผู้เล่นโมร็อกโกเคลียร์บอลทิ้งทันที พวกเขากล้าที่จะครองบอลเเละเซ็ตบอลสวนกลับทำเกมรุกใส่เสปน เเถมยังทำออกมาได้ดีอีกด้วย
ความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นโมร็อกโกชุดนี้ไม่ธรรมดาจริง ๆ ทั้งความเร็วของ ฮาคิมี่ ความคล่องตัวของ บูฟัล เเละโดยเฉพาะ โซฟิยาน อัมราบัต ที่บัญชาการเกมตรงกลางสนามได้เนียนกริบในเกมนี้ สามารถตัดบอลเเละเปลี่ยนจากรับเป็นรุกได้เเม่นยำ ทำให้สเปนไม่กล้าโอเวอร์โหลดผู้เล่นขึ้นไปสูงมาก ผู้เล่นกองหลังทั้ง 4 คน ไม่ได้เติมขึ้นไปสูงมากนัก
มันเลยกลายเป็นว่า กองหลัง 4 คน ของสเปนถูกตัดออกจากการสู้กันในเเดนกลาง เวลาบอลเข้าไปตรงกลางมันเลยทำให้กลายเป็น 10 คน ของโมร็อกโกรุมเเย่งบอลจาก 6 คน ของสเปน 10 ต่อ 6 ต่อให้เก่งเเค่ไหนก็ยังเจาะยากอยู่ดี
การเล่นเเบบนี้มันต้องอาศัยพลังงาน สมาธิ เเละความเข้าใจเกมของนักเตะอย่างสูง ในการที่จะเคลื่อนที่เพื่อรักษาโซนการตั้งรับให้ไม่มีช่องโหว่เเบบนี้ เเละถ้าถามว่าจะทำยังไงถึงจะเจาะโมร็อกโกได้ เราจะพาไปวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของแผนนี้กัน
จุดอ่อนของแผนโมร็อกโก
สิ่งที่เจ๋งอย่างหนึ่งในโลกของฟุตบอลก็คือ ไม่มีแผนไหนที่สมบูรณ์เเบบ ไม่มีแผนไหนเป็นสูตรสำเร็จตายตัวในการที่จะประสบความสำเร็จ ทุกแผนมีจุดดีเเละจุดด้อย ต่างกัน ทั้งการจะเน้นเกมรุกหรือเน้นเกมรับ เราจะพาไปดูว่า อะไรคือจุดอ่อนของการตั้งรับเเบบนี้ของโมร็อกโก
1.โยนบอลเข้าไป
ในเมื่อตั้งรับลึก หาช่องเจาะลำบาก เคาะบอลไปมาก็เเล้ว ยังไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่อันตรายได้สักที สิ่งที่ฝ่ายบุกควรจะทำ ก็คือ การโยนบอลเข้าไปในพื้นที่อันตรายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในเมื่อการเคาะไปมามันไม่ได้ผล เเละมีผู้เล่นอยู่ข้างในเยอะ งั้นต้องโยนเข้าไปวัดเเล้วเเหละ เผื่อจะมีลูกแฉลบ หรือได้ลุ้นเก็บบอลจังหวะสองในพื้นที่อันตรายบ้าง ซึ่งสเปนเหมือนพึ่งจะมารู้ตัวในช่วงท้าย ๆ ของเกม ที่เริ่มหันมาโยนเข้าใส่โมร็อกโกเเละเกือบจะได้ผล จากลูกครอสเข้าไปให้ ปาโบล ซาราเบีย ได้ยิงชนเสา เเต่ก็คิดได้ช้าไปเสียเเล้ว หมดเวลาก่อน
2.ความสามารถเฉพาะตัว
ในเมื่อข้างในมันเป็นการดวลกันระหว่าง 6 ต่อ 10 สิ่งที่จะทำให้ 6 คน ของสเปนนั้นเหนือกว่าได้ ก็คือการเอาชนะการดวลตัวต่อตัว ผู้เล่นต้องกล้าที่จะเลี้ยงบอลเข้าใส่ ท้าดวล เเละถ้าล็อคหลบเลี้ยงกินตัวได้ จะสามารถเปิดพื้นที่ให้เพื่อนร่วมทีมได้มากขึ้น เเต่สเปนไม่ค่อยพยายามทำตรงนี้มากนัก พวกเขามัวเเต่ไปโฟกัสที่การเซ็ตบอลกันขึ้นไปมากกว่า ทำให้น่าคิดเลยว่า ถ้าโมร็อกโกชุดนี้ไปเจอผู้เล่นอย่างบราซิลที่ความสามารถเฉพาะตัวสูง จะเอาตัวรอดได้ไหม
3.เป็นแผนที่เหมาะกับบอลทัวร์นาเมนต์
3 จาก 7 เกม ของ วาลิด เรกรากี ในฐานะเฮดโค้ชของโมร็อกโก จบเกมด้วย สกอร์ 0-0 จะเห็นได้ชัดพวกเขาเด่นในเรื่องเกมรับมากกว่า การทำเกมรุกไม่ใช่จุดเด่น อาจจะจบด้วยผลเสมอมากกว่าก็เป็นไปได้ ถ้าเป็นบอลลีก ผลเสมอมันได้เเค่ 1 คะเเนน เเต่พอมันเป็นบอลทัวร์นาเมนต์ที่มีการดวลจุดโทษไว้ตัดสินผลเเพ้ชนะ ก็ทำให้สูตรนี้สามารถนำมาใช้ได้ ตั้งรับให้เหนียวเเน่นไว้ก่อน เดี๋ยวไปเอาชนะตอนยิงจุดโทษเอา
การเอาชนะสเปนมันช่วยเพิ่มความมั่นใจให้พวกเขาอย่างมากในปรัชญาการเล่นเกมรับเเบบนี้เเละพร้อมปะทะทุกชาติที่พวกเขาจะต้องเจอในรอบต่อไป
ต้องตามดูกันต่อยาวๆว่าโมร็อกโกชุดนี้จะไปได้ไกลเเค่ไหนในฟุตบอลโลกครั้งนี้ การเอาชนะสเปนเเละมาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายก็เป็นอะไรที่เกินคาดมากเเล้ว เเต่เชื่อว่าพวกเขาทุกคนจะไม่หยุดฝันไว้เพียงเเค่นี้
ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีความยืดหยุ่นสูงมากในเเง่ของเเผนการเล่น ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเล่นเกมบุกถึงจะเป็นทีมที่เเข็งเเกร่งกว่า มันขึ้นอยู่กับยุทธวิธีเเละการประเมินของเฮดโค้ชว่า ศักยภาพของทีมเรา เหมาะที่จะเล่นฟุตบอลทรงไหน
เเละวาลิด เรกรากี ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมกับทีมชาติโมร็อกโกในเวอร์ชั่นเน้นเกมรับเเบบนี้ เเละอย่างน้อย ๆ การเอาชนะสเปนในเกมนี้ของพวกเขา มันช่วยตอกย้ำว่า ฟุตบอล คือ กีฬาที่ตัดสินผลเเพ้ชนะ จาก สกอร์ ไม่ใช่ เปอร์เซ็นต์การครองบอล
เเหล่งอ้างอิง
https://www.transfermarkt.com/walid-regragui/leistungsdatenDetail/trainer/26199/verein_id/3575/datum_zu/2022-08-31/datum_ab/2022-12-06
https://www.coachesvoice.com/arrigo-sacchi-ac-milan-italy-coach-tactics/
https://en.as.com/en/2019/11/07/soccer/1573139677_631048.html
https://www.whoscored.com/Matches/1697298/Live/International-FIFA-World-Cup-2022-Morocco-Spain