Outside In : ในวันที่ ‘บีอีซี เทโรศาสน’ เขย่าบัลลังก์เอเชีย ทะลุชิงฯ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก
แม้ว่า บีอีซี เทโรศาสน จะไม่มีอีกแล้วในสารบบฟุตบอลไทย หลังเปลี่ยนมาเป็น โปลิศ เทโร ตั้งแต่ปี 2016 แต่ชื่อของพวกเขายังคงอยู่ในใจคนไทย
พวกเขาคือสโมสรแรกและสโมสรเดียวแห่งสยามประเทศที่ทะลุเข้าชิงชนะเลิศ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก หลังสร้างความเจ็บช้ำให้แก่สโมสรชั้นนำทั้งจากเกาหลีและญี่ปุ่น
พวกเขาทำได้อย่างไร และเหตุใดสโมสรจากไทยจึงไปได้ไกลขนาดนั้น นี่คือเรื่องราวของพวกเขาในมุมมองของสื่อต่างชาติใน Outside In ของ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ติดตามได้ที่นี่
ม้านอกสายตา
มิลเลเนี่ยม หรือปี 2000 คือปีแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ เช่นกันกับ บีอีซี เทโร ศาสน อดีตทีมจากโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยวรวีร์ มะกูดี (ที่ต่อมาได้เป็นนายกสมาคมฟุตบอลไทย) เมื่อพวกเขาสามารถผงาดคว้าแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรในปีดังกล่าว แถมยังป้องกันแชมป์ได้ในฤดูกาล 2001-2002
แชมป์นี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ บีอีซี กลายเป็นทีมแรกที่ได้แชมป์ไทยลีก 2 สมัยติดต่อกันเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาได้ตั๋วผ่านเข้าไปเล่นในรอบแบ่งกลุ่ม เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก 2002-2003
อย่างไรก็ดี ถึงตอนนั้น บีอีซี จะเป็นทีมแถวหน้าของไทย ที่อุดมไปด้วยนักเตะระดับทีมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วรวุฒิ ศรีมะฆะ, เทิดศักดิ์ ใจมั่น, ดัสกร ทองเหลา, นิรุจน์ สุระเสียง แต่เมื่อเทียบคู่แข่งร่วมกลุ่มอย่าง แดจอน ซิติเซน, เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว และ คาชิมา อันท์เลอร์ส ต้องเรียกว่ายากมากที่จะเอาตัวรอดไปได้
โชคยังดีที่ระบบการแข่งขันในยุคแรกของรอบแบ่งกลุ่ม ยังเป็นการเตะที่สนามกลาง และกรุงเทพฯ ก็ได้เป็นเจ้าภาพตลอดการแข่งขันทั้ง 12 นัดของกลุ่มเอ ที่สนามศุภชลาศัย
“นั่นเป็นครั้งแรกที่บีอีซี เทโรศาสน ได้ลงเล่นในทัวร์นาเมนต์แบบนี้ และเป้าหมายของเราก็แค่ผ่านเข้ารอบ เนื่องจากเราไม่ได้เป็นทีมใหญ่ เมื่อเทียบกับทีมอื่น” อรรถพล ปุษปาคม กุนซือของ บีอีซี ในตอนนั้นกล่าวกับ the-afc.com เมื่อปี 2013
“ทีมที่ลงเล่นใน เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ยิ่งใหญ่กว่าและแข็งแกร่งกว่าเรา แต่เราก็ได้ประโยชน์อย่างมากจากกองเชียร์จำนวนมาก จากการได้เล่นในบ้าน”
พวกเขาเริ่มต้นได้อย่างน่าประทับใจ เมื่อสามารถไล่ตีเสมอ คาชิมา อันท์เลอร์ส แชมป์จากญี่ปุ่น ที่อุดมไปด้วยนักเตะทีมชาติ ถึงสองครั้งซ้อน แถมลูกตีเสมอ 2-2 ยังเกิดขึ้นในนาทีสุดท้าย ก่อนที่หลังจากนั้น บีอีซี จะพกความมั่นใจจากการเสมอกับแชมป์ญี่ปุ่น ด้วยการไล่อัด แดจอน 2-0 ท่ามกลางแฟนบอลกว่า 16,000 คน ที่เข้ามาให้กำลังใจ
ทว่า เนื่องจากตอนนั้น ACL ใช้ระบบแชมป์กลุ่มเท่านั้นที่จะได้เข้ารอบน็อคเอาท์ ทำให้ บีอีซี ที่มี 4 คะแนน ยังไม่การันตีเข้ารอบ และต้องเอาชนะ เซี่ยงไฮ้ ในเกมนัดส่งท้าย หรือหากเสมอ ก็ต้องลุ้นให้ แดจอน ไม่ชนะ อันเลอร์ส
นัดนี้กลายเป็นทีมจากไทย ที่ได้เฮไปก่อนจาก จตุพงษ์ ทองสุข ในนาทีที่ 26 แต่หลังจากเริ่มครึ่งหลังมาเพียง 13 นาที ตัวแทนจากแดนมังกร ก็มาได้ประตูตีเสมอจาก ซาอูล มาร์ติเนซ กองหน้าทีมชาติฮอนดูรัส
พวกเขาต้องชนะเท่านั้น เนื่องจาก แดจอน เอาชนะ อันท์เลอร์ส ไปแล้ว 1-0 ที่ทำให้ทีมจากเกาหลีมี 6 แต้มมากกว่า บีอีซี ที่ตอนนี้มีเพียง 5 คะแนน ทันที
และช่วงเวลาที่แฟนบอลเจ้าถิ่นรอคอย ก็มาถึงในนาทีที่ 85 จากจังหวะที่ เทิดศักดิ์ ยิงไกลด้วยซ้ายจากนอกรอบเขตโทษ กลายเป็นประตูชัยให้ บีอีซี เอาชนะไปได้ 2-1 ผ่านเข้ารอบได้แบบเหนือความคาดหมาย
“ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขา (เทิดศักดิ์) น่าจะเป็น 5 นาทีสุดท้าย ในเกมสุดท้ายรอบแบ่งกลุ่มที่ บีอีซี พบกับ เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว” เว็บไซต์ AFC บรรยายถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
“เมื่อขณะที่สกอร์ยังเสมอ 1-1 และทีมจากกรุงเทพฯ กำลังจะถูกเขี่ยตกรอบ เทิดศักดิ์ ก็ลากบอลตัดมาจากฝั่งขวา ก่อนจะยิงด้วยซ้ายสุดงามจากระยะไกล เสียบมุมเข้าไป"
ก่อนที่มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์
ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม
อรรถพล ยอมรับว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมรองบ่อนอย่าง บีอีซี ฝ่าด่านนรกเข้ารอบน็อคเอาท์ได้ในปี 2003 มาจากการได้เล่นในบ้าน ที่ทำให้พวกเขาได้เปรียบในเรื่องสภาพแวดล้อมและการเดินทาง เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมกลุ่ม
“เราต้องเล่น 3 เกมใน 5 วัน ซึ่งหนักมาก แต่โชคดีที่เราได้เล่นในบ้าน และเราก็ไม่ต้องเดินทาง หรือพยายามทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่” โค้ชแต๊กย้อนความหลังกับ the-afc.com
“เรารู้ว่าเราอ่อนกว่าคู่แข่ง เนื่องจากเรายังใหม่ในรายการนี้ แต่เราก็พยายามที่จะเล่นเป็นทีมมาตลอด”
แต่ข้อได้เปรียบนี้ ก็ต้องจบลงในรอบ 4 ทีมสุดท้าย เมื่อ เอเอฟซี กลับมาใช้ระบบเหย้าเยือน ที่ บีอีซี ต้องเจอกับ ปัคห์ตากอร์ ทาชเคนต์ แชมป์จากอุซเบกิซสถาน ที่โดดเด่นเรื่องความแข็งแกร่งทางร่างกาย
เกมนัดแรกเตะกันที่กรุงเทพฯ และเป็น บีอีซี ที่ทำได้ดีกว่า เมื่อมาได้ประตูขึ้นนำในนาทีที่ 41 จาก วรวุฒิ ศรีมะฆะ ก่อนที่ ขวัญชัย เฟื่องประกอบ จะมาซัดให้ทีมนำห่างเป็น 2-0 ในนาทีที่ 69
แม้ในช่วงท้ายเกม ผู้มาเยือนจากเอเชียกลาง จะมาได้ประตูตีตื้น จากศูนย์หน้าทีมชาติอุซเบกิสถาน อัลวาร์ยอน โซลิเยฟ แต่ เทิดศักดิ์ ก็มาเป็นฮีโรของทีมอีกครั้ง หลังซัดประตูปิดกล่องให้ แชมป์จากไทย เอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 3-1
“ผมไม่ได้คาดหวังว่าเราจะขึ้นมาอยู่อันดับท็อปของกลุ่ม แต่นั่นก็ทำให้เรามั่นใจ” เทิดศักดิ์กล่าวกับ the-afc.com.com เมื่อปี 2020
“ในรอบรองชนะเลิศ เราเล่นกับปัคห์ตากอร์ ทีมที่ดีที่สุดในอุซเบกิสถาน ที่มีนักเตะทีมชาติมากมาย”
“ผมยิงประตูที่ 3 จากลูกฟรีคิก และเราก็ชนะ 3-1”
เกมนัดที่สอง บีอีซี รู้ตัวว่าต้องพบศึกหนักในการไปเยือนเอเชียกลาง ท่ามกลางแฟนบอลกว่า 50,000 คนในสนาม ปัคห์ตากอร์ สเตเดียม ทว่า ก็ไม่หวั่น พยายามรักษาสกอร์ 0-0 ได้จนถึงนาทีที่ 86
แม้ว่าสุดท้ายตัวแทนจากไทย จะต้านทานไว้ไม่ได้ แต่ความพ่ายแพ้เพียงแค่ประตูเดียว จากลูกยิงของ เซอรเว เดย์เปอรอฟ ก็ดีพอที่จะทำให้ บีอีซี เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ และกลายเป็นสโมสรแรกของไทยในประวัติศาสตร์ ที่เข้าถึงรอบนี้ นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อเป็น เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก
“มันไม่ง่ายเลยที่ ทัชเคนท์ มันทั้งหนาวและพวกเขาก็บุกเราอย่างหนัก เราป้องกันได้ดี และทำให้เราได้เข้าชิงฯ” เทิดศักดิ์ย้อนความหลัง
พวกเขาเหลืออีกเพียงก้าวเดียวเท่านั้น
นัดชิงสุดเข้มข้น
แม้ว่า บีอีซี เทโร จะสร้างปรากฎการณ์ชนิดหักปากกาเซียนในการทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศอย่าง เซอร์ไพรส์ แต่งานหนักของพวกเขายังไม่จบ เมื่อคู่ต่อกรในนัดชิงดำคือ อัล ไอน์ ยอดทีมจากสหรัฐเอมิเรตส์ ที่ทำสถิติชนะ 3 นัดรวมในรอบแบ่งกลุ่ม
นัดแรก บีอีซี ต้องเป็นฝ่ายบุกไปเยือน ทานูน บิน โมฮัมหมัด สเตเดียม ของ อัล ไอน์ ก่อน และเป็นตัวแทนจากไทย ที่เกือบจะช็อคเจ้าถิ่น หลัง วรวุฒิ ได้โหม่งเต็มหัว แต่บอลไปชนคานอย่างจัง
จากนั้น อัล ไอน์ ก็เริ่มตั้งเกมได้ และมาได้ประตูขึ้นนำจนได้ ก่อนหมดครึ่งแรกเพียง 7 นาที จากลูกยิงไกลของ ซาเลม โยร์ฮา และจบครึ่งแรกไปด้วยสกอร์ 1-0
“ลูกโหม่งของ วรวุฒิ ศรีมะฆะ ในครึ่งแรกเกือบจะทำให้ บีอีซี ออกนำอัล ไอน์ไปก่อน แต่บอลก็ไปชนคานอย่างจัง และทีมเจ้าบ้านก็ใช้ประโยชน์ด้วยลูกยิงไกลของ ซาเล็ม โยฮาร์ เป็นประตูแรกในช่วง 5 นาทีก่อนจบครึ่งแรก” เว็บไซต์ AFC บรรยาย
เริ่มครึ่งหลัง บีอีซี พยายามเปิดเกมบุกหวังทวงประตูคืน แต่สถานการณ์ของพวกเขายิ่งย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อวิทยา นับทอง มาโดนในแดง ถูกไล่ออกจากสนาม ก่อนที่ เจ้าถิ่น จะมาได้ประตูปิดกล่องจาก โมฮัมเหม็ด โอมาร์ ในนาทีที่ 74
“เราพยายามที่จะบุก เพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะเสีย เนื่องจากเราเป็นทีมเยือน แต่โชคร้ายที่เราทำประตูตอนครึ่งแรกไม่ได้ และมันก็สร้างความลำบากให้เรา แถมกองหลังของเรายังเล่นไม่ดี” อรรถพล กล่าว
“เป้าหมายของเราคืออย่างน้อยต้องเสมอ หรือแพ้แค่ประตูเดียว แต่แผนเราต้องเปลี่ยนเมื่อนักเตะของเราถูกไล่ออก และเราจึงแค่โฟกัสอยู่กับการไม่เสียประตูเพิ่ม”
เกมนัดชิงชนะเลิศ นัดที่ 2 บีอีซี เปลี่ยนรังเหย้าจาก ศุภชลาศัย มาเป็น ราชมังคลากีฬาสถาน ที่มีความจุเยอะกว่า และมันก็ได้ผล เมื่อทีมจากไทย สู้กับอัล ไอน์ ได้อย่างสนุก และเกือบจะได้ประตูออกนำจาก เทิดศักดิ์ แต่บอลก็ไปชนเสาถึงสองครั้ง
“ราชมังคลากีฬาสถาน เป็นเจ้าภาพนัดที่ 2 ในอีกหนึ่งสัปดาห์ให้หลังและมั่นก็เป็นอีกการต่อสู้ที่ดุเดือด ผู้รักษาประตูจากทั้งสองฝั่งโชว์ฟอร์มได้อย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะ พรรษา มีสัจธรรมที่โดดเด่นหน้าปากประตูของ บีอีซี เทโรศาสน” บันทึกของเว็บไซต์ AFC ในเกมนัดนั้น
แต่ครึ่งหลัง ความพยายามของ บีอีซี ก็มาสัมฤทธิ์ผล จากจังหวะที่ ดัสกร ทองเหลา ได้บอลหลุดเข้าไปในกรอบเขตโทษ ก่อนถูกเตะล้มลง ผู้ตัดสินชี้เป็นจุดโทษ และเป็น เทิดศักดิ์ ที่สังหารเข้าไปให้สกอร์รวมอยู่ที่ 2-1
คลิปการแข่งขัน https://www.youtube.com/watch?v=2ZJbPKjbPkQ
หลังจากนั้น แชมป์ไทยลีก ก็เปิดเกมรุกอย่างหนัก จนเกือบได้ประตูตีเสมอ หลัง พีรพัฒน์ พลเรือนดี โหม่งลูกเตะมุมของ เทิดศักดิ์ เข้าไป แต่ มาเน ซาอัด คามิล ผู้ตัดสินชาวคูเวต บอกว่ามีจังหวะฟาล์วไปก่อน ที่แม้แต่นักเตะของอัล ไอน์ ยังแปลกใจ
“เราแปลกใจมาก พวกเขาเล่นได้ดีในเลกแรก และพวกเขาก็มาฆ่าเราในเลกที่สอง และมีประตูที่ถูกปฏิเสธ” ฟาร์ฮัด มาจิดี อดีตผู้เล่นของ อัล ไอน์ ที่อยู่ในเกมนัดนั้นกล่าวกับ the-afc.com
ช่วงเวลาที่เหลือ แม้ บีอีซี จะกดดันแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถเจาะประตูเพิ่ม ก่อนที่สุดท้ายพวกเขาจะเอาชนะไปได้แค่ประตูเดียว และทำให้ ทีมจากยูเออี กลายเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก หลังจากรีแบรนด์
“แทคติกของเราในเกมที่สองคือโฟกัสกับเกมบุก เนื่องจากเราต้องการประตู เราอยากจะผลักความกดดันให้คู่แข่งและเล่นเกมเปิด เรามาไกลมากในทัวร์นาเมนต์ ดังนั้นเราไม่มีอะไรจะเสีย เราแค่อยากชนะเกมนั้น แม้ว่าเราจะแพ้ในทัวร์นาเมนต์ก็ตาม” อรรถพลย้อนความหลัง
“เราไม่แน่ใจว่าทำไมประตูจึงถูกปฏิเสธ ผู้ตัดสินบอกว่ามีการฟาวล์ ผมถามเขาหลังเกม และเขาบอกว่ามีการผลัก แต่เขาก็ไม่แน่ใจ”
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีอะไรที่นักเตะ บีอีซี จะต้องเสียใจ
สโมสรแห่งความทรงจำ
สุดท้ายแล้ว บีอีซี ต้องหยุดการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นไว้เพียงแค่ตำแหน่งรองแชมป์ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นทีมแรก และทีมล่าสุดแม้กระทั่งในปัจจุบัน ที่เข้ามาถึงรอบนี้
แต่ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นการเดินทางที่น่าจดจำสำหรับโค้ช นักเตะ หรือแฟนบอล ที่ได้เห็นสโมสรจากไทย สร้างปรากฎการณ์ เอาชนะสโมสรจากญี่ปุ่น หรือ เกาหลี ชาติที่มีฟีฟ่าแรงกิ้งสูงกว่า และกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วเอเชีย
“โดยรวมแล้ว ทัวร์นาเมนต์นี้มันยอดเยี่ยมมาก เนื่องจากทีมจากไทยสามารถเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ บีอีซี สร้างประวัติศาสตร์ในฟุตบอลไทยในการเข้ามาถึงรอบนี้ของรายการ” อรรถพลกล่าวกับ the-the-afc.com.com
นอกจากนี้ เทิดศักดิ์ ใจมั่น เพลย์เมกเกอร์คนสำคัญ ยังได้รับเลือกให้เป็นนักเตะยอดเยี่ยมของทัวร์นาเมนต์ หลังยิงไปถึง 4 ประตูจาก 7 นัด รั้งตำแหน่งรองดาวซัลโวของรายการ
“ผมไม่เคยคาดหวังว่าจะได้รับเลือกเป็น MVP ดังนั้นผมจึงรู้สึกตกใจตอนที่เจ้าหน้าที่มาหาแล้วพูดว่า ‘ไปรับรางวัล MVP’ ตอนผมเลิกเล่น ผมยังมีรางวัลนี้ ดังนั้นมันจึงทำให้ผมมีความสุขมาก” เทิดศักดิ์กล่าวกับ the-the-afc.com.com
นับตั้งแต่นั้น สโมสรจากไทย ก็ไม่เคยมาถึงรอบนี้อีกเลย โดยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปี 2013 ที่ทะลุผ่านมาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่ก็ต้องจอดป้ายด้วยน้ำมือของ เอสเตกัล ทีมแกร่งจากอิหร่าน
นอกจากนี้ บีอีซี เทโรศาสน ก็ยังหายไปจากสารบบฟุตบอลไทย หลังกลายมาเป็น โปลิศ เทโร เมื่อปี 2018 และวนเวียนอยู่ในโซนครึ่งล่างของตารางไทยลีก
แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ยังได้รับการจดจำ และถูกพูดถึงอยู่เสมอ ในเกือบทุกครั้งที่ เอเอฟซี แชมเปียนลีกส์ เวียนกลับมาเตะ ในฐานะสโมสร ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์เขย่าเวทีเอเชียมาก่อน
แหล่งอ้างอิง
https://www.the-afc.com/en/club/afc_champions_league/news/acl_legends_thailand.html
ข่าวและบทความล่าสุด