Outside In : ‘อดุล หละโสะ’ แข้งไทยคนแรกที่ได้โชว์ฝีเท้าในลีกญี่ปุ่นหลังยุคเจลีก
ปฎิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่ วิทยา เลาหกุล ย้ายไปร่วมทีม ยันมาร์ ดีเซลล์ หรือ เซเรโซ โอซากา ในปี 1977 หลังจากนั้น แข้งสายเลือดไทยจำนวนไม่น้อย ก็พาเหรดเดินตามรอยเขาไปเล่นที่ญี่ปุ่นมากมาย โดยเฉพาะในยุค 1980s
ทว่า หลังจากลีกญี่ปุ่น กลายมาเป็นลีกอาชีพเต็มตัว หรือ “เจลีก” ก็แทบไม่มีนักเตะไทยคนใด ได้มีโอกาสสัมผัสเกมลูกหนังแดนปลาดิบอีกเลยนับสิบปี
จนกระทั่งการมาถึงของ อดุล หละโสะ กองกลางดาวรุ่งของชลบุรี ในขณะนั้น ที่ได้ไปเล่นกับ ไกนาเร ทตโตริ ในลีกระดับ 3 ของญี่ปุ่น ด้วยสัญญายืมตัวในปี 2008
เขาทำผลงานได้ดีแค่ไหน ชาวญี่ปุ่นมีความคิดเห็นต่อตัวเขาอย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Outside In ของ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้ที่นี่
นักเตะเลือดไทยในญี่ปุ่น
วิทยา เลาหกุล ถือเป็นชื่อที่วงการฟุตบอลญี่ปุ่น คุ้นเคยได้เป็นอย่างดี เพราะเขาคือผู้บุกเบิกการเป็นนักเตะไทยในลีกแดนซามูไร หลังย้ายมาร่วมทีม ยันมาร์ ดีเซลล์ หรือ เซเรโซ ในปัจจุบันเมื่อปี 1977
“ตอนอายุ 23 ปี วิทยา ได้เข้ามาประสานงานกับ คุนิชิเงะ คามาโมโตะ ด้วยการเล่นที่รวดเร็ว และเทคนิคระดับสูงที่คล่องแคล่วที่ยันมาร์” คิวามุ คาเบะ นักข่าวชาวญี่ปุ่น กล่าว
แม้ว่า วิทยา จะเล่นในลีกญี่ปุ่น แค่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่เขาก็เป็นเหมือนผู้ปูทาง และทำให้นักเตะสายเลือดไทยได้ย้ายมาเล่นในญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
ไม่ว่าจะเป็น วรวรรณ ชิตะวณิช และ พิชัย คงศรี กับ เทจิน มัตสึยามะ หรือที่คอสโม ออยล์ ที่มีทั้ง พิชิตพล อุทัยกุล, สมชาย ทรัพย์เพิ่ม, พงศ์ธร เทียบทอง และ ประเสริฐ ช้างมูล
นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง การย้ายไปเล่นให้ มัตสึชิตะ หรือ กัมบะ โอซากา ของ รณชัย สยมชัย และ นที ทองสุขแก้ว หลังเจ้าตัวรับหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการทีมของทีมดังแห่งเมืองโอซากาในขณะนั้น
“ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เทคนิค และการตัดสินใจของไทยน่าจะดีกว่าญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นมีร่างกายที่แข็งแกร่งกว่า รวมทั้งเมนูฝึกที่มากกว่า” วิทยากล่าวกับ The Answer
อย่างไรก็ดี หลัง วิทยา กลับไทยในปี 1995 ลีกญี่ปุ่นที่ตอนนั้นกลายเป็นลีกอาชีพเต็มตัวในชื่อ “เจลีก” ก็ไม่ได้มีโอกาสต้อนรับแข้งสายเลือดไทยอีกเลย ขณะเดียวกัน มาตรฐานของผู้เล่นระหว่างสองชาติ ก็ถูกถ่างให้ห่างออกไปอย่างช้าๆ
หลังจากนั้น มันดูเหมือนไม่มีโอกาสอีกแล้ว ที่นักเตะไทย จะได้ไปเล่นที่นั่น แต่ชายที่ชื่อ “วิทยา” ก็ทำให้มันเป็นจริงอีกครั้ง
แข้งต่างชาติของเฮงซัง
หลังจากกลับมาสร้างตำนานที่ไทย ด้วยการพาชลบุรี คว้าแชมป์โปรวิเชียนลีก 2006 วิทยา ก็ได้มีโอกาสกลับไปเยือนญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นกุนซือคนใหม่ของ ไกนาเร ทตโตริ Japan Football League (JFL) หรือ ลีกระดับ 3 ของญี่ปุ่น ในปี 2007
อย่างไรก็ดี ผลงานในปีแรกกับ ทตโตริ กลับไม่น่าจดจำ เมื่อทีมจบในอันดับ 14 จาก 18 ทีม ต่ำกว่าฤดูกาลก่อนหน้าที่ได้ที่ 11 แถมยังห่างจากโซนเลื่อนชั้นถึง 21 คะแนน
วิทยา ก็รับรู้ในปัญหานี้ เขารู้ว่าตัวผู้เล่นของทีมยังไม่แข็งแกร่งพอ ที่จะต่อกรกับทีมอื่นในลีก ทำให้เขาตัดสินใจดึงตัวผู้เล่นที่ตัวเองคุ้นเคยอย่าง ฮาเหม็ด โคเน่ และ อดุล หละโสะ จากชลบุรี มาร่วมทีมในปี 2008
“วิทยายังคงอยู่กับทีม และได้เสริมทีมครั้งใหญ่ ด้วยนำนักเตะต่างชาติเข้ามาสู่ทีม รวมถึงเรียกตัวนักเตะดังมาด้วย”ผู้ใช้นามปากกา KAZZと名乗る適当なおっさん กล่าว
“นักเตะต่างชาติได้แก่ ฮาเหม็ด โคเน่ และ อดุล หละโส ส่วนนักเตะดังคือ โนริโอะ โอมูระ”
แน่นอนว่าสำหรับ อดุล มันมีความหมายเป็นพิเศษ เพราะนอกจากนี่จะเป็นการออกมาเล่นต่างประเทศครั้งแรกของแข้งวัย 23 ปีแล้ว ยังทำให้เขาเป็นนักเตะไทยคนแรกที่ได้มาเล่นในญี่ปุ่นในยุคเจลีก
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ อดุล ยังไม่ได้ถูกนับเป็นนักเตะไทยคนแรกในเจลีก เนื่องจากตอนนั้น JFL มีสถานะเป็นนอกลีก โดยมีเพียง เจ1 และ เจ2 ที่เป็นเจลีก หรือลีกอาชีพ เท่านั้น
แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ถือเป็นกำลังหลักภายใต้การคุมทีมของโค้ชเฮง และทำให้ ทตโตริ มีผลงานที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน คว้าชัยไปถึง 8 นัด จาก 17 นัดในครึ่งฤดูกาลแรก
“ความประทับใจที่มีต่อเขาที่ญี่ปุ่นคือ แม้ว่าเขาจะตัวเล็ก แต่ก็มีเทคนิคที่ดี และลงเล่นอย่างเต็มกำลัง” ริวกิ โคซาวะ อดีตผู้เล่นไกนาเร ย้อนความหลัง
ขณะเดียวกัน มิดฟิลด์จากจังหวัดพัทลุง ก็ยังขึ้นชื่อในเรื่องความทุ่มเท วิ่งได้ไม่มีวันหมด ที่ทำให้เขากลายเป็นที่จดจำในฐานะมิดฟิลด์ไดนาโม และลงเล่นไปทั้งสิ้น 19 นัด
“แม้ว่าเขาจะตัวเล็ก แต่ก็เป็นที่รู้จักจากสไตล์การเล่นที่ทุ่มเทอย่างมากในเกมรับ และเต็มไปด้วยพละกำลัง” โยซูเกะ นักข่าวชาวญี่ปุ่นอธิบายผ่าน Qoly Football Web Magazine
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลงานของ ไกนาเร จะดีขึ้นหลังอย่างชัดเจน ในฤดูกาล 2008 หลังจบในอันดับ 5 ของตาราง และมีแต้มห่างจากโซน เลื่อนชั้นเพียงแค่ 3 คะแนน แต่สำหรับ อดุล เขายังสอบไม่ผ่านในสายตาคนญี่ปุ่น
“แม้ว่าเขาจะได้รับการประเมินในระดับสูงที่ไทย แต่ก็ไม่สามารถแสดงศักยภาพได้ในญี่ปุ่น จากสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป และลาทีมไป หลังอยู่ได้เพียงแค่ปีเดียว” โยซูเกะ กล่าวต่อ
ยิ่งไปกว่า หลังฤดูกาลดังกล่าว โค้ชเฮง ยังมาประสบอุบัติเหตุหนัก จนต้องลาออกจากกุนซือของไกนาเร เพื่อไปพักรักษาตัว และทำให้ โอกาสที่แข้งชาวไทย จะมาเล่นที่ญี่ปุ่นเลือนรางลงไป
หมุดหมายแห่งประวัติศาสตร์
หลังจากกลับมาญี่ปุ่น อดุล ก็กลายเป็นกำลังสำคัญให้ชลบุรี อยู่ถึง 6 ปีเต็ม ก่อนจะย้ายไปอยู่กับ บุรีรัมย์, สุพรรณบุรี, ลำพูน และเพิ่งประกาศแขวนสตั๊ดเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา
ขณะที่เส้นทางของแข้งไทยในญี่ปุ่น กว่าจะมีคนสานต่อ ก็ต้องรอจนถึงปี 2017 หลัง สิทธิโชค ภาโส รุ่นน้องในทีมชลบุรีของเขา ได้ย้ายไปเล่นให้ โทคุชิมา วอร์ติส ในเจ3ลีก ที่ทำให้เขากลายเป็นนักเตะสายเลือดไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ของเจลีกอย่างแท้จริง
ทว่า นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อหลังจากนั้น แข้งระดับทีมชาติก็พาเหรดกันไปค้าแข้งในลีกแดนอาทิตย์อุทัย ไล่มาตั้งแต่ ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีราทร บุญมาทัน, ธีรศิลป์ แดงดา, สุภโชค สารชาติ หรือล่าสุดอย่าง เอกนิษฐ์ ปัญญา
ดังนั้น แม้ว่าการไปเล่นในลีกญี่ปุ่นของ อดุล อาจจะไม่ได้อิมแพค เหมือน วิทยา หรือแข้งรุ่นน้องในยุคหลัง แต่การไปที่นั่นของเขา ก็เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ รวมถึงทำให้ชาวญี่ปุ่นได้รู้ว่า นักเตะไทยมีดีแค่ไหน
แหล่งอ้างอิง
http://www.jfl.or.jp/jfl-pc/view/s.php?a=49
https://qoly.jp/2015/05/10/column-yosuke-past-foreign-j-league-players-1?part=3
https://note.com/kazz_kazz_kazz/n/n97a571640454