Outside In : เมื่อครั้งหนึ่งทีมชาติไทย สร้างเซอร์ไพรส์ถล่มญี่ปุ่นยับ 5-2

Outside In : เมื่อครั้งหนึ่งทีมชาติไทย สร้างเซอร์ไพรส์ถล่มญี่ปุ่นยับ 5-2
มฤคย์ ตันนิยม

“ก่อนมีเจลีก ในโอลิมปิกรอบคัดเลือก ‘84 ที่ลอสแองเจลิส ไทยเอาชนะญี่ปุ่นไปอย่างขาดลอย 5-2 ชื่อของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ดาวยิงตัวเก่งที่ทำแฮตทริคได้ ยังคงถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลญี่ปุ่น” ทัตสึนาริ ฮอนดะ ผู้สื่อข่าวของ Soccer King กล่าว

แม้ว่าทีมชาติไทย จะดูห่างไกลจากทีมชาติญี่ปุ่น ทั้งในแง่อันดับโลก และผลงานปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน “ช้างศึก” กลับเคยสร้างความสั่นสะเทือนในระดับทวีปด้วยการไล่ถล่ม ซามูไรบลู ไปอย่างย่อยยับ

พบกับเรื่องราว และมุมมองที่มีต่อทีมชาติไทยในนัดประวัติศาสตร์ ผ่านสายตาของชาวญี่ปุ่น ไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้ที่นี่

‘ไทยเป็นพวกตึงในบ้าน แต่ออกไปข้างนอกก็แหย’

ฟุตบอลโลก และ โอลิมปิก คือเวทีแห่งฝันของใครหลายคน เช่นกับกับ “ซามูไรบลู” ทีมชาติญี่ปุ่น ที่มันคือเป้าหมายของพวกเขามาตลอด นับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลในปี 1921

ทว่า ย้อนกลับไปในช่วง 1980s โอลิมปิก กลับเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขา เนื่องจากในยุคนั้นยังคงใช้ทีมชุดใหญ่ลงแข่ง บวกกับฟุตบอลโลก ดูจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม จากการที่ทวีปเอเชียได้โควต้ามาแค่ 1-2 ทีมเท่านั้น

“(ญี่ปุ่น) มักจะให้นักเตะอายุน้อยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก และมาตั้งเป้ากับการผ่านรอบคัดเลือกในโอลิมปิก นั่นคือนโยบายของญี่ปุ่น” ทาเคโอะ โกโตะ นักข่าวผู้คร่ำหวอดทีมชาติญี่ปุ่นกล่าวในบทความของตัวเองในเว็บไซต์ Soccer Critique

Photo : AFP

เช่นกันกับ โอลิมปิก 1984 ที่ ซามูไรบลู มุ่งมั่นกับการผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 1968 (ที่พวกเขาคว้าเหรียญทองแดง) ด้วยการอุ่นเครื่องกับทีมแกร่งทั้งในและนอกทวีป รวมถึง โครินเธียน สโมสรดังบราซิล ที่มาเยือนแดนอาทิตย์อุทัยในช่วงต้นปี 1984

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายิ่งมามีความหวัง เมื่อผลการจับฉลากรอบคัดเลือก ญี่ปุ่นอยู่ในสายเดียวกับ ไทย, มาเลเซีย, อิรัก และกาตาร์ ซึ่งในยุคนั้นยังเตะที่สนามเป็นกลาง และมี สิงคโปร์ เป็นเจ้าภาพของกลุ่มนี้

วันแมนคลับ : ชาตรี ฉิมทะเล นักเตะที่ฝากชีวิตไว้กับ บีจี เพียงทีมเดียว | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
หลังจาก หนุ่ม - ชาตรี ฉิมทะเล ดาวเตะวัย 39 ปีของสโมสร บีจึ ปทุม ยูไนเต็ด ตัดสินใจประกาศแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นเหมือนการสั่งลาผู้เล่นระดับตำนานของ ไทยลีก ไปอีกหนึ่งคนในฤดูกาลนี้ เส้นทางลูกหนังของเด็กหนุ่มจาก

“ทีมจากตะวันออกกลางแข็งแกร่ง แต่ทีมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะเอาชนะได้ นี่คือการจับฉลากที่มีโชคเลย” สื่อญี่ปุ่นในตอนนั้นกล่าว

นอกจากนี้ พวกเขายังมองว่าการเผชิญกับทีมชาติไทย น่าจะเป็นงานที่ไม่ยากเย็น และเรียกไทยว่า “อูจิเบงเคอิ” ที่มีความหมายเชิงสำนวนว่าอาจจะดูแข็งแกร่งดุดันในบ้าน แต่จะแหยเมื่อออกไปเล่นนอกบ้าน

“ไม่ว่าใครก็คิดว่าต้องเอาชนะไทยได้ เหตุผลก็คือไทยเป็นพวก ‘อูจิเบงเคอิ’ ถ้าไปแข่งที่กรุงเทพ ไทยอาจจะเป็นคู่แข่งที่ยาก แต่การแข่งที่สนามกลางอย่างสิงคโปร์ ก็เอาชนะได้” คาดการณ์จากสื่อญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

หนึ่งในความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับที่สุดในประวัติศาสตร์

ในช่วงเวลานั้น ญี่ปุ่นเต็มไปด้วยนักเตะฝีเท้าดี ทั้งฮิโรมิ ฮาระ ดาวยิงจากมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (อูราวะ เรดส์), ยาฮิโระ คาซามะ ที่ต่อมาเป็นกุนซือ คาวาซากิ ฟรอนทาเล รวมถึง ทาเคชิ โอคาดะ ที่ขึ้นมาเป็น กุนซือทีมชาติ ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ การที่พวกเขาไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ เกาหลีใต้ มหาอำนาจฟุตบอลเอเชียในตอนนั้น ยังทำให้ญี่ปุ่น ถูกยกให้เป็นทีมเต็ง ที่จะผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายที่ลอส แองเจลิส ในปี 1984 อย่างไม่ยากเย็น

ทาเคชิ โอคาดะ / Photo : AFP

แต่ถึงอย่างนั้น ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ประมาท พวกเขาเตรียมการสำหรับทัวร์นาเมนต์นี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการออกไปทัวร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้คุ้นชินกับสภาพอากาศ และทำผลงานได้ดี ด้วยการถล่มบรูไนทั้งชุดเอ และชุดบี ด้วยสกอร์ 7-1

“ในโอลิมปิกรอบคัดเลือก ลอสแองเจลิส ทีมชาติญี่ปุ่นที่นำโดย ทาคาจิ โมริ ที่พาทีมเข้ามาถึงรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย ทำให้รู้สึกเหมือนว่าทีมแข็งแกร่งขึ้น” โกโตะให้ความเห็น

คู่ต่อกรนัดแรกของญี่ปุ่นคือไทย ที่ผลงานที่ดีที่สุดก่อนหน้านี้ คืออันดับ 3 เอเชียนคัพในเอเชียนคัพเมื่อปี 1972 และเข้าถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายในเอเชียนเกมส์ ในปี 1978 ที่ไทยเป็นเป็นเจ้าภาพทั้งสองครั้ง

ทว่ากลับกลายเป็นไทย ที่สร้างเซอร์ไพรส์ออกนำไปก่อน จากปิยะพงษ์ ตั้งแต่นาทีที่ 16 ก่อนที่ ชลอ หงษ์ขจร จะมาซัดเพิ่มในนาทีที่ 25 ให้ไทยนำห่าง 2-0 ใน 45 นาทีแรก

เริ่มครึ่งหลังญี่ปุ่นก็ยังไม่ดีขึ้น จนมาโดน เฉลิมวุฒิ สง่าพล และ ปิยะพงษ์ บวกเพิ่มในนาทีที่ 48 และ 50 แม้จากนั้นญี่ปุ่นจะมาได้ประตูตีตื้นจาก โคอิจิ ฮาชิราตานิ ในนาทีที่ 71 แต่ปิยะพงษ์ ก็มาทำแฮตทริคต่อมา ให้ไทยนำห่าง 5-1

จากนั้น แม้ญี่ปุ่นจะมาได้อีกหนึ่งประตูจากจุดโทษของ คาซึชิ มิอูระ 78 แต่สุดท้ายก็ไล่ไม่ทัน พ่ายไปอย่างยับเยิน 5-2 ในนัดแรกของโอลิมปิกรอบคัดเลือก

“วันที่น่าอัปยศของความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับต่อทีมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” Soccer Critique ให้คำจำกัดความเอาไว้

หลังจากนั้น ญี่ปุ่นก็เหมือนเมาหมัด พวกเขาพ่ายรวดในอีก 3 นัดที่เหลือ โดยยิงได้แค่ 5 ประตู และเสียไปถึง 11 ประตู ตกรอบแบ่งกลุ่มไปอย่างชอกช้ำ พร้อมกับความฝันที่จะไปปรากฎตัวที่ลอสแองเจลิส ต้องหลุดลอยไป

ในเกมนัดแรกกับไทย ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน กองหน้าดาวรุ่งของไทย ทำแฮตทริค และญี่ปุ่นก็แพ้ไปถึง 5-2 จากนั้นทีมชาติญี่ปุ่นที่ขวัญเสียก็แพ้อีกทั้ง 3 นัดด้วยสกอร์ 1-2 กลับบ้านด้วยความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง” โกโตะ ที่นั่งอยู่ในสนามในวันนั้นในฐานะนักข่าวย้อนความหลัง

ก่อนที่หลังจากนั้น มันจะสร้างแรงกระเพื่อมให้วงการฟุตบอลญี่ปุ่นไม่น้อย

จุดเปลี่ยนฟุตบอลซามูไร

ความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน โดยเฉพาะการแพ้ไทยถึง 5-2 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นขนานใหญ่ รวมถึงการลาออกของ ซาบุโร คาวาบูจิ ผู้อำนวยการฝ่ายเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และ โมริ ผู้จัดการทีม

“จากความพ่ายแพ้ทั้งหมด ซาบุโร คาวาบูจิ ผู้อำนวยการฝ่ายเสริมสร้างความแข็งแกร่งถึงกับช็อค และประกาศลาออกหลังจบการแข่งขัน ส่วนแผนกเสริมสร้างความแข็งแกร่งก็ถูกยุบไปเลยเช่นกัน” ผู้ใช้นามปากกาว่า wataridori21 บรรยายถึงเหตุการณ์ในวันนั้น

“ผู้จัดการทีมทาคาจิ โมริ เขียนจดหมายลาออก ต่อสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น แต่เคน นางานูมะ ให้ทำหน้าที่ต่อไป”

นิตยสารที่บันทึกเรื่องราวในวันนั้น / Photo : yasuyuki5636 

นอกจากนี้ ผลงานดังกล่าวยังกลายเป็นแรงกระตุ้นให้นักเตะญี่ปุ่น ขวนขวายที่จะออกไปเล่นในต่างแดน ตามหลัง ยาซุฮิโระ โอคุเดระ และคาซึโอะ โอซากิ เพื่อยกระดับตัวเอง และฟุตบอลของประเทศ เนื่องจากตอนนั้นลีกญี่ปุ่น ยังเป็นแค่ลีกกึ่งอาชีพ

“ยาฮิโระ คาซามะ กองกลางทีมชาติ แสดงความจำนงที่จะย้ายไปเล่นในต่างประเทศก่อนทัวร์นาเมนต์ ได้ย้ายไปเล่นให้กับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ในเยอรมันตะวันตก” wataridori21 กล่าวต่อ

“การย้ายไปเล่นในต่างประเทศของคาซามะ ซึ่งตามรอย ยาสุฮิโระ โอคุเดระ และ คาซึโอะ โอซากิ เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของฟุตบอลญี่ปุ่น ที่ยังเป็นเพียงลีกสมัครเล่นในเวลานั้น”

ยาฮิโระ คาซามะ / Photo :Sponichi

ขณะที่ชื่อของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ก็กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่น รวมถึงทั่วเอเชีย จนทำให้ได้ย้ายไปค้าแข้งในเกาหลีใต้กับ ลักกี้ โกลด์สตาร์ (เอฟซี โซล) ในปี 1984 และกลายเป็นตำนานของแดนกิมจิในเวลาต่อมา

“ก่อนมีเจลีก ในโอลิมปิกรอบคัดเลือก ‘84 ที่ลอสแองเจลิส ไทยเอาชนะญี่ปุ่นไปอย่างขาดลอย 5-2 ชื่อของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ดาวยิงตัวเก่งที่ทำแฮตทริคได้ ยังคงถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลญี่ปุ่น” ทัตสึนาริ ฮอนดะ ผู้สื่อข่าวของ Soccer King กล่าว

Photo : AFP

ก่อนที่หลังจากนั้น ญี่ปุ่นจะเดินหน้าวางรากฐานอย่างจริงจัง ทั้งการก่อตั้งเจลีกในปี 1993 ที่กลายเป็นกุญแจสำคัญ ทำให้ “ซามูไรบลู” ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในปี 1998

นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ญี่ปุ่น พัฒนาไปไกลมาก ไม่ว่าจะเป็นการผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถึง 8 สมัยติดต่อกัน หรือการขึ้นไปอยู่ในท็อป 20 ของโลก หลังสร้างผลงานได้โดดเด่นในฟุตบอลโลก 2022 ด้วยการเอาชนะอดีตแชมป์โลก ทั้งสเปน และเยอรมัน

ส่วนความพ่ายแพ้ต่อทีมชาติไทยอย่างย่อยยับ ในวันนั้น เป็นความผิดของพวกเขาเองที่ไม่มีข้อมูลที่มากพอ แต่สุดท้าย พวกเขาก็แก้ไขจุดอ่อนในเรื่องนี้ จนกลายมาเป็นจุดแข็ง และครองความยิ่งใหญ่อยู่ในเอเชีย อย่างปัจจุบัน

“ตอนนั้นมีข้อมูลมาแค่ว่าไทยมีกองหน้าอายุน้อยและเก่งมาก เราต้องระวัง” โกโตะ อธิบาย

“แต่ไม่มีข้อมูลว่ากองหน้าคนนั้นเป็นประเภทไหน มองย้อนกลับไปตอนนั้น แทบไม่น่าเชื่อที่ทีมชาติญี่ปุ่นในช่วงที่ยังเป็นมือสมัครเล่น ไปเล่นการแข่งขันระดับนานาชาติ ด้วยข้อมูลในระดับนั้น”

“ปิยะพงษ์เป็นกองหน้าที่มีความเร็วมาก ‘หากเรามีข้อมูล ก็จะจัดการกับเรื่องนี้ได้’ โมริตอบผมหลังจากนั้น”

แหล่งอ้างอิง

https://iwakuma21.exblog.jp/7001359/

https://soccerhihyo.futabanet.jp/articles/-/90376?page=1

https://soccerhihyo.futabanet.jp/articles/-/90375?page=1

http://samuraiblue.jp/timeline/19840415/

https://www.soccer-king.jp/news/media/jsk-news/20170210/551047.html

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ