Outside In : ‘ธำรงไทยสโมสร’ ทีมสายเลือดไทยที่ไปสร้างชื่อในฟุตบอลเยาวชนระดับโลกมากว่า 20 ปี

Outside In : ‘ธำรงไทยสโมสร’ ทีมสายเลือดไทยที่ไปสร้างชื่อในฟุตบอลเยาวชนระดับโลกมากว่า 20 ปี
มฤคย์ ตันนิยม

“ฟุตบอลทำให้เด็กของเราได้รับมากกว่าแค่ความภาคภูมิใจและชัยชนะ แต่มันยังทำให้พวกเขาได้รับมิตรภาพ วินัยและความเป็นธรรม” สุเมธ แก้วทิพยเนตร ผู้ก่อตั้งธำรงไทยสโมสรกล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ในยุคที่นักเตะไทยไปเล่นในต่างประเทศเพียงแค่หยิบมือ กลับมีสโมสรจากประเทศไทย ที่ไปสร้างชื่อในฟุตบอลเยาวชนระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

ธำรงไทยสโมสร คือชื่อของพวกเขา และนี่คือเรื่องราวของทีมสายเลือดไทยแท้ในมุมมองของสื่อต่างชาติ ภายใต้การนำของ “สุเมธ แก้วทิพยเนตร” คนบ้าบอลที่หวังผลักดันวงการฟุตบอลไทยด้วยการสร้างแข้งเยาวชน

ติดตามได้ใน Outside In ของ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้ที่นี่

ความฝันของคนบ้าบอล

มันอาจจะเป็นความฝัน ที่ สุเมธ แก้วทิพยเนตร ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ความฝันของเด็กที่เกิดและเติบโตในชุมชนแออัดย่านคลองเตย ที่อยากให้ฟุตบอล พาเด็กกลุ่มเสี่ยงหลีกหนีจากยาเสพติด และความรุนแรง เหมือนที่เขาเคยทำ

แต่การจะทำแบบนั้นได้ เขาต้องมีความรู้ด้านฟุตบอลที่มากพอ จนกระทั่งในปี 1970 จุดเปลี่ยนในชีวิตก็มาถึง หลังสุเมธ ได้ดูการแข่งขันฟุตบอลโลก ระหว่างอังกฤษและบราซิล เขาถามตัวเองว่า ‘‘ทำไมฟุตบอลไทยเล่นแบบนี้ไม่ได้?’ และมันก็กลายเป็นแรงผลักดันให้เขามุ่งมั่นไปเรียนโค้ชที่อังกฤษ

อย่างไรก็ดี การไปอังกฤษของเขาก็ไม่ธรรมดา เพราะ สุเมธ ใช้วิธีปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ไปลอนดอน ด้วยระยะทางกว่า 16,000 กิโลเมตร เขาเล่าว่าได้ผ่านประสบการณ์เฉียดตายอยู่หลายครั้งในทริปนั้น

“ผมใช้การปั่นจักรยานจากอินเดียเพื่อไปปากีสถานข้ามทะเลทราย เกือบจะเอาชีวิตมาทิ้งในประเทศนี้ เนื่องจากเป็นโรคไข้มาเลเรีย และ กินองุ่นที่มีแมลงวันตอมจนเป็นโรคบิด ซึ่งเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงมากในปากีสถาน” สุเมธกล่าวกับ FourFourTwo Thailand

“แต่ที่เป็นเหตุการณ์ที่ผมไม่มีวันลืมคือเจอโจรในอัฟกานิสถานปล้น มันมากัน 2 คน ถือมีดจะมาปล้นเอาเงินผมแต่ผมไม่ยอม สู้ด้วยวิชามวยไทยที่พอเรียนมาบ้าง พวกมันเป็นแค่ต่อยแต่ผมมีถีบ”

หนังสือบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางจากรุงเทพ-ลอนดอน /Photo : Bookbun

ทั้งนี้ แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แต่ สุเมธ ก็ปั่นจักรยานถึงที่หมายในระยะเวลากว่า 5 เดือน แถมการเดินทางของเขายังได้รับความสนใจจากทั้งสื่อไทยและสื่อต่างชาติ และทำให้เขาได้เรียนโค้ชสมใจ จากความช่วยเหลือของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ

“พอผมไปถึงประเทศอังกฤษปุ๊บก็เข้ารายงานตัวกับ สถานฑูตไทยประจำกรุงลอนดอน ก็มีสื่อมวลชนมาทำข่าวเยอะมากกลายเป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกไปทางไหนมีแต่คนรู้จัก” สุเมธกล่าวต่อ

“ผมได้รับการดูแลจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษเป็นอย่างดี พร้อมกับประสานงานให้รับการอบรมที่สโมสรฟุตบอลเชลชี ซึ่งตอนนั้นมี เดวิด เจมส์ เซ็กซ์ตัน (เดฟ เซ็กซ์ตัน ที่ต่อมาได้คุมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทีมชาติอังกฤษ ยู-21) คุมทีม”

บทบาทในวงการฟุตบอลไทยของ ”ชาดา ไทยเศรษฐ์” | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
หลังจากที่ประชาชนคนไทยกว่าครึ่งค่อนประเทศ ได้รับชมข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมสภาครั้งล่าสุด ที่มีวาระสำคัญเกี่ยวกับการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย หนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายหนึ่งจากจังหวัดอุทัยธานี ที่มีคลิปวิดีโอกลายเป็นไวรัล กระจายไปทุกแพลตฟอร์ม ย่อมหนีไม่พ้

หลังจากนั้นเขาก็ได้รับความช่วยเหลือที่ไม่คาดคิดจาก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะดำรงสถานะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร) ที่ตอนนั้นทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษ

“พระองค์ได้ยินเรื่องราวของผม และอยากช่วยผม ผมบอกว่าผมอยากเรียนฟุตบอลต่อที่เยอรมัน และพระองค์ก็ช่วยผมเรื่องนั้น” สุเมธ กล่าวกับ gothiacup.se

หลังจากใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาศาสตร์ลูกหนังที่อังกฤษและเยอรมัน ในปี 1979 สุเมธก็กลับไทย พร้อมกับอีกความฝัน นั่นคือการสร้างสโมสรฟุตบอล

สร้างชื่อระดับโลก

ในช่วงแรกหลังกลับมาสู่บ้านเกิด สุเมธ ก็ได้ทำในสิ่งที่อยากทำมาตลอด นั่นคือการออกตระเวนสองหนังสือและการเล่นฟุตบอลให้กับเหล่าเด็กๆ ในชุมชนแออัดทั่วกรุงเทพ ฯ หลังเลิกงาน

“ที่ประเทศของผม มันมียาเสพติดและสิ่งไม่ดีมากมาย ที่ผมอยากให้เด็กอยู่ไกลจากสิ่งนั้น ผมเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็กๆ และทำให้เราอยู่ห่างไกลจากสิ่งไม่ดีเหล่านั้น” สุเมธกล่าวกับ gothiacup.se

ทว่าดูเหมือนจะยังไม่พอ ทำให้ในปี 1979 สุเมธได้ร่วมมือกับภรรยาก่อตั้งทีมฟุตบอลของตัวเองในชื่อ “ธำรงไทยสโมสร” ด้วยเป้าหมายให้สโมสรเป็นที่พักพิงของเด็กกำพร้าและผู้ขาดโอกาสทางสังคม

“ผมเคยมีประสบการณ์ที่ดีกับครูและโค้ช และอยากทำแบบนั้นด้วยตัวเอง หลังจากนั้นผมก็ได้ก่อตั้งสโมสรฟุตบอล” สุเมธกล่าวต่อ

แม้ว่าในตอนนั้น รัฐบาลจะไม่ได้ให้การสนับสนุนเรื่องกีฬามากนัก แต่ความตั้งใจของเขาก็มีคนเห็นค่า และได้รับการบริจาคที่ดินกว่า 31 ไร่เพื่อสร้างสนามฟุตบอล และที่พักสำหรับแข้งระดับเยาวชนของธำรงไทย

“ผมให้เด็กมาใช้ชีวิตอยู่กับผม และช่วยเขาในเรื่องอาหารและที่พัก ผมขยายบ้านตัวเองเป็นหอพักที่มีเด็กกว่า 40 คน” สุเมธ อธิบาย

หลังจากนั้น สุเมธ ก็ใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการฝึกฝนนักเตะธำรงไทย และเน้นเรื่องระเบียบวินัย จนทำให้ทีมเยาวชนของพวกเขาอยู่ในระดับที่ลงแข่งได้ โดยเฉพาะในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ

“ทักษะและแทคติก มาหลังระเบียบวินัย ทุกคนในทีมของผมต้องตื่นนอนและทำความสะอาดพื้นที่ก่อนหกโมง ก่อน 7 โมง ทุกคนต้องอาบน้ำเสร็จ กินข้าวเช้า และพร้อมจะขึ้นรถบัสไปโรงเรียน ผมทำแบบนี้เป็นกิจวัตรมาตลอด 30 ปี” สุเมธกล่าวกับ ScandAsia เมื่อปี 2014

ในปี 1989 สุเมธ ตัดสินใจส่งทีมเยาวชนธำรงไทย ลงแข่งขันในพรีเมียร์ คลาสิค คัพ ที่สหรัฐอเมริกา ที่นอกจากจะต้องไปขอยืมเพื่อนและครอบครัว เขาถึงขั้นต้องเอาบ้านไปจำนอง เพื่อเอาเงินไปซื้อตั๋วเครื่องบินสำหรับเด็ก ๆ ของเขา

แต่ ธำรงไทย ก็ไม่ทำให้สุเมธผิดหวัง เมื่อสามารถคว้าแชมป์รายการนี้ได้สำเร็จ ก่อนที่ในปีดังกล่าว ทีมสายเลือดไทยจะไปประกาศศักดาที่ยุโรป ด้วยการคว้าแชมป์ดานาคัพ ที่เดนมาร์ก และโกเธียคัพที่ สวีเดน

ก่อนที่หลังจากนั้น ธำรงไทย จะเดินหน้าสร้างชื่อในฟุตบอลเยาวชนระดับโลก ด้วยการคว้าแชมป์รวมกันถึง 23 รายการ ไม่ว่าจะเป็น ดัลลัส คัพ ครั้งที่ 12 (อเมริกา), อัพเปอร์ ออสเตรียคัพ (ออสเตรีย), สต็อคโฮล์ม ซัมเมอร์เกมส์ (สวีเดน), เฮลซิงกิ คัพ (ฟินแลนด์) และติโวลีคัพ (เดนมาร์ก)

Photo : สุเมธ แก้วทิพยเนตร

ขณะเดียวกัน ความเก่งกาจของธำรงไทย ยังถูกพูดถึงในสื่อของท้องถิ่น ทั้งที่บางครั้งพวกเขาไปไม่ถึงแชมป์ด้วยซ้ำ ที่เป็นภาพสะท้อนของความสามารถของสโมสรจากไทยทีมนี้ได้เป็นอย่างดี

“ถือเป็นโชคร้ายในช่วงท้ายของวัน สำหรับทีมชายของ ÖIS 2 ของรุ่น 12 ปี เราไม่ได้เล่นแย่ แต่ธำรงไทยเก่งเกินไป และชนะไป 7-1” Svenskafans.com สื่อของสวีเดนกล่าวถึงการแข่งขันโกเธียคัพ ในปี 2002

“นักเตะไทยเก่งมาก พวกเขาเล่นด้วยความมั่นใจและมีชั้นเชิง ราวกับว่าอายุมากกว่าเรา 3 ปีเป็นอย่างน้อย”

ข่าวที่พูดถึงทีมธำรงไทยสโมสรเมื่อปี 2002 / Photo : SvenskaFans.com

“แต่เด็กของเราก็สู้อย่างเต็มที่จนวินาทีสุดท้าย แสดงให้เห็นว่าครองบอลได้เยอะและสู้กับธำรง ได้อย่างสูสีตลอดครึ่งหลัง ดังนั้นเมื่อพวกเขา (ทีมไทย) จบสกอร์ได้เฉียบคมกว่าก็ต้องให้เครดิตในความพยายามของพวกเขา”

อย่างไรก็ดี ธำรงไทย ไม่ได้โดดเด่นแค่ในสนามเท่านั้น

เป็นมนุษย์ก่อนเป็นนักฟุตบอล

นอกจากผลงานอันเลื่องลือแล้ว สิ่งที่ ธำรงไทย มักถูกพูดถึงคือความนอบน้อมถ่อมตน และความมีน้ำใจนักกีฬา ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นทีมขวัญใจของคนไทยในต่างแดน และคนในท้องถิ่น

“ไม่ใช่แค่คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ จะรักทีมฟุตบอลธำรงไทย แต่เจ้าบ้านในทุกๆประเทศ ที่พวกเขาเคยไป ก็รักพวกเขาเช่นกัน” เว็บไซต์ ScandAsia ระบุ

สปอนเซอร์หลักของธำรงไทย ไม่ใช่บริษัทอุปกรณ์กีฬายักษ์ใหญ่ แต่เป็นผู้จัดการแข่งขัน หรือร้านอาหารไทยที่ชื่อว่า อยุธยา ที่โคเปนเฮเกน พวกเขาคือสปอนเซอร์ที่แท้จริง เพราะให้อาหารและที่พักแก่เด็กๆ และสต้าฟโค้ช”

Photo : Thamrong Thai Samosorn

มันคือสิ่งที่ สุเมธ เน้นย้ำกับเด็กในทีมทุกครั้งที่ไปแข่งในต่างประเทศ และกลายเป็นเหมือนปรัชญาสำคัญที่ทุกคนในทีมต้องปฏิบัติ ทั้งในและนอกสนาม

“เมื่อเราอยู่ต่างประเทศ และต้องอยู่กับครอบครัวคนอื่น เราสอนเด็กให้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดังนั้นผู้คนจะรักเรา และยินดีต้อนรับเราไปอยู่บ้านโดยไม่ผิดหวัง” สุเมธกล่าวกับ ScandAsia

“ฟุตบอลทำให้เด็กของเราได้รับมากกว่าแค่ความภาคภูมิใจและชัยชนะ แต่มันทำให้พวกเขาได้รับมิตรภาพ วินัยและความเป็นธรรม”

สุเมธ เล่าว่า ครั้งหนึ่งในการแข่งขันเฮลซิงกิ คัพ ที่ฟินแลนด์ ดันมีเหตุการณ์ที่นักเตะของธำรงไทย ไปเยาะเย้ยคู่แข่ง ที่ทำให้เขาถึงขั้นไปขอให้กรรมการไล่นักเตะของตัวเองออกจากสนามทันที

“หลังจากขอโทษทีมคู่แข่ง ผมก็แบนผู้เล่นคนนั้นไป 5 เกม ความหยาบคายแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก ธำรงไทยไม่ชนะแบบนี้ เราต้องชนะอย่างสมศักดิ์ศรี” สุเมธย้อนความหลัง

ทำเนียบแชมป์ / Photo : สุเมธ แก้วทิพยเนตร

นับตั้งแต่ปี 1979 ธำรงไทยผ่านการฝึกนักฟุตบอลมาแล้ว กว่า 5,000 คน รวมถึง เรย์ แม็คโดนัลด์ และชาคริต แย้มนาม ดาราดังของไทย ไปจนถึง อนุรักษ์ ศรีเกิด อดีตผู้เล่นทีมชาติไทย

“เด็กกว่า 100 คนของธำรงไทย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของไทย และกว่า 50 คนก็จบปริญญาโท” สุเมธกล่าวต่อ

“ไม่มีใครในธำรงไทยที่เล่นฟุตบอลแล้วไม่ไปโรงเรียน เราภูมิใจที่เราได้ดูแลพวกเขา เราดูแลพวกเขาเหมือลูกชายของเรา เหมือนสายเลือดเดียวกัน”

“แม้ว่าเราจะไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักจากรัฐบาลหรือเอกชน แต่เราก็พยายามทำให้เด็กเหล่านี้ปลอดภัยและมีการศึกษาที่ดี”

ชาญวิทย์ ผลชีวิน ตำนานบอลไทย…หนึ่งใน 250 ส.ว. ที่มีสิทธิ์ชี้ขาดนายกฯ | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
#สวมีไว้ทำไม กลายเป็นแฮชแท็กที่ร้อนแรงไปทั่วโซเชียล หลังสมาชิกวุฒิสภาหลายคน แสดงจุดยืน ไม่โหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ทั้งที่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ได้มากถึง 310 เสียง หรือได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาล่าง ทั้งนี้ ในบรรดารายชื

น่าเสียดายที่ปัจจุบันเยาวชนธำรงไทย ต้องเหลือแค่ชื่อ หลัง สุเมธ ประสบปัญหาทางการเงิน ที่ทำให้พวกเขาไม่ได้ส่งทีมไปเล่นในฟุตบอลเยาวชนระดับนานาชาติ มาแล้วหลายปี

แต่ถึงอย่างนั้น ชื่อของเขายังคงถูกพูดถึง เช่นกันกับ สุเมธ ที่เพิ่งได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจาก ผู้จัดการแข่งขันโกเธียคัพ เมื่อปี 2019 จากความพยายามและความทุ่มเทพัฒนาวงการฟุตบอลไทยในระดับเยาวชนมาหลายสิบปี

“สำหรับผม สุเมธ เป็นหนึ่งในวีรบุรุษคนสำคัญของผม เขาเสียสละตัวเองทุกอย่างเพื่อให้เด็กกำพร้าเป็นพันคนได้มีอนาคต” เดนนิส แอนเดอร์สัน เลขาธิการทั่วไปฝ่ายจัดการแข่งขันกล่าวกับ gothiacup.se

“หลายคนได้กลายเป็นนักฟุตบอลเก่งๆ แต่ทุกคนกลายเป็นคนที่ดี”

เดนนิส แอนเดอร์สสัน และ สุเมธ เมื่อปี 2019 / Photo : gothiacup.se

มันคือภาพสะท้อนให้เห็นว่าความความตั้งใจ ไม่มีอะไรที่สูญเปล่า ที่แม้บางทีอาจจะไม่มีคนเห็นค่า แต่อย่างน้อยมันก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ให้ไม่มากก็น้อย เหมือนกับคำสัมภาษณ์ที่ สุเมธ เคยว่าไว้กับ ScandAsia เมื่อปี 2004

“แม้ว่าผมจะเสียบ้านไป และเป็นหนี้ธนาคารอยู่ตอนนี้ แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้ในความหวัง และฝึกฝนเด็ก ๆ ต่อไป เพื่อทำให้เขาเป็นนักฟุตบอลที่ดีที่สุดของไทย ผมไม่แคร์สิ่งที่คนอื่นพูดหรอก สิ่งเดียวที่ผมแคร์คือเด็ก ๆ ของผม” สุเมธกล่าว

“ผมต้องพาเด็ก 5,000 คนออกจากยาเสพติดและความรุนแรง ผมยังได้ให้การศึกษาที่ดีแก่พวกเขามาตลอด 30 ปี และผมก็จะทำแบบนี้ต่อไป”

แหล่งอ้างอิง

https://gothiacup.se/en/post/has-dedicated-his-life-to-care-for-orphans

https://scandasia.com/1194-thai-success-on-danish-fields/

https://www.svenskafans.com/fotboll/ois/6851

https://www.aftonbladet.se/sportbladet/fotboll/a/e1Gvey/foraldralost-fotbollslag-till-sverige

https://www.facebook.com/thamrongthaiFC

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ