Outside In : วิทยา ‘เฮงซัง’ เลาหกุล : แข้งเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ชาวญี่ปุ่นให้การนับถือ

Outside In : วิทยา ‘เฮงซัง’ เลาหกุล : แข้งเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ชาวญี่ปุ่นให้การนับถือ
มฤคย์ ตันนิยม

วิทยา เลาหกุล ถือหนึ่งในบุคลากรสำคัญของวงการฟุตบอลไทย จากการที่เขาเคยมีประสบการณ์ค้าแข้งในลีกแถวหน้าของโลกอย่างบุนเดสลีกาของเยอรมันมาแล้ว

อย่างไรก็ดี เยอรมันไม่ใช่ต่างชาติรายแรกที่ได้ยลฝีเท้าแข้งไทยคนนี้ เมื่อก่อนไปเล่นที่ยุโรป  ‘เฮงซัง’ ก็เคยไปฝากฝีไม้ลายมือให้คนญี่ปุ่นซูฮกมาก่อน ด้วยการผนึกกำลังกับดาวยิงระดับตำนานแดนซามูไร คุนิชิเงะ คามาโมโตะ ในสีเสื้อของ ยันมาร์ ดีเซล หรือ เซเรโซ โอซากา ในปัจจุบัน

และนี่คือเรื่องราวของการผจญภัยในแดนอาทิตย์อุทัยของวิทยา จากมุมมองของสื่อญี่ปุ่น ติดตามไปพร้อมกับ Outside In ของ Think Curve - คิดไซด์โค้งได้ที่นี่

แจ้งเกิดจากเมอร์เดกาคัพ

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตคนเรามันก็เหมือนจุดต่อจุด” กล่าวคือมันอาจจะไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง แต่มันอาจจะมีจุดที่เชื่อมถึงกัน และนำเราไปสู่ความสำเร็จ ชีวิตของ วิทยา เลาหกุล ก็อาจเป็นเช่นนั้น

แม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จอย่างมาก ในฐานะนักเตะชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ไปเล่นในยุโรป รวมถึงบุนเดสลีกาของเยอรมัน แต่หากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น เด็กหนุ่มจากจังหวัดลำพูน อาจจะมาไม่ถึงจุดนี้ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ฟุตบอล’

วิทยา เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างลำบาก ท่ามกลางพี่น้องถึง 14 คน เขามีความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก โดยได้รับอิทธิพลมาจากพี่ชาย และคลั่งไคล้ถึงขนาดที่หลายครั้ง ต้องวิ่งไปกลับหลายสิบกิโลเมตร เพื่อไปดูโทรทัศน์ที่นำรายการฟุตบอลอังกฤษมาฉาย

“ตอนเด็กๆ ผมชอบอ่านหนังสือฟุตบอลสยาม ผมเห็นว่าฟุตบอลอาชีพมีชื่อเสียงและมีตังค์ ผมฝันมาตั้งแต่เด็กแล้ว” วิทยา กล่าวกับ FourFourTwo Thailand

“ผมไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่ผมชอบเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง เอาดิ๊กชั่นนารี มาเปิดหาคำศัพท์เอง เพราะผมฝันว่าสักวันหนึ่งต้องไปเล่นฟุตบอลอาชีพที่ต่างประเทศ”

“เวลามีวิชาเรียงความ หรือ วาดรูป ผมจะเขียนว่าตัวเองอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ไปเล่นที่ยุโรป ผมชอบวาดภาพตัวเองลงเล่นท่ามกลางกองเชียร์เป็นแสน ๆ คน หลาย ๆ คนหาว่าผมบ้า”

วิทยาเริ่มต้นสร้างชื่อในวงการลูกหนังในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 7 ที่นครศรีธรรมราช หลังพาทีมฟุตบอลเขต 5 จังหวัดลำพูน คว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรกของจังหวัด และได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของทัวร์นาเมนต์

ผลงานดังกล่าวทำให้ วิทยา ถูกเรียกมาทดสอบฝีเท้าที่กรุงเทพฯ ก่อนจะติดทีมนักเรียนไทยรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ชุดชิงแชมป์เอเชีย ที่ไต้หวัน และคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ ก่อนจะขึ้นไปเป็นกำลังหลักของทีมชาติไทยชุดใหญ่ในเวลาต่อมา

Photo : ฟุตบอลไทยในอดีตByTommyBar

อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนเขาเกิดขึ้นในปี 1976 เมื่อ วิทยา ในวัย 22 ปี ติดทีมชาติไทยไปเล่น เมอร์เดกาคัพ ที่มาเลเซีย และในการพบกับทีมชาติญี่ปุ่น เขาก็ทำให้แข้งซามูไรบลูต้องตะลึง หลังเหมาคนเดียวสองประตู ช่วยให้ทีมเสมอกับอดีตเหรียญทองแดงโอลิมปิก 1968 ด้วยสกอร์ 2-2

คูนิชิเงะ คามาโมโตะ ดาวยิงทีมชาติญี่ปุ่นในชุดนั้น ก็ได้เห็นฝีเท้าของ วิทยา ด้วยสายตาตัวเอง จึงได้ชวนแข้งชาวไทย มาเล่นที่ญี่ปุ่นกับเขา ที่ ยันมาร์ ดีเซล หรือ เซเรโซ ในปัจจุบัน

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของตำนาน “เฮงซัง” ที่ชาวญี่ปุ่นนับถือ

คู่หูมหาประลัย

แม้ว่า วิทยา จะย้ายมาร่วมทัพยันมาร์ จากคำชวนของ คามาโมโตะ สตาร์ของทีม แต่ชีวิตที่ญี่ปุ่นในช่วงเริ่มแรกของเขาไม่ได้ง่าย เมื่อแข้งชาวไทย เมื่อเขาต้องใช้เวลาถึง 3 เดือนไปกับการฝึกหนัก โดยไม่ได้ลงเล่นแม้แต่นาทีเดียว

“ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เทคนิค และการตัดสินใจของไทยน่าจะดีกว่าญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นมีร่างกายที่แข็งแกร่งกว่า รวมทั้งเมนูฝึกที่มากกว่า” วิทยาย้อนความหลังกับ The Answer

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขายอมแพ้ วิทยา ก้มหน้าก้มตาซ้อมโดยไม่สนอะไร และทำให้เขาได้รับโอกาสประเดิมสนามเป็นครั้งแรกในเกมพบกับ ฟูจิตะ อินดัสทรี (โชนัน เบลล์มาเรในปัจจุบัน) ที่จบลงด้วยสกอร์ 0-0 (ยิงจุดโทษชนะ 5-3)

หลังจากนั้น “บิทายะ” ซึ่งเป็นชื่อที่คนญี่ปุ่นเรียก ก็ก้าวขึ้นมายึดตำแหน่งตัวจริงของทีม และกลายเป็นคู่หูคนสำคัญของ คุมาโมโตะ นอกจากนี้ เขายังเป็นคนยิงประตูชัย ช่วยให้ ยันมาร์ เอาชนะโรงไฟฟ้าฟูรูคาวะ (เจฟ ยูไนเต็ด จิบะ) ในรอบรองชนะเลิศ เอ็มเพอเรอร์สคัพ ในปี 1977 พาทีมเข้าชิงได้สำเร็จ แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายต้องแพ้ให้ ฟูจิตะ อินดัสทรี

คูนิชิเงะ คามาโมโตะ

“ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นักเตะชาวไทยที่ชื่อว่า บิทายะ เลาหกุล ย้ายมาร่วมทีมยันมาร์ ดีเซล ผมอาจจะไม่มีความประทับใจในตอนนั้น แต่ผมจำนักเตะชาวไทยคนนี้ได้ดี” แฟนบอลญี่ปุ่นที่ใช้นามแฝงว่ามิสเตอร์คอนตี กล่าว

“ในเวลาต่อมา เขายังได้ขึ้นปกนิตยสารในตอนนั้น ก่อนจะกลับบ้านเกิดไปเล่นฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ตอนนั้นผมคิดว่าเขาจะต้องเป็นนักเตะที่ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน”

เฮงซัง ยังคงทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในซีซั่นต่อมา เมื่อเขากลายเป็นผู้เล่นที่ขาดไม่ได้ในแดนกลางของ ยันมาร์ ช่วยให้ทีมจบในตำแหน่งรองแชมป์ของลีก

“ตอนอายุ 23 ปี วิทยา ได้เข้ามาประสานงานกับ คุนิชิเงะ คามาโมโตะ ด้วยการเล่นที่รวดเร็ว และเทคนิคระดับสูงที่คล่องแคล่วที่ยันมาร์” คิวามุ คาเบะ นักข่าวชาวญี่ปุ่น กล่าวในบทความของตัวเองในเว็บไซต์ The Answer

“บทบาทของวิทยาซัง ทำให้นึกถึงชนาธิปในเจลีกขณะนี้ เขาเป็นเหมือนฮีโรของไทย”

Photo : Yanmar

น่าเสียดายที่นั่นคือฤดูกาลสุดท้ายของเขากับยันมาร์ เมื่อ วิทยา ตัดสินใจ ไม่ต่อสัญญากับทีม ก่อนจะได้ย้ายไปเล่นให้กับ แฮร์ธา เบอร์ลิน และทำสถิติกลายเป็นนักเตะไทยคนแรกที่ได้ค้าแข้งในยุโรป และบุนเดสลีกา

ทว่า วิทยา ก็มีโอกาสได่หวนคืนสู่วงการฟุตบอลญี่ปุ่นอีกครั้งในปี 1986 หลังย้ายไปร่วมทีมโรงไฟฟ้า มัตสึชิตะ (กัมบะ โอซากา) สโมสรร่วมเมืองโอกาซา ของยันมาร์ ก่อนจะแขวนสตั๊ดที่นั่น และผันตัวไปเป็นโค้ชอยู่กับทีมต่ออีก 8 ปี แล้วค่อยกลับไปรับงานในไทย

นอกจากนี้ ในปี 2007 เขายังได้คุมทีมในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ของ ไกนาเร ทตโตริ ใน Japan Football League (๋JFL) ลีกระดับ 3 ของญี่ปุ่นในตอนนั้น แต่ก็ต้องลาออกหลังประสบอุบัติเหตุที่ไทย จนต้องใช้เวลาพักฟื้นอยู่พักใหญ่

คืนชีพ ‘มารินอส’ : งานชิ้นโบว์แดงที่ทำให้ ‘อังเก้’ ไปไกลถึงขั้นได้คุม สเปอร์ส | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
หลังจาก ก็อดออฟทรานสเฟอร์ - ฟาบริซิโอ โรมาโน่ ออกมายืนยันด้วยคำว่า “Here we go” ในดีลของ อังเก้ ปอสเตโคกลู เทรนเนอร์จากสโมสร เซลติก ที่เพิ่งผงาดพาทีมคว้า ทริปเปิ้ล แชมป์ ในประเทศสก็อตแลนด์มาแบบสดๆ ร้อนๆ ว่าเตรียมย้ายไปคุมทัพ ท็อตแน่ม ฮ็

“เขาคือนักเตะเอเชียคนแรกในญี่ปุ่น ชื่อของเขาที่ลงทะเบียนในเจแปนซ็อคเกอร์ลีกคือ ‘บิทายะ’ เขาเล่นให้ ยันมาร์อยู่หนึ่งฤดูกาลเห็นจะได้ (ข้อเท็จจริง 2 ปี)  แต่ทั้งที่เล่นในตำแหน่งกองกลาง เขากลับยิงไปถึง 14 ประตูจาก 33 นัด” บทความในเว็บไซต์ Asia Socer Business ระบุ

ทั้งนี้ แม้ว่า วิทยา จะใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นในฐานะผู้เล่นเพียงไม่กี่ปี แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขากลับเป็นที่จดจำ และได้รับการยกย่องจากคนที่นั่น เพราะอะไร?

เฮงซังผู้ถ่อมตน

แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ โค้ชเฮง ได้รับการยกย่องจากคนญี่ปุ่น มาจากประสบการณ์อันโชกโชน เขาไม่เพียงเป็นแข้งดีกรีบุนเดสลีกา แต่ยังมีใบอนุญาตการเป็นโค้ชระดับ บี ไลเซนส์ ที่เขาไปลงเรียน ตอนเล่นที่อยู่เยอรมัน

“ด้วยความที่ไม่มีทฤษฎีการสอนที่แน่นอนในไทย ผมจึงตัดสินใจเรียน ซี และ บี ไลเซนส์ ตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่เยอรมัน และมันก็มีประโยชน์ตอนกลับประเทศ” วิทยาย้อนความหลังกับ The Answer

ขณะเดียวกัน ในยุคที่การสื่อสารยังไม่ฉับไวกว้างไกลเหมือนปัจจุบัน การเดินทางไปเล่นในต่างประเทศตั้งแต่วัยรุ่น ยังทำให้เขาถูกมองว่าเห็นโลกมามากว่าคนอื่น

บวกกับความเป็นชาวต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเฉพาะสำเนียงคันไซ (ภาคตะวันตกของญี่ปุ่น) จึงทำให้เขาได้รับการยอมรับจากชาวญี่ปุ่นอย่างไม่ยากเย็น

Photo : JFL

“นอกจากไทยและญี่ปุ่นแล้ว วิทยาซังยังมีประสบการณ์เล่นให้แฮร์ธา เบอร์ลินของเยอรมัน และชาบรูคเคน และพูดภาษาอังกฤษ เยอรมัน และญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว” บทความในเว็บไซต์ Sports Navi ระบุ

“ในอดีตหรือแม้กระทั่งปัจจุบัน การที่นักเตะไทยไปเล่นในต่างประเทศเป็นเรื่องยากมาก เขาจึงถือเป็นผู้บุกเบิก และผู้คนตั้งฉายาว่า ‘ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ เมืองไทย’”

นอกจากนี้ จากการที่ วิทยา อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านสำคัญของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ทั้งการเปลี่ยนจากลีกสมัครเล่น มาเป็นลีกอาชีพในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990s หรืออยู่ในยุคที่เจลีกกำลังซบเซาช่วงปลายทศวรรษที่ 2010s จึงทำให้เขาเป็นหมุดหมายสำคัญของเกมลูกหนังแดนซามไูร

“ทั้งการเปลี่ยนจากยุค เจแปนซ็อคเกอร์ลีกสู่เจลีก และช่วงที่ฟุตบอลญี่ปุ่นกำลังอิ่มตัว วิทยาถือเป็นนักเตะเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลญี่ปุ่นที่ได้ลิ้มลองสิ่งเหล่านี้ ในฐานะ ‘ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง’” Asia Socer Business อธิบาย

Photo : KAZZと名乗る適当なおっさん 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือนิสัยส่วนตัวของ วิทยา เขาบอกว่าเขาแทบไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ที่น่าจะเป็นผลมาจากไลฟ์สไตล์ที่ไม่ได้หวือหวา ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้สามารถอยู่ในสังคมกลุ่มของญี่ปุ่นได้อย่างกลมกลืน

“ที่ไทยนักฟุตบอลจะมีขื่อเสียงเหมือนดารา ภรรยาของผมจึงเตือนสเมอให้ผมแต่งตัวดี ๆ และกินอาหารอย่างมีมารยาท” วิทยากล่าวกับ The Answer

“ในจุดนั้นมันทำให้การใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องง่าย ตอนที่ผมเล่นที่นั่น ผมมักจะชวนคามาโมโตะซังไปกินราเมงที่โอซากา อยู่เสมอ และเขาก็เกลียดผม”

“เพราะผมสามารถค่อย ๆ กินได้ คามาโมโต มักจะถูกขอลายเซ็นอยู่เสมอ”

คามาโมโตะ คู่หูของวิทยา 

บวกกับความเป็นคนถ่อมตัวของโค้ชเฮง ที่ไม่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่แข้งชาวไทยคนนี้ก็ไม่เคยโอ้อวด หรือยกยอตัวเอง ที่มันเป็นคุณธรรมที่คนญี่ปุ่นยกย่องอยู่แล้ว

“วิทยาเป็นคุณลุงที่ดี แต่เขาโชคไม่ดีกับการคุมทีมทตโตริ แต่ผมคิดว่าโดยรวมแล้วเขาทำผลงานได้ดี อย่างน้อยเขาก็มอบความฝันให้ผม” แฟนบอลไกนาเร ที่ใช้นามปากกาว่า KAZZと名乗る適当なおっさん กล่าวถึงโค้ชเฮง

“ที่ไทยบ้านเกิด เขาเป็นคนที่ใหญ่โต แต่เขาไม่มีท่าทีที่โอ้อวดเลย เขาแค่อยากให้เจลีกเติบโตไปกับเขา”

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “วิทยา” หรือ “บิทายะ” ที่ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคย ยังคงอยู่ในความทรงจำของพวกเขาอยู่เสมอ รวมถึงได้รับการนับถือในวงการฟุตบอลแดนซามูไร  ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

แหล่งอ้างอิง

https://sports.yahoo.co.jp/column/detail/201703280003-spnavi

https://www.facebook.com/AFHT18/photos/a.989252861111276/989256024444293

https://note.com/asbsalon1111/n/n487c40b4ab29

https://the-ans.jp/column/3030/

https://the-ans.jp/coaching/67369/

https://note.com/kazz_kazz_kazz/n/n39f6be80dfaa

https://blog.goo.ne.jp/conty1ban/e/a4b1bd3e5033defb574252f0713b4059

https://www.yanmar.com/jp/about/ymedia/article/soccer_1.html

http://www.jfl.or.jp/archive/2008/0046785/top.html

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ