Outside In : 'วิทยา เลาหกุล ' แข้งสายเลือดไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ของบุนเดสลีกา

Outside In :  'วิทยา เลาหกุล ' แข้งสายเลือดไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ของบุนเดสลีกา
มฤคย์ ตันนิยม

“ผมไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่ผมชอบเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง เอาดิกชั่นนารี มาเปิดหาคำศัพท์เอง เพราะผมฝันว่าสักวันหนึ่งต้องไปเล่นฟุตบอลอาชีพที่ต่างประเทศ” วิทยา เลาหกุลกล่าว

หากพูดถึงลีกชั้นนำของโลก บุนเดสลีกา ก็คงจะเป็นหนึ่งในนั้น ด้วยการแข่งขันที่เข้มข้น คุณภาพผู้เล่นในระดับโลก แถมยังเป็นลีกที่มีผู้ชมเฉลี่ย เป็นอันดับต้น ๆ ของทวีป

อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปเกือบ 50 ปีก่อน วิทยา เลาหกุล ปรมาจารย์ลูกหนังแห่งฟุตบอลไทย ก็เคยได้มีโอกาสมาโชว์ฝีเท้าในลีกแห่งนี้ หลังย้ายไปร่วมทีม แฮร์ธา เบอร์ลิน ในปี 1979

และนี่คือเรื่องราวในตอนนั้น ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง กับบทความนี้

ความฝันที่กลายเป็นจริง

ในทศวรรษที่ 1960s-70s การเล่นฟุตบอลเลี้ยงชีพ อาจจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับชาวไทย หรือแม้แต่แข้งในเอเชีย เนื่องมาจากลีกส่วนใหญ่ในยุคนั้นยังเป็นเพียงลีกกึ่งอาชีพ

แต่อาจจะไม่ใช่ สำหรับ วิทยา เลาหกุล เด็กหนุ่มบ้าบอล จากจังหวัดลำพูน ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพมาตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มต้นด้วยการเล่นให้ ราชประชา ก่อนที่จะย้ายไปเล่นให้กับ ยันมาร์ ดีเซล ในญี่ปุ่นในปี 1977

“ตอนเด็กๆ ผมชอบอ่านหนังสือฟุตบอลสยาม ผมเห็นว่าฟุตบอลอาชีพมีชื่อเสียงและมีตังค์ ผมฝันมาตั้งแต่เด็กแล้ว” วิทยากล่าวกับ FourFourTwo Thailand

“ผมไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่ผมชอบเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง เอาดิกชั่นนารี มาเปิดหาคำศัพท์เอง เพราะผมฝันว่าสักวันหนึ่งต้องไปเล่นฟุตบอลอาชีพที่ต่างประเทศ”

แม้ว่า วิทยา จะทำได้อย่างที่ตั้งใจ หลังได้ออกไปเล่นในต่างประเทศถึงแดนอาทิตย์อุทัย แต่เขาก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่ เนื่องจากตอนนั้น Japan Soccer League ของญี่ปุ่น ยังเป็นแค่ลีกเซมิโปร

แต่แล้วโอกาสของเขาก็มาถึงในปี 1979 เมื่อทีมชาติไทย ได้ลงเล่นอุ่นเครื่องกับทีมต่างประเทศอย่าง ฟอร์ทูน่า โคโลญจน์ กับ เอสปันญอล บาร์เซโลนา และทำให้ฝีเท้าเขาไปเข้าตา ฟลิตช์ โชลเมเยอร์ โค้ชชาวเยอรมัน ก่อนจะแนะนำให้ โวล์ฟกัง โฮลส์ เพื่อนของเขา คว้าตัวแข้งชาวไทยคนนี้มาร่วมทีม

Photo : AFC

“ฟลิตซ์ โชลเมเยอร์ อดีตโค้ชเทนนิส โบรุสเซีย เบอร์ลิน คู่แข่งร่วมเมือง ได้แนะนำให้ โวล์ฟกัง โฮลส์ เพื่อนของเขา เซ็นสัญญากับผู้เล่นทีมชาติไทย ที่สูง 177 เซนติเมตร และหนัก 68 กิโลกรัม” Hertha Museum กล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น

“วิทยา เลาหกุลในวัย 25 ปี เพิ่งจะได้รับเลือกเป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมในบ้านเกิด ในฤดูกาล 1978-1979 เป็นปีที่สองติดต่อกัน”

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์

ผจญภัยในเยอรมัน

“เวลามีวิชาเรียงความ หรือ วาดรูป ผมจะเขียนว่าตัวเองอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ไปเล่นที่ยุโรป ผมชอบวาดภาพตัวเองลงเล่นท่ามกลางกองเชียร์เป็นแสน ๆ คน หลาย ๆ คนหาว่าผมบ้า” วิทยา กล่าว FourFourTwo Thailand

ในปี 1979 วิทยา ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาไม่ได้บ้า เมื่อได้ย้ายมาเล่นให้กับ แฮร์ธา เบอร์ลิน ที่ตอนนั้นอยู่ฝั่งของเยอรมันตะวันออก และทำให้เขากลายเป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เซ็นสัญญากับสโมสรในบุนเดสลีกา

อย่างไรก็ดี แม้ว่า “วิเทีย” ซึ่งเป็นชื่อที่คนเยอรมันเรียกเขา จะมาถึง เบอร์ลิน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 1979 แต่เขาก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับทีมสำรอง และลงเล่นในลีกสมัครเล่น แถมยังเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ จากเพื่อนร่วมทีม

Photo : Tommy Bars

“ผมจำได้ว่าวันแรกๆกับทีมชุดใหญ่ ตอนแบ่งข้างกัน พวกเขาพูดว่า เตะมัน (วิทยา) เลยให้เดี้ยงเลย เตะมันให้เดี้ยงก่อน สมัยนั้นถ้าลงสนามเป็น 11 ผู้เล่นตัวจริงจะได้เงิน 10,000 มาร์ก (เยอรมัน) ตอนนั้นก็คูณ 15 บาท (ราว150,000 บาท)” วิทยาย้อนความหลัง

“ช่วงแรกๆ เวลาเล่นลิงกัน พวกเขาไม่เอาผมเลยนะ พวกเขาไม่ยอมรับผม หรือเวลาลงทีม พวกเขาก็ไม่เอาผม กลัวผมส่งเสีย และจะไล่เอาบอลยาก

“ตอนทดสอบร่างกายไปวิ่งกันในทุกวันอังคาร พวกวิ่งนำหน้าก็จะไปถึงด้านบนของโอลิมปิก สเตเดี้ยม ก็จะถ่มน้ำลายลงมาใส่ผม”

แต่วิทยาก็ไม่ยอมแพ้ เขามุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างหนัก ไปพร้อมกับการเรียนภาษาเยอรมัน และในที่สุดก็มีคนเห็นค่า เมื่อเฮลมุต โคลส์เบน อดีตโค้ช ที่มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับ แฮร์ธา ได้เห็นฟอร์มการเล่นของเขาในทีมสำรอง จึงได้แนะนำ คูโน โคลตเซอร์ เฮดโค้ช ของทีมชุดใหญ่ให้ลองใช้งานเขาดู

โคลส์เบน (ซ้าย) ผู้แนะนำวิทยาให้เฮดโค้ช, Photo : Hertha BSC Museum 1892

“เขาเล่นกับบอลได้ดีมาก และมีทักษะการเป็นนักสู้” โคลส์เบน บอก โคลตเซอร์

หลังจากนั้นไม่นาน ประวัติศาสตร์ก็จารึก เมื่อ ฮาน เอเดอร์ ที่เข้ามารับหน้าที่ต่อจากโคลตเซอร์ ตัดสินใจส่ง วิทยา ลงสนามในเกมพบกับ ฟอร์ทูนา ดุยส์เซดอฟ ในช่วงปลายปี 1979 และทำให้เขาได้เป็นนักเตะสายเลือดไทยคนแรกที่ได้สัมผัสเกมลีกสูงสุดเยอรมัน

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา โอกาสของ วิทยา ก็มาถึงอีกครั้ง หลังได้ประเดิมสนามเป็นตัวจริงครั้งแรกในบุนเดสลีกา ในเกมแฮร์ธา ดวลกับ สตุ๊ตการ์ท ต่อด้วยการลงเล่นในฟุตบอลถ้วย เดเอฟเบ โพคาล หลังจากนั้น

ซามูไรแบก : การเปิดใจรับนักเตะญี่ปุ่นที่ทำให้ เซลติก เป็นแชมป์ลีกสก็อตในปีนี้ | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
กลาสโกว์ เซลติก ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในซีซั่นนี้ หลังคว้าแชมป์สก็อตติช พรีเมียร์ลีกมาครองได้อีกครั้ง ทั้งนี้ หนึ่งในกุญแจสำคัญของพวกเขาก็คือพลพรรคนักเตะซามูไร ที่มีอยู่ในทีมถึง 5 ราย นำโดย เคียวโงะ ฟูรูฮาชิ ดาวซัลโวของทีม

“ในแง่ของกีฬา เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพของวิทยา เปิดกว้าง หลังโวล์ฟกัง โฮลส์ ขึ้นไปเป็นประธานสโมสรต่อจาก อ็อตโตมา ดอร์มริช ในเดือนพฤศจิกายน 1979” Hertha Museum ระบุ

“หลังจากนั้น ทุกอย่างก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้นเดือนธันวาคม แข้งชาวไทยได้เซ็นสัญญาอาชีพ และในการเจอกับ ฟอร์ทูนา ดุยส์เซดอฟ ฮานส์ เอเดอร์ ที่คุมทัพน้ำเงินขาวมาตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคม ก็ส่งเขาลงเล่นในช่วงท้ายเกม และกลายเป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสต์ของบุนเดสลีกา”

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าโชคจะยังไม่เข้าข้างเขา

ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง

แม้ว่า วิทยา จะได้ลงสนามมากขึ้น แต่ในช่วงฤดูกาลหลัง แฮร์ธา ทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ และสุ่มเสี่ยงที่จะตกชั้น จึงทำให้แข้งชาวไทย ได้ลงเล่นต่อเกมไม่กี่นาทีเท่านั้น

ซ้ำร้ายฤดูกาลดังกล่าว แฮร์ธา ยังต้องตกชั้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร หลังจบในอันดับ 16 ของตาราง โดย วิทยา ได้สัมผัสเกมในเกมลีกไปแค่ 3 นัด รวมทั้งสิ้น 96 นาที

“ในฤดูกาล 1979/80 วิเทีย ไม่ได้ลงในลีกและฟุตบอลถ้วยแค่เพียง 4 นัดเท่านั้น แต่ยังลงสนามในทีมเยาวชนไป 5 นัด (ทำได้ 1 ประตู) และลงเล่นในนัดกระชับมิตรไป 4 เกม (ทำได้ 5 ประตู)” Hertha Museum อธิบาย

ก่อนที่ในฤดูกาล 1980/1981  อูเว คลิมาเชฟสกี กุนซือคนใหม่ จะดัน วิทยา ขึ้นมาเป็นตัวหลักของ แฮร์ธา ชุดสู้ศึกบุนเดสลีกา 2 แต่ฝันร้ายก็มาเยือนนักเตะชาวไทยอีกครั้ง หลังได้รับบาดเจ็บ จนได้ลงสนามไปแค่ 21 นัด (ตัวจริง 5 นัด สำรอง 16 นัด)

“ไฮไลท์ส่วนตัวของเขา เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1980 หลังยิงประตูสุดท้ายในนาทีสุดท้าย ช่วยให้ทีมเอาชนะ วัตเทิลไชน์ ไปได้ 8-0 ซึ่งเป็นชัยชนะที่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของแฮร์ธา” คำอธิบายของ  Hertha Museum

Photo : Hertha Museum

อาการบาดเจ็บ ยังเป็นปัญหาเรื้อรังของ วิทยา มาตลอด และทำให้เขาได้ลงเล่นไปเพียงแค่ไม่กี่เกมในฤดูกาล 1981-1982 แถมยังต้องเข้ารับการผ่าตัดที่หัวเข่าจนต้องพักยาว จนเกือบจบฤดูกาล

“แม้ว่าทุกอย่างในทีมจะกำลังเป็นไปด้วยดี แต่โชคร้ายเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บของแข้งชาวไทยยังคงมีอยู่ เขาได้ลงเล่นไปเพียงแค่ 11 เกมก่อนคริสต์มาสต์ แต่หลังจากนั้นก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดที่หัวเข่า ที่ทำให้เขาไม่ได้ลงสนามอยู่พักใหญ่" Hertha Museum ระบุ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวขัดแย้งกับคำสัมภาษณ์ของ วิทยา เมื่อเขาระบุว่า สาเหตุที่เขาไม่ได้ลงสนาม เป็นเพราะ จอร์จ กาวลิเซ็ค กุนซือที่เข้ามารับงานคุมแฮร์ธา ในเดือนตุลาคม 1981 มีอคติต่อคนไทย จากประสบการณ์ในอดีต

Outside In : สื่อต่างชาติพูดถึง 3 แข้งไทยในแมนฯ ซิตี้ ยุค ‘ทักษิณ’ ไว้อย่างไร? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
“ประธานคนใหม่ของเราเริ่มเล่นการเมืองกับสโมสรของเรา ผมเบะปากตอนที่อ่านข่าวว่า ซิตี้ กำลังทดสอบฝีเท้านักเตะดาวรุ่งชาวไทย สุรีย์ สุขะ, เกียรติประวุฒิ สายแวว และ ธีรศิลป์ แดงดา” นิโคลัส ฟาร์เรลลี กล่าวในบทความ Own goals at Manchester City? ย้อนกลับไปเมื่อปี

“เราลงไปเล่นลีก้า 2 ทั้งหมด 2 ปี แต่ครึ่งฤดูกาลหลังของปี 1982/1983 (น่าจะเป็นฤดูกาล 1981/1982 เพราะฤดูกาล 1982 วิทยาไม่ได้อยู่กับแฮร์ธาแล้ว) ผมไม่ได้ลงสนามเลย เพราะไอ้โค้ชที่ชื่อ จอร์จ กาวลิเช็ค มันเกลียดคนไทยมาก” วิทยากล่าวกับ FourFourTwo Thailand

“มันบอกว่าเพื่อนมันเคยมาโดนขโมยกล้องที่เมืองไทย มันเรียกผมว่าไอ้ขี้ขโมย และก็ไม่ส่งผมลงสนามตลอดครึ่งฤดูกาลหลัง”

“ตอนมันเข้ามาคุมทีมมันเป็นช่วงฤดูหนาวพอดี ตอนนั้นหนาวมากติดลบ 15 องศา ผมวิ่งวอร์มในห้องแต่งตัว มันไม่ยอม มันไล่ให้ผมไปวิ่งข้างนอก เชื่อมั๊ย? ผมเกลียดมันมากถึงขนาดเขียนชื่อมันไว้ใต้รองเท้าผมเลย”

และนั่นก็ถือเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของ วิทยา ในสีเสื้อของแฮร์ธาอีกด้วย

ปรมาจารย์แห่งวงการฟุตบอลไทย

หลังจากไม่อยู่ในแผนการทำทีม ในฤดูกาล 1982/83 วิทยา ตัดสินใจลาทีม ด้วยการย้ายไปอยู่กับ ซาบรูคเคน ในลีกโอเบอร์ลิกา ซูดเวค หรือลีกระดับ 3 ของเยอรมัน ที่มี อูเว คลิมาเชฟสกี เป็นหัวเรือใหญ่อยู่ที่นั่น

เขากลายเป็นฮีโรของทีมแห่งซาร์แลนด์ ด้วยการทำไป 4 ประตูจาก 26 นัด พาทีมขึ้นมาเล่นในบุนเดสลีกา 2 ได้สำเร็จ ก่อนจะฝากผลงาน 3 ประตูจาก 27 นัดในลีกรองของแดนไส้กรอก

“ทุกอย่างเริ่มดีขึ้นที่ซาบรูคเคน ที่นี่เขาถูกมองว่าเป็นผู้เล่นจอมเทคนิค เป็นคนดัง และเป็น ‘พระเจ้าแห่งฟุตบอล’” 11freunde.de กล่าวถึงวิทยา

ทว่า หลังจบฤดูกาล 1983/84  เขาก็ช็อคทุกคนด้วยการตัดสินใจลาทีมกลับบ้านเกิด เนื่องจากต้องการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ในลีกเยอรมัน มาพัฒนาฟุตบอลไทย

Photo : Hertha Museum

“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเรียนจบโค้ช A-License พอดี ผมเลยขอลากลับไทยไปดื้อๆ ทั้งที่ทีมยังติดเงินโบนัสผมอยู่ตั้งเยอะแยะ” วิทยากล่าวกับ FourFourTwo Thailand

“ตอนนั้นผมดันไปร้อนวิชา อยากจะกลับมาช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทย กลับมาเป็นโค้ช แต่พอมาถึงบ้านเรายังไม่ได้มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างเลย ทั้งที่ตอนนั้นผมเพิ่งอายุ 31-32 ปี และยังเล่นได้อีกนาน

“มันเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากที่สุดในชีวิตผม”

แต่สุดท้าย เขาก็กลายเป็นหนึ่งในบุคลากรที่มีส่วนในการพัฒนาวงการฟุตบอลไทย และยังคงเป็นคนสำคัญ ในการสร้างเยาวชน ผ่านชลบุรี เอฟซี ที่เขาเป็นผู้อำนวยการอคาเดมี ของสโมสร

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ วิทยา คือการเป็นผู้บุกเบิก ตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ ในการไปค้าแข้งในยุโรปของแข้งสายเลือดไทย และทำให้เห็นว่า มันไม่ใช่ฝันที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

แหล่งอ้างอิง

https://www.herthabsc.com/de/nachrichten/2020/12/18224-herthamuseum_x003a_-der-erste-thailander-in-der-bundesliga

https://web.archive.org/web/20050222095629/http://ludwigspark.de:80/spieler.php?spieler_id=1891

https://11freunde.de/artikel/maskenmänner-und-wildpferde/413167

https://www.reviersport.de/fussball/spieler-vithaya-laohakul-101781.html

https://www.dfb.de/datencenter/personen/witthaya-laohakul/spieler/spiele-in-saison/2-bundesliga/1981-1982/hertha-bsc

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ