รู้จัก Palliative Care : การรับการรักษาวาระสุดท้ายของ 'เปเล่'
“Palliative Care” หรือ การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง คงเป็นคำที่แฟนบอลทั่วโลกเห็นผ่านตาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีรายงานว่า เปเล่ ตำนานดาวยิงทีมชาติบราซิล ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว อันเป็นผลมาจากร่างกายไม่ตอบสนองการทำคีโม (เคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง)
Palliative Care ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแพทย์ มันเริ่มถูกใช้ดูแลผู้ป่วยมาตั้งแต่ยุค 70s แล้ว โดยมีคุณหมอบอลฟาวร์ เมาท์ ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้คิดค้นวิธีการนี้เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโรคร้ายแรง
ความหมายจริง ๆ ของ Palliative Care คือ การดูแลแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยลดความทรมานทั้งทางร่างกาย, จิตใจ, สังคม และจิตวิญญาณ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วยเสมอ
แพทย์จะไม่ใช่ผู้กำหนดวิธีการรักษาแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป แต่ตัวผู้ป่วยและครอบครัวจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีรักษาและวางแผนเป้าหมายร่วมกัน เพราะบุคคลใกล้ชิดผู้ป่วยย่อมเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยได้ดีกว่าแพทย์
โดยแพทย์จะเป็นผู้อธิบายให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจตัวโรค, การพยากรณ์โรค, ประโยชน์และความเสี่ยงของการรักษา ซึ่งเมื่อมีความเห็นตรงกันแล้ว แพทย์ก็จะใช้วิธีการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ตามที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องการ
เคสที่พบบ่อยคือผู้ป่วยโรคร้ายแรงในระยะสุดท้าย แพทย์จะเน้นความสุขสบายของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลัก เพราะการให้การรักษาครบทุกอย่างอาจไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกรายเสมอไป การเลือกวิธีที่เหมาะสมอาจจะดีต่อผู้ป่วยมากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น ร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายไม่สามารถทนต่อการทำคีโมได้อีกต่อไป ผู้ป่วยและครอบครัวจึงตัดสินใจหยุดทำคีโม และเลือกให้ยาแก้ปวดรักษาตามอาการแทน เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ป่วยไปจนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งในระหว่างนี้แพทย์ก็ต้องดูแลสภาพจิตใจของครอบครัวผู้ป่วยด้วย
หลายคนเข้าใจว่า การดูแลแบบประคับประคองเหมาะกับผู้ป่วยโรคร้ายแรงระยะสุดท้ายเท่านั้น แต่ความจริงแล้วมันสามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่ตอนที่ตรวจเจอไปจนถึงวาระสุดท้าย หรือแม้แต่โรคเรื้อรังที่เป็นภัยคุกคามชีวิต เช่น ไตวายเฉียบพลัน, สมองเสื่อม, หัวใจวาย หรือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพื่อลดความเจ็บปวดของโรคที่เป็นอยู่
ปัจจุบัน Palliative Care เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อวงการแพทย์ เพราะปริมาณผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะกับประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางไปถึงน้อย
ตัวเลขขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2020 ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยต้องการการรักษาแบบ Palliative Care สูงถึง 56.8 ล้านคนจากทั่วโลก แต่มีเพียง 14% ที่ได้รับการรักษา โดย 96% ของกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการรักษาคือผู้ป่วยในทวีปแอฟริกา
นอกจากนี้ หลายประเทศยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้ หนึ่งในนั้นคือประเทศอังกฤษ คนส่วนใหญ่มองว่านี่เป็นอาชีพที่น่าหดหู่ เพราะต้องอยู่กับความตายตลอดเวลา พวกเขาจึงเลือกที่จะไปทำงานวอร์ดอื่นในโรงพยาบาลมากกว่า จนอังกฤษต้องออกมารณรงค์ให้คนสมัครเข้ามาทำงานในเคส Palliative Care มากขึ้น
และหนึ่งในคนดังที่ออกมาสนับสนุนโครงการนี้ก็คือ เซอร์ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ อดีตนักเตะทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 ที่ภรรยาของเขาป่วยหนัก และเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง จนเขาได้ใช้เวลาอันมีค่ากับภรรยาผู้ล่วงลับในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต
ส่วนในประเทศไทย อ้างอิงจากรายงานของโรงพยาบาลพญาไท การรักษาแบบประคับประคองกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น มีผู้ป่วยและครอบครัวจำนวนไม่น้อยเข้าใจบทบาทและความสำคัญของมัน จนตัดสินใจใช้วิธีนี้ในการรักษา
แหล่งอ้างอิง
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/palliative-care
https://www.sueryder.org/news/we-are-sue-ryder-campaign
https://www.rama.mahidol.ac.th/cancer_center/th/palliative-care