สานฝันเด็กไทย : โปรเจ็คต์ Talent ID ของช้างศึก U17 คืออะไร ?

สานฝันเด็กไทย : โปรเจ็คต์ Talent ID  ของช้างศึก U17  คืออะไร ?
วิสูตร ดำหริ

วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2567 ณ อาคาร HOUSE OF THAI FOOTBALL สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) แถลงข่าวเปิดโครงการ “FA Thailand Talent ID” เพื่อเฟ้นหานักกีฬาดาวรุ่งสู่ฐานข้อมูลทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “MANY EYES MANY TIMES”

ภายในในงานแถลงข่าวประกอบด้วย เคลลี ครอสส์ ผู้เชี่ยวชาญจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) , เอกพล พลนาวี ผู้อำนวยการฝ่ายทีมชาติ และกิจกรรมฟุตบอล, ทรงยศ กลิ่นศรีสุข รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค , ชยกร ถนัดเดินข่าว รักษาการหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี และ กฤษฎา พวงมะลิ ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี

นาย ทรงยศ กลิ่นศรีสุข รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สำหรับ ปี 2566 ที่ผ่านมา สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีการเก็บข้อมูลนักกีฬาแต่ละภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และใน ปี 2567 สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) จัดกิจกรรม FA Thailand Talent ID โดยทาง อาร์แซน เวนเกอร์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาฟุตบอลของฟีฟ่า (FIFA’s Chief of Global Football Development) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมนี้ เพื่อเป็นการนำนักกีฬาเข้าสู่ฐานข้อมูลทีมชาติ และเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับประเทศ จึงพิจารณาอนุมัติและสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมทั้งหมด


ซึ่งกิจกรรม FA Thailand Talent ID มีรายละเอียดในการคัดเลือก โดย นักกีฬาชาย แบ่งการคัดเลือก ออกเป็นทั้งหมด 10 โซน ประกอบไปด้วย โซนภาคเหนือ โซนภาคตะวันตก โซนภาคตะวันออก โซนกรุงเทพและปริมณฑล โซนภาคกลาง โซนภาคอีสานตอนบน โซนภาคอีสานตอนล่าง โซนภาคใต้ตอนบน และโซนภาคใต้ตอนล่าง

ในส่วนผู้หญิงจะแบ่งเป็นทั้งหมด 7 โซนด้วยกัน โดยจัดทีม Scout 12 คน คือ ชาย 6 คนและหญิง 6 คน ไปดูฟอร์มนักเตะ ทั้งหญิงและชาย ตามการแข่งขันรายการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Youth League หรือรายการที่ต่างจังหวัดจัดขึ้น ทั้งรายการเล็ก/ใหญ่ เพื่อไม่ให้นักกีฬาดาวรุ่งหลุดลอดสายตาไปได้

นอกจากสมาคมฟุตบอลจะใช้ฐานข้อมูลของปีที่ผ่านมาเป็นตัวตั้งในการคัดเลือกนักกีฬาแล้ว ทางสมาคมฯ ยังเล็งเห็นในความสำคัญของการคัดเลือกนักกีฬาเข้าสู่ฐานข้อมูลทีมชาติเป็นอย่างมาก จึงได้มีการเปิดโอกาสให้กับบุคคลทั่วไป ได้มีสิทธิในการกรอกข้อมูลนักกีฬาดาวรุ่งที่มีความสามารถเข้าสู่ฐานข้อมูลทีมชาติ ที่ทางสมาคมฯได้จัดทำขึ้นไว้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักกีฬาดาวรุ่งได้แสดงศักยภาพกันมากขึ้น ก่อนที่จะทำการคัดเลือกนักกีฬาดาวรุ่งประจำภูมิภาคต่าง ๆ หลังจากนั้นจะมีการเก็บตัวเข้าสู่แคมป์ทีมชาติไทยชุดเยาวชน ต่อไป


สำหรับ กระบวนการคัดเลือกนักกีฬาดาวรุ่งเข้าสู่ฐานข้อมูลทีมชาติ มีดังนี้

1. บุคคลทั่วไปส่งข้อมูลนักกีฬาที่ทีความสามารถเข้าสู่ฐานข้อมูลของสมาคมฯ
2. ผู้ฝึกสอนเยาวชนทีมชาติและทีมงานสมาคมฯ ทำการคัดกรองรายชื่อนักกีฬาแต่ละภูมิภาคนั้น ๆ พร้อมกับรายชื่อจากฐานข้อมูลจากปีที่แล้ว
3. ทางสมาคมฯส่งต่อข้อมูลที่คัดกรองแล้วให้กับผู้ฝึกสอนประจำภูมิภาคเพื่อให้ไปคัดเลือกนักกีฬาเข้าสู่การเก็บตัวประจำภูมิภาค ภาคละ 33 คน
4. ผู้ฝึกสอนเยาวชนทีมชาติและทีมงานสมาคมฯ จะไปทำการคัดเลือกนักกีฬาประจำภูมิภาคนั้น ๆ เพื่อนำนักกีฬาเข้าสู่การเก็บตัวฝึกซ้อมเยาวชนทีมชาติไทยต่อไป

โดย การคัดเลือกจะไม่เน้นไปที่ผลการแข่งขัน แต่จะเน้นให้น้อง ๆ นักกีฬาทุกคนได้เล่นฟุตบอลและแสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ฝึกสอนเยาวชนทีมชาติได้เห็นฟอร์มการเล่นอย่างเต็มที่อีกครั้ง

เมื่อผ่านการ Scout แล้ว โครงการนี้จะมีนักกีฬาแบ่งเป็น ผู้ชาย 330 คน โซนละ 33 คน 10 โซน และ ผู้หญิง 231 คน โซนละ 33 คน 7 โซน นักกีฬาคนไหนมีศักยภาพโดดเด่นก็ดึงตัวเข้ามาในโครงการของ Talent ID แล้วใส่ในฐานข้อมูลทีมชาติ ที่ทีมงานจดบันทึกตามหลักเกณฑ์ T+MASC* โดยจะไปเริ่มและสิ้นสุดกิจกรรมโซนสุดท้าย ที่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอล มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

แน่นอนว่า Talent ID ช่วยยกระดับทีมชาติให้ได้นักฟุตบอลที่มีดีและเก่งจริงมาเป็น “ขุนพลช้างศึกจูเนียร์” เพราะมีตัวช่วยคือ ฐานข้อมูล (Database) ที่ทำให้นักเตะได้เข้ามาฝึกซ้อมกับทีมงานของสมาคมฯ โดยใช้โปรแกรมการฝึกซ้อมระบบเดียวกันกับเยาวชนทีมชาติ เพื่อพัฒนาและคัดเลือกผู้เล่นเป็นตัวแทนในการแข่งขันระดับประเทศต่อไป

สำหรับ นักกีฬาชาย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี เตรียมความพร้อม เพื่อสู้ศึก AFF Championship U16 และ AFC Asian cup U17 จนถึงการแข่งขัน FIFA World Cup U17 ในปี 2025 ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่ทาง FIFA ต้องการ และสำหรับนักกีฬาหญิงรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อเตรียมทำการแข่งขันในรายการดังกล่าวในปีถัดไปเช่นกัน

---------------------------

อธิบายเพิ่มเติม

* T+MASC คือ เกณฑ์การคัดเลือกนักเตะเยาวชนใช้หลักเกณฑ์ ในการพิจารณาให้คะแนน ซึ่งแต่ละตัวอักษรมีความหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้

“T” ย่อมาจาก Talent หมายถึง จุดเด่น ความสามารถเฉพาะตัว เช่น ความสามารถพิเศษในการเลี้ยงบอล เมื่อบอลอยู่กับเท้าสามารถเลี้ยงบอลหลบคู่ต่อสู้ 1 ต่อ 1 ได้สบาย หรือเลี้ยงบอลหลบได้หลายคน อันนี้คือจุดเด่นเรียกว่า Talent

“M” ย่อมาจาก Motricity หมายถึง กลไกของร่างกาย การเคลื่อนที่ การเคลื่อนไหวในสนาม ไม่ว่าจะมีบอลหรือว่าไม่มีบอล จะดูว่านักเตะมีการเคลื่อนที่เป็นอย่างไรบ้าง เพราะการเคลื่อนไหว หาตำแหน่งที่ดี มีผลต่อเกมการแข่งขัน

“A” ย่อมาจาก Availability หมายถึง ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นตอนมีบอลหรือไม่มีบอล ความสามารถเฉพาะตัวเป็นอย่างไรบ้าง

“S” ย่อมาจาก Smart หมายถึง การมีไหวพริบ ความฉลาดในการเล่นฟุตบอล เช่น ตอนมีบอล จะส่งบอลให้เพื่อน มีวิสัยทัศน์ในการส่งบอลเป็นอย่างไร ทีม scout สังเกตดูว่า ส่งบอลในแบบที่ทุกคนคาดไม่ถึงหรือมี Killer pass ที่สามารถพลิกเกมได้ ตัวอย่างคือ ไหวพริบกับความฉลาดในการเล่นนั่นเอง

“C” ย่อมาจาก Commitment หมายถึง ความทุ่มเท บุคลิกและทัศนคติที่ดีในการเล่น ที่แสดงออกในสนาม และการทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค ยกตัวอย่างทีมชาติไทย คือ กฤษฎา กาแมน ที่มีบุคลิกการเป็นแบบอย่างและกระตุ้นเพื่อนในสนามและการทุ่มเทจนวินาทีสุดท้าย

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ฟุตบอล, อนิเมะ, กาแฟ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ