ปัญหาจริงหรือแค่อ้าง ? : เปิดตำนานหญ้าใบใหญ่วลีคลาสสิกยามไทย เยือน มาเลเซีย
ทุกครั้งที่ทีมชาติไทยต้องไปเยือน มาเลเซีย ไม่ว่าจะรายการใด ๆ เรามักจะได้ยินคำว่า "ระวังให้ดีสนามนี้หญ้าใบใหญ่"
วลีนี้เกิดขึ้นมาเป็น 10 ปีแล้ว ยิ่งเวลาไทยไม่สามารถเอาชนะมาเลเซียได้ยิ่งเป็นประเด็นไปเสียทุกที ... เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเป็นแค่ข้ออ้างของทีมเยือนกันแน่ ? Think Curve - คิดไซด์โค้ง มีคำตอบ
ประเด็นหญ้าใบใหญ่มาได้ยังไง ?
ทุกครั้งที่ทีมชาติไทยต้องไปเยือน มาเลเซีย ไม่ว่าจะรายการใด ๆ เรามักจะได้ยินคำว่า "ระวังให้ดีสนามนี้หญ้าใบใหญ่" วลีดังกล่าวเกิดขึ้นมาเกือย 10 ปีแล้ว แบบที่หลายคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นเรื่องจริง หรือเป็นเพียงการกล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ ในยามที่ ไทย ไม่สามารถเอาชนะ มาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแข่งในสนาม บูกิต จาลิล
หากว่ากันตามสถิตและข้อเท็จจริงแล้ว เราต้องไปดูที่ผลการแข่งขันย้อนหลังกันก่อน ก่อนที่ไทยจะเจอกับ มาลเซีย ใน AFF 2022 รอบน็อคเอาต์ สถิติที่ ไทย ไปเยือนสนาม บูกิต จาลิล ปรากฏว่า ไทย ไม่เคยชนะ มาเลเซีย ได้ที่นั่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ... ส่วนสถิติระหว่าง ไทย vs มาเลเซีย ใน 6 ครั้งหลังสุด ช้างศึก ก็ไม่ชนะเลยโดยแบ่งเป็น เสมอ 2 และแพ้ 4 ดังนี้
20 ธ.ค.2014 มาเลเซีย ชนะ ไทย 3-2 อาเซียนคัพ รอบชิงชนะเลิศ นัดที่ 2
1 ธ.ค.2018 มาเลเซีย เสมอ ไทย 0-0 อาเซียนคัพ รอบรองชนะเลิศ นัดแรก
5 ธ.ค.2018 ไทย เสมอ มาเลเซีย 2-2 อาเซียนคัพ รอบรองชนะเลิศ นัดที่ 2
14 พ.ย.2019 มาเลเซีย ชนะ ไทย 2-1 ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย
15 มิ.ย.2021 ไทย แพ้ มาเลเซีย 0-1 ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย
22 ก.ย.2022 ไทย เสมอ มาเลเซีย 1-1 (ดวลจุดโทษแพ้ 3-5) ฟุตบอลคิงส์คัพ 2022
ไทยไม่ชนะ มาเลเซีย มานานโข ดังนั้นเรื่องของ "หญ้าใบใหญ่" จึงควรหาถูกหาคำตอบว่าจริง ๆ แล้วมันส่งผลยังไงกันแน่ ทำไมทีมชาติไทยในช่วง 10 ปีหลังสุดคือทีมที่ดีที่สุดในอาเซียน กลับไม่สามารถเอาชนะ มาเลเซีย ในสนามบูกิต จาลิล ได้เลย ?
หญ้าใบใหญ่คือ ?
หญ้าใบใหญ่ ในสนาม บูกิต จาลิล คือหญ้าพื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย มีชื่อสากลว่า "Carpet Grass" ที่สื่อความว่าหนานุ่มเหมือนกับพรม ส่วนในสายต้นไม้ของไทยเรียกหญ้าชนิดนี้ตรงตัวว่า "หญ้ามาเลเซีย"
หญ้ามาเลเซีย นั้นเป็น หญ้าพื้นเมืองในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เมื่อหลายสิบปีก่อนนิยมปลูกเป็นสนามหญ้า และปลูกตกแต่งตามสวนสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะตามลานหญ้าของสถานที่ราชการ เนื่องจาก เป็นหญ้าที่มีลำต้นเตี้ย ลำต้นแตกไหลเลื้อยตามผิวดิน ส่วนใบมีขนาดสั้น สีเขียวสด และแตกออกปกคลุมดินได้ดีทำให้เหมาะสำหรับปลูกในสนามหญ้า
แค่ชื่อก็บอกแล้วว่า "หญ้ามาเลเซีย" ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันเหมาะกับสภาพอากาศในประเทศมาเลเซีย อยู่แล้ว เพราะ เป็นหญ้าที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอหรือดินมีความชุ่มชื้นเสมอ ซึ่งประเทศมาเลเซียนั้นก็เป็นประเทศที่มีฝนตกปีละ 6-8 เดือน ขณะที่เว็บไซต์ Thai Weather Spark ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าในแต่ละวันนั้นมีโอกาสที่ฝนจะตกสูงมากกว่า 47% นั่นหมายความว่า หญ้ามาเลซีย จะสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดีในภูมิอากาศของประเทศมาเลเซีย
เมื่อหญ้าชนิดนี้เหมาะกับสภาพอากาศ มันจึงกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในสนามกีฬาของประเทศ มาเลเซีย ไม่ใช่แค่ฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสนามกอล์ฟด้วยที่ใช้หญ้าใบใหญ่เป็นหลัก รวมถึงสนามบูกิต จาลิล ที่ใช้หญ้าชนิดนี้มาตั้งแต่วันเปิดใช้งานในปี 1995 แล้ว ดังนั้นเราสรุปได้ตรงนี้เลยว่า วลี "หญ้าใบใหญ่" ไม่ใช่ข้ออ้าง หญ้าชนิดนี้ปลูกในสนามของ มาเลเซีย จริง ๆ แต่หญ้าใบใหญ่นี้ส่งผลต่อเกมฟุตบอลขนาดไหน ทำไมไทยถึงไม่ค่อยชนะ ?
หญ้าปราบเซียน
ความนุ่มและหนาของหญ้าใบใหญ่ แตกต่างกับหญ้าใบเล็กแน่นอน หากว่าตามหลักฟิสิกส์ ความหนาและใบที่ใหญ่ของหญ้ามาเลเซีย ทำให้ทำให้สนามมีความหนืดมากขึ้นกว่าสนามหญ้าใบเล็ก(หญ้าปกติที่ใช้ในสนามฟุตบอลประเทศไทย) และเมื่อสนามมีความหนืด ทีมชาติไทยที่ 10 ปีหลังสุด เน้นฟุตบอลกับเท้า และต่อบอลเป็นหลักจึงประสบปัญหานี้แบบเต็ม ๆ เนื่องจากการส่งบอลแต่ละครั้ง ต้องมีการเผื่อน้ำหนักให้แรงขึ้นกว่าปกติ และการได้ซ้อมกับหญ้าใบใหญ่แค่ไม่กี่วัน ย่อมส่งผลต่อความคุ้นชินของนักเตะไทยเป็นอย่างดี
“สำหรับสนามที่นี่ (บูกิต จาลิล) ก็ค่อนข้างปรับยาก เพราะว่าหญ้าไม่เหมือนกับที่เราเล่นปกติ มันเป็นหญ้าใบใหญ่ เราเคยเจอแบบนี้ในสนามที่ฮ่องกง และที่ฟิลิปปินส์มาแล้ว ทำให้เราต้องปรับเรื่องการจ่ายบอล เพราะบอลจะวิ่งช้ากว่าเดิม" ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ กองกลางทีมชาติไทยชุด AFF 2018 กล่าวก่อนเกมเยือนมาเลเซีย ในทัวร์นาเม้นต์นั้น
ไม่ใช่แค่การส่งบอล แต่มันหมายถึงจังหวะการเพิ่มสปีด การเลี้ยงบอล หรือการวิ่งในจังหวะต่าง ๆ นักเตะก็ต้องออกแรงมากขึ้นด้วย ซึ่งหากว่ากันตามความจริงหญ้าที่ใบใหญ่และหนานี้ ก็ส่งผลต่อวิธีการเล่นของทีมชาติไทยจริง ๆ
แต่แน่นอนว่า "หญ้าใบใหญ่" ไม่ใช่เหตุผลข้อเดียวที่ทำให้ทีมชาติไทยไม่สามารถชนะ มาเลเซีย ในบูกิต จาลิล มันยังมีเรื่องของบรรยากาศของแฟนบอลของ มาเลเซีย ที่มักจะเข้ามาแบบเต็มความจุของสนามในเวลาที่พบกับทีมชาติไทย หรือเกมสำคัญ ๆ แม้กระทั่งเกมนัดชิงตั๋วเข้ารอบน็อคเอาต์ในรอบแบ่งกลุ่มนัดสุดท้ายที่ มาเลเซีย เจอกับ สิงคโปร์ นัดที่ผ่านมา ยังมีแฟนบอลเข้าไปชมเกมถึง 67,000 คน
ไม่ใช่แค่เยอะ แต่วิธีการเชียร์ของแฟนบอลชาวมาเลเซียดุดันขึ้นชื่อเป็นเบอร์ต้น ๆ ในอาเซียนเสมอ พวกเขามีกลุ่มแกนนำหลาย ๆ กลุ่มที่พร้อมร้องเพลง ตะโกน กระตุ้นนักเตะตลอดทั้งเกมซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ก็มีส่วนในการหนุน ให้นักเตะในสนามวิ่งลืมตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกมกับทีมชาติไทย ที่ทุกชาติในอาเซียนมองเป็นทีมอันดับ 1 และอยากจะชนะให้ได้
จากสถิติและข้อเท็จจริงเราจะพบว่าสนาม บูกิต จาลิล และหญ้ามาเลเซีย นั้นถือเป็นปราการด่านสำคัญที่ทำให้ มาเลเซีย เล่นในบ้านพวกเขาอย่างแข็งแกร่ง เจอกับใครก็แพ้ยาก ... แต่พวกเขาตัดสินใจเลือกทิ้งข้อได้เปรียบนี้ โดยจะมีการเริ่มปูหญ้าใหม่ และเปลี่ยนหญ้าสายพันธุ์ที่ชื่อว่า Zeon Zoysia ซึ่งเป็นหญ้าใบเล็กตามมาตรฐานสากลเป็นครั้งแรก
เปลี่ยนเพื่อพัฒนาการ ?
การเก่งในบ้านเพราะสนาม กองเชียร์ และพื้นหญ้า ไม่ใช่การพัฒนาการที่ยั่งยืนแน่นอน แม้ทีมชาติ มาเลเซีย จะมีสถิติในบ้านที่เเข็งแกร่ง แต่ปัญหาที่พวกเขาไม่ค่อยประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาค นั่นก็เพราะว่าพวกเขาเล่นกับสนามหญ้าใบใหญ่มาแทบจะตลอดอาชีพค้าแข้ง พื้นหญ้าแบบนี้เหมาะกับพวกเขาที่เล่นฟุตบอลไดเร็กต์ โยนและวางบอลไปข้างหน้า ให้กองหน้าหรือตัวริมเส้นไล่กวด เนื่องจากเมื่อลูกฟุตบอลกระทบกับพื้น มันจะกลิ้งไปไม่ไกลนัก ทำให้การวางบอลยาวได้เปรียบในทันที
สิ่งเหล่านี้สร้างปัญหา เพราะความคุ้นชิ้นกับการเล่นวิธีแบบนี้ บนสนามหญ้าเช่นนี้ มันทำให้นักเตะมาเลเซีย ไม่สามารถปรับตัวได้ดีพอ เวลาไปเจอกับสนามหญ้าของชาติอื่น ๆ ยามไปเยือน ฟุตบอลไดเร็กต์ที่ถนัดใช้ไม่ได้ นั่นจึงทำให้ปัญหามันเกิดขึ้น และพวกเขาก็เล็งเห็นปัญหานี้เช่นกัน
โดย “ตนกู อิสมาอิล สุลต่าน อิบราฮิม” เจ้าของทีมยะโฮร์ ดารุล ทักซิม ประกาศขอออกค่าใช้จ่ายให้กับ Malaysia Stadium Corporation ในการปรับปรุงพื้นหญ้าสนามกีฬาแห่งชาติบูกิต จาลิล ด้วยการเปลี่ยนจากหญ้าใบใหญ่ เป็นหญ้าแบบ Zeon Zoysia(หญ้าใบเล็ก) เพื่อให้สนามมีคุณภาพเหมาะสมกับการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ จากรายงานของสื่อ มาเลเซีย ยืนยันว่าการเปลี่ยนพื้นสนามจะเริ่มในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 นี้ เพื่อรองรับศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย (เอเชี่ยน คัพ 2023) รอบคัดเลือก
“ผมได้ตัดสินใจที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับพื้นสนามใหม่เพื่อเป็นของขวัญให้กับสนามกีฬาแห่งชาติบูกิตจาลิล คือหญ้าประเภท Zeon Zoysia แบบเดียวกับสนามสุลต่าน อิบราฮิม สเตเดี้ยม ของ JDT” เจ้าของทีมยะโฮร์ ดารุล ทักซิม กล่าว
อย่างไรก็ตามข้อเสนอของเจ้าของทีมยะโฮร์นั้น ยังไม่ได้รับการตอบรับ เพราะจากที่วางแผนจะใช้หญ้า Zeon หรือหญ้า Bermuda ที่เป็นหญ้าใบเล็ก แต่สุดท้ายในช่วง AFF 2022 นี้ บูกิต จาลิล ได้เปลี่ยนเป็นหญ้าแบบผสมระหว่างหญ้ามาเลเซีย (Cow Grass) ผสมกับหญ้าเซรังกูน (Serangoon Grass) ที่มีขนาดของใบเล็กกว่า
การใช้แบบผสมกันอาจจะเป็นไปได้ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศนั้นการใช้หญ้ามาเลเซียง่ายต่อวิธีการดูแลรักษามากกว่า ใช้หญ้าใบเล็กล้วน ๆ เพราะหญ้าใบเล็กชนิดต่าง ๆ นั้นชอบแสงเเดดมากกว่าฝน หญ้าใบเล็กเหมาะกับการโดนเเดดอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งจุดนี้สอดคล้องกับการเปิดเผยในเว็บไซต์ของมาเลเซีย อย่าง www.sinardaily.my ว่า หญ้าที่สนาม บูกิต จาลิล จะได้โดดแดดวันละแค่ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าถ้าปลูกหญ้าใบเล็ก 100% อาจจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณในการดูแลรักษาเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเติมอีกว่าสนามบูกิต จาลิล นั้นมีระบบระบายน้ำที่มีคุณภาพต่ำ ดังนั้นเมื่อฝนตกมาก ๆ ตามสภาพอากาศของประเทศ หญ้าใบเล็กก็อาจจะตายง่ายยิ่งกว่าการปลูกในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เป็นต้น
จากทั้งหมดที่กล่าวมาพอสรุปได้ว่า มาเลเซีย ก็เห็นปัญหาเรื่องสภาพพื้นหญ้าในสนามเหย้าของพวกเขา แต่ทั้งนี้สภาพภูมิอากาศในประเทศก็ไม่สัมพันธ์กับการปลูกหญ้าใบเล็กเหมือนกับประเทศอื่น ๆ แม้จะทำได้จริง แต่ก็ต้องใช้งบประมาณในการเปลี่ยนแปลงสูง ไล่ตั้งแต่การปูหญ้าใหม่ การดูแลรักษา หรือแม้กระทั่งระบบระบายน้ำของสนาม
สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้จึงอยู่คำจำกัดความที่ว่า “พยายามเปลี่ยนแปลง” ทีละน้อย ตอนนี้เป็นการใช้หญ้าแบบผสมกันไปก่อน ซึ่งก็น่าจะทำให้พวกเขาคุ้นชินกับสภาพหญ้าใบเล็กในยามเล่นเกมเยือนมากขึ้น และทีมที่มาเยือน มาเลเซีย ก็จะเล่นง่ายขึ้นไม่มากก็น้อย … ซึ่งความแตกต่างเล็ก ๆ นี้อาจจะทำให้ทีมชาติไทย ชนะ มาเลเซีย ที่บูกิต จาลิล เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ก็ได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ขุนพลเลือดผสม : ฟิลิปปินส์กับการปลุกกระแส ‘ลูกครี่ง’ จนสะท้านอาเซียน
เอกี้ เมาลาน่า : วันเดอร์คิดอินโดฯที่ล้มลุกคลุกคลานในยุโรปแต่ยังไม่หนีกลับบ้าน
ไร้เจ้าชายฟาอิค : การเข้ารอบ AFF ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ “บรูไน”
แหล่งอ้างอิง
https://www.thestar.com.my/news/nation/2022/03/10/tmj-sponsors-planting-of-grass-at-national-stadium-in-bukit-jalil
https://www.malaymail.com/news/sports/2022/03/11/planting-of-new-grass-at-national-stadium-ministry-appreciates-tmjs-sponsor/2046908
https://puechkaset.com/
https://www.sinardaily.my/article/181510/malaysia/national/why-not-synthetic-grass-for-home-of-harimau-malaya-revamp
https://th.weatherspark.com/y/113829/
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR