ภาพสะท้อนการทำงานแบบใจถึงใจ ของ “นวลพรรณ ล่ำซำ” ที่อาจใช้ไม่ได้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ
การเปลี่ยนแปลงที่แข็งแกร่งและยั่งยืนของวงการฟุตบอลทั่วโลกคือ "โครงสร้าง" คำ ๆ นี้กว้างมากและยากจะอธิบายให้ครอบคลุม แต่ที่แน่ ๆ คนที่มีผลอย่างมากในการวางโครงสร้างเหล่านี้ให้กับฟุตบอลในประเทศนั้น ๆ คือ "นายกสมาคม"
ณ เวลานี้ นวลพรรณ ล่ำซำ หรือ "มาดามแป้ง" แทบจะเป็นคน ๆ นั้นไปแล้ว แม้โดยตำแหน่งเธอจะเป็นผู้จัดการทีมชาติไทย แต่บทบาทที่เธอแสดงตัวออกมาตลอดในระยะเวลาช่วงหลัง มันแน่ชัดว่า ณ ตอนนี้ มาดามแป้ง คนคือที่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับทีมชาติไทย และมันชัดยิ่งกว่าเมื่อเธอประกาศลงเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ สมัยต่อไป ในฐานะ "ตัวเต็ง" อีกด้วย
การทำงานของ นวลพรรณ ล่ำซำ เป็นอย่างไร ถ้าวัดกับมาตรฐานสากลทั่วโลก และเราจะได้เห็นทีมชาติไทยเป็นแบบไหนในมือของเธอ ? ติดตามที่นี่
ใจแลกใจสไตล์มาดามแป้ง
ผู้นำขององค์กรแต่ละองค์กรล้วนมีแนวคิดในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ซีอีโอทั่วโลกบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการบริหารที่สำคัญไม่แพ้เรื่องไหนคือเรื่องของการ "บริหารคนในองค์กร"
“วิธีบริหารบุคลากรของแป้งคือ การบริหารจัดการให้ทุกคนมีความสุข แป้งเชื่อว่า ในทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานหลายพันคน หรือทีมฟุตบอลหญิงที่มีโค้ชและนักฟุตบอลรวมกันไม่เกิน 40 คน ถ้าทุกคนมีความสุขในการทำงาน เขาก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ" มาดามแป้ง อธิบายวิธีบริหารคนของเธอผ่าน นิตยสารแพรว
ก่อนเธอจะยกตัวอย่างเรื่องการดูแลนักเตะและทีมงาน "การท่าเรือ เอฟซี" ที่เธอเป็นประธานสโมสรว่า เธอจะคอยจัดการทุกเรื่อง ลงลึกยังรายละเอียดเล็ก ๆ ตั้งแต่การดูแลเรื่องที่พักและอาหารการกิน การรักษาพยาบาล และการวางตัวให้บุคลากรในทีมเข้าถึงเธอได้ง่าย ๆ ด้วยการคุยกันเป็นส่วนตัว
ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นล่าสุดให้เห็นภาพง่าย ๆ นั่นคือการที่ มาดามแป้ง โทรไปติดต่อหา เอริค คาห์ล ดาวเตะลูกครึ่งไทย-สวีเดน โดยตรงเพื่อให้เขาเลือกเล่นให้ทีมชาติไทยในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2026 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในต้นปี 2024
ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ค่อยได้เห็นวิธีการแบบ "ใจแลกใจ" ด้วยการประกาศเรื่องราวเหล่านี้ลงในโซเชี่ยลมีเดีย ของผู้มีอำนาจสูงสุดในองค์กรของประเทศไหน ๆ เพราะส่วนใหญ่เรื่องดังกล่าวจะเป็นการติดต่อกันแบบเบื้องหลัง และเฮ้ดโค้ชมักจะเป็นผู้ติดต่อไปยังนักเตะที่พวกเขาต้องการโดยตรง
ไม่ใช่แค่เรื่องนี้แต่รวมถึงอีกหลาย ๆ กรณีที่ มาดามแป้ง สะท้อนการบริหารแบบครอบครัว ทั้งการแต่งตั้งโค้ชคนเดิม ๆ ที่ใกล้ตัวเข้ามาทำงาน แม้ผลงานจะไม่ตอบโจทย์ตรงใจแฟน ๆ ก็ตาม
แน่นอนนี่คือวิธีการทำงานที่คนไทยชื่นชอบ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะไม่มีใครที่จะปฎิเสธการกินอิ่มนอนอุ่น มีรายได้ที่มั่นคง และมีการอำนวยความสะดวกมากมายภายในองค์กร ... แต่ถ้าต้องเทียบกับการบริหารงานในระดับสากล โดยเฉพาะองค์กรเกี่ยวกับฟุตบอลที่คนจะให้คำตอบว่า “บริหารดี” ไม่ใช่พนักงานในองค์กรที่ได้โบนัสหรือค่าตอบแทนสูง ๆ แต่เป็นแฟนบอลทั้งประเทศที่อยากเห็นความสำเร็จ การพัฒนา และอนาคตล่ะ เขาคิดและบริหารกันแบบไหน ?
กระแสระยะสั้น หรือ โครงสร้างระยะยาว ?
ยกเรื่องราวของ เอริค คาห์ล มาพูดกันต่ออีกสักนิด หากมองเรื่องนี้ผ่านการบริหารนี่คือการวางแผนระยะสั้น คุณจะได้นักเตะที่(คิดว่า)ฝีเท้าดีเพราะพวกเขาเติบโตในต่างประเทศเข้ามาเสริมทัพในระยะเวลาอันสั้น สามารถใช้งานได้ทันที
เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตกับ ชาริล ชัปปุยส์, ธนวัฒน์ ซึ้งจิตถาวร และ นิโคลัส มิคเคลสัน ... ทุกคนที่กล่าวมาล้วนสร้างกระแสครั้งในโซเชี่ยลมีเดียในหมู่แฟนฟุตบอลไทย แต่สิ่งที่ควรติดตามหลังจากนั้นคือทีมชาติไทย ประสบความสำเร็จมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ?
ในแง่ของความตื่นตาตื่นใจ และคุณภาพที่มาจากนักเตะลูกครึ่งนั้นชัดเจนว่าพวกเขาเข้ามาและสร้างความแตกต่างกับนักเตะท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด พวกเขาอาจจะช่วยเล่นให้ทีมชาติไทยได้สัก 5-10 ปี และหลังจากนั้นล่ะ เราจะเอาอย่างไรกันต่อ ? เราจะควานหาลูกครึ่งจากทั่วโลกมาติดทีมชาติไปตลอดไปอย่างนั้นหรือ ?
ไม่มีชาติที่เก่งกาจด้านฟุตบอลชาติไหนในโลกซื้อโมเดลนี้แน่นอน หรือแม้กระทั่งที่ชาติที่ต้องการยกระดับฟุตบอลของพวกเขาในระยะยาวด้วย ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่พวกเขาไม่เป็นเดือดเป็นร้อนกับการควานหานักเตะสัญชาติญี่ปุ่นจากทั่วโลกอีกแล้ว แต่พวกเขาเลือกจากแนวทางที่ชัดเจนด้วยการสร้างเด็ก ๆ ของพวกเขาให้เป็นที่ต้องการลีกฟุตบอลจากทั่วโลก สร้างเด็กเหล่านั้นให้เติบโตผ่านแนวทางที่ปูทางไว้ในระยะยาว ปลูกฝังกันตั้งแต่เรื่องแนวคิด จิตวิญญาณ การเป็นมืออาชีพทั้งในและนอกสนาม
ญี่ปุ่นเริ่มสร้างสิ่งเหล่านี้จริง ๆ จัง ๆ ด้วยแผนงานพัฒนาที่ชื่อว่า "ยุทธศาสตร์ 100 ปี แชมป์โลก ปี 2050" และจนถึงตอนนี้พวกเขาเหมือนว่าวที่ติดลมบน ฟุตบอลลีกในประเทศที่นักเตะไทยใฝ่ฝันจะไปเล่น แต่ในมุมมองของนักเตะและคนญี่ปุ่น เจลีก ณ ตอนนี้เป็นเพียงแหล่งเพาะบ่มนักเตะดาวรุ่งเพื่อส่งออกไปยังยุโรป และเป็นเหมือนที่พักแห่งสุดท้ายในอาชีพของนักเตะญี่ปุ่นที่ไปค้าแข้งในยุโรป ให้กลับมาถ่ายทอดสิ่งที่พวกเขาเจอในยุโรปให้กับรุ่นน้องในวันที่พวกเขาแก่ตัวลง
ผลตอนนี้ก็คือ ญีปุ่น มีนักเตะที่เป็นตัวหลักกับสโมสรใหญ่ ๆ ในยุโรปมากมาย โดดเด่นในฐานะสตาร์ของทีมไม่ใช่ส่วนประกอบหนึ่งของทีมเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว
พวกเขายังกลายเป็นชาติที่ส่งออกนักเตะมากที่สุดในทวีปเอเชีย ซึ่งผลก็สะท้อนกลับมายังทีมชาติของพวกเขาเองที่แข็งแกร่งขึ้นในทุกปี
ล่าสุด ญี่ปุ่น เอาชนะทีม "ระดับโลก” ได้แล้วและเป็นการเอาชนะด้วยรูปแบบ วิธีการ และความสามารถที่ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่การเล่นแบบหวังโชคช่วย
จนกระทั่งล่าสุดพวกเขาตั้งเป้าใหม่แล้ว จากเดิมที่จะเป็นแชมป์โลกในปี 2050 กลายเป็นการคว้าแชมป์โลกในปี 2034 ... เร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้ถึง 16 ปี ใครล่ะเป็นคนกำหนดความสำเร็จเหล่านี้ หากไม่ใช่นายกสมาคม ผู้มีอำนาจในการสั่งการณ์สูงสุดในองค์กรที่แฟนบอลทั้งประเทศตั้งความหวังไว้
"สิ่งแรกที่ต้องเริ่มทำคือสมาคมฟุตบอลไทยจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนก่อนว่าจะเอายังไง อยู่ที่ว่าทีมชาติไทยจะเริ่มจริงจังตอนไหน แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าตอนนี้จะยังไม่เริ่มเลย" มาซาทาดะ อิชิอิ กุนซือชาวญี่ปุ่นที่คลุกคลีกับฟุตบอลไทยแบบลึกซึ้ง เล่าถึงมุมมองของเขาเกี่ยวกับการบริหารของฟุตบอลไทย ที่ไม่มีโครงสร้างและแผนงานที่รองรับการพัฒนาในระยะยาวเลย
ดูคลิปการสัมภาษณ์เต็ม ๆ ของ อิชิอิ ได้ที่ วีดีโอ ด้านล่าง
จริงอยู่ที่ มาดามแป้ง ไม่ได้เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เธอเพิ่งจะเริ่มต้นมีอำนาจในวงการฟุตบอลไทย และน่าจะกลายเป็นผู้นั่งอยู่บนเก้าอี้ที่มีอำนาจสูงสุดในเร็ว ๆ นี้ แต่การเริ่มต้นของเธอ ดูจะแตกต่าง และกลับตาลปัตรจากสิ่งที่เป็นสากลอย่างเห็นได้ชัด
หลักฐานที่เกิดขึ้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็นการบริหารทีมการท่าเรือ เอฟซี แบบใจแลกใจ อันนำมาสู่การลงทุนมากมายโดยเฉพาะการซื้อตัวนักเตะที่มีฝีเท้าดีมาเสริมทัพ เปย์นักเตะด้วยรายได้ที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของศึกไทยลีก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ กลับสวนทางกับการลงทุน
เธอลงทุนกับท่าเรือมาตั้งแต่ปี 2015 จนมาถึงตอนนี้ผ่านไปแล้ว 7 ปี ความสำเร็จสูงสุดคือการคว้าเเชมป์ฟุตบอลถ้วย 1 รายการ ขณะที่ภาพรวมของสโมสรการท่าเรือ ยังคงเป็นทีมที่ทำได้แค่ "ลุ้นเเชมป์" ในฟุตบอลลีกที่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอ ซึ่งตอนจบในแต่ฤดูกาลคือความผิดหวังทุกครั้งไป และยิ่งต้องไปเล่นในระดับเอเชีย การท่าเรือ ก็ทำผลงานได้น่าผิดหวังอีก ตกรอบแบบไม่ได้ลุ้น นั่นคือความจริงที่ปฎิเสธไม่ได้
ในทุก ๆ ปีที่เปลี่ยนไป การท่าเรือ ยังคงทำแบบนั้น เสริมทัพด้วยความฮือฮา แต่ไร้โครงสร้างระยะยาว ไม่มีคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาดูแลในแต่ละส่วน เช่น ผู้อำนวยการสโมสร, ผู้อำนวยการเทคนิค, ผู้ดูแลระบบเยาวชนที่เป็นเอกเทศน์กล่าวคือเป็นทีมเยาวชนของการท่าเรือ เอฟซี เอง ทุกอย่างยังเป็นเรื่องของคนใกล้ตัวและคำว่า "ครอบครัว" ปลายทางของสิ่งเหล่านี้คือการจบซีซั่นด้วยความล้มเหลว
แม้ความสัมพันธ์ภายในองค์กรจะเข้มแข็ง ในแบบที่เธอระบุไว้ว่า "เป็นครอบครัว" แต่ในแง่ของการสร้างองค์กรฟุตบอลเพื่อความเป็นเลิศและการไปสู่เป้าหมายอย่างมืออาชีพ การท่าเรือยังคงเป็นทีมทำผลงานได้ "ไม่สมกับที่ลงทุน" และห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างสิ้นเชิง
ขณะที่กับทีมชาติไทย มาดามแป้ง ประกาศตัวเป็นผู้ท้าชิงนายกสมาคมฟุตบอลไทย ในแบบที่เธอเป็นตัวเต็งแบบเเบเบอร์ การบริหารแบบใจถึงใจ หรือเป็นครอบครัวก็ส่งผลในแง่ลบให้แฟนฟุตบอลไทยพูดถึงกันทั่วประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นการโลเลเรื่องการเลือกเฮ้ดโค้ชทีมชาติไทยที่พลิกไปพลิกมาแทบจะวันเว้นวัน สุดท้ายจากเดิมที่เคยประกาศว่า มาซาทาดะ อิชิอิ ที่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ดบอกว่า "พวกเขาเสียสละเพื่อชาติ" จะมาเป็นประธานเทคนิค ก่อนที่ อิชิอิ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงเบื้องลึกที่ซ่อนอยู่ของดีลนี้ด้วยตัวเองว่า "หลังจากจบคิงส์ คัพ ผมจะได้เข้ามาทำหน้าที่เฮ้ดโค้ชทีมชาติไทย...แต่สุดท้ายมันก็ไม่เป็นแบบนั้น และผมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นขึ้นเหมือนกัน"
ซึ่งนั่นก็ชัดเจนว่าแผนงานที่วางไว้ของ มาดามแป้ง ภายใต้การหนุนหลังของพันธมิตรฟุตบอลอย่าง เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ ปวิณ ภิรมย์ภักดี ไม่มีความแน่นอน และพร้อมจะเปลี่ยนแผนตลอดเวลาหากกระแสสังคมบอกว่า "มันไม่เวิร์ก"
ต่อจากการแต่งตั้งเฮ้ดโค้ช ได้ไม่นานนักการส่งทีมชาติไทย "ชุดบี" แบบมีข้อจำกัดหลายอย่างในหลายมิติ ...เดินทางไปแข่งขันกับชาติในยุโรปอย่าง จอร์เจีย และ เอสโตเนีย ก่อนจะกลับมาด้วยผลงานที่เละเทะแบบที่เกิดกระแสต่อต้านครั้งใหญ่ที่วงการฟุตบอลไทย จนถึงขั้นที่แฟนบอลหลายคนประกาศหันหลังให้ฟุตบอลทีมชาติและฟุตบอลลีกที่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับทีมชาติเลยด้วยซ้ำ
ยิ่งกว่าเรื่องของผลการแข่งขัน คือเรื่องการจัดการที่ผิดพลาดดังที่หลุดออกมาเป็นข่าวมากมายตั้งแต่ขาไปยันขากลับ ชนิดที่ว่า มาดามแป้ง เองต้องออกมาขอโทษขอโพยผ่านโซเชี่ยลมีเดียด้วยตัวเองเลยด้วยซ้ำ
เรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นหลายอย่างนอกจากความโลเลและไม่แน่นอนในแผนงานที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถนำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่าเพราะอะไรแผนที่วางไว้จึงล้มเหลวแบบไม่เป็นท่า
มันเป็นเพราะแผนที่คิดกันไว้ผิดพลาดแบบผิดตั้งแต่ติดกระดุมเม็ดแรกหรือไม่ ?
สถานะของฟุตบอลไทย ณ ตอนนี้ถือว่าอยู่ในภาวะที่วิกฤตอย่างหนักทั้งในแง่ของผลการแข่งขัน การบริหาร และ เป้าหมายที่มองไม่เห็นอนาคต ...แต่ละเรื่องที่กล่าวมาเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้การลงทุนและลงแรงอย่างจริงจัง มากกว่าความจริงใจ ... ซึ่งนี่คือปัญหาที่มาดามแป้งและทีมงานของเธอจะต้องมองย้อนกลับไปยังผลงานที่ผ่าน ๆ มาว่าจะเอาความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มาแก้ไขเพื่ออนาคตของวงการฟุตบอลไทยอย่างไร ?
ณ ตอนนี้เธอมาถึงจุดที่ใกล้จะเป็น "ประมุขบอลไทย" ในทุกขณะ ต่อจากนี้การทำงานของเธอจะถูกตัดสินจากแฟนบอลทั่วประเทศ ไม่ใช่แฟนบอลเฉพาะกลุ่มเหมือนกับตอนที่บริหารการท่าเรืออย่างเดียวอีกแล้ว
กระแสระยะสั้นที่ มาดามแป้ง ทำในหลาย ๆ สิ่งแบบที่แฟนฟุตบอลคุ้นเคยกันดี อาจจะทำให้แฟนบอลฮือฮา และเป็นไวรัลในโลกโซเชี่ยลได้ก็จริง แต่สุดท้ายแฟนฟุตบอลไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ไร้เดียงสาพอที่จะมีความสุขกับการดึงลูกครึ่งมาติดทีมชาติ การอัดฉีดเงินในกาแข่งขันทัวร์นาเม้นต์ หรือภาพถ่ายในโซเชี่ยลมีเดียที่สะท้อนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันราวกับเป็นครอบครัว มากกว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนของวงการฟุตบอลไทย และการทำให้ฟุตบอลไทย “มีอนาคต” อยู่แล้ว
โจทย์ข้อใหญ่นี้ มาดามแป้ง จะแก้ไขและพาทีมชาติไทยไปข้างหน้าได้หรือไม่... ช่วงเวลาหลังจากนี้จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญของเธออย่างแท้จริง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
มุมมอง บิ๊กฮั่น : "บุรีรัมย์ เวย์ คือ วิมเบิลดัน เมืองไทย"
จากเริ่มจนถึงตอนจบ : การทำงานแบบไทยสไตล์ที่ทำให้ อิชิอิ ต้องโบกมือลาแบบจบไม่สวย