พลิกวิกฤติเป็นโอกาส : เมื่อพรีเมียร์ลีกครองโลกได้เพราะแยกตัวออกจาก ส.บอล
เรื่องการแยกไทยลีกออกมาจากการบริหารของสมาคมฟุตบอลไทย ถือเป็นประเด็นใหญ่ประจำวัน
เรื่องนี้มาจากปัญหามากมายที่เกิดขึ้น แต่อยากให้รู้ไว้ว่าการเปลี่ยนเเปลงครั้งนี้อาจจะนำมาสู่ความยิ่งใหญ่ในภายหลังก็ได้
เหมือนกับที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกทำ พวกเขาแยกตัวออกมา เพื่อแก้ปัญหาที่สมาคมแก้ให้พวกเขาไม่ได้ …. การแยกของพรีเมียร์ลีก เป็นอย่างไร ประสบควาสำเร็จเพราะอะไรติตดามเพิ่มเติมที่นี่
ปัญหาของฟุตบอลอังกฤษ
ยุคมืดของอังกฤษเกิดขึ้นในกลางยุค 80s ณ เวลาเป็นช่วงเวลาที่ฟุตบอลอังกฤษมีปัญหาฮูลิแกนเต็มไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ฟุตบอลกลายเป็นพื้นที่ระบายความเครียด และแสดงตัวตนในของเหล่าแฟนบอลที่เป็นชนชั้นแรงงานที่โดนกดขี่ จากด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
ปัญหาการตีกันของฮูลิแกน สร้างภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ให้กับวงการฟุตบอลอังกฤษ ไม่มีนักเตะต่างชาติคนไหนอยากจะมาค้าแข้งที่นี่ เพราะรายและความปลอดภัยต่ำมาก ดังนั้นเมื่อขาดนักเตะฝีเท้าดีก็เท่ากับความความสนุกของเกมฟุตบอลจึงลดลงไปตามระเบียบ นั่นหมายความว่าในเมื่อบอลไม่สนุกใครจะอยากดู สู้เอาเวลามาหวดกันไม่ดีกว่าหรือ ? และนั่นคือแนวคิดที่ทำให้เหล่าเจ้าของทีมในพรีเมียร์ลีก(เวลานั้นชื่อว่า ดิวิชั่น 1) รวมตัวระดมความคิด
ระบบการบริหารสโมสรของหลายทีมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เป็นเศรษฐีท้องถิ่นที่มีแค่ใจรักแต่ไม่ได้มีความรู้เรื่องธุรกิจเกี่ยวกับฟุตบอลอย่างแตกฉาน เปลี่ยนเป็นการจ้างนักบริหารมืออาชีพเข้ามาทำงานรับหน้าที่ในตำแหน่งที่เรียกว่า CEO ซึ่งเป็นคนคอยวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ทั้งในและนอกสนาม
ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนเรื่องการซื้อนักเตะลงทุนกับโค้ชอย่างเดียวอีกแล้ว ลีกอังกฤษเริ่มทำการตลาดเชิงรุก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลีกฟุตบอลที่นับวันยิ่งมีแต่ถดถอย และจากนั้นเมื่อการรวมตัวของเหล่ามืออาชีพ ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันไม่นานนักแต่ละสโมสรก็หารายได้มากขึ้นเรื่อย
เดาสิครับว่าพวกเขามองว่าอะไรคือบ่อเงินบ่อทองสำคัญที่สุดสำหรับทีมฟุตบอลในประเทศอังกฤษ ... ใช่แล้วคำตอบคือ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด นั่นเอง ถ้าทำฟุตบอลให้สนุก เเละเต็มไปด้วยคุณภาพ แถมยังมีการตลาดเป็นตัวชูรสเพื่อเพิ่มความนิยม เมื่อนั้นใครบ้างจะไม่อยากดู
แต่ละสโมสรทำสำเร็จแล้วในการทำให้แฟนบอลเข้าสนามมากขึ้น เกมสนุกและมีคุณภาพมากขึ้น แต่ปัญหาคือสมาคมฟุตบอลอังกฤษแบ่งเค้กให้กับสโมสรน้อยเกินไป ... ดังนั้นเมื่อแต่ละทีมมองว่าตัวเองมีส่วนสำคัญในการสร้างยุคทอง พวกเขาก็ควรมีอำนาจการต่อรองที่มากขึ้น เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการเข้าเจรจาเพื่อ "ขอส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่ม" เพื่อการวางแผนสร้างทีมฟุตบอล และลีกฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในระยะยาว
แยกออกเพื่อยิ่งใหญ่
ตัวแทนของสโมสรรวมตัวกันไปปต่อรองกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ในปี 1986 ว่า พวกเขาต้องการส่วนแบ่งรายได้ 50 เปอร์เซนต์ จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดโทรทัศน์ และสิทธิ์อำนาจในการโหวต ลงความเห็นต่างๆ ของตัวเอง ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะแยกออกไปตั้งลีกใหม่ด้วยตัวเอง
สุดท้ายสมาคมฟุตบอลอังกฤษก็ยอม แต่แค่นั้นยังไม่สาแก่ใจสโมสรฟุตบอลอังกฤษ ปี 1988 พวกเขายื่นข้อเสนอใหม่ ให้กับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ บอกว่าขอส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่งั้นจะแยกออกไปตั้งลีกใหม่ ซึ่งทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษก็ยอมอีก
ทำไมสมาคมฟุตบอลอังกฤษถึงยอม ? คำตอบง่าย ๆ เพราะตอนนั้นมูลค่าฟุตบอลอังกฤษสูงมาก สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ไม่ต้องทำอะไร ก็ได้เงินหลายล้านปอนด์เข้ากระเป๋าแบบสบายๆ
แต่ด้วยจำนวนเงินมหาศาลนี่แหละครับ ทำให้พวกสโมสรยักษ์ใหญ่ หันมาฉุกคิดว่า ทำไมเราต้องมาเสียเวลาต่อรองแบ่งเงิน กับสมาคมฟุตบอลอังกฤษด้วย ในเมื่อเราสามารถหาเงินได้ด้วยตัวเราเอง ถ้าเราออกมาตั้งลีกเอง แล้วต่อรองค่าลิขสิทธิ์ด้วยตัวเอง รับเงินทั้งหมด จะไม่ดีกว่าเหรอ
อีกหนึ่งประเด็น ที่ทำให้สโมสรในลีกสูงสุด เช่นพวก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เอฟเวอร์ตัน, อาร์เซนอล ต้องการแยกลีกก็เพราะว่า พวกเขาต้องการอำนาจในการบริหารลีกด้วยตัวเอง เบื่อที่จะต้องมาต่อรองกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ถ้าเราแยกลีก มาบริหารกันเอง เรื่องยุ่งยากพวกนี้ก็จะหมดไป
เพราะในช่วงเวลานั้น สโมสรฟุตบอลหลายทีม มีนักธุรกิจมาบริหาร พวกเขารู้เรื่องธุรกิจมากพอ ที่จะมั่นใจว่า ต่อให้แยกลีกออกมา พวกเขาไม่ทำพังแน่ และที่ฟุตบอลอังกฤษมีมูลค่าสูงขนาดนี้ ก็เพราะสโมสรเป็นแกนกลางในการผลักดันมาตลอด
ปี 1990 5 สโมสรใหญ่ของอังกฤษ ที่ถูกเรียกว่า BIG 5 ในเวลานั้น อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เอฟเวอร์ตัน, อาร์เซนอล และสเปอร์ส ได้ไปเจรจากับช่องโทรทัศน์ว่า พวกเขามีความคิดจะแยกออกมาตั้งลีกของตัวเอง โดยตัดความสัมพันธ์จากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ไม่รับความช่วยเหลือทางการเงิน ตั้งลีกมาบริหารกันเอง
นอกจากนี้ 5 สโมสรนี้ยังเสนอไอเดียด้วยว่า พวกเขาควรได้รับส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ เยอะกว่าทีมอื่นในพรีเมียร์ลีก และได้ถ่ายทอดสดในช่วงเวลาที่ดีกว่าสโมสรอื่น เพราะพวกเขาคือตัวชูโรงของลีก ทีมลุ้นแชมป์ ผลงานดี ที่ผู้ชมอยากดู
พูดง่ายๆว่า ในเมื่อเป็นตัวเอก เป็นคนขับเคลื่อนลีก ลงทุนกับทีมฟุตบอลเยอะกว่า ก็ควรได้รับผลตอบแทนมากกว่า ทีมท้ายตาราง ที่สถานะอยู่บนลีกสูงสุดยังไม่แน่นอน
สุดท้ายสโมสรชั้นนำของดิวิชั่น 1 ตัดสินใจตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่าพรีเมียร์ลีกขึ้นมา ก่อนจะจัดการแข่งประมูลลิขสิทธิ์ค่าโทรทัศน์ของลีก ซึ่งเป็นช่อง Sky Sports ในปัจจุบันชนะไป ด้วยการทุ่มสัญญา 304 ล้านปอนด์ (13,000 ล้านบาทในตอนนั้น) ด้วยระยะเวลา 5 ปี
พรีเมียร์ลีกบูม!
เมื่อมีทั้งลีก มีทั้งค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์ แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยรออยู่ ทำให้ในฤดูกาล 1992 สโมสรจากลีกสูงสุดฟุตบอลอังกฤษ ทั้ง 21 ทีม ประกาศลาออกจากระบบฟุตบอลลีก ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ และย้ายมาเล่นในลีกของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นเหตุการณ์รีแบรนด์ลีกสูงสุดของประเทศใหม่จาก ดิวิชั่น 1 กลายเป็น พรีเมียร์ลีก ที่มีการบริหารงานแยกออกมาจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ
จนถึงปัจจุบัน พรีเมียร์ลีกยังเป็นอิสระจากฟุตบอลอังกฤษ โดยมีการบริหารร่วมกัน ระหว่าง 20 สโมสร มีอำนาจในการโหวตตัดสินใจ การดำเนินการภายในลีกด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างพรีเมียร์ลีก กับสมาคม เป็นในรูปแบบพันธมิตรทางฟุตบอลเท่านั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นทุกคนต่างรู้ดี พรีเมียร์ลีก มีค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่สูงขึ้นทุกมี เมื่อมีเงินมากขึ้นก็ซื้อนักเตะเสริมทัพ ลงทุนในส่วนต่าง ๆ กันในระยะยาวได้สำเร็จ และสุดท้ายพรีเมียร์ลีกก็กลายเป็นลีกฟุตบอลที่ครอบครองตลาดใหญ่ของโลกได้สำเร็จ
ทุกวันนี้จากข้อมูลหลังสุดที่เปิดเผยในปี 2021 พบว่า พรีเมียร์ลีก ขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดได้ถึง 10,000 ล้านปอนด์ หรือราว ๆ 4 แสนล้านบาท ... และแน่นอนว่าเงินจำนวนนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย เพราะเมื่อพวกเขาบริหารจนกระแสจุดติดแล้วทุกอย่างก็เดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทุกวันนี้พรีเมียร์ลีกกลายเป็นลีกที่มีรายได้ทิ้งห่างจากลีกอื่น ๆ ไม่เห็นฝุ่นไปเรียบร้อยเเล้ว
เหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาก็แจกจ่ายไปยังแต่ละสโมสรที่แข่งขันอย่างเท่าเทียม มีเยอะก็แบ่งก็เยอะ ยกตัวอย่างง่ายเช่นทีมที่เพิ่งขึ้นชั้นจากเดอะ เเชมเปี้ยนชิพ มาสู่พรีเมียร์ลีกได้พวกเขาจะได้รับการการันตีรายได้มากกว่า 150 ล้านปอนด์หรือราว 6 พันล้านบาท
ดังนั้นเมื่อมีส่วนแบ่งก้อนโตรออยู่ข้างหน้า ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจึงเตะกันไฟแล่บได้ใจแฟนบอลทั่วโลกไปโดยปริยาย กลายเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กันและกัน ทั้งจากลีกสู่สโมสร และจากสโมสรสู่ลีก ในท้ายที่สุด
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ยุคนั้นมีใครบ้าง : ตามหาเเข้งไทยยู-17 ที่ไปเล่นบอลโลก 1999
Outside In : ฟุตบอลโลก U17 1999 ทัวร์นาเมนต์ล่าสุดที่ไทยไปโชว์ฝีเท้าในระดับโลก
“ถ้าเขามีผู้เล่นชุดที่ดีที่สุด” : มุมมอง ‘โค้ชอ๊อตโต้’ ถึง ‘มาโน่’ ช่วงแฟนบอลเริ่มเสียงแตก