ปลูกฝังกันอย่างไร : เพราะเหตุใดญี่ปุ่นมีแข้งเยาวชนเก่ง ๆ ใช้งานไม่ขาดสาย ?

ปลูกฝังกันอย่างไร : เพราะเหตุใดญี่ปุ่นมีแข้งเยาวชนเก่ง ๆ ใช้งานไม่ขาดสาย ?
มฤคย์ ตันนิยม

ยิ่งใหญ่ไม่เกรงใจใครเลยสำหรับทีมชาติญี่ปุ่น U17 เมื่อสามารถครองแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียได้อีกสมัย ด้วยการเอาชนะเกาหลีใต้ คู่แค้นของทวีปไปอย่างขายลอย

การคว้าแชมป์ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้นักรบจากแดนอาทิตย์อุทัยผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก U17 รอบสุดท้ายได้เท่านั้น แต่มันยังเป็นแชมป์ระดับทวีปสมัยที่ 2 ติดต่อกันอีกด้วย

อย่างไรก็ดี หากไล่เรียงไปดูทีมเยาวชนของญี่ปุ่นตั้งแต่อดีต จะพบว่าผลงานของขุนพลซามูไร จะอยู่ในท็อป 4 ของทวีปอยู่เสมอ แถมบางรุ่นยังก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของโลกด้วยซ้ำ

พวกเขาทำอย่างไร จึงสามารถมีแข้งเยาวชนให้ใช้งานอย่างไม่ขาดสาย และนี่คือความลับที่อาจนำมาปรับใช้กับฟุตบอลไทย ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้งได้ที่นี่

เข้าถึงได้ง่าย

ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในชาติที่คุ้นเคยกับชาวไทยเป็นอย่างดี ที่หลายคนได้รู้จักพวกเขาผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัยหรือป๊อบคัลเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นมังงะ อนิเมะ วิดีโอเกม รวมถึงเพลงและภาพยนตร์

ขณะเดียวกันดินแดนแห่งนี้ก็มีความยิ่งใหญ่ในฐานะชาติที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยประชากร 125 ล้านคน ทว่ากว่าที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จในเชิงฟุตบอล ก็ต้องรอจนถึงยุค 1990s ที่ “ซามูไรบลู” ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์เอเชีย 4 สมัย และผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 7 ครั้งติดต่อกัน

Photo : AFP

แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่มาจากการติดกระดุมเม็ดแรก ที่ตั้งใจและวางแผนมาเป็นอย่างดี นั่นคือการให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับแรก “ระดับรากหญ้า”

“เราไม่รู้ว่าเราจะกินอะไรตอนเช้าวันพรุ่งนี้ แต่พวกเขาวางแผนและสร้างระบบนิเวศเป็นที่เรียบแล้ว มันไม่ใช่แค่เจลีกแต่คือทุกสิ่งทุกอย่างลึกลงไปจนถึงรากหญ้า” ซาซี คูมาร์ อดีตนักเตะทีมชาติสิงคโปร์และนักการตลาดกล่าวกับ Nikkei Asia

ระบบเยาวชนญี่ปุ่น ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในระบบที่ดีที่สุดในโลก จากความที่มันเข้าถึงง่าย พวกเขามีอคาเดมีฟุตบอลมากมายอยู่ในทุกพื้นที่ และที่สำคัญชาวญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะ “เรียนรู้” ราวกับเป็นนิสัยติดตัวของพวกเขา

“นักเตะส่วนใหญ่มีเทคนิคพื้นฐานที่ดีมากตั้งแต่เด็กๆ ทำให้การสอนง่ายขึ้นมาก” ทอม ไบเยอร์ส โค้ชผู้คลุกคลีกับเยาวชนญี่ปุ่นมากว่า 30 ปี กล่าวกับ The World Game

“นักเตะญี่ปุ่นเป็นคนที่สอนได้ เนื่องจากพวกเขามีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้”

ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการเรียนฟุตบอลของพวกเขายังถูกมาก ยกตัวอย่างเช่นในรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปีจะอยู่ที่ราว 4,000 เยน (ราว 979 บาท) ต่อเดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ 961 เยน ต่อชั่วโมง (ราว 235 บาท) ที่หมายความว่าพ่อแม่แค่ทำงาน 1 วัน (8 ชั่วโมง) ก็มีเงินจ่ายค่าเรียนฟุตบอลลูกไปแล้ว 2 เดือน

Photo : Rakuten

“ด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับเริ่มต้นถูกมาก กีฬาจึงเข้าถึงคนส่วนใหญ่ที่อยากเข้าร่วมได้ง่ายมาก” ไบเยอร์ส กล่าวต่อ

“มันไม่มีช่วงเปิดหรือปิดฤดูกาล ดังนั้นพวกเขาสามารถจ่ายเงินไปเลย 12 เดือน ที่มักจะเริ่มในช่วงเมษายน- พฤษภาคม โค้ชส่วนใหญ่ของผู้เล่นรุ่นนี้มักจะเป็นอาสาสมัคร และทีมก็ใช้สนามจากโรงเรียนได้ฟรี”

“ทีมพวกนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงเรียน และส่วนใหญ่ก็เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร”

อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาล และสมาคมฟุตบอล ก็มีบทบาทไม่น้อย

เทรเซ็น (ศูนย์ฝึกแห่งชาติ)

นอกจากระบบเยาวชน (U12, U15, U18) ที่เจลีกบังคับว่าทุกสโมสรอาชีพ จำเป็นต้องมีแล้ว พวกเขายังมีระบบศูนย์ฝึกแห่งชาติ (Trainning Center) หรือ “เทรเซ็น” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

มันคือศูนย์ฝึกฟุตบอลที่เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ที่จะคัดเอาผู้เล่นฝีเท้าดีในชุมชนมาฝึกฝนร่วมกัน โดยจะเริ่มจากระดับเขต แล้วคัดเลือกไปสู่ระดับเทรเซ็นระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับชาติ จนเหลือแต่หัวกะทิ ซึ่งหากใครเคยอ่านมังงะเรื่อง “YATAGARASU ราชันย์ลูกหนัง” ก็อาจจะคุ้นเคยคำนี้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น มีศูนย์ฝึกแห่งชาติระดับภูมิภาคอยู่ทั้งสิ้น 5 แห่ง ในจังหวัด, โอซากะ (เจกรีน โอซากะ), มิยางิ (เจกรีนมิยางิ), ฟุคุโอกะ (เจกรีนฟุคุโอกะ) และฟุคุชิมะที่มีถึง 2 แห่ง (เจวิลเลจ และเจกรีน ฟุคุชิมะ)

ศูนย์ฝึกเจกรีน ซาคาอิ / Photo : Showa Sekkei

“มีหลายปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในปัจจุบัน สมาคมฯ ได้ทุ่มเททรัพยาการเพื่อพัฒนาเยาวชนทั้งในผู้ชายและผู้หญิง” ไบเยอร์สกล่าวในบทความของตัวเองใน New York Times

“มันคือการสร้างศูนย์ฝึกแห่งชาติ (Trainning Center) สำหรับฟุตบอลโดยเฉพาะไปทั่วประเทศ และมีโปรแกรมแมวมองที่จัดการเป็นอย่างดี เพื่อติดตามผู้เล่นที่มีพรสวรรค์มากที่สุด”

“ตอนนี้ศูนย์ฝึกระดับภูมิภาคอยู่ 9 แห่งที่สร้างขึ้นเพื่อทั้ง 48 เขต (จาก 47 จังหวัด)”

ขณะเดียวกัน พวกเขายังมี เจเอฟเอ อคาเดมี ที่เป็นเหมือนสถาบันการศึกษาระดับมัธยมต้นที่จะเน้นเรื่องฟุตบอลเป็นพิเศษ

“ญี่ปุ่นมีเจเอฟเอ อคาเดมี แต่นี่ก็เป็นรูปแบบการจ่ายเงินเพื่อเข้าร่วม แต่ละปีพวกเขาจะได้รับใบสมัครราว 200 คน และระดับก็ค่อนข้างดี แต่พวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าร่วม” บายเออร์กล่าวต่อ

“ในฝั่งของผู้หญิงสิ่งนี้คือเส้นทางสำคัญที่จะก้าวไปสู่ระดับท็อปของฟุตบอลสำหรับเด็กผู้หญิง หลายคนก้าวขึ้นไปติดทีมชาติ”

แผนผังระบบเทรเซ็น / Photo : JFA

อย่างไรก็ดี การที่พวกเขาสามารถทำแบบนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล ที่สนับสนุนให้นักเรียนญี่ปุ่นเข้าเรียนที่โรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้านตั้งแต่เด็ก โดยมีระยะเวลาการเดินทางด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานไม่เกิน 10-15 นาที

“มีโรงเรียนของรัฐบาลอยู่ในทุกเมืองของญี่ปุ่น สำหรับเมืองใหญ่อย่างโตเกียว ก็มีโรงเรียนรัฐบาลตั้งอยู่ในเกือบทุกเขต” เว็บไซต์ Yabai.com กล่าวในบทความ Student Commuters in Japan: Reasons Why the Government Encourages Commuting

“นักเรียนควรเข้าเรียนที่โรงเรียนรัฐบาลที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในเขตที่อาศัยอยู่หรือเขตใกล้เคียง”

มันคือนโยบายที่รัฐบาลหวังฝึกฝนให้เด็กสามารถพึ่งพาตัวเอง รวมถึงเรียนรู้ที่จะพึ่งพาคนในชุมชน อีกทั้งมันยังช่วยแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก เพราะการเดินไปโรงเรียนในเวลา 10-15 นาที ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดี

“นี่คือเหตุผลทำไมจากบ้านของเด็กถึงโรงเรียนจึงใช้เวลาไม่กี่นาที ด้วยการเดินหรือปั่นจักรยาน” Yabai.com ระบุ

Outside In : ‘ทักษิณ ชินวัตร’ คนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นเจ้าของสโมสรพรีเมียร์ลีก | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
“เดิมทีแล้ว ซิตี้ ในยุคของชินวัตรคือหนึ่งในยุคแห่งความหวัง และความตื่นเต้น ก่อนจะตามมาด้วยความอับอายและความอัปยศอดสู” Planet Football ระบุ เรียกได้ว่าก้าวขึ้นมาเป็นทีมแถวหน้าของโลกอย่างเต็มตัว สำหรับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อซีซั่นที่ผ่านมา พวกเขาสามารถทำ

ขณะเดียวกัน นโยบายนี้ยังทำให้ผู้เล่นเก่ง ๆ ไม่จำเป็นต้องไปกองที่อยู่โตเกียว หรือศูนย์กลาง และเมื่อรวมกับการที่เทรเซ็นกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่มีมาตรฐานในระดับเดียวกัน ทำให้พวกเขาเล่นฟุตบอลที่ไหนก็ได้

และนั่นก็เป็นสาเหตุว่าทำไมเยาวชนญี่ปุ่น จึงมาจากหลากหลายพื้นที่ ไม่เหมือนกับไทย ที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง และปริมณฑล

แต่อีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการการปลูกฝังจิตวิญญาณในการแข่งขัน

ทัวร์นาเมนต์ที่เข้มข้น

อันที่จริง นโยบายรัฐบาลญี่ปุ่นที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนใกล้บ้าน ยังทำให้ชมรมฟุตบอลของโรงเรียน หรือซัคกาบุคัตสึ เติบโตไปพร้อมกันทั่วประเทศ โดยไม่ผูกขาด และกลายเป็นหนึ่งในแหล่งปลุกปั้นผู้เล่นสู่ทีมชาติ

ชุนซูเกะ นาคามูระ, ฮิเดโตชิ นาคาตะ, เคซูเกะ ฮอนดะ, หรือที่ยังเล่นอยู่อย่าง ยูยะ โอซาโกะ คือเหล่าผู้เล่นที่เติบโตมาจากชมรมฟุตบอล และมีโอกาสเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายของศึกชิงแชมป์แห่งชาติ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

และหนึ่งในรายการที่โด่งดังมากที่สุด คือฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติญี่ปุ่น หรือ ชิงแชมป์ฤดูหนาว ที่จะเอาตัวแทน ในแต่ละจังหวัด รวมทั้งสิ้น 48 ทีม (โตเกียวได้โควต้า 2 ทีม) มาชิงชัยแบบน็อคเอาท์

Photo : JFA

มันคือทัวร์นาเมนต์ฟุตบอบเยาวชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของญี่ปุ่นที่มีผู้ชมมหาศาลที่เข้าไปชมการแข่งขันในเกือบทุกนัด  ขณะที่นัดชิงชนะเลิศ ที่สนามกีฬาแห่งชาติโตเกียว มียอดคนดูไม่ต่ำกว่าครึ่งแสนในเกือบทุกปี

“นักเตะระดับมัธยมปลายเก่งๆ ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในทีมอคาเดมีของเจลีก หรือไม่ก็ไปเล่นในโรงเรียนที่เน้นเรื่องฟุตบอล ที่มีอยู่มากมาย” ไบเยอร์ส อธิบายกับ The World Game

“มัน (ฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมปลาย) ยังคงได้รับความนิยมมาก นักเตะเก่ง ๆ บางคนสามารถก้าวไปเล่นในเจลีกและทีมชาติ”

อย่างไรดี การชิงแชมป์ระดับชาติไม่ได้มีทัวร์นาเมนต์ระดับมัธยมปลายเท่านั้น แต่พวกเขามีในทุกช่วงอายุ ไล่ตั้งแต่ประถม, มัธยมต้น, มัธยมปลาย, ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่ทำให้พวกเขาได้รับการปลูกฝังจิตวิญญาณในการแข่งขันตั้งแต่เด็ก

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการแข่งขันของเด็กญี่ปุ่นจึงดูจริงจังไม่ว่ารุ่นไหน ทุกคนพร้อมจะวิ่งสู้จนถึงวินาทีสุดท้าย, เข้าบอลแบบไม่กลัวเจ็บ หรือพร้อมลุกทันที ไม่มีสำออยนอนเล่น หากถูกเตะล้ม ถ้าไม่เจ็บหนักจริง ๆ

“มันมีการแข่งขันชิงแชมป์ระดับชาติในทุกรุ่น และทุกรายการก็ได้รับความนิยมมาก” ไบเยอร์สกล่าว

นอกจากนี้ มันยังทำให้พวกเขามีตัวเลือกในการพัฒนาตัวเองในเส้นทางที่หลากหลาย บางคนอาจจะเลือกอยู่อคาเดมียาว บางคนอาจจะไปเล่นฟุตบอลต่อที่โรงเรียน หรือบางคนเลือกที่จะเรียนให้จบมหาวิทยาลัยก่อนเป็นนักฟุตบอล

Photo : Number Web

“ผู้เล่นสามารถพัฒนาในระบบใดก็ได้ที่เหมาะกับพวกเขามากที่สุด” แดน ออโลวิตช์ นักข่าว Japan Times ผู้คร่ำหวอดในวงการฟุตบอลญี่ปุ่นกล่าวกับ Anadolu Agency ของตุรกี

“ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คาโอรุ มิโตมะ เขาได้รับการเสนอสัญญาอาชีพจาก คาวาซากิ ฟรอนทาเล ตอนอายุ 18 แต่เขาก็ตัดสินใจไปเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเขาคิดว่ายังไม่พร้อม”

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติเหล่านี้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับแข้งรุ่นเยาว์หลายคนใฝ่ฝันที่จะลงเล่น และทำให้มันกลายเป็นรายการศักดิ์สิทธิ์ ในระดับเดียวกับ “โคชิเอ็ง” ของเบสบอลญี่ปุ่น

บวกกับการเสริมจาก วัฒนธรรมร่วมสมัย หรือ ป๊อบคัลเจอร์ ทั้งจากมังงะ อนิเมะ ไปจนถึงวิดีโอเกม ที่หยิบการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติไปเป็นวัตถุดิบ ร้อยเรียงออกมาจนเป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม และแพร่หลายไปทั่วประเทศ

Photo : AFP

“เกมการแข่งขันฟุตบอล ยังฝังแน่นอยู่ในป๊อบคัลเจอร์ของญี่ปุ่น ในช่วงยุค 80s มีมังงะชื่อ กัปตันสึบาสะ ที่บอกเล่าเรื่องราวของนักฟุตบอล และถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ฉายทางทีวี และวิดีโอเกม” ไบเยอร์ส อธิบาย

“มันมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้กีฬาเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น ก่อนจะตามมาด้วยมังงะอีกหลายเรื่อง เช่น อินะซูมะ อีเลฟเว่น”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการร่วมมือกันในทุกฝ่ายของญี่ปุ่น ที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันจนทำให้ฟุตบอล ที่ทำให้ฟุตบอล กลายเป็นหนึ่งในกีฬาสำคัญของชาติ และทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในทุกรุ่น ทั้งระดับทวีป หรือระดับโลก ด้วยเวลาเพียงไม่กี่สิบปี

“การพัฒนาด้านเทคนิค ดำเนินไปพร้อมระเบียบวินัยแบบญี่ปุ่น ความคิดของคนญี่ปุ่นมีรากฐานมาจากเรื่องส่วนรวมสำคัญกว่าเรื่องส่วนตัว ซึ่งถูกแปรเปลี่ยนไปในสนามฟุตบอลได้อย่างสมบูรณ์แบบ” ไบเยอร์สสรุป

แหล่งอ้างอิง
https://www.sbs.com.au/sport/article/asia-youth-development-japan-lead-the-way/3yawy7my1
https://www.aa.com.tr/en/sports/need-for-killer-instinct-as-gap-between-japanese-european-football-narrowing/2759347
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Sports/J.-League-gains-global-acclaim-by-fostering-grassroots-soccer-culture
https://archive.nytimes.com/goal.blogs.nytimes.com/2011/02/02/asian-cup-japan-is-on-the-up/
http://yabai.com/p/4583
https://www.jfa.jp/eng/youth_development/national_tracen/

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ