ปรับขนาดสนามแคบ : กลยุทธ์ที่เป็นดาบสองคมในศึกญี่ปุ่นปะทะจีน
วันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบสุดท้าย นัดที่ 6 มีเกมที่น่าสนใจระหว่าง ทีมชาติญี่ปุ่น บุกไปเยือน ทีมชาติจีน ถึงถิ่น ซึ่งแม้ทัพ ซามูไร บลู จะเริ่มต้นเกมได้ยากลำบาก แต่สุดท้ายพวกเขาก็สามารถเอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 3-1 จากสามประตูที่มาจากลูกโหม่ง และสองลูกก็มาจากลูกเตะมุม
สนามแคบกว่าปกติ: กลยุทธ์หรืออุปสรรค?
หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในเกมนี้คือความกว้างของสนามที่ถูกปรับให้แคบลงจนผิดปกติ
โดยทาง ทาเคฟุสะ คุโบะ หนึ่งในสตาร์ตัวท็อปของญี่ปุ่น ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า
"มันแคบเกินไปจริง ๆ"
จากการที่เส้นข้างสนามถูกลากเข้ามาอยู่ในระยะที่แคบกว่ามาตรฐานปกติที่ 68 เมตร
การปรับขนาดสนามในลักษณะนี้ทำให้ตัวริมเส้นของทีมเยือนอย่าง จุนยะ อิโตะ และ เคย์โตะ นากามูระ ไม่สามารถใช้พื้นที่กว้างในการเล่นเกมรุกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้แผงกองหลังแบ็คโฟร์ของ ทีมชาติจีน สามารถปรับการยืนตำแหน่งได้ง่ายขึ้น คุมพื้นที่ได้สะดวกขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทีมเยือนต้องเผชิญกับความลำบากในช่วงต้นเกม
มุมมองจากสื่อจีน คือ กลยุทธ์ระดับมืออาชีพ
ทางฝั่งสื่อจีนอย่าง Live Broadcasting กลับมองว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด โดยมีการนำเสนอความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญว่า
"นี่คือกลยุทธ์ที่มืออาชีพมาก ๆ การปรับขนาดสนามให้อยู่ในขอบเขตที่ฟีฟ่ากำหนด และเหมาะสมกับตัวเองและคู่แข่งถือเป็นกลวิธีหนึ่งในเกมฟุตบอล"
ความคิดเห็นในคอมเมนต์ของบทความดังกล่าวมีเสียงสนับสนุนอย่างมาก เช่น
"เป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผล"
"เห็นด้วยอย่างยิ่ง ในเชิงทฤษฎี สนามที่เล็กลงเหมาะกับทีมที่อ่อนกว่า"
"ใครที่คิดแผนนี้ขึ้นมาคือมืออาชีพของจริง"
ผลลัพธ์กลับฝั่ง คือ ดาบสองคมของสนามแคบ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกเสียงที่เห็นด้วยกับการปรับสนามให้แคบลง คอมเมนต์เชิงลบจากแฟนบอลจีนบางส่วนชี้ว่า กลยุทธ์นี้อาจส่งผลเสียกับทีมตัวเองมากกว่าฝ่ายตรงข้าม เช่น
"น่าสมเพช! แทนที่จะช่วยกลับกลายเป็นทำลายตัวเอง"
"ถ้าชนะหรือเสมอจะพอคุยได้ว่านี่เป็นวิธีที่ดี แต่สุดท้ายก็เสียประตูจากลูกเตะมุมอยู่ดี"
"สนามแคบช่วยให้เกมรับง่ายขึ้น แต่กลับทำให้ป้องกันลูกเตะมุมยากกว่าเดิม"
สองประตูที่ทีมชาติจีนเสียจากลูกเตะมุมในเกมนี้ทำให้หลายคนมองว่าการปรับสนามแคบลงอาจเป็นดาบสองคมที่ไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง เพราะการปรับสนามให้แคบลงจะถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่สมเหตุสมผลสำหรับทีมที่ด้อยกว่า แต่ในเกมนี้กลับกลายเป็นการเพิ่มความได้เปรียบให้ทีมชาติญี่ปุ่น โดยเฉพาะในการเล่นลูกตั้งเตะ การตัดสินใจครั้งนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญของทีมชาติจีนในเส้นทางฟุตบอลโลก
ผลการแข่งขันที่ออกมา อาจแปลความหมายได้ว่า สนามที่แคบลงไม่ได้ลดความอันตรายของทีมชาติญี่ปุ่น แต่กลับช่วยชี้ชัดถึงความห่างเรื่องศักยภาพของ เจ้าบ้าน กับ ทีมเยือน ได้ตรงเป้ามากขึ้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://www.soccerdigestweb.com/news/detail2/id=164605