ระบบอัดฉีดก่อนแข่งได้ผลแค่ไหน ประเทศอื่นเขาทำกันยังไง ?
"มาดามแป้ง" อัดฉีดช้างศึก ดวล จีน-สิงคโปร์ "แต้มละ 1 ล้าน"
หนึ่งในพาดหัวก่อนการแข่งขันระหว่างฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก ระหว่าง ไทย กับ จีน ที่สุดท้าย ช้างศึกต้องประเดิมสนามด้วยความปราชัย 1-2 เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา
เรื่องรูปเกมในสนามอาจไม่ต้องพูดถึง เพราะทุกคนน่าจะได้เห็นกันแล้วทั้งผ่านสายตาตัวเอง และการถ่ายทอดสด แต่สิ่งที่อยากชวนตั้งคำถามคือระบบอัดฉีดที่อยู่คู่กับฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนาน
แท้จริงแล้ว ได้ผลแค่ไหน? แล้วชาติอื่นมีหรือไม่? ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve
รางวัลแห่งความทุ่มเท
อันที่จริงการอัดฉีดให้เงินรางวัลนักกีฬาก่อนการแข่งขัน อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และแฟนฟุตบอลน่าก็คุ้นชินเรื่องนี้ จากการที่มันอยู่คู่กับวงการฟุตบอลไทยมาหลายสิบปี
เนื่องจากทุกครั้ง ก่อนการแข่งขันใหญ่จะเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิก รอบคัดเลือก หรือ ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ก็จะมีข่าวผู้ใหญ่ในวงการ ออกมาประกาศให้เงินอัดฉีด หากผู้เล่นทำผลงานได้ดีในทัวร์นาเมนต์
แน่นอนว่าในเชิงจิตวิทยา มันอาจจะได้ผล เพราะเงินคือหนึ่งในแรงกระตุ้นชั้นดีสำหรับมนุษย์ ที่ทำให้บางบริษัทจะมีเงินพิเศษที่เรียกว่าค่า Incentive ช่วยชักจูงให้พนักงานพยายามทำผลงานให้ดีอย่างต่อเนื่อง
แต่ในความเป็นจริง เงินอัดฉีดในส่วนนี้ ควรจะเป็นสิ่งที่ผู้เล่นได้รับอยู่แล้ว เพื่อตอบแทนความทุ่มเทจากผลงานในสนาม มากกว่าจะมาให้ความสำคัญ หรือชูเป็นประเด็นก่อนแข่ง
เพราะที่สุดแล้ว การที่ผู้เล่นและทีมชาติจะทำผลงานได้ดี มันต้องเกิดจากการวางแผน การเตรียมทีม ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งสโมสร สมาคมฟุตบอลฯ ทีมโค้ช รวมถึงผู้เล่น ที่ไม่ใช่มาจากเงินอัดฉีดเพียงอย่างเดียว
ทำให้หลายชาติมักจะใช้ส่วนนี้ แค่ในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์เพียงอย่างเดียว เช่น ทีมชาติอังกฤษ ที่จะได้รับเงินอัดฉีดในจำนวนมหาศาล คือพวกเขาต้องคว้าแชมป์โลกเท่านั้น
อย่างในฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ จากการรายงานของ Daily Mail ระบุว่า ถ้าหากพวกเขาคว้าแชมป์ได้ ผู้เล่นจะได้รับเงินคนละ 500,000 ปอนด์ (ราว 21 ล้านบาท) ส่วนผู้จัดการทีม แกเร็ต เซาธ์เกต รับทรัพย์ไปคนเดียว 3 ล้านปอนด์ (130 ล้านบาท) หากพาอังกฤษคว้าแชมป์โลก แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ
หรือ ชาติที่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จด้านฟุตบอลอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีเงินตอบแทนผู้เล่นตั้งแต่การลงสนาม คนละ 10,000 เหรียญ (350,000 บาท) ในฟุตบอลโลก 2022 และถ้าหากผ่านเข้ารอบน็อคเอาท์ พวกเขาจะได้เงินคนละ 206,000 เหรียญ หรือราว 7 ล้านบาท
แน่นอนว่าจำนวนที่ผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับ จะยิ่งเพิ่มขึ้นไป หากเข้ารอบลึกขึ้น เช่นรอบก่อนรองชนะเลิศจะได้ 383,000 เหรียญ (13 ล้านบาท) หรือหากก้าวไปถึงแชมป์ ก็จะรับทรัพย์ที่ราว 892,000 เหรียญ (31 ล้านบาท)
ทั้งนี้ สำหรับมหาอำนาจในเอเชีย พวกเขามีสิ่งนี้หรือไม่?
ได้ในสิ่งที่ควรได้ ไม่ใช่จากบุญคุณ
แม้ว่าเงินอัดฉีด จะเป็นสิ่งที่หลายชาติทำกันปกติ แม้แต่ชาติที่พัฒนาแล้ว แต่มันมาในรูปแบบสิทธิ์ที่พวกเขาควรได้รับ มากกว่าการให้แบบมีบุญคุณ หรือตอบแทนเป็นนัดๆ
ยกตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ จากการรายงานของ Forbe ระบุว่านักเตะทุกคนที่มีชื่อมาเล่นในฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ จะได้เงินคนละ 15,000 เหรียญ (ราว 520,000 บาท) จากสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ เป็นพื้นฐาน
และถ้าหากพวกเขาทำผลงานได้ดี พาทีมผ่านเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่ม ก็จะได้รับเงินตอบแทนอย่างน้อย 76,000 เหรียญ (2.6 ล้านบาท) และ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (5.2 ล้านบาท) หากเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่ถ้าคว้าแชมป์ พวกเขาจะรับทรัพย์ถึง 390,000 เหรียญ (13 ล้านบาท)
แม้ว่ามองจากตัวเลข มันอาจจะเป็นจำนวนที่มาก แต่ก็มาจากเงื่อนไขที่โหดหิน ในการไปถึงจุดนั้น แถมยังเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดอย่างฟุตบอลโลกอีกด้วย ที่ท้ายที่สุดพวกเขาก็จอดป้ายแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย
ขณะที่ ญี่ปุ่น อีกหนึ่งมหาอำนาจของเอเชีย ก็มีเงินตอบแทนในลักษณะนี้เช่นกัน แต่เป็นการได้มาจากการเรียกร้องของ สมาพันธ์นักฟุตบอลอาชีพญี่ปุ่น (JPFA) ที่จะมอบให้ผู้เล่นที่ลงเล่นในทีมชาติทุกนัด ไม่ได้อัดฉีดนัดใดนัดหนึ่ง
โดยข้อมูลเหล่านี้ ยังประกาศเป็นสาธารณะในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (๋JFA) ที่สามารถตรวจสอบได้ทุกเมื่อ ยกตัวอย่างเช่น เงินเบี้ยเลี้ยง ที่ทุกคนจะได้รับเท่ากันวันละ 10,000 เยน (ราว 2,300 บาท) เป็นต้น
หรือเงินโบนัสพิเศษ หากทีมคว้าชัยในการแข่งขันแต่ละนัด ก็มีการแบ่งแยกไว้ชัดเจน เช่นหากเป็นฟุตบอลโลก ซึ่งอยู่ในระดับ S แต่ละคนจะได้เงินเข้ากระเป๋าคนละ 2 ล้านเยน ราว 460,000 บาท) ต่อการคว้าชัย ส่วนถ้าเป็นการแข่งขันระดับทวีปที่อยู่ในแรงค์ A เช่น คอนเฟดเดอเรชั่นคัพ, เอเชียนคัพ, ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก จะได้เงินคนละ 300,000 เยน (70,000 บาท) หากคว้าชัย
เช่นกันสำหรับ การแข่งขันระดับ B เช่น ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันออก ฟุตบอลเอเชียนคัพรอบคัดเลือก กิรินคัพ หรือแม้แต่นัดกระชับมิตรกับทีมที่มีอันดับโลกอยู่ในท็อป 10 ก็จะได้เงินตอบแทนชัยชนะคนละ : 200,000 เยน (46,000 บาท)
ขณะที่แรงค์ C หรือนัดกระชับมิตรกับทีมที่อยู่ในอันดับ 11-20 ของโลก จะได้เงิน 150,000 เยน (ราว 35,000 บาท) ต่อชัยชนะ 1 นัด ส่วนหากคว้าชัยกับทีมที่มีอันดับโลก 20 ขึ้นไป ที่ถูกจัดอยู่ในแรงค์ D จะได้เงินตอบแทนคนละ 100,000 เยน (ราว 23,000 บาท)
นอกจากนี้ พวกเขายังมีโบนัสพิเศษ หากพาทีมคว้าแชมป์ หรือเข้ารอบลึกๆในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย เช่น หากคว้าแชมป์โลก จะได้คนละ 50 ล้านเยน (11 ล้านบาท), รองแชมป์ได้ 30 ล้านเยน(7 ล้านบาท), เข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายได้ 10 ล้านเยน (2.3 ล้านบาท)หรือรอบ 8 ทีมสุดท้าย ได้คนละ 8 ล้านเยน (1.8 ล้านบาท)
ขณะที่การแข่งขันระดับทวีป อย่างเอเชียนคัพ ก็มีเงินโบนัสเช่นกัน แต่จะมีแค่ 3 รางวัลคือ ชนะเลิศ รองแชมป์ และอันดับ 3 ที่จะได้คนละ 2 ล้านเยน (460,000 บาท), 1 ล้านเยน (230,000 บาท) และ 500,000 เยน (116,000 บาท) ตามลำดับ เช่นกันกับฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันออก แต่เงินรางวัลน้อยกว่าเอเชียนคัพครึ่งหนึ่ง
ทั้งนี้ JFA ไม่ได้จ่ายเงินพิเศษให้ผู้เล่นเท่านั้น แต่ยังมีเงินที่มอบให้สโมสร 50,000 เยน (11,600 บาท) ต่อวัน ต่อผู้เล่นที่ถูกเรียกติดทีมชาติ และถ้าหากผู้เล่นเหล่านั้นได้รับบาดเจ็บ JFA ก็จะจ่ายเงินชดเชยให้อีกวันละ 30,000 เยน (ราว 7,000 บาท)
สิ่งเหล่านี้คือระบบของชาติที่พัฒนา หรือประสบความสำเร็จในด้านฟุตบอล ที่ใช้เงินอัดฉีดเป็นเพียงแค่ของแถม หรือเป็นสิ่งที่ควรได้รับ “ตามปกติ” เพื่อตอบแทนความทุ่มเทของเหล่าผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็นรายการเล็กหรือใหญ่แค่ไหน
พวกเขารู้ดีกว่า แม้ว่านี่คือสิ่งจำเป็น แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดเท่ากับ การวางรากฐานให้มั่นคง จัดการระบบลีกให้เป็นมืออาชีพ เพื่อให้ทีมชาติแข็งแกร่ง จนสามารถต่อกรกับชาติอื่น ๆ ได้
เพราะไม่ว่าจะทุ่มเงินอัดฉีดแค่ไหน หากรากฐานของทีมชาติยังง่อนแง่น หรือการจัดการยังไม่เป็นมืออาชีพ จะอัดฉีดซักร้อยล้าน พันล้าน ก็ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จ
ไม่อย่างนั้น ชาติผู้ร่ำรวยจากน้ำมันอย่าง ซาอุดิอาระเบีย, กาตาร์ หรือ ยูเออี คงคว้าแชมป์โลกไปตั้งนานแล้ว
แหล่งอ้างอิง
https://web.gekisaka.jp/news/japan/detail/?80841-73308-fl
https://www.marca.com/en/world-cup/2022/11/20/637a8b43e2704e456d8b45c9.html