รู้จัก CONIFA การแข่งขัน "ฟุตบอลโลก" สำหรับประเทศที่ถูก FIFA หันหลังให้?

รู้จัก CONIFA การแข่งขัน "ฟุตบอลโลก" สำหรับประเทศที่ถูก FIFA หันหลังให้?
ชยันธร ใจมูล

ฟุตบอลโลก คือรายการเพชรยอดมงกุฎที่นักเตะจากทีมชาติต่าง ๆ หวังจะคว้าเเชมป์ให้ได้เพื่อเป็นเกียรติประวัติ ให้สมกับที่เกิดมาเป็นนักฟุตบอลในชีวิตนี้

อย่างไรก็ตามฝันนี้มันเป็นไปไม่ได้สำหรับคนบางกลุ่มที่เลือกเกิดไม่ได้ พวกเขาไปเกิดในดินแดนที่ไม่ใช่ประเทศ ไม่มีใครรองรับ และถ้าเป็นอย่างนั้นการแข่งขันฟุตบอลระดับชิงแชมป์โลกจะอยู่ได้แค่เพียงในความฝันอย่างเดียวเท่านั้นหรือ ?

ไม่หรอก มีนักเตะอีกหลายคน ชนกลุ่มน้อยอีกหลายกลุ่ม หมู่เกาะอีกหลายหมู่เกาะที่อยากจะแข่งขันฟุตบอลกับทีมอื่น ๆ บ้าง ... ซึ่งฝันของพวกเขาเป็นจริงในรายการที่ชื่อว่า CONIFA

CONIFA คืออะไร ?

หาก FIFA คือองค์กรที่จัดการแข่งขันฟุตบอลให้ชาติต่าง ๆ ทั่วโลกที่เป็นสมาชิกมาแข่งแชมป์กัน CONIFA ก็คือโลกอีกใบที่เปิดกว้างให้กับประเทศเล็ก ๆ ที่ FIFA ไม่รับรองให้พวกเขาไปแข่งฟุตบอลโลก

CONIFA (Confederation of Independent Football Associations) หรือสหพันธ์แห่งสมาคมฟุตบอลอิสระก่อเกิดขึ้นมาเพื่อเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ในเดือนมิถุนายน 2013 โคนิฟ่าเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงผลกำไร และเป็นพื้นที่ให้กับทีมจากรัฐที่ไม่ได้เป็นสมาชิกฟีฟ่า กลุ่มคนไร้สัญชาติ คนพลัดถิ่น ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้มีโอกาสมาแข่งฟุตบอลกันทั้งในรูปแบบของเกมกระชับมิตรไปจนถึงทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ คอยแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน สร้างพื้นที่ให้เป็นที่รับรู้ในสังคมโลก และเก็บเรื่องการเมืองระหว่างประเทศไว้ข้างหลัง

CONIFA พยายามขจะส่งมอบความสุขในการแข่งขันให้กับ ประเทศเล็ก ๆ ที่ได้แต่ฝันถึงฟุตบอลโลก โดยมีแนวคิดที่ว่า พวกเขาจะเข้ามาช่วยสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างประเทศ ผ่านเกมฟุตบอลที่สามารถสร้างความสุขได้ในการแข่งขัน

โดบกลุ่มชาติเล็ก ๆ เหล่านี้มีประชากรรวมกันกว่า 330 ล้านคน หรือคิดเป็น 5% ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด CONIFA เปิดกว้างเสมอสำหรับจำนวนมหาศาลนี้ โดยมีเกณฑ์การรับเข้ามาเป็นสมาชิกที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ขอแค่ไม่ได้เป็นสมาชิก ฟีฟ่า และ ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฟุตบอลในประเทศอื่น (อาทิ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ถูกรับรองโดยอังกฤษ)

ว่าง่าย ๆ ก้คือพวกเขาต้องเป็นชาติที่ขาดแคลนโอกาสการเล่นฟุตบอลจริง ๆ ไม่มีองค์กรไหนรับ CONIFA จะรับจบทั้งหมดและแบ่งความสุขผ่านการแข่งขันฟุตบอลให้กับพวกเขา ซึ่งปัจจุบันนี้ CONIFA มีสมาชิกเข้าร่วมแล้วทั้งหมด 45 ทีมด้วยกัน

"CONIFA มีเป้าหมายที่จะสร้างสะพานเชื่อมระหว่างผู้คน ประเทศ ชนกลุ่มน้อย และภูมิภาคโดดเดี่ยวทั่วโลกผ่านมิตรภาพ วัฒนธรรม และความสุขในการเล่นฟุตบอล CONIFA ทำงานเพื่อการพัฒนาสมาชิกในเครือ และมุ่งมั่นที่จะเล่นอย่างยุติธรรมและขจัดการเหยียดเชื้อชาติ" พวกเขาอธิบายตัวเองไว้เช่นนี้

แข่งขันกันยังไง ?

การแข่งขันภายใต้การดูแลของ CONIFA นั้นมีหลายรูปแบบ และมีความคล้ายกับที่ FIFA ดูแลเกมลูกหนังของทั้งโลก จะพูดแบบนั้นก็คงไม่ผิดนัก

เพราะ CONIFA มีการแข่งขันตั้งแต่ ชิงแชมป์โลก(CONIFA World Football Cup), ชิงแชมป์ยุโรป (CONIFA European Football Cup), ชิงแชมป์แอฟริกา (CONIFA Africa Football Cup) ชิงแชมป์อเมริกาใต้ (CONIFA South America Football Cup) และชิงแชมป์เอเชีย (CONIFA Asian Football Cup)

นอกจากนี้ยังมีฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก หรือแม้กระทั่งฟุตซอลในระดับภูมิภาคภายใต้ชื่อ CONIFA No Limits Mediterranean Futsal Cup ก็มีเช่นกัน

โดยแชมป์โลกทีมชาย ณ ปัจจุบันของ CONIFA คือ ทีม คาร์ปาตัลยา ซึ่งเป็นทีมตัวแทนของชนกลุ่มน้อยชาวฮังการี ที่อาศัยอยู่ในดินเเดนทางตะวันตกของประเทศติดกับประเทศ ยูเครน โดยดินเเดนของ คาร์ปาตัลยา นั้น ถือเป็นดินแดนประวัติศาสตร์ของโลกในแง่ของเรื่องการเมืองและภูมิศาสตร์เลยทีเดียว

ส่วนแชมป์โลกทีมหญิงคือ ทีมชาติซัปมี ที่เป็นตัวแทนของชาวซามิ ซึ่งอาศัยอยู่ทาง ตอนเหนือของนอร์เวย์สวีเดนฟินแลนด์และรัสเซีย

แข่งแล้วได้อะไร ?

อย่างที่ได้กล่าวไปนอกจากความสุขและความสนุกของการแข่งขันแล้ว ความหมายของฟุตบอล CONIFA ที่ซ่อนอยู่ในทุก ๆ เกมคือพวกเขาใช้เวทีการแข่งขันที่ตนเองดูแล ให้เป็นเวทีที่ลองรับความหลากหลาย เปิดพื้นที่อิสระให้ประเทศเล็ก ๆ หรือชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ได้แสดงออก ซึ่งพวกเขาไม่สามารถทำได้ตอนอยู่ในดินเเดนของตัวเอง และแทบไม่ต้องคิดเลยถ้าจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ลงในเกมที่ FIFA รับรอง ... นี่คือความต่างของเกมฟุตบอลที่ CONIFA ดูแลอยู่

ยกตัวอย่างเช่น ทีมทมิฬ อีแลม กลุ่มชนตัวแทนจากเอเชีย ที่ได้สิทธิ์ลงเล่นรอบสุดท้าย หลังพบข้อความสื่อถึงการเป็นรัฐเอกราชจากแผ่นดินศรีลังกา การแสดงออกของกลุ่มชนทิเบต ที่แสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจนต่อประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต ที่ทำให้ จีน ไม่พอใจกับการที่พวกเขาแสดงออกแบบนี้ แต่ที่ CONIFA ทุกอย่างเปิดกว้างสำหรับประเทศเล็ก ๆ และชนกลุ่มน้อยเสมอ

ดังนั้นหากฟีฟ่าเป็นองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมทีมชาติจากรัฐชาติสำหรับการแข่งขันเกมลูกหนังในทางสากล กลับกัน CONIFA เปรียบเสมือน “ฟีฟ่า” ของทีมจากรัฐอิสระ กลุ่มคนพลัดถิ่น ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสกลุ่มชนเหล่านี้ได้สัมผัสทัวร์นาเมนต์รอบสุดท้าย และแสดงสิ่งที่พวกเขาคิดเห็นและมุมมองที่ไม่เคยมีใครสัมผัส หรือสนใจพวกเขา ไม่ว่าจะในเกมฟุตบอลหรือในเกมชีวิตก็ตาม

นี่คือเหตุผลว่าทำไม หากคุณมีโอกาส คุณควรได้สัมผัสและรับชมฟุตบอลของ CONIFA ดูสักครั้ง รับรองได้ว่ามันจะเป็นอีกรสชาติที่แตกต่างกับฟุตบอลโลกที่เราเคยดูเป็นประจำอย่างแน่นอน

สนใจอยากเดินทางไปชม CONIFA เวิลด์ คัพ 2024 ที่ประเทศเคอร์ดิสถาน ร่วมกับ The Wild Chronicles สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://lin.ee/fNEO1jr หรือ @thewildchronicles (พิมพ์ @ ด้านหน้า) และพิมพ์ว่า “สนใจทัวร์เคอร์ดิสถาน” ได้เลย

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ