รู้จัก ‘ฝอซาน ฮ่าวโป๋’ สโมสรในลีกรองหญิงสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีทีมผู้บริหารเป็นคนไทย

รู้จัก ‘ฝอซาน ฮ่าวโป๋’ สโมสรในลีกรองหญิงสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีทีมผู้บริหารเป็นคนไทย
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

แฟนบอลในประเทศไทยบางกลุ่ม อาจยังไม่รู้ว่า มีกลุ่มนักธุรกิจในบ้านเราหลายกลุ่มที่มีใจรักฟุตบอล แล้วกล้าที่จะเสี่ยงกับสิ่งที่รัก ด้วยการนำเอาเงินทุนไปเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลเป็นของตัวเอง ถึงแม้ว่าสโมสรนั้นอาจไม่ได้อยู่ในลีกระดับ คลาส เอ แต่ปลายทางที่ได้ทำตามฝันนั้นยิ่งใหญ่ไม่ต่างกัน

หลังจากดีลของ ‘มิ้นท์’ กัญญาณัฐ เชษฐบุตร ดาวยิงดีกรีทีมชาติไทยหญิง สำเร็จลุล่วงในการย้ายไปอยู่กับสโมสร ฝอซาน ฮ่าวโป๋ เป็นหนึ่งในโควต้าต่างชาติของทีมที่มีให้เลือกใช้เพียงแค่ฤดูกาลละ 2 ที่ แฟนบอลคงสงสัยกันไม่น้อยว่า ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

แน่นอนว่าความสามารถของ มิ้นท์ ที่ยิงให้กับต้นสังกัดในศึก ไทย วีเม่นส์ ลีก 2023 ไปถึง 35 ประตู ย่อมการันตีฝีเท้าของเธอได้เป็นอย่างดี แต่การที่ชื่อของเธอจะไปอยู่ในสายตาของบอร์ดบริหารของ  ฝอซาน ฮ่าวโป๋ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

การผลักดันของทีมผู้บริหารเบื้องหลังที่เป็น ‘คนไทย’ ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญให้การส่งออกนักเตะรายนี้เกิดขึ้น แต่กว่าที่พวกเขาจะมาถึงจุดที่สามารถก้าวไปลงทุนซื้อสิทธิ์บริหารสโมสรในสาธารณรัฐประชาชนจีนมาครอง เส้นทางเหล่านั้นไม่มีทางที่จะโรยด้วยกลีบกุหลาบแน่ๆ

ทีมงาน Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้รับเกียรติจากผู้บริหารของสโมสร ฝอซาน ฮ่าวโป๋ ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์พิเศษเป็นการส่วนตัว ถึงจุดเริ่มต้นในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงประวัติเบื้องลึกเบื้องหลังของสโมสรนี้แบบเจาะลึก แนวคิดของเขาจะเป็นเช่นไร? ติดตามได้ในบทความนี้

การวางแผนนับสิบปี

การบุกตลาดของกลุ่มผู้บริหารจากประเทศไทย เริ่มต้นเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2003 เริ่มจากการทำสนามฟุตบอลก่อน 2 สนาม ก่อนที่ทางผู้ให้สัมภาษณ์กับทีมงาน คิดไซด์โค้ง จะเข้าไปลงทุน ลงแรง ลงสมองแบบเต็มตัวในปี 2012

แล้วด้วยนโยบายการสนับสนุนด้านกีฬาของ สี จิ้น ผิง ส่งผลให้วงการกีฬาเข้าสู่ยุคทอง (Golden Era) แผนการดำเนินธุรกิจที่วางเอาไว้อย่างถูกจุดของทีมผู้บริหารไทย ก็ได้รับผลบวกไปด้วย จากการหวังเรื่องของกำไรไว้ที่ปีละ 10% กลับกลายเป็นช่วงนั้นกอบโกยได้ถึง 30% หรือมากกว่าถึงสามเท่าตัว

จากการทำแค่สนามฟุตบอล ก็เริ่มเดินหน้าไปสู่การทำ อคาเดมี่ฝึกฟุตบอล ในเมือง ฝอซาน (Foshan) ที่มีสนามของตัวเองอยู่แต่เดิม แล้วผู้คนในเมืองนี้ราว 7.5 ล้านคน ค่อนข้างตอบรับเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลดีไม่น้อย เพราะทุกครั้งที่มีทัวร์นาเม้นต์สำคัญระดับจังหวัด ผู้คนหลายพันคนก็พร้อมจะเข้าไปชมเกมเต็มความจุราว 8 พันคนตลอด

แต่ใช่ว่าการปลูกฝังความรักในกีฬาฟุตบอลแบบจริงจังให้กับชาวเมืองจะเป็นเรื่องง่าย ทางกลุ่มผู้บริหารชาวไทย ต้องวางกลยุทธอันแยบยลด้วยการยอมเปิดอคาเดมี่ ให้ผู้ปกครองพาลูกพาหลานที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน ฝอซาน เข้ามาฝึกฝนพื้นฐานกีฬาฟุตบอลแบบ ‘ฟรีๆ’ ก่อน ยอมลงทุนควักเนื้อด้วยการจ้างโค้ชที่มีคุณภาพจากต่างชาติ เพื่อให้เห็นถึงความจริงจังที่จะเป็นตัวแทนด้านกีฬาฟุตบอลของจังหวัดนี้

เมื่อกระแสฟุตบอลของคนท้องถิ่นในเมือง ฝอซาน ถูกจุดติดตามที่วางแนวทางไว้ ทีมผู้บริหารก็เริ่มมีการพูดคุยกันว่า หรือเราอาจต้องเดินหน้าไปสู่ธุรกิจที่ใหญ่กว่านี้ ตามที่กล่าวเอาไว้ว่า

“เราก็คุยกับเพื่อนว่าถึงคนจีนเขาจะเตะบอลเก่งบ้าง ไม่เก่งบ้าง แต่พอมีการจัดการแข่งขันวนมาทีไร คนดูมักเข้าไปเชียร์กันเต็มสนามตลอด นั่นเป็นช่องทางที่เรามองเห็นว่า คงทำอะไรได้มากกว่าแค่การเปิดอคาเดมี่แล้วล่ะ”
“ก็เลยมีการชักชวนกันว่า ถ้างั้นเรามาลองทำบอลหญิงกันมั้ย? เพราะถ้ากระโดดไปบอลชาย ต้องพูดตามตรงว่างบประมาณของเราคงไปไม่ไหว ยิ่งไปกว่านั้นทีมงานของเรามองว่า ถ้าใช้นักเตะหญิงที่เป็นคนท้องถิ่นจาก ฝอซาน ล้วนๆ คงไปไม่ไหว ดังนั้นจึงต้องออกไปค้นหาทีมที่มีฝีเท้าใช้ได้ พอมีรากฐานปั้นต่อได้ มาเป็นจุดเริ่มต้น”

ปัจจัยสำคัญที่กลุ่มผู้บริหารชุดนี้ ไม่เลือกที่จะใช้เพียงแค่นักเตะท้องถิ่น หรือ สร้างทีมขึ้นมาเองจาก 0 เป็นเพราะว่า ไม่อยากให้กระแสของ ทีมฟุตบอลหญิงอาชีพ ในเมือง ฝอซาน บูมขึ้นมาแล้วดับไป หากไม่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น แล้วการลงทุนธุรกิจใหม่ครั้งนี้ มันเป็นการก้าวไปสู่ระดับที่จริงจังขึ้นอีกหลายเท่าตัว แล้วตัวเลือกที่เสะหามาได้ คือ ทีมที่มีชื่อว่า ‘อินเนอร์ มองโกเลีย’

ก่อนจะมาเป็น ฝอซาน ฮ่าวโป๋

อินเนอร์ มองโกเลีย เป็นจังหวัดหนึ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจังหวัดนี้มีการก่อตั้งทีมฟุตบอลหญิงขึ้นมาทีมหนึ่งตามชื่อจังหวัดในปี 2015 แต่ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ระดับอาชีพ ตัวผู้เล่นทั้งหมดเป็นการใช้เด็กท้องถิ่น

พอมาถึงช่วงปี 2017-2018 อินเนอร์ มองโกเลีย วีเม่น ทีม มีโอกาสได้ไปเก็บตัวที่เมือง ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี กินเวลายาวนานประมาณ 8 เดือน - 1 ปี แล้วก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันในลีกท้องถิ่น ทำผลงานใช้ได้ด้วยการจบในอันดับที่ 6

ช่วงปี 2018 สโมสรนี้ก็มีโอกาสได้แข่งขันลีกระดับจังหวัด แล้วปรากฎว่าจากประสบการณ์ที่ไปเพาะบ่มฝีเท้าในต่างแดน ทำให้คว้าแชมป์รายการนี้ได้ 4 ปี ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2018-2021 ซึ่งทีมกลุ่มผู้บริหารชาวไทย ได้มีการเก็บข้อมูลทีมนี้ไว้ตั้งแต่แรกเริ่มอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้มีการเข้าไปพูดคุยติดต่อตั้งแต่ปี 2019 ด้วยการเสนอตัวเข้าไปเป็นตัวแทนบริหารพาทีมนี้ไปแข่งขันบนเวที กีฬาเยาวชนแห่งชาติ รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี

เมื่อการพูดคุยกันลงตัว ศักยภาพของนักเตะของทีมไปได้ ผลงานที่ออกมาในการร่วมงานกันครั้งแรก จบลงด้วยการคว้าอันดับที่ 3 มาครองได้ เมื่อมองงว่าตัวผู้เล่นชุดนี้นั้นมีแววก็เริ่มมีการพูดคุยกันถึงเรื่องการผลักดันเข้าสู่ลีกอาชีพ อย่างไรก็ตามทางผู้บริหารเดิมของ อินเนอร์ มองโกเลีย ยังคงไม่กล้าตัดสินใจจะก้าวข้ามเส้นดังกล่าว เพราะไม่เคยทำทีมอาชีพมาก่อน

ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงพบกันครึ่งทาง ด้วยข้อเสนอของทางกลุ่มผู้บริหารชาวไทย ที่อยากให้นักเตะชุดนี้ลองไปแข่งขันกีฬาแห่งชาติสองสมัยติดต่อกันในปี 2020 และ 2021 ตอนนั้นเหล่านักเตะก็จะมีอายุราว 18-19 ปี ซึ่งไม่ใช่นักเตะเยาวชนอีกต่อไปแล้ว ถึงวัยที่พร้อมจะก้าวไปสู่เส้นทางนักเตะอาชีพเต็มตัว แล้วผลงานนก็ออกมาดีอีกเพราะจบในอันดับที่สอง

เมื่อผลลัพธ์ทุกอย่างตีตราแล้วว่า ‘อินเนอร์ มองโกเลีย’ คือ สโมสรที่ ‘ใช่’ กลุ่มผู้บริหารจากไทย จึงตัดสินใจเข้าไปเป็นสปอนเซอร์หลัก มีอำนาจในการบริหารงานแบบเต็มตัวในปี 2021 แล้วตัดสินใจที่จะเข้าร่วมลีกอาชีพ แล้วทำการรีแบรนด์มาเป็นสโมสร Foshan Woman FC ย้ายถิ่นฐานมาเป็นเมือง ฝอซาน เนื่องจากมีสนามเหย้าของตัวเองอยู่แล้วเพื่อความสะดวก

ซึ่งการเข้าร่วมลีกอาชีพบอลหญิงในสาธารณรัฐประชาชนจีน นั้นต้องเริ่มต้นจากลีกต่ำสุด คือ ดิวิชั่น สาม แล้วใช่ว่าทุกอย่างจะง่ายเหมือนกับทัวร์นาเมนต์ก่อนๆ ที่เคยผ่านมา เนื่องจากคำว่า ‘สมัครเล่น’ และ ‘อาชีพ’ นั้นมีความต่างกันอยู่มาก ตามที่กล่าวไว้ว่า

“ปีแรก (2021) ทีมของเรายังอยู่ในช่วงปรับตัว ต้องมีการย้ายถิ่นฐานมาซ้อมที่ ฝอซาน และยึดตรงนี้เป็นรังเหย้า ผลงานเลยยังจบอยู่ในดิวิชั่นสามเหมือนเดิมไม่ได้เลื่อนชั้น พอเข้าสู่ปี 2022 พอมีการปรับโครงสร้างหลายๆ อย่างลงตัวมากขึ้น เราก็สามารถขึ้นไปอยู่ในดิวิชั่น สอง ได้”

“พอฤดูกาลล่าสุด (2023) ที่เพิ่งผ่านมา ก็ยังอยู่รอดในลีกสองได้หวุดหวิด เพราะต้องยอมรับตามตรงว่าขึ้นไปไม่ไหว เราจบในอันดับที่ 11 จาก 12 ทีม แต่ทางลีกเขาเอาทีมตกชั้นเพียงแค่ทีมเดียว ปีนี้ 2024 ก็มาตั้งเป้ากันใหม่ หวังว่าจะทำอันดับจบได้ที่ 7 หรือค่อนบนขึ้นไป”

ใช่ว่าความฝันของกลุ่มทุนในประเทศไทยจะจบลงทีมแค่การทำทีม ‘หญิง’ ทีมนี้แค่ทีมเดียว แต่พวกเขายังมองถึงความเป็นไปได้ในการกระโดดเข้าไปทำทีมฟุตบอลชาย ไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ ทีมใน ไทย ลีก บ้านเกิดของพวกเขา

แต่ปัจจัยเดียวที่พวกเขาต้องช่างน้ำหนักให้ดี แล้วไม่สามารถมองข้ามได้ คือ เรื่องของความเสี่ยง เพราะถ้าสังเกตดีๆ การวางรากฐานการทำธุรกิจของพวกเขา ใช้เวลาทำตามแบบแผนที่วางไว้ ซึ่งต้องอดทนรอให้ทุกอย่างออกดอกออกผลงอกเงยเสียก่อน

พวกเขามองว่าถ้าการบริหารจัดการทุกอย่างมันไม่ได้เป็นสิทธิ์ขาด ที่พวกเขาสามารถทำตามแนวทางที่วางไว้ได้ 100% ตามแผน ถ้ากระโจนเข้าไปวงการบอลชายตอนนี้ ไม่ต่างกับการ ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’ เสียเงินลงทุนไปโดยเปล่าประโยชน์ พร้อมกับทิ้งท้ายสั้นๆ เอาไว้ว่า ‘ไม่ใช่ว่าพวกเราไม่เคยลองกับทีมในประเทศไทย แต่เคยแล้วเจ็บกลับมาแบบไม่คุ้มกัน’

การส่งออกและนำเข้านักเตะไทย

เมื่อถามถึงการนำเข้าและส่งออกนักเตะจาก ไทย ไปเล่นใน จีน หรือสลับขั้วนักเตะจาก จีน มาเล่นในเวที ไทย วีเม่นส์ ลีก คำตอบที่ได้กลับมานั้นชัดเจนเลยว่าหลังจากนี้นั้นมีอีกแน่ๆ เพียงแต่ต้องจัดการเงื่อนไขทุกอย่างให้ลงตัวทั้งสองฝ่าย

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า การฟรีวีซ่า ระหว่างประเทศไทย กับ สาธารณรัฐประชาชนจีน อาจมีส่วนช่วยเหลือหรือผลักดันวงการกีฬาหรือสามารถไปประกอบอาชีพในต่างแดนได้ง่ายๆ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น เพราะสุดท้ายแล้วต้องมี ใบอนุญาตการทำงาน รวมไปถึงต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ของ ซีเอฟเอ หรือ สมาคมฟุตบอลสาธารณรัฐประชาชนจีนเสียก่อน

การล่มสลายของสโมสรฟุตบอลใหญ่ๆ ในจีน เริ่มต้นมาจากการเอาจริงเอาจังของรัฐบาล รวมไปถึง ซีเอฟเอ ที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างเข้มงวด รวมไปถึงการตั้งเพดานค่าเหนื่อยค่าใช้จ่าย ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจฟุตบอล ไม่ได้โอเวอร์เหมือนในยุคที่มีการดึงสตาร์ เกรด เอ จากลีกยุโรปอย่าง ฮัล์ค หรือ ออสการ์ มาเป็นตัวชูโรงประจำลีก

โดยปัจจัยสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับทีมผู้บริหารชาวไทยอย่างเดียวที่ผลักดันได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพฝีเท้าของนักเตะและภาพรวมเรื่องอื่นๆ ด้วย ตามที่ให้ข้อมูลไว้ว่า

“อย่างเคสของ มิ้นท์ ถือว่าเป็นการไปเปิดตลาดให้กับนักเตะไทย ถ้าผลงานของคนแรกนั้นสตาร์ทออกมาได้ดี ภาพที่แฟนบอลที่โน่นมองก็จะเป็นไปในทิศทางบวก สามารถกรุยทางให้รุ่นน้องคนต่อๆ ไปที่ต้องการย้ายมาเล่นที่นี้ได้”

“เรื่องการส่งนักเตะจากที่นี่ไปยังประเทศไทยก็มีการไต่ตรองกันอยู่ เพราะเราต้องการให้หลายๆ ทีมในประเทศไทยนั้นเอาจริงเอาจังกับการทำทีมหญิง ถ้าวัดกันที่ศักยภาพนักเตะหญิงจีนกับนักเตะบ้านเรา เขายังเป็นต่ออยู่พอสมควร ถ้าผู้บริหารกล้าลงทุนติดต่อมาดึงนักเตะจากจีนไป โอกาสที่ลีกหญิงของเราจะพัฒนาขึ้นจากเดิมก็เป็นไปได้สูง”

แม้ว่าตอนนี้กระแสฟุตบอลฟีเวอร์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนจะไม่ได้บูมเหมือนยุคทอง แต่การปลูกฝังประชาชนในประเทศให้รักบ้านเกิด รักในวัฒนธรรม พร้อมสนับสนุนคนในชาติ ยังคงทำให้ลีกฟุตบอลที่นั่นยังเดินต่อไปได้ อย่างน้อยเกมหนึ่งต้องมีคนเข้าชมหลักพันคนขึ้นไป ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขามีสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมกว่าหลายประเทศในทวีปเดียวกัน

วันใดวันหนึ่งหากเหล่าเศรษฐีในจีน พร้อมใจกันหันมาลงทุนทำทีมฟุตบอลแบบจริงจังอีกครั้ง ด้วยเม็ดเงินอัดฉีดที่พกมาแบบเต็มกระเป๋า เผลอในระยะเวลาเพียงแค่ไม่เกิน 5 ปี โอกาสที่พวกเขาจะกลับไปสู่ยุคทองของเกมลูกหนังอีกครั้งคงไม่ใช่เรื่องยาก

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การสัมภาษณ์ส่วนตัว

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ