ส.บอลไทย ชี้แจงข้อสงสัย ใช้เงินกับทีมชาติไทย U17 102 ล้านบาท

ส.บอลไทย ชี้แจงข้อสงสัย ใช้เงินกับทีมชาติไทย U17 102 ล้านบาท
วิสูตร ดำหริ

มิตติ ติยะไพรัช ประธานที่ปรึกษา ลีโอ เชียงราย ยูไนเด็ด ออกมาทิ้งระเบิดลูกใหญ่ ด้วยการตั้งข้อสงสัยถึงสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่ใช้งบประมาณทำทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี สูงถึง 102 ล้านบาท ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนไม่กี่กลุ่ม ในขณะที่สโมสรไทยลีกยังได้รับเงินสนับสนุนไม่ครบ

ล่าสุด ส.บอลไทย ได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้แล้ว โดยได้แบ่งประเด็นเป็น 3 หัวข้อดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องการประมาณการงบประมาณของสมาคมที่คาดว่าต้องใช้

ในแต่ละปี สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะต้องมีการประมาณการงบประมาณที่คาดว่าจะได้ทั้งรายรับ และรายจ่าย ซึ่งมีการเทียบเคียงและอ้างอิงจากรายได้ในปีก่อน บวกกับแผนงานกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในปีต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับและใช้จ่ายเพิ่มขึ้นภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลในทุกๆ ระดับ ได้กลับมาแข่งขันได้ตามปกติแล้ว

ซึ่งที่มาของรายรับและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของประมาณ ในปี 2566 มีนัยสำคัญจากการที่สมาคมฯ ได้ทำสัญญากับสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี รอบสุดท้าย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนที่ต้องนำมาใช้จ่ายในการรับรองทีมที่จะเข้ามาแข่งขันรวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งหมด โรงแรม ที่พัก อาหาร รถรับส่ง สนามซ้อม สนามแข่ง การรักษาความปลอดภัย การแพทย์ การจัดการแข่งขัน ฯลฯ สำหรับการแข่งขันที่มี 16 ทีม เข้าร่วม และใช้ 4 สนามแข่งขัน กับ 10 สนามซ้อม

รวมถึง กลุ่มรายรับได้จากการสนับสนุนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ จำเป็นต้องนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ เท่านั้น ได้แก่ งบประมาณด้านสาธารณูปโภค ซึ่งการบริหารงานของสมาคมฯ ที่มีระเบียบการใช้ในหมวดหมู่ต่างๆ ที่จะต้องถูกตรวจสอบว่าได้นำไปใช้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่มอบให้หรือไม่และไม่สามารถนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้

ดังนั้น การที่ประมาณการรายรับที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นไปตามภารกิจที่เพิ่มขึ้น และที่ต้องนำไปใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ และหากในปีต่อไป สมาคมฯ ไม่ได้จัดแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติในฐานะเจ้าภาพ การประมาณการก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและลดลงตามลำดับ โดยประมาณการดังกล่าวนี้ และงบการเงินสโมสรสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงได้อนุมัติรับรองในที่ประชุมใหญ่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566

ประเด็นที่ 2 เรื่องเงินสนับสนุนการแข่งขันของ ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ชาย

สำหรับเงินในหมวดนี้ จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ

2.1 ส่วนแรกเป็นเงินที่ได้รับการสนับสนุนมาจากเอเอฟซี ประมาณ 90 เปอร์เซนต์ เนื่องจาก ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ จัดแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี รอบสุดท้าย จะมี 16 ชาติเข้าร่วมแข่งขัน และใช้ 4 สนาม ได้แก่ ราชมังคลากีฬาสถาน, ธรรมศาสตร์ สเตเดียม, ปทุมธานี สเตเดียม และ ชลบุรี สเตเดียม ในการจัดแข่งขัน ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2023 จึงได้รับเงินสนับสนุนจากเอเอฟซี จึงทำเป็นต้องใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของเอเอฟซีเท่านั้น เพื่อดำเนินการจัดการแข่งขันทั้งหมด เงินในส่วนนี้จึงถูกนำมารวมอยู่ในหมวดของ ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ในประมาณการรายจ่ายของปี 2566

2.1 ส่วนที่สอง ทีมชาติไทยชุดนี้ มี พิภพ อ่อนโม้ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน ได้ดำเนินการเตรียมทีม เก็บตัวและอุ่นเครื่อง เพื่อให้ทีมชาติไทยมีความพร้อมมากที่สุดก่อนเข้าสู่รายการแข่งขัน มีการเดินทางไปเก็บตัวที่ประเทศญี่ปุ่น และแคมป์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี รอบสุดท้าย ทีมชาติไทย อยู่กลุ่ม A ร่วมกับ เยเมน,มาเลเซีย และ สปป.ลาว

ทั้งนี้ ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี รอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2023 และใช้ 4 สนาม ได้แก่ ราชมังคลากีฬาสถาน, ธรรมศาสตร์ สเตเดียม, ปทุมธานี สเตเดียม และ ชลบุรี สเตเดียม

สำหรับ รายการดังกล่าว สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดการแข่งขันให้กับ 16 ทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน, ผู้ตัดสิน และเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันเอเอฟซี ตามระเบียบและเงื่อนไขของการจัดการแข่งขัน

กลุ่ม A - ไทย (เจ้าภาพ) ,เยเมน,มาเลเซีย, สปป.ลาว

กลุ่ม B - เกาหลีใต้,อิหร่าน,อัฟกานิสถาน,กาตาร์

กลุ่ม C - ทาจิกิสถาน,ออสเตรเลีย,ซาอุดีอาระเบีย,จีน

กลุ่ม D - ญี่ปุ่น,อินเดีย,เวียดนาม,อุซเบกิสถาน

โดยรายการนี้จะหา 4 ชาติที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศเป็นตัวแทนทวีปเอเชีย ไปแข่งขันฟุตบอลเยาวชนโลก U17 (โดยจะมีการหาเจ้าภาพอีกครั้ง)

ประเด็นที่ 3 เงินค่าบริหารสิทธิประโยชน์ที่คาดการณ์ว่าจะใช้จ่ายในปี 2566

ผู้บริหารสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาคมฯ นั้น มีหน้าที่ดำเนินการเจรจา นำเสนอรูปแบบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาสนับสนุน และติดตาม ประสานงานดูแล เพื่อให้แน่ใจว่าสมาคมฯ ได้ตอบแทนสิทธิประโยชน์กลับไปให้ผู้สนับสนุนครบถ้วน และสามารถรับงบประมาณการสนับสนุนตามข้อตกลง

โดยค่าใช้จ่ายในการบริหารสิทธินั้น เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ที่ได้ตกลงกัน เช่น ค่าการบริหารจัดการด้านการตลาด ค่าบริหารการจัดแข่งขันและสนามแข่งขัน ค่าดูแลความปลอดภัยต่างๆ ในระหว่างแข่งขัน การจัดกิจกรรมสอนฟุตบอล งานแถลงข่าว พื้นที่แสดงป้ายกิจกรรม การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของสมาคมฯ เช่นกัน

ส่วนประเด็นที่ปรากฏข่าวบนสื่อออนไลน์เกี่ยวกับเงินสนับสนุนสโมสร สมาคมฯ ขอเรียนว่า ตั้งแต่ช่วงโรคระบาดโควิด 19 เมื่อ 3 ปีก่อน ส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าโฆษณาในการสนับสนุนการแข่งขันแต่ละระดับลีกลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อทั้งรายจ่ายที่เกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์ของการแข่งขันระดับลีก และการบริหารงานองค์รวมของสมาคมฯ อย่างมีสาระสำคัญ

ประกอบกับ ในสภาวการณ์ปัจจุบันนี้ที่งบประมาณมีจำกัดนี้ สมาคมฯ เข้าใจดีว่าทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ สมาคมฯ ได้มีการปรับลดประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งในด้านบุคลากร และออกมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดที่จะทำได้ โดยที่จะต้องไม่กระทบต่อการเข้าร่วมการแข่งขันของฟุตบอลทีมชาติไทย ฟุตซอล ฟุตบอลชายหาด ทุกชุด และการจัดแข่งขันฟุตบอลลีกภายในประเทศให้สำเร็จลุล่วง

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ในการขับเคลื่อนฟุตบอลไทย ทุกๆ ภาคส่วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นสโมสรสมาชิก ผู้สนับสนุน ผู้บริหารสิทธิ์ บุคลากรฟุตบอล ตลอดจนคนทำงาน ทุกๆ คน และควรได้รับการกล่าวถึงอย่างเป็นธรรม

ในการนี้ สมาคมฯ ต้องขอขอบคุณสโมสรสมาชิกที่คอยตรวจสอบการทำงาน แนะนำ ติชม โดยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นจากสโมสรสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ฟุตบอลไทยมีการพัฒนาอยู่เสมอ ในทุกองค์ประกอบ

แชร์บทความนี้
ฟุตบอล, อนิเมะ, กาแฟ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ