สะอาด = ศาสนา : ค้นอดีตหาคำตอบ ทำไมแฟนญี่ปุ่นต้องเก็บขยะหลังจบเกม ?

สะอาด = ศาสนา : ค้นอดีตหาคำตอบ ทำไมแฟนญี่ปุ่นต้องเก็บขยะหลังจบเกม ?
มฤคย์ ตันนิยม

ทีมชาติหญิงญี่ปุ่นได้รับคำชื่นชมจากแฟนบอลทั่วโลก หลังพวกเธอเก็บห้องแต่งตัวชนิดสะอาดเอี่ยม หลังจบเกมเปิดสนามฟุตบอลโลกหญิง 2023 เช่นเดียวกับแฟนบอลที่ช่วยกันเก็บขยะก่อนออกจากสนาม

นี่เป็นอีกครั้งที่ทีมซามูไรบลูแสดงให้เห็นถึงความมีวินัยของพวกเขา หลังก่อนหน้านี้ทีมชายก็ได้รับเสียงสรรเสริญในฟุตบอลโลก 2018 และ 2022 มาแล้ว

เพราะเหตุใดคนญี่ปุ่นถึงรักความสะอาดขนาดนี้? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ “Think Curve - คิดไซด์โค้ง เขียนให้อ่าน”

วินัยฝังรากลึก


เป็นธรรมดาที่หลังการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอย่างฟุตบอลโลก ที่หลังเกมต้องมักจะเต็มไปด้วยขยะที่เกลื่อนกลาด ทั้งแก้วน้ำ พลาสติกห่ออาหาร หรือแม้กระทั่งเศษอาหาร จากแฟนบอลนับหมื่นในสนาม

ทว่า ขณะที่แฟนบอลส่วนใหญ่ ลุกออกจากที่นั่งเพื่อตรงไปยังทางออก กลุ่มแฟน “ซามูไรบลู” ทีมชาติญี่ปุ่น จะหยิบถุงพลาสติกสีฟ้าที่พวกเขาพกมาด้วย แล้วใช้เวลาเป็นชั่วโมงไล่เก็บขยะที่หลงเหลืออยู่บนอัฒจันทร์ แม้ว่ามันจะไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขาก็ตาม

นี่เป็นธรรมเนียมที่แฟนบอลญี่ปุ่นทำมาตลอด ทั้งในฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล, ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย และครั้งนี้ ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ รวมถึงการแข่งขันกีฬาในประเทศ ทั้งฟุตบอลและเบสบอล ไม่ว่าทีมจะชนะหรือแพ้ก็ตาม

Photo : AFP

“นี่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฟุตบอล แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น” สก็อต แม็คอินไตร์ นักข่าวของ The Guardian ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นอธิบาย

“คุณมักจะได้ยินว่าฟุตบอลเป็นกระจกสะท้อนวัฒนธรรม ด้านหนึ่งที่สำคัญของสังคมญี่ปุ่นคือการดูแลทุกอย่างให้สะอาดอย่างหมดจด และเกิดขึ้นในทุกการแข่งขันกีฬา แน่นอนว่าฟุตบอลก็เช่นกัน”

ที่ญี่ปุ่น พวกเขาจะถูกปลูกฝังให้รักความสะอาดตั้งแต่เด็ก พวกเขาถูกสอนให้รับผิดชอบพื้นที่ของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้โรงเรียนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมักไม่มีภารโรง เพราะนักเรียนมีหน้าที่ต้องทำความสะอาดด้วยตัวเอง ทั้งในห้องเรียน ห้องน้ำ หรือระเบียงทางเดิน

“ที่ญี่ปุ่น คุณจะต้องเอาขยะกลับบ้าน เพราะมันไม่มีถังขยะอยู่บนถนน” บาร์บารา โฮลธัส รองผู้อำนวยการสถาบันภาษาเยอรมัน เพื่อญี่ปุ่นศึกษา อธิบายกับ Japan Today

“คุณต้องทำความสะอาดห้องเรียน คุณจะได้เรียนรู้ว่าคุณต้องรับผิดชอบความสะอาดของที่ของคุณตั้งแต่เด็ก”

Photo : AFP

และไม่ใช่แค่บนอัฒจันทร์ เพราะในห้องแต่งตัวของทีมชาติญี่ปุ่น ก็ล้วนสะอาดเอี่ยมอ่องเสมอ ซึ่งพวกเขาก็ได้รับคำชื่นชมมาตั้งแต่สมัยฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย ทว่า พวกเขาก็ไม่ได้มองว่ามันพิเศษ

“สำหรับชาวญี่ปุ่น นี่เป็นเรื่องปกติที่ทำกัน” ฮาจิเมะ โมริยาสุ กุนซือทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลก 2022 กล่าว

“เมื่อคุณออกมาจากที่ใด คุณต้องทำให้ที่ที่คุณออกมาสะอาดกว่าก่อนคุณมา นั่นเป็นการศึกษาที่เราได้รับการสอนมา มันเป็นพื้นฐานของวัฒธรรมที่เรามี สำหรับเรา มันไม่มีอะไรพิเศษ”

Photo : FIFA.com

ทั้งนี้ พวกเขาเริ่มรักความสะอาดมาตั้งแต่เมื่อไร

ความสะอาด = ศาสนา


ชาวญี่ปุ่น ถือเป็นชาติที่รักความสะอาดมาก และมันก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ เมื่อสิ่งนี้ถูกพูดถึงในบันทึกของชาวต่างชาติมาตั้งแต่สมัยอาซึจิ-โมโมยามะ (ค.ศ.1573-1603)

ในหนังสือ Samurai William ซึ่งเป็นชีวประวัติของ วิลเลียม อดัมส์ ชาวอังกฤษคนแรกที่เหยียบแผ่นดินญี่ปุ่นในปี 1600 ซึ่งเขียนโดย กิลล์ มิลตัน มีการบรรยายถึงความสะอาดของชาวญี่ปุ่นในยุคนั้น

“เหล่าขุนนางเคร่งครัดในความสะอาด พวกเขามีท่อระบายน้ำและส้วมแบบดั้งเดิม ห้องอบไอน้ำเต็มไปด้วยไม้หอม ขณะที่ถนนในอังกฤษเต็มไปด้วยอุจจาระ” ข้อความในหนังสือระบุ

“ชาวญี่ปุ่นตกใจที่ชาวยุโรปไม่สนใจความสะอาดส่วนบุคคล”

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำเป็นต้องรักความสะอาดคือ สภาพอากาศที่ร้อนชื้นในช่วงหน้าร้อน ที่ทำให้อาหารเสียเร็ว และแบคทีเรียและแบคทีเรียเติบโตได้ดี ดังนั้นพวกเขาจึงต้องรักษาสุขอนามัย เพื่อสุขภาพที่ดี

Photo: japaninnorwich.org

อย่างไรก็ดี หากมองลึกลงไปจะพบว่า อันที่จริงความสะอาดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธ ที่เข้ามาญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 และ 8 และถูกย้ำเตือนในนิกายเซ็น ที่เข้ามาญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 12 และ 13 ที่มองว่าการทำความสะอาดและการทำอาหาร คือการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ไม่ต่างจากการนั่งสมาธิ

“ในวิถีเซ็น กิจวัตรประจำวันทุกอย่าง รวมถึงการทำอาหารและทำความสะอาดพื้นที่นั้นถือเป็นโอกาสในการปฏิบัติธรรมของพุทธ การชำระล้างสิ่งสกปรกทั้งร่างกายและจิตใจมีบทบาทสำคัญในวัตรปฏิบัติประจำวัน” เอริโกะ คาวาซากิ จากวัดชินโชจิ ในจังหวัดฮิโรชิมา กล่าวกับ BBC

อย่างไรก็ดี มันก็ยังมีคำถามว่า เพราะเหตุใด ประเทศที่นับถือศาสนาพุทธทุกประเทศ จึงไม่รักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัดเหมือนญี่ปุ่น? และคำตอบก็คือ “ชินโต” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเขา

ก่อนที่ศาสนาพุทธ จะมาถึง ญี่ปุ่นมีชินโต (หมายถึงวิถีแห่งเทพเจ้า) เป็นศาสนาดั้งเดิมของพวกเขา ศาสนานี้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ความสะอาด มันเทียบเท่ากับความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นการเน้นย้ำเรื่องความสะอาดของศาสนาพุทธ จึงช่วยส่งเสริมในสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นปฏิบัติอยู่แล้ว

Photo : AFP

นอกจากนี้พวกเขายังมีความคิดที่ว่าในโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า Kegare (สิ่งสกปรกหรือสิ่งเจือปน) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับความบริสุทธิ์ ยกตัวอย่างเช่นความตายหรือโรคภัยไข้เจ็บ จึงต้องมีพิธีชำระล้างอยู่เสมอเพื่อปัดเป่าสิ่งนี้

“ถ้าคนใดได้รับความเดือดร้อนจากเคงาเระ มันอาจจะสร้างความเสียหายต่อสังคมโดยรวมได้” โนริอากิ อิเคดะ นักบวชชินโต ที่มีตำแหน่งผู้ช่วยประจำศาลเจ้าคันดะ ในจังหวัดฮิโรชิมากล่าวกับ BBC

“ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องรักษาความสะอาด สิ่งนี้จะทำให้คุณบริสุทธิ์ และหลีกเลี่ยงการนำหายนะมาสู่สังคม นั่นคือเหตุผลว่าทำไมญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่สะอาด”

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน ที่จะเต็มใจรักษาความสะอาด

เพื่อความเรียบร้อยของสังคม


อันที่จริง ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชาวญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาตลอด และหนึ่งในบุคลากรชื่อดังแห่งวงการที่เคยสัมผัสเรื่องนี้โดยตรงก็คือ อัลแบร์โต ซัคเคโรนี ยอดกุนซือชาวอิตาลี

อิลซัค ที่เคยเข้ามารับหน้าที่หัวเรือใหญ่ของซามูไรบลูในช่วงปี 2010-2014 บอกว่าเขารู้สึกทึ่งในความเป็นระเบียบเรียบร้อยของนักเตะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนไม่ว่าจะที่ไหนบนโลก

Photo : AFP

“ทุกที่ในโลก ผู้เล่นจะถอดเสื้อแล้วโยนกองไว้บนพื้นในห้องแต่งตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดจะมาเก็บไป” อดีตกุนซือของ เอซี มิลาน, ลาซิโอ, อินเตอร์ มิลาน และยูเวนตุส กล่าว

“แต่ไม่ใช่กับนักเตะญี่ปุ่น พวกเขาจะเอากางเกงมาวางซ้อนกับของคนอื่น เช่นกันกับถุงเท้าและเสื้อแข่งทั้งหมด”

และสิ่งนี้ไม่ได้มาจากการสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนรักษาความสะอาดเท่านั้น แต่ล้วนประกอบจากกฏระระเบียบที่เคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องขยะ

ทั้งการแยกขยะเป็นแบบเผาได้และเผาไม่ได้, การทำความสะอาดขวดพลาสติกหรือกระป๋องก่อนทิ้ง ไปจนถึงการทิ้งขยะในชุมชนที่อาศัยอยู่ให้ตรงตามวัน

Photo : Nakano City Waste Management Office

แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าทุกคนที่เต็มใจทำตามกฎระเบียบอันเคร่งครัด เพราะหลายคนก็ยอมรับว่าพวกเขารู้สึกยุ่งยาก และบางครั้งก็อึดอัด แต่ต้องทำตามเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม

เพราะแม้ว่าญี่ปุ่น จะเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากถึง 377,915 ตารางกิโลเมตร (ประมาณภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยรวมกัน) แต่พวกเขากลับมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ และมีพื้นที่อยู่อาศัยเพียงแค่ 8.4 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 18,100 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น (น้อยกว่ากาญจนบุรีเล็กน้อย)

และเมื่อเทียบกับประชากรของพวกเขา ที่มากถึง 130 ล้านคน ทำให้ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีอัตราความหนาแน่นของประชากรในลำดับท็อป 30 ของโลก และการที่จะทำให้ประเทศเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้คนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

Photo : 1ZOOM.ME

“บางครั้งฉันก็ไม่อยากทำความสะอาดที่โรงเรียน แต่ฉันยอมรับมัน เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ของเรา” จิกะ ฮายาชิ ล่ามอิสระกล่าวกับ BBC

“ฉันคิดว่าการต้องทำความสะอาดที่โรงเรียนเป็นสิ่งที่ดีเพราะเราได้เรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญคือการต้องรับผิดชอบทำความสะอาดสิ่งของและสถานที่ที่เราใช้”

และมันก็ทำให้ทั่วโลกได้เห็นสิ่งนี้ในฟุตบอลโลก 2022

ความภาคภูมิใจของชาวซามูไร


“ความสะอาดและความเป็นระเบียบเป็นเหมือนศาสนาของเราในญี่ปุ่น และเราก็ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้” เซซึกะ แฟนบอลชาวญี่ปุ่นกล่าวกับ Al Jazeera หลังเกมกับเยอรมัน

เธอเป็นหนึ่งในแกนหลักของแฟนบอลญี่ปุ่นที่คอยเก็บขยะหลังเกม โดยในเป้ของเธอเต็มไปด้วยถุงขยะที่ยังไม่ใช่ ที่จะหยิบมาแจกจ่ายแฟนบอลที่ต้องการ หลังสิ้นเสียงนกหวีด

Photo : AFP

อย่างไรก็ดี คนญี่ปุ่นเองก็ยอมรับว่าสิ่งที่โลกได้เห็น ทั้งการเก็บขยะ และการเก็บห้องแต่งตัวให้เรียบร้อยของนักฟุตบอล ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความหน้าบางของชาวญี่ปุ่น และแคร์สายตาคนอื่น

ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมแบบรวมกลุ่ม ที่นอกจากต้องทำตามสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำแล้ว พวกเขายังต้องระมัดระวังไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และนึกถึงคนอื่นเสมอ

“พวกเราชาวญี่ปุ่นค่อนข้างละเอียดอ่อนมากเกี่ยวกับชื่อเสียงในสายตาคนอื่น” ไมโกะ อาวาเนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการรัฐบาลเมืองฮิโรชิมา กล่าวกับ BBC

“เราไม่อยากให้คนอื่นคิดว่า เราเป็นคนไม่ดี ที่ไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ หรือไม่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับการทำความสะอาดสิ่งของ”

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลก นอกจากจะเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นทำเป็นปกติแล้ว มันยังเป็นการทำให้โลกได้เห็นว่านี่คือวิถีที่พวกเขาภาคภูมิใจ

Photo : AFP 

“นอกจากความตระหนักที่เพิ่มขึ้นของความจำเป็นในการทำเก็บกวาดและนำกลับมาใช้ใหม่แล้ว การทำความสะอาดในการแข่งขันอย่างฟุตบอลโลก เป็นวิธีที่แฟนบอลญี่ปุ่นใช้แสดงความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตของพวกเขา และแชร์ให้โลกได้เห็น” สก็อต นอร์ธ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า อธิบาย

“จะมีที่ใดที่ดีกว่านี้ ในการพูดถึงความจำเป็นในการดูแลโลกใบนี้ด้วยความรับผิดชอบไปมากกว่าฟุตบอลโลกอีกหรือ?”

เพราะสำหรับบางคน เป้าหมายของพวกเขาไม่ได้แค่การเก็บขยะ แต่คือการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างในสิ่งที่พวกเขาคิดว่าดี และตอนนี้ก็มีแฟนบอลจากชาติอื่น ทั้งโมร็อคโค และซาอุดิอาระเบียที่เริ่มความสะอาดหลังเกมเช่นกัน

“เราเชื่อว่าเราสามารถทำให้สิ่งนี้แพร่หลายได้” โทโมมิ แฟนบอลจากโตเกียว ที่เป็นแอร์โฮสเตสอยู่ที่โดฮา กล่าวกับ New York Times

“เราไม่จำเป็นต้องมาบังคับให้ใครทำความสะอาด แต่ถ้าเราเป็นคนเริ่ม บางทีเราอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการแสดงความเคารพได้”

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด มันก็ล้วนเชื่อมโยงกับแนวคิดของการเคารพผู้อื่นของชาวญี่ปุ่น ที่ทำให้พวกเขาได้รับคำชื่นชมอยู่เสมอ และเป็นแฟนบอลที่น่ารักเสมอ ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาอย่างไร

Photo : AFP

“ในภาษาญี่ปุ่นมันมีคำว่า ‘ทัตสึ โทริ อาโตะ โวะ นิโงซาซึ’ แปลตามตัวอักษรว่านกที่กำลังบินจะไม่ทำให้เส้นทางเป็นโคลน” ดร.มาซาฟูมิ มอนเดน อาจารย์ด้านญี่ปุ่นศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียกล่าวกับ SBS

“สิ่งนี้มีความหมายว่าเมื่อคุณออกมาจากที่ใด อย่าปล่อยให้มันรก อย่างน้อยก็ให้มันสะอาดเท่ากับตอนที่คุณมา”

“แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ปฏิบัติตามแม้กระทั่งในญี่ปุ่น แต่แนวคิดนี้ฝังอยู่ในหัวและวิธีปฏิบัติของเรา เพื่อแสดงความเคารพและเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราใช้”

แหล่งอ้างอิง

https://www.bbc.com/news/world-asia-44492611

https://www.bbc.com/sport/football/63735823

https://www.aljazeera.com/sports/2022/11/24/japanese-fans-win-praise-for-stadium-cleaning-at-world-cup-2022

https://www.sbs.com.au/news/article/why-japanese-fans-are-voluntarily-cleaning-stadiums-at-the-2022-fifa-world-cup/umdabhotc

https://www.bbc.com/travel/article/20191006-what-japan-can-teach-us-about-cleanliness

https://japantoday.com/category/fifa-world-cup-2022/Win-or-lose-Japanese-fans-tidy-up-at-World-Cup

https://www.nytimes.com/2022/11/27/sports/soccer/japan-fans-clean-up-world-cup.html

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ