สัมผัสน้อย เคลื่อนที่เยอะ : ทำไม ธีรศักดิ์ มักอยู่ถูกที่ถูกเวลาเหมือนเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า ?
ลงเล่นไทยลีก 14 นัด ยิงไป 11 ประตู ทุกประตูเกิดขึ้นจากการถูกส่งลงมาเป็นตัวสำรอง โดยมีเวลาสนามทั้งหมดเพียง 353 นาที ... เฉลี่ยแล้วเขาจะยิงได้ทุก 1 ประตูในทุก ๆ 33 นาที
นี่คือสถิติสุดโหดของ ธีรศักดิ์ เผยพิมาย ซูเปอร์ซับของการท่าเรือเอฟซี ที่เพิ่งยิงแฮตทริกให้ท่าเรือเปิดบ้านชนะเมืองทองไป 4-3 แบบสุดมันระดับ 5 ดาว
จังหวะยิงแต่ละนัด การพุ่งเข้าหาบอลแต่ละลูกทำไมจึงดูง่ายดายไปเสียหมด ... นี่คือเบื้องหลังการหาพื้นที่แบบแตกต่างจากคนอื่น ๆ ที่ทำให้เขา "ลงเป็นยิง" ในเวลานี้
ทักษะการคาดการณ์ล่วงหน้า
สิ่งแรกที่สำคัญคือทักษะการจบสกอร์ การเคลื่อนที่ และการคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า นี่คือคุณสมบัติที่กองหน้าตัวเป้า หรือที่เรียกกันว่าตำแหน่งหมายเลข 9 ต้องมี ... คุณจะวิ่งช้า เลี้ยงบอลไม่เก่ง หรืออะไรก็ช่าง แต่ถ้าคุณยิงประตูได้ นั่นคือคุณจบงานของคุณได้อย่างยอดเยี่ยม
ตัวของ ธีรศักดิ์ มีสิ่งที่เรียกว่าสัญชาติญาณกองหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่พิเศษมากจริง ๆ ... คุณสามารถสอนให้เด็กวางเท้ายิงได้ แต่คุณสอนให้เขามีสัญชาติญาณกองหน้าเคลื่อนที่ไปตรงจังหวะที่บอลจะไปถึงไม่ได้ เพราะนี่คือพรสวรรค์ติดตัว เป็นทีเด็ดประจำตัวของเขาเลยก็ว่าได้
“ก็น่าจะเป็นเรื่องของการวิ่งหาช่อง การเคลื่อนที่เข้าไปพื้นที่อันตราย เพื่อหาจังหวะยิงประตูในกรอบ 18 หลา ประมาณนี้ครับ” ธีรศักดิ์ อธิบายจุดเด่นของตัวเองในการสัมภาษณ์กับ คิดไซด์โค้ง เมื่อปี 2566
เขาไม่ได้โกหกแน่นอน ถ้าคุณดู 3 ประตูที่เขายิงเมืองทอง ได้ ล้วนเป็นลูกยิงที่ง่าย ๆ แปะบอลจังหวะเดียวส่งเข้าประตูทั้งนั้น แต่ถ้ามองให้ลึกคุณจะพบว่าการที่เขาสลัดตัวประกบที่ยืนเต็มกรอบเขตโทษให้ตัวเองมีพื้นที่โล่ง ๆ ได้ยิงแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน
ดาวยิงระดับแถวหน้าที่เป็นสายจบสกอร์ของโลกก็เป็นแบบนี้ ฟิลิปโป้ อินซากี้, ฮาเวียร์ ชิชาริโต้ เอร์นันเดซ, โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ พวกนี้มีสัญชาติญาณกองหน้าเด่นกว่าความสามารถอื่น ๆ ในตัวเอง เรื่องนี้มันค่อนข้างอธิบายยากว่ามันเกิดจากอะไร และพวกเขารู้ได้ยังไงว่าบอลจะมาตรงนั้น แต่ที่แน่ ๆ นักเตะเหล่านี้หรือแม้แต่ ธีรศักดิ์ เองมีเหมือนนั่นคือการนั่งมองเกมระหว่างเป็นตัวสำรอง อ่านพื้นที่รอตั้งแต่ยังไมได้ลงสนามแล้ว ดังนั้นเมื่อเขาถูกส่งลงมา เขาจึงรู้วิธีเล่นของกองหลังคู่แข่ง การเปิดบอลของเพื่อน ดังนั้นการคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าจึงแม่นยำขึ้น
เรื่องนี้ ธนา ชะนะบุตร อดีตดาวยิงทีมชาติไทยที่เคยเป็นโค้ชของ ธีรศักดิ์ อธิบาย สิ่งที่เขาพบเจอกับ ธีรศักดิ์ ตั้งแต่ยังเป็นดาวรุ่งว่า
"สำหรับ ธีรศักดิ์ เท่าที่ผมเห็นชัด ๆ เลยคือเขาเป็นกองหน้าตัวจบสกอร์แท้ ๆ เลย เขามีสัญชาติที่ดีกว่า พรสวรรค์ของเขาอยู่ที่การอ่านจังหวะการยิงในพื้นที่สุดท้ายเลย เหมือนเขารู้ยืนตรงไหนจะมีโอกาสได้ยิง ตรงไหนได้สัมผัสบอล เป็นอีกคนที่ดูแล้วเป็นกองหน้าที่ครบเครื่องมาก"
"ถ้าจะให้เทียบแบบเห็นภาพ ผมลองเทียบกับตัวเองตอนอายุ 17 ปีก็ได้ ... ตอนนั้นผมยังเล่นบอลง้อง ๆ แง้ง ๆ ในระดับตัวโรงเรียนอยู่เลย ลองมองทั้ง 2 คนนี้ (ธีรศักดิ์ และ ยศกร บูรพา) อายุไม่ได้หนีกันเลย แต่เขาไปถึงไหนแล้ว เรียกได้ว่าเป็นอีกระดับเลยก็ว่าได้"
นอกจากกนี้ ธีรศักดิ์ ยังเพิ่งถูกส่งไปซ้อมกับ เลสเตอร์ ซิตี้ เป็นเวลา 5 สัปดาห์มาด้วย ดังนั้นเรื่องเหลี่ยมฟุตบอล และการเคลื่อนที่ในการจบสกอร์จึงมีโอกาสจะถูกอัพเลเวลขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย เหมือนตัวอย่างแบบที่ ศุภณัฎฐ์ เหมือนตา และ ศุภชัย ใจเด็ด ที่ได้โอกาสไปซ้อมกับ เลสเตอร์ และกลับมาด้วยระดับการเล่นที่แตกต่างจากนักเตะไทยลีกขึ้นมาทันที
สรุปแล้วคือมีพรสวรรค์เป็นทุนเดิม มีพรแสวงในการสอดส่องเกมและคู่แข่ง และท้ายที่สุดคือมีโอกาสได้พัฒนาตัวเองต่อเนื่อง... นี่คือพื้นฐ่านที่ทำให้เขาไปถึงลูกบอลก่อนใคร แม้จะยิงเข้าไปด้วยท่าทางง่าย ๆ แต่การเคลื่อนที่ไปตรงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน
ลงในช่วงเวลาทีเหมาะสม
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น 11 ประตูของ ธีรศักดิ์ เกิดขึ้นในฐานะตัวสำรองทั้งหมด ตรงนี้เรามองได้ 2 ทางว่าเกิดจากความคมเฉียบขาดของเขาเอง หรือไม่ก็เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการส่งนักเตะสไตล์อย่างเขาลงไป
ช่วงที่ ธีรศักดิ์ โดนส่งลงสนามส่วนใหญ่จะอยู่หลังนาทีที่ 70 เป็นต้นไป ช่วงเวลาดังกล่าวกองหลังขาอ่อน และโดนกองหน้าคนอื่น ๆ ของทีมเล่นงานมาจนแรงเหลือไม่มากแล้ว ดังนั้นเมื่อมาเจอพลังของนักเตะที่ยังหนุ่มยังแน่น และยิ่งเป็นนักเตะที่มีสไตล์การเล่นแบบใช้สปีดชิงเหลี่ยมไปยังพื้นที่ว่างอย่างนี้ ยิ่งจับ ธีรศักดิ์ ยากเข้าไปใหญ่
ประการที่ 2 ที่ต้องชมเขาก็ต้องวนกลับไปที่ข้อแรกที่บอกว่า การทำการบ้านก่อนลงสนามของเขา ที่ทำให้ทุกอย่างอยู่ในแผน ไม่ลงไปทำอะไรมั่ว ๆ ทุกอย่างจึงถูกใช้เวลาอย่างคุ้มค่า แม้เวลาจะเพียง 15 หรือ 20 นาที เจ้าตัวก็สามารถยิงประตูได้ประจำ
และถ้าคุณสังเกตุไทยลีกคือหลังจากผ่านนาที 70 ไป สกอร์จะเริ่มเอียงไปทางฝั่งใด ฝั่งหนึ่ง ดังนั้นเราจะได้เห็นการเปิดเกม การเร่งจังหวะสปีดของเกม และการเล่นบอลไดเร็กต์แบบหลังไปหน้า วางไปที่หลังแบ็คและมุมธงอยู่บ่อย ๆ เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่ ธีรศักดิ์ หรอกที่ชอบช่วงเวลาแบบนี้ เพราะตัวรุกทุกคนชอบเกมที่เปิด เนื่องจากจะมีโอกาสได้เล่นเกมรุกมากขึ้น มีพื้นที่เล่นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ซึ่งสุดท้ายถ้าคุณมีนักเตะหนุ่มลงไปเป็นก๊อก 2 ของทีม ต่อให้เขาจะไม่เก่งครบเครื่องแบบนักเตะต่างชาติ แต่คุณสมบัติของเขาตอบโจทย์กับช่วงเวลานั้น ๆ แค่นี้ก็เสริมส่งกันเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นนาทีของ ธีรศักดิ์ เลยก็ว่าได้
รอจนเบ่งบาน
ปกติแล้วดาวรุ่งของ ท่าเรือ จะไม่มีใครอยู่นานแบบ ธีรศักดิ์ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่นอกจากพรสวรรค์คือ เขาเป็นคนที่รอจังหวะกับตัวเอง หลาย ๆ ครั้งที่ไม่ได้รับเลือกลงเป็นตัวจริงเขาก็เลือกที่จะอดทน และรอโอกาส โดยที่ตัวของเขาเคยให้สัมภาษณ์กับคิดไซด์โค้งว่า เขาใช้ช่วงเวลานั้นเรียนรู้เพื่อเติบโตในแบบของตัวเอง
“ถ้าผมไม่มีชื่อลงสนาม ผมมองว่าผมยังเป็นเด็ก ยังรอโอกาสได้ เราก็ขยันฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ ถ้ามีชื่อลงเล่นก็ตั้งใจทำผลงานให้เต็มที่ในสนามให้สมกับสิ่งที่โค้ชไว้ใจ”
“ผมไม่เคยท้อ ตั้งใจทำงาน ซ้อมอย่างเต็มที่ ให้โค้ชเขาเห็นเอง ถ้าโค้ชเห็นถึงความตั้งใจนั้น ก็จะมีโอกาสได้ลงเล่น บางทีก็ได้เปลี่ยนลงไปเป็นตัวสำรอง”
ด้วยทัศนคติที่ดี จึงทำให้ฝีเท้าที่มีค่อย ๆ ถูกเสริมอย่างถูกที่ถูกเวลา นับจากโค้ชในทีมชุดใหญ่ของเขาตั้งแต่ยุค สก็อตต์ คูเปอร์ ไล่เรียงมาจนถึงคนล่าสุดอย่าง รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค ทุกคนได้เห็นพรสวรรค์และทัศนคติของเขา และใช้เขาในรูปแบบ และช่วงเวลาในการลงสนามเดียวกันทั้งสิ้น
นี่ไม่ใช่เรื่องปัญหาใหญ่แน่นอน เพราะตอนนี้ ธีรศักดิ์ เผยพิมาย ยังอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น เส้นทางที่เหลือของเขายังมีอะไรให้ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป อย่างแรกเลย เขาต้องทำให้มาตรฐานสูงขึ้น เก่งพอที่จะเล่นเต็ม 90 นาที หรือเรียกฟอร์มออกมาได้ตอนที่ได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริง ... เส้นทางยังอีกยาวไกล แต่ตอนนี้เขาขึ้นมาทาบตำแหน่งดาวซัลโวไทยลีกแล้ว พัฒนาการของเขาช่างน่าลุ้นเสียเหลือเกินว่าจะไปสุดที่ตรงไหน