ศิษย์-อาจารย์, เพื่อน, คู่แข่ง : ญี่ปุ่น-เยอรมัน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งผ่านฟุตบอล

ศิษย์-อาจารย์, เพื่อน, คู่แข่ง : ญี่ปุ่น-เยอรมัน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งผ่านฟุตบอล
มฤคย์ ตันนิยม

“คนญี่ปุ่นไม่ได้ทำตามกฎอย่างหลับหูหลับตาหรือไม่คิดอะไร แต่วินัยคือส่วนประกอบสำคัญสำหรับการแข่งขันของพวกเขา และชาวเยอรมันก็ให้คุณค่ากับสิ่งนี้เช่นกัน” อัตสึโตะ อูจิดะ อดีตกองหลังทีมชาติญี่ปุ่นที่เคยเล่นในบุนเดสลีกาอธิบาย

“ซามูไรบลู” ทีมชาติญี่ปุ่น กำลังจะประเดิมสนามในฟุตบอลโลก 2022 ในวันพุธนี้ (23 พ.ย.) และคู่ต่อกรรายแรกของพวกเขาคือ เยอรมัน อดีตแชมป์โลก 4 สมัย

ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพบกันของทีมแกร่งในแต่ละทวีปแล้ว มันยังเป็นการดวลกันระหว่างสองทีมที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานและลึกซึ้งผ่านเกมลูกหนัง

มันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร และเป็นอย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ศิษย์-อาจารย์


แม้ว่าญี่ปุ่นและเยอรมัน อาจจะเป็นสองทีมที่ไม่ค่อยได้ดวลกันมากนักในสนามฟุตบอล แต่ความสัมพันธ์ในเชิงลูกหนังของพวกเขานั้นมีมากว่าครึ่งศตวรรษ

จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1960s หลังจากญี่ปุ่นได้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกในปี 1964 พวกเขาก็พยายามอย่างหนักในสร้างนักกีฬาที่สามารถลงแข่งในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษชาติได้

สำหรับฟุตบอล ญี่ปุ่นมองไปที่เยอรมันตะวันตก ชาติที่ถึงแม้จะเป็นผู้แพ้สงครามในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนพวกเขา แต่กลับสามารถก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ในปี 1954

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในปี 1960 สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปศึกษาและเก็บข้อมูล ในการสร้างระบบพัฒนานักเตะของพวกเขาถึง เยอรมันตะวันตก ขณะเดียวกัน ยังได้เชิญ เด็ตตาร์ คราเมอร์ โค้ชชาวเยอรมัน มาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิคของ JFA มาพร้อมกัน

Photo : FIFA.com

อย่างไรก็ดี ครามเมอร์ ไม่ได้เข้ามาฝึกสอนนักเตะให้ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังช่วยวางรากฐานให้แก่วงการฟุตบอลอาทิตย์อุทัย ทั้งการเสนอให้ตั้งระบบอบรมโค้ช พัฒนาผู้ตัดสิน แนะนำให้ใช้สนามหญ้าแทนสนามดิน

นอกจากนี้ ในระหว่างเตรียมทีมโอลิมปิก 1964 เยอรมันตะวันตก ซึ่งเป็นถิ่นพำนักของครามเมอร์ ยังป็นสถานที่ในการเข้าค่ายเก็บตัวของญี่ปุ่น และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ซามูไรบลู มีผลงานที่ยอดเยี่ยมในฟุตบอลโอลิมปิกหนที่ 3 ของพวกเขา ด้วยการผ่านถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย

แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่โค้ชชาวเยอรมัน เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้ง “ลีกแห่งชาติ” ของญี่ปุ่น จากการที่เขามองว่าการที่ฟุตบอลจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน นักฟุตบอลต้องมีเวทีให้เล่นอย่างสม่ำเสมอ จนนำไปสู่การกำเนิดของ Japan Soccer League หรือ JSL ในปี 1965 และมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ทีมฟุตบอลญี่ปุ่นคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 1968

Photo : thenationalnews.com

“ครามเมอร์ซังแสดงความยินดีที่เจลีกขยายไปทั่วประเทศ และความก้าวหน้าของวัฒธรรมฟุตบอลในญี่ปุ่น” มิตสึรุ มูราอิ อดีตประธานเจลีกกล่าวกับ jleague.co

“ก็เป็นเขานี่แหละที่เสนอให้ก่อตั้งลีกแห่งชาติ และ JSL ก็ถูกก่อตั้งขึ้นมา ซึ่งเป็นรากฐานของเจลีกในปัจจุบัน”

ทว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

เรียนรู้จากเพื่อน


ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหรียญทองแดงโอลิมปิก 1968 คือหมุดหมายที่ทำให้เกิด “ฟุตบอลบูม” ครั้งแรกในญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างนั้น กว่าที่พวกเขาจะมีนักเตะลงเล่นในลีกอาชีพครั้งแรกในยุโรป ก็ต้องรอจนถึงปลายทศวรรษที่ 1970s

ทั้งนี้ เยอรมัน ก็มีส่วนในเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะมันเกิดจากการที่ทีมชาติญี่ปุ่นเดินทางไปซ้อมกับทีมในบุนเดสลีกาของเยอรมัน ในปี 1976 และทำให้เอฟเซ โคโลญจน์ ได้เจอเด็กหนุ่มฝีเท้าดีนามว่า ยาซูฮิโกะ โอคุเดระ ก่อนจะได้เซ็นสัญญากันในท้ายที่สุด

Photo : werder.de

“ฮิโรชิ นิโนะมิยะ โค้ชทีมชาติญี่ปุ่นในตอนนั้นสนิทกับ เฮอร์เนส ไวส์ไวเลอร์ โค้ชโคโลญจน์ และตอนนั้นญี่ปุ่นไปเล่นเกมกระชับมิตรที่เยอรมันตะวันตก” โอคุเดระให้สัมภาษณ์กับ Soccer Kings

“สิ่งที่เขาทำถ้าเป็นตอนนี้ไม่สามารถทำได้แน่นอน เขาแบ่งสมาชิก 20 คนออกเป็นสี่กลุ่มแล้วส่งไปให้ร่วมซ้อมกับทีมบุนเดสลีกาในช่วงปรีซีซั่น เพราะอย่างนั้นผมจึงได้ไปร่วมซ้อมกับโคโลญจน์”

แม้ว่าหลังหมดยุค โอคุเดระ ความสัมพันธ์ระหว่างฟุตบอลญี่ปุ่นและเยอรมัน จะเริ่มเลือนหายไป เนื่องจากข้อจำกัดจากกฎผู้เล่นต่างชาติ ที่ทำให้การมาเล่นในบุนเดสลีกา ไม่ใช่เรื่องง่าย (มีเพียง นาโอฮิโระ ทาคาฮาระ เพียงแค่คนเดียว) แต่หลังจากการยกเลิกกฎนี้ในฤดูกาล 2006-2007 เส้นทางของพวกเขาก็มาบรรจบอีกครั้ง

เพราะหลังฤดูกาล 2006-2007 แข้งจากแดนอาทิตย์อุทัย ก็เริ่มมาพิสูจน์ฝีเท้าในเยอรมัน และส่วนใหญ่คือผู้เล่นระดับทีมชาติ ไม่ว่าจะเป็น จุนอิจิ อินาโมโต (แฟรงต์เฟิร์ต), โยชิโตะ โอคูโบะ (โวล์ฟบวร์ก), ชินจิ โอโนะ (โบคุม) หรือมาโคโตะ ฮาเซเบะ (โวล์ฟบวร์ก)

แต่ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฟุตบอลญี่ปุ่นกับเยอรมัน คือการมาถึงของชายที่ชื่อว่า “ชินจิ คางาวะ” ในปี 2010

มิดฟิลด์วัย 21 ปีในขณะนั้น ย้ายมาร่วมทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ด้วยค่าตัวสุดถูกแค่ 350,000 ยูโร (ราว 12 ล้านบาท) แต่เขากลับเบียดทะลุขึ้นมาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของทัพเสือเหลือง ภายใต้การนำทีมของ เจอร์เกน คล็อป และพาต้นสังกัดคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ถึง 2 สมัย

Photo : AFP

“คางาวะไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลโลก 2010 แต่เขาทำได้อย่างยอดเยี่ยมในบุนเดสลีกา” ทาเคฮิโระ นาคามูระ ผู้จัดการทั่วไปของ Lead Off Sports Marketing กล่าวกับ AP

“เขาทำให้สโมสรคิดมองว่าที่ญี่ปุ่นมีนักเตะอายุน้อย เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ และราคาถูก และจูงใจให้แมวมองไปดูเจลีกอย่างใกล้ชิดกว่าที่เป็นมา”

หลังจากนั้น นักเตะเลือดซามูไรก็พาเหรดมาเล่นในลีกเยอรมันกันอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะในลีกสูงสุดที่นับรวมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็มีถึง 38 ราย มากที่สุดในทวีปเอเชีย ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างเกาหลีใต้ (20 ราย) อย่างเทียบไม่ติด

“หากพูดในคำเดียว คงจะเป็นปฏิกริยาลูกโซ่ นักเตะญี่ปุ่นที่ย้ายมาเยอรมันส่วนใหญ่คือหลังปี 2011 หลังการมาถึงของ ชินจิ คางาวะ ที่มาอยู่กับทีมในปี  2010” มาโตโคะ ฮาเซเบะ กล่าวกับ Shuupure News

“แทบไม่ต้องสงสัยว่าชินจิ ทำให้ชื่อเสียงของนักเตะญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักมากแค่ไหน ความสำเร็จของชินจิ อาจจะให้ผลเกินคาดเลยด้วยซ้ำ”

อย่างไรก็ดี มันมีเบื้องหลังในเรื่องนี้

เอเยนต์ชาวเยอรมัน


แม้ว่า ชินจิ คางาวะ จะถือเป็นคนถางทางให้แข้งชาวญี่ปุ่น มีที่ยืนในบุนเดสลีกา แต่คนที่มีส่วนไม่น้อยในจุดเริ่มต้นนี้ กลับเป็นอดีตนักเตะชาวเยอรมันอย่าง โธมัส โครธ

เขาคืออดีตนักเตะทีมชาติเยอรมันตะวันตก ที่ผ่านการค้าแข้งให้หลายทีมดังในบุนเดสลีกา ทั้ง โคโลญจน์, แฟรงค์เฟิร์ต, ฮัมบูร์ก และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ก่อนจะเลิกเล่นในปี 1990 และมาจับงานเอเยนต์โดยมุ่งเป้าไปที่นักเตะชาวญี่ปุ่น

Photo : tz.de

“ผมชอบญี่ปุ่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมืองในโตเกียว บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าผมเคยเล่นกับโอคุเดระ ตอนที่ผมอยู่โคโลญจน์ และกับ ปิแอร์ ลิตต์บาร์สกี ที่ต่อมาเป็นโค้ชที่ญี่ปุ่น” โครธอธิบายกับ FourFourtwo

“เพราะผมชอบประเทศนี้ ผมไปญี่ปุ่นปีละ 1-2 ครั้ง และเริ่มสังเกตุเห็นผู้เล่น หลังจากนั้นผมพยายามหาทีมให้พวกเขาในยุโรป”

นักเตะเลือดซามูไรคนแรกที่ โครธ พามาบุนเดสลีกา คือ ทาคาฮาระ อดีตกองหน้าทีมชาติญี่ปุ่น และหลังจากนั้น หลายคนก็ล้วนผ่านความช่วยเหลือจากเขา รวมไปถึง คางาวะ และ ฮาเซเบะ สองแข้งที่สร้างความสั่นสะเทือนในบุนเดสลีกา

“ในตอนแรกมันค่อนข้างยาก เพราะว่าทีมในยุโรปไม่ค่อยสนใจนักเตะเอเชีย” โครธ อธิบาย

“หลายทีมบอกว่า ‘เอาล่ะ นักเตะญี่ปุ่นจะช่วยเรายังไง’ ในตอนนั้นทีมชาติของพวกเขามีอันดับฟีฟ่าค่อนข้างต่ำ และสโมสรก็ไม่ค่อยรู้จักตลาดเอเชียมากนัก”

“แต่ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปด้วยนักเตะญี่ปุ่นที่ถูกเรียกว่า โกลเดน เจนเนอเรชั่น พวกเขาคือนักเตะอย่าง จุนอิจิ อินาโมโตะ, นาโอฮิโระ ทาคาฮาระ หรือ ชินจิ โอโนะ ที่ผมเป็นเอเยนต์ให้”

“การย้ายทีมครั้งแรกของผมคือ ทาคาฮาระ ที่ย้ายมา ฮัมบูร์ก ในปี 2003 แต่ดีลสำคัญที่สุดสำหรับผมคือ มาโคโตะ ฮาเซเบะ ที่ย้ายมาอยู่กับ โวล์ฟบวร์ก ในปี 2008 เพราะเขาคว้าแชมป์ลีกได้ทันที”

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จนี้ไม่ได้เป็นเพราะโครธเพียงอย่างเดียว แต่มันก็มาจากตัวนักเตะญี่ปุ่นเอง ที่สามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตในเยอรมันได้เป็นอย่างดี บวกกับนิสัยใจคอที่เอาจริงเอาจัง และมีวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเยอรมันชื่นชอบ ทำให้พวกเขาไปได้สวยในดินแดนแห่งนี้

Photo : AFP

“สโมสรเยอรมันหลายทีมต่างชื่นชมทัศนคติและความเป็นมืออาชีพทั้งในและนอกสนามของนักเตะญี่ปุ่น พวกเขาสามารถดูแลนักเตะเหล่านี้ได้ง่าย แถมพวกเขายังเล่นได้หลายตำแหน่ง ซึ่งช่วยให้โค้ชสามารถสร้างทีมได้” ทาเคฮิโระ นาคามูระ กล่าวกับ AP

ขณะที่ เฟลิกซ์ มากัธ ที่เคยร่วมงานในฐานะกุนซือกับ อัตสึโตะ อูจิดะ ที่ชาลเก้ 04 และ ฮาเซเบะ ที่ โวล์ฟบวร์ก ก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ และบอกว่าเขาคือแฟนตัวยงของนักเตะที่มาจากเจลีก

“คนญี่ปุ่นมีวินัย ทำงานหนักและอ่อนน้อม” เฟลิกซ์ มากัธ กล่าวกับ Fox Sports

“สิ่งที่ผมโฟกัสคือพวกเขาช่วยทีมได้มากแค่ไหน พวกเขามีความเร็ว มีเทคนิค และมีวินัยที่สูงมาก”

จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบัน จะมีนักเตะญี่ปุ่นเดินทางมาเล่นในเยอรมันอย่างล้นหลาม ทั้งลีกรองและลีกสูงสุด เพราะเอาแค่ 26 ขุนพล ชุดลุยฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ก็มีนักเตะที่เล่นในลีกเมืองเบียร์มากถึง 8 ราย

“คนญี่ปุ่นไม่ได้ทำตามกฎอย่างหลับหูหลับตาหรือไม่คิดอะไร แต่วินัยคือส่วนประกอบสำคัญสำหรับการแข่งขันของพวกเขา และชาวเยอรมันก็ให้คุณค่ากับสิ่งนี้เช่นกัน” อัตสึโตะ อูจิดะ อดีตกองหลังทีมชาติญี่ปุ่นที่เคยเล่นในบุนเดสลีกาอธิบาย

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์นี้อาจจะถูกแช่แข็งไว้ชั่วคราวในฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้

คู่แข่งที่รอมาตลอด


ปัจจุบัน บุนเดสลีกาของเยอรมัน แทบไม่ต่างจากบ้านหลังที่ 2 ของแข้งจากญี่ปุ่น จากการที่นักเตะเลือดซามูไรย้ายมาเล่นที่นี่อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และความคุ้นเคยนี้ ถูกมองว่าอาจจะเป็นข้อได้เปรียบของซามูไรบลู ที่จะต้องเจอกับเยอรมันในเกมประเดิมสนามฟุตบอลโลก 2022

“ตอนนี้มีนักเตะญี่ปุ่นมากเลยที่เล่นอยู่ในบุนเดสลีกา ผมคิดว่าเราเริ่มจะเท่าเทียมกับพวกเขา (เยอรมัน)” ไดจิ คามาดะ สตาร์ของ แฟรงค์เฟิร์ต กล่าวกับ AFP

“ตอนที่ผมมาถึงบุนเดสลีกาในตอนแรก ผมได้เล่นกับผู้เล่นจากบาเยิร์น มิวนิค และทีมชาติเยอรมัน แต่ตอนผมเล่นในญี่ปุ่น มีนักเตะจากทีมชาติญี่ปุ่นแค่ 1-2 คนที่เล่นอยู่ที่นั่น”

“มันรู้สึกแปลกๆ ที่ได้เล่นกับผู้เล่นที่ก่อนหน้านี้ผมเคยดูพวกเขาทางทีวี แต่ผมก็คิดว่าสิ่งนี้ส่งผลอย่างมากต่อสภาพจิตใจของพวกเรา ที่ได้เล่นในเวทีเดียวกันกับพวกเขา”

คามาดะ คือหนึ่งในแข้งทีมชาติญี่ปุ่น ที่ทำผลงานได้ดีในลีกสูงสุดเมืองเบียร์ หลังทำไปแล้ว 7 ประตูกับอีก 3 แอสซิสต์จาก 13 นัด โดยมีผู้เล่นไม่กี่คนที่มีส่วนร่วมในการทำประตูมากกว่าเขาในบุนเดสลีกาในซีซั่นนี้

Photo : AFP

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องดีที่เราเข้าใจคนเยอรมัน สำหรับการเล่นลูกตั้งเตะและอื่นๆ” คามาดะกล่าวต่อ

“แน่นอนว่ามันเป็นข้อดีที่จะมีประสบการณ์ได้เล่นกับนักเตะเหล่านั้น และรู้นิสัยใจคอของพวกเขา”

ขณะที่ มายะ โยชิดะ ที่เล่นให้กับ ชาลเก้ 04 ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่หวังจะใช้ประสบการณ์ในบุนเดสลีกา ต่อกรกับมหามิตร ที่กำลังจะเป็นคู่แข่งในบอลโลกครั้งนี้ เขาบอกว่าผลการจับฉลากบอลโลก คือเหตุผลที่ทำให้เขามาเล่นที่นี่

“มีหลายเรื่องที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการมาเล่นที่เยอรมันของผม และโอกาสในการเรียนรู้ต่อสู้ก็คือหนึ่งในนั้น” กัปตันทีมชาติญี่ปุุ่นวัย 34 ปีกล่าวกับ The Japan News ก่อนเกมกับเยอรมัน ในวันที่ 23 พฤศจิกายน

“ในเกมที่สูสีอย่างการเจอดอร์ทมุนด์ คุณสามารถอยู่ในสถานการณ์ที่พลาดครั้งเดียวอาจตัดสินการแข่งขันได้ ผมรู้สึกเหมือนว่าผมกำลังเรียนรู้อย่างมากในเยอรมัน”

“ผมรู้สึกมีความสุขที่ย้ายมาบุนเดสลีกา คุณจะลับทักษะตัวเองให้คมได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณที่กดดันสุดๆ โอกาสของเราในการคว้าชัย (ในเกมกับเยอรมัน) ยังไม่ได้เหลือศูนย์ และเกมแรก ก็จะเป็นเกมที่ยากสำหรับทุกทีม”

Photo : AFP

ขณะที่ ริตสึ โดอัน ที่เล่นอยู่กับไฟร์บวร์ก ก็ยอมรับว่า แม้ว่าเขาจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมทีมเยอรมันแค่ไหน แต่ในฟุตบอลโลกครั้งนี้มิตรภาพ จะขอเก็บใส่ลิ้นชักไว้ชั่วคราว

“ตอนที่มาถึงโดฮา ผมไม่ได้ติดต่อพวกเขาเลย ผมคุยกับพวกเขาก่อนออกมาจากเยอรมัน” โดอันกล่าว

“แน่นอนว่าผมมีความสุขมากที่จะได้สู้กับพวกเขา แต่เราจะไม่เป็นเพื่อนกันอีกต่อไป จนกว่าจะถึงปีใหม่ ดังนั้นผมจะทำอย่างเต็มที่เพื่อประเทศของผม”

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกมระหว่าง ญี่ปุ่น และเยอรมัน ที่กำลังจะมาถึง จึงเป็นเกมที่น่าสนใจอย่างมาก หากมองถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยาวนานของพวกเขา

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ญี่ปุ่น ไม่เคยเอาชนะเยอรมันได้เลยในการพบกันก่อนหน้านี้ (เสมอ 2 แพ้ 2) น่าจะทำให้ขุนพลซามูไรบลู มุ่งมั่นอย่างมากในเกมนัดนี้

เพราะมันคงจะไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าได้เล่นอย่างเต็มที่ กับชาติที่พวกเขาเคยมองเป็นต้นแบบอีกแล้ว

Photo : AFP

แหล่งอ้างอิง

https://bleacherreport.com/articles/1681906-the-german-bundesligas-importance-to-japanese-football

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/daichi-kamada-maya-yoshida-japan-s-core-ready-for-germany-world-cup-clash-21963

https://english.kyodonews.net/news/2022/11/5109df799aae-soccer-familiarity-key-in-japans-quest-to-defeat-germany-says-doan.html?

https://finance.yahoo.com/news/japan-put-german-friendships-deep-171133608.html

https://www.japantimes.co.jp/sports/2022/11/17/soccer/international-soccer/japan-german-experience-qatar/

https://www.fourfourtwo.com/features/why-asias-best-and-brightest-flock-bundesliga

http://www.fussballstadt.com/japanese-players-bundesliga/

https://www.foxsports.com/stories/soccer/germanys-bundesliga-takes-on-japanese-flavor

https://www.dw.com/en/littbarski-takes-philosophical-approach-to-woeful-wolfsburg/a-14894324

https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=104113

https://www.excite.co.jp/news/article/Shueishapn_20121001_14351/

https://the-ans.jp/column/112239/

https://www.excite.co.jp/news/article/Shueishapn_20121001_14351/

https://the-ans.jp/column/112239/

https://www.jleague.co/news/passing-of-dettmar-cramer-the-father-of-japanese-football-mourned/

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ