สนามห่วยโทษใคร? สะท้อนปัญหาสนามบอลไทยลีก กรณี ขอนแก่นยูฯ-โปลิศ เทโร

สนามห่วยโทษใคร? สะท้อนปัญหาสนามบอลไทยลีก กรณี ขอนแก่นยูฯ-โปลิศ เทโร
Korkit PS

เรื่องของสนามฟุตบอลเมืองไทย กลายเป็นดราม่าที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เนื่องๆ กับเรื่องของสภาพสนามที่บางครั้งอยู่ในสภาพที่ไม่น่าพร้อมใช้แข่งขันดังที่ได้เห็นล่าสุดในเกมไทยลีก เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้ง คู่ของ ขอนแก่น ยูไนเต็ด กับ ชลบุรี เอฟซี และ โปลิศ เทโร กับ การท่าเรือ เอฟซี

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ใครๆ ก็อยากดูเกมที่มีคุณภาพ อรรถรสเนียนตา ซึ่งว่ากันความเป็นสนามฟุตบอลในเมืองไทยมีไม่กี่สนามที่ทำได้แบบนั้น เพราะต้องยอมรับความจริงว่า สนามส่วนใหญ่ในเมืองไทย เป็นสนามของทางราชการ

แต่อย่าเพิ่งด่วนไปใจเร็ว มาอ่าน คิด วิเคราะห์ แยกแยะ กันก่อนว่า สนามฟุตบอลในประเทศไทยมีเงื่อนไข หรือการดูแลอย่างไรบ้าง

ของส่วนรวม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของสนามฟุตบอลในประเทศไทย ส่วนใหญ่ เป็นสนามเอนกประสงค์ คือใช้จัดงานกีฬาด้วย และบางครั้งต้องจัดอีเว้นต์ต่างๆ เพราะเจ้าของสนามกีฬาส่วนใหญ่ ก่อสร้างโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย และยกกรรมสิทธิ์การดูแล ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ สถานศึกษา เป็นผู้ดูแล

ราชมังคลากีฬาสถาน เครดิตภาพ : flickr / ASIANFC

หรือบางสนาม เจ้าของเป็นส่วนราชการโดยตรงอย่าง สนามบุณยะจินดา ซึ่งตั้งอยู่ใน สโมสรตำรวจ ก็ถูกจัดการบริหารโดย กองสวัสดิการ สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยเป็นสนามที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ย่อมเป็นสนามที่เดินทางสะดวก เหมาะกับการเล่นฟุตบอลโดยมีการเก็บค่าบำรุงดูแล นอกเหนือจากงานของทางราชการ

เครดิตภาพ : Police Tero FC

เช่นเดียวกับสนามในต่างจังหวัด ซึ่งมาตรฐานส่วนใหญ่ที่สามารถจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก มักจะเป็นสนามกีฬากลางจังหวัด ซึ่งมีทาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะมีอีเว้นต์เกี่ยวกับทางราชการชุก ไม่แพ้สนามกีฬาในกรุงเทพฯ

และขณะเดียวกัน เมื่อมีการใช้งานการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ โดยเฉพาะไทยลีก จึงปรากฎภาพสนามที่บางครั้ง แฟนบอลตั้งคำถามว่า "เล่นได้ด้วยเหรอ"

ร่วมกันมอง

จากกรณีปัญหาของสนามแข่งที่ถูกพูดถึงในสัปดาห์นี้ "เจ" วรปัฐ อรุณภักดี และ "โค้ชโย่ง" วรวุฒิ ศรีมะฆะ ปธ.เทคนิคของ โปลิศ เทโร พูดคุยในรายการเก่งหลังเกม โดยมองถึงปัญหาการจัดการดูแลสนามที่เกิดขึ้น โดยฝั่งของ โปลิศ เทโร ได้พยายามเลื่ยงการใช้สนามแข่ง โดยปกติ ทีมซ้อมที่สนามในซอยสุคนธสวัสดิ์ 27 และช่วงพักเลก ทีมได้ไปอุ่นเครื่องโดยใช้สนามอื่น ซึ่ง โค้ชโย่ง ยอมรับว่าสนามเองก็ต้องหารายได้ เพื่อมาดูแลสนามเช่นเดียวกัน

"สนามมันต้องเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งปีนี้มันต้องบอกกันตรงๆ ว่า งบประมาณมันไม่ค่อยมี เราไปเช่าสนามเอาไว้แข่ง ปีหนึ่งสัก 4-5 แสน เดือนละ 4-5 หมื่น มันทำไม่ได้ ฉะนั้น เขาต้องปล่อยให้ทางเจ้าของสนามปล่อยให้คนเช่า ทีนี้การดูแลก็ต้องยอมรับว่า เราไม่ได้ใช้คนดูแลเหมือนสนามเอกชน ที่เสียเดือนละ 5-6 หมื่น แต่คนข้างในเขาก็ดูแลเต็มที่" โค้ชโย่ง ให้ทัศนะในส่วนนี้

ขณะที่ฝั่งขอนแก่น ยูไนเต็ด "บิ๊กต้อม" วัฒนา ช่างเหลา ปธ.ขอนแก่น ยูไนเต็ด โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวว่า ในส่วนของทีมเองมีการลงทุนเรื่องของการปรับปรุงสนามทุกปี แต่ด้วยตัวสนาม อบจ.ขอนแก่น เป็นสนามที่เจ้าของเป็นของราชการ ซึ่งมีการอนุญาตให้หน่วยงานภายนอกใช้งาน ซึ่งจากปัญหาในส่วนนี้ ก็เตรียมที่จะพูดคุยกับเจ้าของสนามคือทาง อบจ.ขอนแก่น เพื่อเร่งแก้ปัญหาในส่วนนี้

"เรื่องสนามแข่งของสโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด สโมสรเองก็ได้ทำการปรับปรุงและซ่อมแซมสนามทุกครั้งก่อนเริ่มฤดูการแข่งขันจนมีสภาพสวยงามก่อนเริ่มการแข่งขันทุกปีโดยใช้งบประมาณของสโมสรเอง และในส่วนของการฝึกซ้อมของสโมสรก็จะมีสนามซ้อมของสโมสรเองไม่ได้ใช้สนามแข่งในการฝึกซ้อม"

"แต่สนามกีฬา อบจ. ขอนแก่น คือสนามกีฬากลางที่ทุกคนทุกหน่วยงานสามารถขออนุญาตเข้ามาใช้บริการได้ มันจึงอยู่เหนือการควบคุมของทางสโมสร ซึ่งทางสโมสรและ อบจ ก็มีการพูดคุยกันตลอดในเรื่องของการดูแลรักษาอย่างเต็มที่"

"ปัญหาที่เกิดขึ้นคือสนามไม่ได้มีเวลาให้พักฟื้นเลย มีการจัดกิจกรรมทุกอาทิตย์ของหน่วยงานต่างๆ แม้แต่หลังวันแข่งก็จะมีการเข้ามาใช้สนาม บางครั้งในช่วงก่อนเปิดฤดูกาลที่กำลังซ่อมสนามกำลังอัดปุ๋ยอัดน้ำก็ต้องหยุดเพื่อให้หน่วยงานอื่นเข้ามาจัดกิจกรรมในสนามก่อนถึงจะซ่อมต่อได้"

เครดิตภาพ : KHON KAEN UNITED

ซึ่งเมื่อดูระเบียบการใช้สนาม อบจ.ขอนแก่น ทางเจ้าของสนามอย่าง อบจ.ขอนแก่น มีระเบียบการขอใช้งาน และเรตราคาในการใช้งานดังกล่าวด้วย

เครดิตภาพ : อบจ.ขอนแก่น

ต้องแก้ตรงไหน?

ท้ายที่สุด เรื่องของการใช้สนามกีฬาสำหรับเกมฟุตบอลอาชีพ และ อีเว้นต์ต่างๆ ยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ดีที่สุด คือการจัดระเบียบการใช้สนามของเจ้าของสนาม ให้ได้มีเวลาฟื้นฟูหญ้าในสนาม มีความพร้อมสำหรับการแข่งขัน ดังที่ วรปัฐ พูดถึงในประเด็นนี้

"ในเมื่อมันเกิดการเช่าขึ้นมา มันก็ต้องปล่อย แต่จุดสำคัญที่อยากจะพูดในฐานะสื่อมวลชนคือ รบกวนช่วยจัดระเบียบกันหน่อย เช่น 2 เดือน ที่ลีกปิด คุณจะเปิดเช่าก็ทำไป แต่ช่วงที่ลีกใกล้จะกลับมาแข่ง อาจจะจัดระเบียบให้ 2 อาทิตย์ แล้วมาดูว่ารายได้ที่หายไปจะเติมยังไงต่อ เพราะในมุมสโมสร อาจจะพูดอะไรไม่ได้"

เพราะเชื่อว่า ทุกๆ คน ต่างอยากเห็นเกมฟุตบอลที่มีคุณภาพ พื้นสนาม ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้อรรถรสของเกมดีขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาศักยภาพผู้เล่นและการแข่งขันที่ดีขึ้นได้ในอนาคต

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ขมิ้นน้อยบนหลังเสือ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ