สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ : สังเวียนระดับโลกแห่งอาเซียนที่ไม่หวั่นแม้วันฝนหนัก

สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ : สังเวียนระดับโลกแห่งอาเซียนที่ไม่หวั่นแม้วันฝนหนัก
มฤคย์ ตันนิยม

สนามกีฬาแห่งชาติ กลายเป็นประเด็นร้อน หลังเกมนัดอุ่นเครื่องระหว่าง เลสเตอร์ ซิตี้ และ ท็อตแนมป์ ฮ็อตสเปอร์ ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ต้องยกเลิก เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน

มันกลายเป็นคำถามว่านี่คือ “สนามกีฬาแห่งชาติ” ของประเทศในเขตร้อนชื้น ที่มีฝนตกอยู่เป็นประจำจริง ๆ หรือ และเพราะเหตุใด จึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเทียบกับ สนามกีฬาแห่งชาติ สิงคโปร์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่ฝนตกชุกเช่นกัน กลับไม่เคยเจอปัญหาในลักษณะนี้

พวกเขาทำได้อย่างไร ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

สนามกีฬาระดับโลก

แม้ว่าขุนพล “เมอร์ไลออนส์” สิงคโปร์ จะมีผลงานที่ตกลงไปนับตั้งทศวรรษที่ 2010s แต่สิ่งที่พวกเขาสามารถอวดสู่สายตาชาวโลกได้อย่างภาคภูมิ คือสนามกีฬาแห่งชาติ แห่งใหม่ หรือ “สิงคโปร์ เนชั่นแนล สเตเดียม”

มันคือสนามกีฬาอเนกประสงค์ ขนาดความจุ 55,000 ที่นั่งถูกสร้างขึ้นมาแทนที่ สนามกีฬาแห่งชาติของเก่าที่ทรุดโทรมในพื้นที่เดิม และแล้วเสร็จในปี 2014 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ สปอร์ตฮับ ศูนย์รวมกีฬา ความบันเทิง และไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย บนพื้นที่กว่า 200 ไร่

ด้วยความที่เป็นสนามสร้างใหม่ ทำให้สนามกีฬาแห่งชาติของพวกเขา มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย อย่างที่นั่งชั้นล่างสุดที่สามารถพับเก็บได้ ที่ทำให้นอกจากฟุตบอลแล้ว มันยังถูกใช้จัดกิจกรรมอื่นๆ  เช่นการแข่งขันรักบี้ คริกเก็ต กรีฑา ไปจนถึงความบันเทิงอย่าง เวทีคอนเสิร์ตเป็นต้น

นอกจากนี้ สนามแห่งนี้ยังมีระบบทำความเย็น ที่เข้ากับสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของสิงคโปร์ ที่เรียกว่าระบบระบบระบายความร้อนแบบชาม ที่จะปล่อยลมเย็น 23 องศาเซลเซียส มาจากใต้ที่นั่ง ซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่าระบบปรับอากาศทั่วไปถึง 15 เปอร์เซ็นต์

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการรับมือกับฝนที่ค่อนข้างชุก ที่ตกมากถึง 167 วันต่อปี (กรุงเทพฯฝนตกเฉลี่ย 88 วันต่อปี) แถมในหนึ่งปีมีปริมาณน้ำฝนสะสมที่มากถึง 2,342 มม. (กทม. 1,907 มม.) ทำให้สนามแห่งนี้ มาพร้อมกับหลังคาที่เปิดปิดได้ ครอบคลุมที่นั่ง 95 เปอร์เซ็นต์ของทั้งสนาม

บวกกับระบบระบายน้ำ ในมาตรฐานเดียวกับสนามฟุตบอลชั้นนำของโลก ที่จะใช้วิธีเกลี่ยหน้าดิน แล้ววางโครงข่ายท่อระบายน้ำที่ซับซ้อนเหมือนรวงผึ้ง ผสมกับเม็ดกรวดละเอียด จากนั้นค่อยเติมดินทรายไล่ระดับขึ้นไป แล้วตามด้วยดินร่วนชนิดพิเศษ ก่อนจะเป็นผืนหญ้า จนทำให้น้ำท่วมสนามจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะได้เห็นจากสังเวียนความจุครึ่งแสนแห่งนี้

Photo : Arup

“เราไม่สามารถเปรียบเทียบมันกับสนามกีฬาแห่งชาติอันเก่า ที่เดิมทีเอาไว้แค่เพื่อการแข่งขันฟุตบอล” ออง จินเต็ค ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Singapore Sports Hub กล่าวกับ The Strait Times

“ชาวสิงคโปร์ต้องการอีเวนท์กีฬามากกว่านี้ ดังนั้นเราจึงต้องมีสนามที่แข็งแกร่งและทนทานเพื่อโปรแกรมหนัก ๆ ”

ขณะเดียวกัน สนามแห่งนี้ยังเดินทางไปได้ง่าย ด้วยระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้าที่พวกเขามีสถานี Stadium เป็นของตัวเอง ซึ่งห่างจาก มารินา เบย์ แค่เพียง 31 นาที หรือรถบัส ที่ใช้เวลาเพียง 6 นาที แล้วลงตรงป้ายหน้าสนาม ก่อนจะเดินเข้าไปราว 800 เมตร

Photo: AFP 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ ได้มีโอกาสต้อนรับสโมสรจากยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ยูเวนตุส, บาเยิร์น มิวนิค, เชลซี, ลิเวอร์พูล ไปจนถึงทีมระดับโลกอย่าง บราซิล, อาร์เจนตินา และญี่ปุ่น เบอร์ 1 ของเอเชีย รวมไปถึงเป็นที่จัดคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลก ทั้ง แบล็คพิงค์ โคลด์เพลย์ และล่าสุดอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟท์

แต่ถึงอย่างนั้นใช้ว่าสนามแห่งนี้จะสมบูรณ์แบบจนไม่มีที่ติ

เรียนรู้เพื่อแก้ไข

อันที่จริง สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ นั้นเป็นประเด็นมาตั้งแต่ก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ โดยเฉพาะพื้นสนามที่ถูกวิจารณ์ว่า มีทรายอยู่เป็นหย่อมๆ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของโลก จนทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาขอโทษ หลังเกมนัดเปิดสนามระหว่าง ทีมรวมดาราเอสลีก กับ ยูเวนตุสเมื่อปี 2014

“เราต้องขอโทษที่มันไม่ดีเท่าที่ควร ตลอดทางมันเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย เรายังคงเป็นสนามที่ดิบมาก แต่ผมก็อยากให้สนามดีกว่านี้ ดีกว่าที่ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงเสียอีก” ออง จินเต็ค ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการกล่าว

ด้วยความที่ในช่วงแรก พวกเขาใช้พื้นผิวแบบไฮบริด จากเทคโนโลยี Desso GrassMaster  ที่เป็นการผสมผสานระหว่างหญ้าจริง กับหญ้าสังเคราะห์ เพื่อความทนทาน ทำให้แม้ว่ามันจะอยู่ในเกณฑ์ที่เล่นได้ แต่สีของหญ้ากลับไม่เขียวขจี และดูแย่ขึ้นไปอีกหากเห็นผ่านหน้าจอโทรทัศน์

ความย่ำแย่ของสภาพสนามถึงขั้นทำให้ ยูเวนตุส ที่มาเตะอุ่นเครื่องเมื่อปี 2014 ไม่กล้าที่จะส่ง คาร์ลอส เตเบซ สตาร์ดังของทีมในตอนนั้นลงสนาม เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย และเกรงกว่าผู้เล่นของพวกเขาจะได้รับบาดเจ็บหนัก

Photo : Homerlikephotography

แต่พวกเขาก็นำฟีดแบ็คนี้มาปรับปรุง ด้วยการเปลี่ยนเป็นหญ้าจริงทั้งหมดในเวลาต่อมา ก่อนจะมาใช้เทคโนโลยี XtraGrass จากเนเธอร์แลนด์ ในปี 2017 ที่จะเสริมเส้นใยสังเคราะห์ลงไป ที่ทำให้สนามมีสัมผัสเหมือนกับหญ้าจริง แต่มีความทนทานมากกว่าปกติ

“เราคิดว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยได้ มันเป็นครั้งแรกที่ถูกใช้ในเอเชีย เราพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ” มานู ซอฮ์นีย์ ซีอีโอของ Sport Hub กล่าวกับ Today Online เมื่อปี 2017

เช่นกันกับปัญหาหลังคารั่ว ที่ถูกโจมตีอย่างหนัก ตอนที่จัดจัดคอนเสิร์ต ของ เจ โชว์ เมื่อปี 2014 ก็ได้รับการซ่อมแซมและแก้ไขในเวลาต่อมา แม้อาจจะใช้เวลาระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ แม้ว่าการปรับปรุงสนามกีฬาแห่งชาติอยู่บ่อยครั้ง จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปไม่น้อย หลังใช้เงินไปกว่า 2 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ (51 ล้านบาท) แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าเมื่อมีข้อบกพร่อง ก็จำเป็นต้องแก้ไข

“มันเหมือนกับการเดินทางในชีวิต เหมือนกับชีวิตเช่นกัน มันมีจุดสูงสุดและจุดตกต่ำ เรากำลังเผชิญความท้าทาย และสิ่งที่เราทำได้คือใจเย็น และทำงานต่อไป ในฐานะทีม เรากำลังเรียนรู้จากสิ่งนี้ และก้าวต่อไป” ซอฮ์นีย์ กล่าวต่อ

“เรามีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก ด้วยทีมงานที่มุ่งมั่นที่จะตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการ เรารู้สึกว่าเรามีความสมดุลในแง่อีเวนท์และการเข้าถึงชุมชนในปีหน้า ที่เราสามารถทำต่อไป”

Photo : The Stadium Guide

นี่คือสิ่งที่ทำให้ สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ ถูกใช้บริการอยู่ตลอด หรือแม้กระทั่งในช่วงการระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้อีเวนท์ต้องยกเลิก สังเวียนแห่งนี้ก็ยังมีประโยชน์ให้ฐานะที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติกว่า 3,000 คน

มันคือภาพสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของ สนามกีฬาแห่งชาติ ที่พวกเขาพยายามแก้ไขปรับปรุงให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ เพราะมันไม่ใช่แค่สนามไว้จัดกิจกรรม หรือการแข่งขันกีฬา แต่เป็นเหมือนหน้าตาให้โลกได้พูดถึงพวกเขา

“คำถามสำหรับเราคือ เราจะสร้างคุณค่าได้อย่างไร เพราะมันคือสนามระดับโลก” ซอฮ์นีย์ กล่าวกับ  Today Online

“คุณจะใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกระดับโลก เพื่อมอบคุณค่า ให้ผู้ชมเดินทางมาและเต็มใจที่จะจ่ายเงินได้อย่างไร”

แหล่งอ้างอิง

https://www.thedrum.com/news/2021/01/19/singapore-sports-hub-how-it-rethink-its-venues-with-tech-cope-with-covid-19

https://www.skyscanner.com.sg/news/5-must-know-facts-about-singapore-sport-hubs-national-stadium

https://www.straitstimes.com/sport/football/grow-grass-grow-spotlight-on-national-stadiums-pitch-ahead-of-brazil-japan-clash

https://www.todayonline.com/sports/national-stadium-pitch-get-yet-another-makeover

https://thaipublica.org/2020/07/how-singapore-manage-inland-coastal-flood-heavy-rain-from-climate-change/

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ