'สโมสรฟุตบอลอาชีพ' ในประเทศอังกฤษ ค้างเงินเดือนนักเตะ มีบทลงโทษอย่างไร?
ปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงินของสโมสรฟุตบอล ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว ขนาดชาติที่เป็นหัวเรือในวงการลูกหนังอย่าง ประเทศอังกฤษ ก็เคยมีสโมสรที่ประสบพบเจอกับวิกฤติการณ์ด้านการเงิน จนไม่สามารถหารายได้มาจ่ายเงินเดือนให้กับผู้เล่นและสตาฟฟ์ภายในสโมสรได้มาแล้ว
อย่างไรก็ตามชาติที่มีการบริหารลีกฟุตบอลแบบเป็นมืออาชีพ เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นปัญหาไม่จำเป็นต้องให้ทาง ‘สมาคมฟุตบอลประเทศอังกฤษ’ หรือ ‘เอฟเอ’ ลงมาเป็นผู้จัดการ เพียงแต่มีองค์กรผู้จัดการแข่งขันในดิวิชั่นต่างๆ คอยตามเรื่องและกำหนดบทลงโทษเป็นกรณีไป
สองสโมสรที่กล่าวมา คือ วีแกน แอธเลติกส์ และ เรดดิ้ง ทีมที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนาน ผ่านยุครุ่งเรืองที่เคยเล่นในลีกสูงสุดอย่าง พรีเมียร์ลีก จนค่อยๆ เสื่อมถอยจากการบริหารไปตามกาลเวลา
เรื่องราวของสองทีมนี้ลงเอยแบบใด? ทาง อีเอฟแอล ผู้จัดการแข่งขันลงโทษพวกเขาหนักแค่ไหน? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
บทสรุปของ วีแกน
กรณีของ วีแกน แอธเลติก เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากกลุ่มทุนจากประเทศบาห์เรนที่มีชื่อว่า ‘Phoenix 2021’ เข้ามาติดต่อขอเทคโอเวอร์สโมสร แต่ปรากฎว่าเงินอัดฉีด ไม่สามารถเข้ามาได้ทันตามเวลา ส่งผลให้การจ่ายค่าจ้างทีมงานส่วนต่างๆ ภายในสโมสร รวมไปถึงนักเตะล่าช้า จากสัปดาห์กลายเป็นสองสัปดาห์ แล้วก็ยืดระยะเวลาตามการจัดการของผู้บริหาร
อย่างไรก็ตามองค์กรที่คอยจัดการเรื่องนี้อย่าง อีเอฟแอ ซึ่งเป็นผู้จัดการแข่งขันศึก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ฤดูกาล 2022/23 ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อยู่ในสายตาเสมอ พร้อมกับมีการแจ้งกำหนดการให้รายงานสถานการณ์ รวมไปถึงการจ่ายเงินให้กับนักเตะตามเวลา
โดยทางประธานสโมสรอย่าง ทาลาล อัล ฮัมหมัด ได้ออกมาแถลงการณ์ขอโทษเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ว่า
“เราได้นำเงินอัดฉีดจำนวน 20 ล้านปอนด์ เข้ามาหล่อเลี้ยงสโมสรแห่งนี้นับตั้งแต่ปี 2021 ที่ทีมงานของเราเข้ามาบริหารสโมสร วีแกน แต่น่าเสียดายที่เงินก้อนนั้น ถูกนำไปใช้ลงทุนและใช้จ่ายอย่างผิดพลาด จนก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างที่เห็น”
“ผมในฐานะประธานสโมสรขอยืนยันว่าตอนนี้เราได้จ่ายค่าจ้างให้กับนักเตะและทีมงานแล้ว และขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ก่อเกิดความตึงเครียดภายในสโมสร มันจะไม่เกิดขึ้นอีกในภายภาคหน้า”
แต่แล้วการรับปากของ อัล ฮัมหมัด ก็ไม่เป็นจริง เนื่องจากนับรวมจนถึงตอนนี้ พวกเขาจ่ายเงินค่าเหนื่อยล่าช้าไปให้กับทีมงานและสตาฟฟ์ไปถึง 5 ครั้งเข้าไปแล้ว
สองครั้งแรกที่โดนโทษหนักจบลงด้วยการตัดแต้มตอนที่พวกเขายังเล่นอยู่ในศึก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ครั้งละ 3 คะแนนเป็นจำนวน 2 ครั้ง รวมทั้งหมดเป็น 6 แต้ม ส่งผลให้พวกเขาต้องตกชั้นมาเล่นใน ลีก วัน ในฤดูกาลต่อมา
อีกสองครั้งต่อมาเป็นสถานการณ์ต่อเนื่อง ส่งผลให้ อีเอฟแอล ลงโทษหนักขึ้น ตัดคะแนน 4 แต้ม ทั้งหมดจำนวน 2 ครั้ง รวมเป็น 8 แต้ม ทำให้พวกเขารั้งอยู่ที่อันดับที่ 14 โดยถ้าไม่โดนหักแล้วนับแต้มจากการแข่งขันจริง เดอะ ลาติกส์ มีโอกาสจะขยับไปอยู่ในตำแหน่งท็อป 10 เลยทีเดียว
เคสของ เรดดิ้ง
เหตุการณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินของ เรดดิ้ง เกิดมาจาก ไต้ หย่งเก๋อ นักธุรกิจชาวจีนที่เป็นเจ้าของ พยายามทำทุกวิธีทางเพื่อขายทีมออกไป ส่งผลให้เรื่องการส่งเงินอัดฉีดมายังสโมสรไม่เป็นไปตามกำหนด แล้วทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในส่วนที่จำเป็น ยกตัวอย่าง เช่น ค่าเหนือยของนักเตะ และ ทีมสตาฟฟ์ ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ซึ่งทาง ต้าหย่ง ผาง ผู้ที่นั่งแท่นเป็นซีอีโอของทีม ต้องแถลงออกมาตามจริงว่า
“ในฐานะของผู้บริหารสโมสร เรดดิ้ง ผมรู้สึกเสียใจที่ต้องแจ้งตามตรงว่า เราไม่ได้รับเงินสนับสนุนก้อนสำคัญตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ดังนั้นการจ่ายเงินเดือนของพนักงานในเดือนพฤศจิกายน 2023 จะไม่ได้จ่ายเต็มจำนวน แต่จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามสัดส่วนที่เหมาะสม”
สุดท้ายแล้ว เรดดิ้ง ที่จ่ายเงินนักเตะล่าช้า ถูกทาง อีเอฟแอล ลงโทษตัดแต้มครั้งแรก 1 แต้ม และในครั้งที่สองที่จัดการปัญหาไม่จบอีก 3 แต้ม ส่งผลให้พวกเขาหล่นมาอยู่ในตำแหน่งรองบ๊วยในศึก ลีก วัน ขณะนี้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://theathletic.com/4523480/2023/05/16/wigan-athletic-salary-pay/
https://www.theguardian.com/football/2023/sep/13/reading-points-deduction-football
ข่าวและบทความล่าสุด