Squid Game, แข้งพระราชทาน, ฟอร์มดีไว้ปีหน้า : วิธีเลือกนักเตะไปฟุตบอลโลกสุดแปลกในประวัติศาสตร์
ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ เมื่อล่าสุดทุกทีมได้ประกาศเบอร์เสื้อออกมาครบทั้ง 32 ทีม หลังจากส่งรายชื่อ 26 ขุนพลชุดสุดท้ายไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 พ.ย.)
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงการเลือกนักเตะมาเล่นรอบสุดท้าย ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ หลายครั้งก็มีวิธีแปลก ๆ ที่คนยุคปัจจุบันอาจจะไม่คาดคิด ไปจนถึงแบบนี้ก็ได้หรือ?
และนี่คือส่วนหนึ่ง ติดตามไปพร้อมกับ คิดไซด์โค้ง
Squid Game
แม้ว่าฟุตบอลโลก 2022 ที่กำลังจะมาถึงหลายทีมจะใช้วิธีประกาศรายชื่อก่อน แล้วค่อยไปเข้าค่ายเก็บตัว แต่ในอดีตพวกเขาใช้วิธีเรียกนักเตะมาซ้อมในค่ายก่อน แล้วค่อยตัดออกทีหลัง
แน่นอนว่าคนที่ถูกตัดออกระหว่างอยู่ในค่ายย่อมเจ็บปวด เพราะเหมือนฟุตบอลโลกที่อยู่ตรงหน้าแค่ไม่กี่ก้าวหายไปในพริบตา และต้องกลับบ้านมาเป็นกองเชียร์แทน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการตัดตัวนักเตะไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ก็สร้างความเจ็บปวดให้คนที่ไม่ได้ไปอยู่ดี แต่คงไม่มีวิธีไหนที่โหดไปกว่า วาเลรี เนปอมเนียชชี ที่ไม่ต่างซีรี่ส์เกาหลีเรื่องดังยุคนี้อย่าง Squid Game ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะมีใครหายออกจากทีมไปเมื่อไหร่ … คุณจะรู้ก็ต่อเมื่อคุณหันซ้ายหันขวาและไม่เห็นเขาคนนั้นอีกเเล้ว
วิธีของกุนซือทีมชาติแคเมอรูน ในฟุตบอลโลก 1990 คือเขาเรียกนักเตะมากลุ่มหนึ่งมาเข้าค่ายเก็บตัวในที่เดียวกัน แต่เมื่อผ่านไปในแต่ละคืนจะมีคนที่ถูกตัดตัวออกไป โดยที่คนอื่นไม่รู้ จนกระทั่งเหลือ 22 คนสุดท้าย
“เรามาถึงเพื่อกินอาหารเช้า และคุณจะเห็นว่า 1-2 ผู้เล่นไม่ได้อยู่ที่นั่น วันต่อมาก็อีกสองคน ผู้เล่นค่อยๆหายไปทีละคน ๆ ” เอ็มมานูเอล มาโบง กองกลางของทีมชุดนั้น ย้อนความหลังกับ The Guardian
“ทุกวันผมพยายามนับ 1, 2, 3 …27 1, 2, 3 … 25 และคุณจะเริ่มรู้ว่าใครบางคนต้องออกไปเมื่อคืน คุณจะพูดมากไม่ได้เพราะว่าพรุ่งนี้อาจจะเป็นคุณ”
“ขณะที่ทุกคนกำลังหลับอยู่ มีคนถูกส่งกลับบ้านตอนกลางดึก จากนั้นเช้าวันหนึ่งตอน 9 โมง เขา (เนปอมเนียชชี) ก็พูดว่า ‘ยินดีด้วย’ และคุณก็รู้ว่าคุณอยู่ใน 22 คนสุดท้าย”
และมันอาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ แคเมอรูน ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในอิตาเลีย 1990 ไม่ว่าจะเป็นการปราบอาร์เจนตินา แชมป์เก่า ที่นำโดย ดิเอโก มาราโดนา ในนัดเปิดสนามหรือ การทะลุเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ซึ่งเป็นทีมแรกของแอฟริกาที่ทำได้
อย่างไรก็ดี บางทีการเลือกนักเตะอาจไม่ได้มาจากโค้ช… เพราะมีคนที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น “เยอะ” อยู่เบื้องหลัง ?
ทีมพระราชทาน
ฟุตบอลโลก 1930 อาจจะเป็นโอกาสสำหรับหลายประเทศ ในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรก หลัง อุรุกวัย เจ้าภาพส่งจดหมายเทียบเชิญไปทั่วโลก แต่ก็มีหลายชาติที่ปฏิเสธ เนื่องจากปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงไทย
แต่สำหรับ โรมาเนีย แม้ว่าพวกเขากำลังอยู่ในช่วงที่วุ่นวายสุดขีด เมื่อเกิดการแย่งชิงอำนาจภายใน ก่อนที่กษัตริย์ คาโรล ที่ 2 จะได้กลับมาผู้ปกครองสูงสุด แต่ขุนพลผีดิบ ก็ยังสามารถส่งจดหมายตอบกลับได้ทันเส้นตาย
และหนึ่งในกำลังสำคัญ ก็คือ กษัตริย์ คาโรล ที่ 2 ที่จะปกครองประเทศได้เพียงแค่ 35 วันก่อนฟุตบอลโลกที่อุรุกวัยจะเริ่มขึ้น หลังประกาศนิรโทษกรรม นักฟุตบอลที่ทำความผิดหรือถูกจับติดคุกก่อนหน้านี้
จากนั้น แทนที่จะไว้ใจ คอสเทล ราดูเลสคู เฮดโค้ชทีมชาติ ในการเลือกนักเตะไปเล่นรอบสุดท้าย ราชาแห่งโรมาเนีย กลับมาเป็นคนเลือกผู้เล่นเอง ว่าใครจะได้ไป 15 คนที่ได้ไปอเมริกาใต้
อย่างไรก็ดี ปัญหาของโรมาเนีย ยังไม่จบ เมื่อผู้เล่นที่ดีที่สุดของทีมชาติในตอนนั้น ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในบริษัทน้ำมันสัญชาติอังกฤษ และเจ้านายของพวกเขา ก็ไม่ยอมให้พวกเขาลางาน 3 เดือน(เนื่องจากเดินทางโดยเรือ) โดยได้รับค่าจ้าง และขู่ว่าใครที่ไปอุรุกวัยกลับมาให้หางานใหม่ได้เลย
ร้อนถึง กษัตริย์ คาโรล ที่ 2 ที่ต้องมาเคลียร์ ด้วยการโทรหาผู้บริหารสูงสุดของบริษัทน้ำมัน และขู่กลับว่าจะสั่งปิดบริษัท แน่นอนว่าสุดท้ายต้นสังกัดของนักเตะโรมาเนียต้องยอม และทำให้พวกเขาได้ไปแข่งในรอบสุดท้ายสมใจ
แม้ว่าสุดท้ายพวกเขา จะไม่สามารถผ่านรอบแรกไปได้ แต่ก็ทำให้โลกได้รู้จักด้วยการเอาชนะ เปรู ในนัดเปิดสนาม 3-1 และนั่นก็เป็น 1 ใน 7 ครั้งที่พวกเขาได้ไปฟุตบอลโลก ทัวร์นาเมนต์ที่ขุนพลผีดิบไม่เคยได้สัมผัสมาตั้งแต่ปี 2002
ปฏิเสธคำสั่งฟาสซิสต์
อันที่จริง โค้ชของโรมาเนียไม่ได้เป็นชาติเดียวที่ไม่ได้เลือกนักเตะด้วยตัวเอง เพราะย้อนกลับไปในอดีต หลายทีมก็มีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของสมาคมฟุตบอลของชาตินั้น ช่วยพิจารณาเลือกนักเตะ หรือแม้แต่เลือกผู้เล่น 11 ตัวจริงลงสนามด้วยซ้ำ
ทว่า วิตโตริโน ปอซโซ กุนซือของอิตาลี ในทศวรรษที่ 1930s ก็เป็นเพียงไม่กี่คนในอดีตที่หนักแน่นในจุดยืนของตัวเอง ว่าเขาจะไม่ยอมให้ใครมาแทรกแซงเด็ดขาด แม้จะเป็นคนของ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำจอมเผด็จการของประเทศในช่วงนั้น
ย้อนกลับไปในยุคดังกล่าว มีข่าวลือว่ารัฐบาลฟาสซิสต์ พยายามกดดันให้ ปอซโซ เลือกนักเตะมาติดทีมชาติเฉพาะคนที่เป็นสมาชิกของพรรคฟาสซิสต์ แต่เขาก็ยืนกรานว่านักเตะที่จะไปฟุตบอลโลก ควรยึดจากพื้นฐานฟุตบอลน่าจะดีกว่า
นอกจากนี้ ปอซโซ ยังให้โอกาสนักเตะที่ไม่ใช่คนอิตาลีแท้ หรือที่เรียกว่า ออริอุนดี ซึ่งเป็นนักเตะต่างชาติที่มีบรรพบุรุษเป็นอิตาลี ที่ดูขัดแย้งกับความคลั่งชาติของลัทธิฟาสซิสต์ (บางทฤมองว่าพวกเขาคือคนอิตาลีโดยสายเลือด)
“ถ้าพวกเขาสามารถตายเพื่อชาติอิตาลี พวกเขาก็เล่นให้ทีมชาติอิตาลีได้” ปอซโซ ตอบโต้คำวิจารณ์ที่เขาเลือกนักเตะออริอุนดีมาติดทีม
มันคือการตัดสินใจที่ถูกต้อง เมื่อแข้งต่างชาติที่ปอซโซ เลือกมาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะไรมุนโด ออร์ซี กองหน้าที่เกิดที่อาร์เจนตินา ที่ยิงไป 3 ประตูและพาอัซซูรี ผงาดคว้าแชมป์โลกสมัยแรกในปี 1934 ก่อนจะมาป้องกันแชมป์ได้อีกครั้งในอีก 4 ปีต่อมา เป็นทีมเดียวและทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำได้
ทั้งนี้ เซอร์ อัลฟ์ แรมซี ก็เป็นอีกคนที่ยืนหยัดในหลักการนี้ ด้วยการวางเงื่อนไขว่า เขาจะขอเป็นคนคุมทีมแบบเต็มตัว ก่อนเข้ารับตำแหน่งในปี 1963 เนื่องจากสมัย วอลเตอร์ วินเทอร์บอทธอม ที่คุมทีมก่อนหน้า มักจะให้คณะกรรมการจาก FA จำนวน 9 คน เป็นผู้เลือกว่าใครจะได้ลงสนาม
และสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้ผู้จัดการทีมหลายคนตามรอยในเวลาต่อมา แต่มันก็มาพร้อมกับความกดดัน ในตอนที่จะบอกลูกทีมที่ไม่ได้ถูกเลือกเช่นกัน
ซ้อมดี… แต่ไว้ปีหน้า
การเลือกนักเตะไปฟุตบอลโลก ไม่ว่าจะชาติเล็กหรือชาติใหญ่ก็ล้วนเป็นเรื่องที่ง่าย โดยเฉพาะชาติที่เป็นต้นกำเนิดของฟุตบอล และมีผู้เล่นฝีเท้าเยี่ยมมากมายอย่าง ทีมชาติอังกฤษ
ทำให้ในปี 1998 เกล็น ฮอดเดิล กุนซือของสิงโตคำรามในยุคนั้น เกิดปิ๊งไอเดีย ด้วยการเรียกนักเตะมาเล่นในทีมชาติอังกฤษบี ในนัดอุ่นเครื่องและหากใครทำผลงานได้ดี ก็อาจจะติดทีมไปเล่นฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส
ซึ่งมันไม่ได้เป็นเรื่องแปลกในยุคนั้น ที่ทีมชาติจะมีทีมสำรอง ไว้เพื่อลองนักเตะ หรือแข้งดาวรุ่ง และถ้าหากใครทำผลงานได้เยี่ยม ก็จะได้เลื่อนขั้นขึ้นไปเล่นในทีมชุดใหญ่ (แต่การเล่นให้ทีมบีจะไม่ถูกนับในสถิติอย่างเป็นทางการของฟีฟ่า)
แมตธิว เลอ ทิสซิเอร์ ตำนานของเซาแธมป์ตัน คือหนึ่งในสมาชิกของทีมบี อันที่จริงเขาติดทีมชาติชุดใหญ่มาตั้งแต่ปี 1994 หลังทำผลงานเด่นกับต้นสังกัด ทว่า มันกลับแตกต่างกับยามสวมเสื้อทีมชาติ ที่เขาไม่เคยระเบิดฟอร์มได้เลย
ทว่า “เลอ ก็อด” ก็ได้รับโอกาสอีกครั้งในเกมที่อังกฤษบี จะพบกับ รัสเซียบี ที่สนามลอฟตัส โรด ในวันที่ 21 เมษายน 1998 ซึ่งนอกจากเขาก็มีผู้เล่นอย่าง เอียน วอร์คเกอร์, เจมี คาร์ราเกอร์, ดาร์เรน แอนเดอร์ตัน, เทรเวอร์ ซินแคลร์ และ เลส เฟอร์ดินาน อยู่ในทีม
“แกอย่าเพิ่งบอกใครนะ แต่ฉันจะไม่เอาแกซซ่า (พอล แกซคอยน์) ไปฟุตบอลโลก ถ้าแกทำได้ดีในวันนี้ แกจะได้รับโอกาสในตำแหน่งนั้น” ฮอดเดิลบอกกับ เลอ ทิสซิเอร์ ก่อนเกม
และ เลอ ทิสซิเอร์ ก็ไม่ทำให้ฮอดเดิลผิดหวัง เขาเล่นได้อย่างโดดเด่น ก่อนจะซัดแฮตทริค ทำคนเดียว 3 ประตูให้อังกฤษบี เอาชนะผู้มาเยือนไปอย่างขาดลอย 4-1 ต่อหน้าแฟนบอล กว่า 5,000 คนในรังเหย้าของควีนพาร์ค เรนเจอร์
อย่างไรก็ดี มันกลับไม่ได้เป็นอย่างที่ เลอ ทิสซิเอร์ คิดไว้ เมื่อสุดท้ายกลายเป็น แอนเดอร์ตัน ที่ได้ตำแหน่งของ พอล แกซคอยน์ ไปลุยฝรั่งเศส ในฐานะ 23 คนสุดท้าย ซึ่งสร้างความผิดหวังให้ดาวเตะจากเซาแธมป์ตัน มาจนถึงปัจจุบัน
“มันตลกเพราะว่าผมมีความรู้สึกที่ปนเปกับมัน ผมอยากเป็นแบบเกล็น ฮอดเดิล สมัยผมยังเด็ก และเขาก็เป็นฮีโรของผม” เลอ ก็อด กล่าวกับ Paddy Power เมื่อปี 2020
“ผมได้ซ้อมกับฮีโรของผมทุกวัน และจากนั้นผมก็ต้องไป ‘โอ้ แต่จำสิ่งที่เกิดขึ้นกับอังกฤษได้ไหม?’ บางครั้งเขาก็ค่อนข้างขี้ขลาดแหละ”
อันที่จริงอาจจะมีวิธีการเลือกนักเตะไปฟุตบอลโลกที่แปลก แต่ไม่ถูกเปิดเผย ซึ่งก็ต้องเคารพในวิธีของเฮดโค้ชแต่ละคน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ กับนักเตะชุดสุดท้ายที่ถูกเลือกมาก็ตาม
เพราะไม่ว่าจะวิธีไหน เฮดโค้ชคือคนที่แบกความหวังและกดดันที่สุด โดยเฉพาะการบอกข่าวร้ายแก่ใครหลายคนที่ไม่ได้ไป
แหล่งอ้างอิง
https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/the-last-england-b-team-beat-626501
https://www.dailyecho.co.uk/sport/772434.le-tiss-was-hat-trick-star-of-last-england-b-game/
https://news.paddypower.com/football-news/2021/02/08/matt-le-tissier-glenn-hoddle-southampton-was-hero-and-a-bit-of-a-twt/
https://www.theguardian.com/football/the-set-pieces-blog/2022/nov/10/history-world-cup-squad-picks-king-romania-gazza
https://www.fifa.com/news/romania-football-crazy-king-2052077
https://www.washingtonpost.com/archive/sports/1998/06/10/france-the-home-team/b60cd36d-9e77-4621-8f28-4c2fedca2cf6/
https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/the-last-england-b-team-beat-626501
https://blogs.dickinson.edu/italian-diaspora/calciatori-oriundi/oriundi-players/
http://www.englandfootballonline.com/matchrsl/MatchRslTmB.html