สร้างและรวมซ่อม : 10 สนามฟุตบอลความจุสูงและใช้งบไม่ถึง 1.2 หมื่นล้านในอาเซียน

สร้างและรวมซ่อม : 10 สนามฟุตบอลความจุสูงและใช้งบไม่ถึง 1.2 หมื่นล้านในอาเซียน
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

หลังจากมีข่าวจากทางการกีฬาแห่งประเทศไทยว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการเสนอโครงการปรับปรุงพื้นที่สนามราชมังคลากีฬาสถานและอัพเกรดพื้นที่ใช้สอยโดยรอบ ให้กลายเป็น สปอร์ต คอมเพล็กซ์ แบบครบวงจร ด้วยงบประมาณราว 12,000 ล้านบาท ซึ่งต้องหาบริษัทเอกชนมาประมูลโปรเจ็คท์เพื่อร่วมทุนกันต่อไป

PHOTO : Matichon

แฟนบอลชาวไทยส่วนใหญ่ มองว่างบประมาณตรงส่วนนี้อาจดูมหาศาล ทั้งที่เป็นแค่การปรับปรุงพื้นที่เดิม แล้วมีแนวคิดเอนเอียงไปทางการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ คงจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งสุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณว่าเพียงพอหรือไม่?

PHOTO : thelist.group

ทีมงาน Think Curve - คิดไซด์โค้ง จึงได้รวบรวมข้อมูลสนามระดับท็อปเรื่องความจุในย่านอาเซียน พร้อมกับรายละเอียดงบประมาณการก่อสร้างคร่าวๆ ที่เปิดเผยออกมา 10 สนาม มาให้แฟนๆ ได้ดูกันว่า สนามที่ใช้งบต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท จะได้หน้าตาออกมาแบบไหน?

PHOTO : Sportmatik

บูกิต จาลิล เนชั่นแนล สเตเดี้ยม

สนามกีฬาแห่งชาติของมาเลเซีย ที่ตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ สร้างขึ้นในปี 1995 เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬา คอมมอนเวลท์ เกมส์ ในปี 1998 เป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในแถบอาเซียน และเป็นอันดับสองของทวีปเอเชีย สามารถจุผู้ชมได้ถึง 87,411 คนโดยประมาณ ใช้งบประมาณก่อสร้างไปทั้งสิ้น 1.34 พันล้านริงกิตมาเลเซีย หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 10,103 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน)

คลิปอธิบายเกี่ยวกับสนาม จาการ์ตา อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม

จาการ์ตา อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม

สนามกีฬาแห่งชาติที่เพิ่งสร้างใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย ที่เมืองจาการ์ตา ใช้เวลาสร้างประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2019-2022 เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมปีก่อน มีความจุราว 82,000 คนโดยประมาณ จุดเด่นอยู่ที่การออกแบบหลังคาแบบเปิด-ปิดได้ แบบเดียวกับ อัมสเตอร์ดัม อารีน่า ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้งบประมาณก่อสร้างไปทั้งสิ้น 312 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 10,698 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน)

PHOTO : Asean Football

ชาห์ อาลัม สเตเดี้ยม

สนามกีฬาที่ตั้งอยู่ในเมืองเซลังกอร์ ประเทศมาเลเซีย สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1990 แล้วเสร็จในปี 1994 ด้วยงบประมาณก้อนแรก 480 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 3,619 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ก่อนที่จะมีแผนปรับปรุงสนามในปี 2023 ด้วยการใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 787 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 5,933 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ซึ่งจะทำให้สามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 80,372 คน

PHOTO : Tripadvisor

เกลอร่า บังการ์โน สเตเดี้ยม (สนามเสนายันเดิม)

สนามแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1958 ด้วยงบประมาณราว 12.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 428 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ก่อนจะมีการปรับปรุงในปี 2016-2018 ใช้งบประมาณเพิ่มเติมไปอีกราว 7.69 แสนล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 1,770 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) สามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 77,193 คน แต่เคยมีการบันทึกสูงสุดว่ามีผู้ชมเข้าไปสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 150,000 คน

PHOTO : Stadiumdb

มรดก เตโช สเตเดี้ยม

สนามกีฬาแห่งชาติมรดกเตโช ตั้งอยู่ที่ชานกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2560 ด้วยงบประมาณราว 6,500 ล้านบาท ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศจีนอีกด้วย ออกแบบให้มีรูปร่างคล้ายเรือสำเภาเพื่อระลึกถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ มีโครงสร้างหัวเรือที่โดดเด่นถึง 99 เมตร ประดับประดาด้วยลายดอกลำดวนที่เป็นดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชา ความจุผู้ชมที่ระบุไว้สูงสุด คือ 75,000 ที่นั่ง แต่มีช่องทางระบายคนออกจากสนามได้มากมาย ด้วยการใช้เวลาราว 7 นาทีเท่านั้น

คลิปเกี่ยวกับบรรยากาศโดยรอบหลังปรับปรุงของ พนมเปญ เนชั่นแนล โอลิมปิก สเตเดี้ยม

พนมเปญ เนชั่นแนล โอลิมปิก สเตเดี้ยม

ตั้งอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา สร้างขึ้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายในการรองรับการจัดกีฬา ซีเกมส์ ในช่วงปี 1963 แต่เนื่องด้วยปัญหาทางการเมืองทำให้มีการยกเลิกกันไป เริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 1964 ใช้งบประมาณในการสร้างเบื้องต้นมาจากรัฐบาลออกทุน ซึ่งมีการอ้างอิงจากงานวิจัยว่า งบส่วนนี้อาจมาจากภาษีของประชาชนที่จ่ายให้กับสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ไฮศกรีม และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราว 30 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 1,028 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ก่อนจะมีการเปิดโปรเจ็คท์ปรับปรุงสนามในช่วงปี 2000 ที่รัฐบาลเปิดเผยงบคร่าวๆ ออกมาที่ 40 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 1,489 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) จากข้อมูลอ้างอิงล่าสุดระบุว่าความจุผู้ชมสูงสุดอยู่ที่ราว 70,000 คน

PHOTO : Football Tripper

เกิ่น เทอ สเตเดี้ยม

สนามแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองเกิ่น เทอ ประเทศเวียดนาม สร้างขึ้นในปี 1950 ใช้เวลาแล้วเสร็จประมาณ 3 ปี ด้วยงบประมาณตั้งต้น 80,000 ล้านดอง หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 112 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ก่อนจะมีการปรับปรุงรอบแรกในปี 1998 แต่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยเรื่องงบประมาณ ต่อด้วยการปรับปรุงรอบที่สองในปี 2016 ที่ใช้งบไปราว 17,000 ล้านดอง หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 23.8 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ความจุผู้ชมสูงสุดอยู่ที่ราว 50,000 คน

วิดีโอภาพจากมุมสูงของสนาม สุลต่าน ไมซาน ไซนาล อบิดิน สเตเดี้ยม

สุลต่าน ไมซาน ไซนาล อบิดิน สเตเดี้ยม

สนามแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองตรังกานู ประเทศมาเลเซีย เริ่มสร้างขึ้นในปี 2005 แล้วเสร็จปี 2008 ด้วยการแบ่งงบประมาณออกเป็นสองส่วน คือ สนามฟุตบอลใช้งบ 270 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 2,035 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) และในส่วนของสปอร์ตคอมเพล็กซ์พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อีก 452 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 3,408 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ภายหลังมีการปรับปรุงเพิ่มเติมอีก 3 ครั้งในปี 2009, 2014-2015 และ 2018 รวมแล้วใช้งบเพิ่มเติมไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 754 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ความจุโดยประมาณอยู่ที่ราว 50,000 คน

PHOTO : Stadiums.football

มากูโวฮาร์โจ สเตเดี้ยม

สนามแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แล้วเคยใช้เป็นสังเวียนการแข่งขันสำหรับฟุตบอลเยาวชนหลายรายการ สร้างขึ้นในปี 2005 แล้วเสร็จในปี 2007 ด้วยงบประมาณราว 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 3,427 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ยังไม่มีรายงานเรื่องของการปรับปรุงสนามหลังจากเปิดใช้งาน โดยมีความจุผู้ชมได้สูงสุดที่ราว 50,000 คน รูปแบบการสร้างนั้นอ้างอิงมาจากสนาม ซาน ซิโร่ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

PHOTO : Datra Internusa

เกลอร่า บุง โตโม สเตเดี้ยม

เป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ ที่ตั้งอยู่ที่เมือง ซูราบาย่า ประเทศอินโดนีเซีย มีทั้งสนามฟุตบอลและสนามกีฬาแบบอินดอร์ ตามแนวคิด สปอร์ต คอมเพล็กซ์ เริ่มสร้างเมื่อปี 2008 แล้วเสร็จในปี 2010 ด้วยงบประมาณตั้งต้น 5 แสนล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 1,150 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุง 1 ครั้งในระหว่างปี 2019-2020 ใช้งบประมาณเพิ่มเติมไปราว 1 แสนล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือตีเป็นเงินไทยออกมาได้ราว 230 ล้านบาท (อัตราการแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) มีความจุผู้ชมสูงสุดที่ประมาณ 45,000 คน

ภาพมุมสูงของสนามราชมังคลากีฬาสถาน

อย่างไรก็ตามสนามกีฬาฟุตบอล ไม่สามารถวัดเรื่องของงบประมาณการก่อสร้างจากแค่เรื่องขอความจุผู้ชมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานขององค์กรฟุตบอลระดับสากล เพื่อใช้แข่งขันในรายการอย่างเป็นทางการได้จริง

ข้อมูลในส่วนนี้เป็นเพียงแค่งบประมาณก่อสร้างเบื้องต้น รวมกับงบในการปรับปรุงสนามที่เปิดเผยออกมา ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในเรื่องของการซื้อที่ดิน หรือการอัพเกรดสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ เช่น การคมนาคม เป็นต้น ซึ่งทางคณะกรรมการของการกีฬาแห่งประเทศไทย อาจต้องพิจารณากันอีกหลายภาคส่วน ก่อนที่จะดำเนินงานให้แล้วเสร็จต่อไป


แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Southeast_Asia_stadiums_by_capacity

https://en.wikipedia.org/wiki/Bukit_Jalil_National_Stadium

https://en.wikipedia.org/wiki/Jakarta_International_Stadium

https://en.wikipedia.org/wiki/Shah_Alam_Stadium

https://en.wikipedia.org/wiki/Gelora_Bung_Karno_Stadium

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1066693

https://journals.openedition.org/abe/11019?lang=en

https://www.phnompenhpost.com/national/stadium-dream-becomes-public-nightmare

https://en.wikipedia.org/wiki/C%E1%BA%A7n_Th%C6%A1_Stadium

https://www.studocu.com/my/document/universiti-teknologi-mara-puncak-alam/enggineering/toaz/15889429

https://www.malaymail.com/news/malaysia/2014/04/15/rm100m-to-repair-sultan-mizan-zainal-abidin-stadium-says-state-chairman/653111

https://footballtripper.com/indonesia/maguwoharjo-stadium/

https://en.wikipedia.org/wiki/Gelora_Bung_Tomo_Stadium

บทความที่เกี่ยวข้อง :

จากมุมมองคณบดีสถาปัตย์ : งบ 1.2 หมื่นล้านบาทซ่อมราชมังฯ หรือสร้างใหม่ดีกว่ากัน ?

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ