Outside In : สื่อต่างชาติพูดถึง 3 แข้งไทยในแมนฯ ซิตี้ ยุค ‘ทักษิณ’ ไว้อย่างไร?
“ประธานคนใหม่ของเราเริ่มเล่นการเมืองกับสโมสรของเรา ผมเบะปากตอนที่อ่านข่าวว่า ซิตี้ กำลังทดสอบฝีเท้านักเตะดาวรุ่งชาวไทย สุรีย์ สุขะ, เกียรติประวุฒิ สายแวว และ ธีรศิลป์ แดงดา” นิโคลัส ฟาร์เรลลี กล่าวในบทความ Own goals at Manchester City?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 ฟุตบอลไทย ถูกพูดถึงไปทั่วโลก หลัง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สโมสรในพรีเมียร์ลีกประกาศเซ็นสัญญา สุรีย์ สุขะ, ธีรศิลป์ แดงดา และเกียรติประวุฒิ สายแวว สามแข้งสายเลือดไทยพร้อมกัน
อย่างไรก็ดี การเซ็นสัญญากับพวกเขาครั้งนั้น กลับถูกมองว่าเป็นการเซ็นสัญญาเชิงการเมือง เมื่อเจ้าของสโมสรเรือใบสีฟ้าในขณะนั้นคือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย
เกิดอะไรขึ้นบ้างในตอนนั้น? ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Outside In ของ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้ที่นี่
ความฝันของแฟนบอลไทย
ด้วยความที่วงการฟุตบอลไทย ได้รับอิทธิพลไม่น้อยจากชาติตะวันตก ทำให้หนึ่งในความฝันของแฟนบอลไทยหลายคน คืออยากจะเห็นแข้งสายเลือดไทย โลดแล่นอยู่ในลีกยุโรป เหมือนกับมหาอำนาจของเอเชีย อย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลี
และในปี 2008 แฟนบอลไทยก็มีความหวังอีกครั้ง เมื่อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ตอนนั้นมีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ประกาศเซ็นสัญญา สุรีย์ สุขะ, ธีรศิลป์ แดงดา และเกียรติประวุฒิ สายแวว สามแข้งสายเลือดไทยมาร่วมทัพ 3 คนรวด
“ผมตั้งใจที่จะเพิ่มฐานแฟนบอลของสโมสรด้วยการเข้าถึงแฟนแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ไม่ใช่แค่ในเอเชีย แต่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จีน และประเทศไทย บ้านเกิดของผม” ทักษิณ กล่าวผ่าน เว็บไซต์ อย่างเป็นทางการของสโมสร
ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น ที่ตื่นเต้นไปการเซ็นสัญญาของพวกเขา แต่มันยังสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก โดยเฉพาะการที่ทีมในพรีเมียร์ลีก คว้าตัวผู้เล่นจากชาติที่รั้งอยู่ในอันดับ 122 ของโลก ในขณะนั้น
“สตาร์ทีมชาติไทย จะย้ายมาร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกขับไล่ออกจากประเทศเป็นเจ้าของ พวกเขาจะกลายเป็นนักเตะไทยคนแรกที่ได้เล่นในพรีเมียร์ลีก” รายงานจาก new24.com
ขณะเดียวกัน มันยังถูกมองว่าอาจจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากในตอนนั้น ทักษิณ เพิ่งจะถูกกองทัพรัฐประหารยึดอำนาจมาเมื่อปี 2006 พร้อมถูกออกหมายจับในคดีทุจริตหลายคดี ที่ทำให้เขาเลือกที่จะไม่กลับเข้าประเทศ แต่หลายฝ่ายก็ออกมาปฏิเสธในเรื่องนี้
“ผมเชื่อมั่นในตัวเอง ผมเชื่อว่าผมทำได้ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง” สุรีย์ กล่าวในวันเซ็นสัญญากับ แมนฯ ซิตี้
“มันเป็นเรื่องที่เยี่ยมยอดที่แข้งชาวไทยมีโอกาสครั้งนี้ ผมจะทำผลงานให้ดีที่ซิตี้ ทักษิณคือเจ้าของทีม และเขาบอกว่าเขาอยากพัฒนาวงการฟุตบอลไทย มันจึงไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ”
เช่นกันกับ ชาญวิทย์ ผลชีวิน กุนซือทีมชาติไทยในตอนนั้น ก็มองว่าคนที่เลือก 3 แข้งไทย โดยเฉพาะสุรีย์ ที่โดดเด่นในเอเชียนคัพ 2007 มาอยู่ในทีม คือสเวน-โกรัน อีริคส์สัน ผู้จัดการทีมแมนฯ ซิตี้ ไม่ใช่จากเจ้าของทีมชาวไทย
“ผมเห็นฟอร์มในการทดสอบฝีเท้าของสุรีย์ ที่แมนเชสเตอร์ และเขาก็ยอดเยี่ยม สเวนก็ประทับใจ ผมเชื่อว่านี่เป็นการตัดสินใจของสเวน ไม่ใช่ทักษิณ” ชาญวิทย์ กล่าวเมื่อปี 2008
“ผมคิดว่าสุรีย์ทำได้ เพราะว่าซิตี้กำลังมีปัญหาในตำแหน่งแบ็คขวา และเขาก็จะช่วยทีมได้มาก”
อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงกลับโหดร้ายกว่านั้น
เครื่องมือทางการเมืองของทักษิณ?
แม้ว่าการเซ็นสัญญากับ 3 แข้งไทย จะสร้างความตื่นเต้นแก่วงการฟุตบอลแดนสยาม แต่ที่อังกฤษพวกเขามองดีลนี้ด้วยความแคลงใจ โดยเฉพาะคุณภาพฝีเท้าของนักเตะชาวไทย ที่ยังไม่ดีพอสำหรับพรีเมียร์ลีก
หนึ่งในคนที่ออกมาโจมตีในเรื่องนี้ตั้งแต่ที่ แมนฯ ซิตี้ มีข่าวกับแข้งไทยก็คือ นิโคลัส ฟาร์เรลลี ศาสตราจารย์ด้านสังคมศึกษาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของไทย เมียนมาร์ จีน และอินเดีย และเป็นแฟนเดนตายของเรือใบสีฟ้า
“ประธานคนใหม่ของเราเริ่มเล่นการเมืองกับสโมสรของเรา ผมเบะปากตอนที่อ่านข่าวว่า ซิตี้ กำลังทดสอบฝีเท้านักเตะดาวรุ่งชาวไทย สุรีย์ สุขะ, เกียรติประวุฒิ สายแวว และ ธีรศิลป์ แดงดา” ฟาร์เรลลี่ กล่าวในบทความ Own goals at Manchester City?
“ผมไม่ได้มีปัญหากับคนไทยที่เป็นตัวแทนของซิตี้ ตราบใดที่เขาดีพอ และได้รับคัดเลือก”
“ในสามคน สุรีย์ ดูจะมีอนาคตไกลที่สุด หลังทำผลงานได้ดีในเอเชียนคัพ แต่ ซิตี้ มีเครือข่ายแมวมองที่กว้างไกล และทำผลงานได้ดีในเอเชียนคัพ มันจึงแปลกที่พวกเขาไม่แนะนำสุรีย์ให้ซิตี้ ทำไมอีกสองคนอยู่ในแมนเชสเตอร์ จึงไม่มีใครคาดเดาได้”
“จากที่ทักษิณ เริ่มหมดหวังมากขึ้นในการรักษาสถานภาพทางการเมืองที่เริ่มเลือนลางลงไปในทำ เขาจะทำทุกอย่าง ทุกอย่างจริงๆ เพื่อเพิ่มความนิยมในบ้านเกิดของเขา”
นอกจากนี้ ฟาร์เรลลี่ ยังยังตั้งข้อสังเกตุว่า อาจจะไม่มีใครในทีมสต้าฟ หรือฝ่ายจัดการของ แมนฯ ซิตี้ ที่รู้เรื่องแผนการเซ็นสัญญากับ สุรีย์, ธีรศิลป์ และเกียรติประวุฒิ มาก่อน
“และที่สำคัญอย่างจริง มีข้อสังเกตุว่าไม่มีความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับ สุรีย์ หรือแข้งชาวไทย จากทีมบริหาร หรือสต้าฟของซิตี้อีกด้วย” ฟาร์เรลลี่ กล่าวต่อ
ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ Daily Mail ในภายหลังว่า ผู้จัดการทีมอย่าง สเวน ก็ไม่ได้มีตัวเลือกมากสำหรับดีลในครั้งนี้ และจำเป็นต้องตามใจเจ้าของทีม
“เมื่อ 3 นักเตะไทยที่ดูจะได้ความหวังมาถึงแบบไร้ค่าตัว เพื่อให้ชินวัตร มีพื้นที่อยู่ในบทความในบ้านเกิด ในการเลือกตั้งก่อนวันคริสมาสต์ (ในปี 2007) อีริคส์สัน จึงไม่มีตัวเลือกนอกจากเล่นเกมตามไป” รายงานของ Daily Mail
“ไม่มีใครแทบจะมีหวังในการเล่นที่อังกฤษ แต่ทักษิณ ก็ดึงพวกเขามาสโมสรมายังห้องเพรสซิเดนทัล ซูท ในโรงแรมฮิลตัน ในวันที่พวกเขาเซ็นสัญญา และมอบเงินต้อนรับหลายพันปอนด์ให้กับทั้งสามคนเป็นการส่วนตัว”
และสุดท้ายจึงน่าเศร้าที่ไม่มีใครได้ลงเล่นให้ แมนฯ ซิตี้ ในเกมอย่างเป็นทางการแม้แต่นัดเดียว เนื่องจากไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน แถมตอนส่งไปให้สโมสรในลีกสวิส และเบลเยียม ยืมตัวไปใช้งาน พวกเขายังไม่ดีพอที่จะลงเล่นในทีมตัวจริงของสโมสรด้วยซ้ำ
“ครั้งเดียวที่ทั้งสามคนสวมเสื้อเแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เกิดขึ้นหลังจบฤดูกาล 2007-2008 ตอนที่พวกเขาลุกมาจากม้านั่งสำรองในเกมกระชับมิตรหลังจบฤดูกาลกับทีมไทยลีก ออลสตาร์ XI ที่ซิตี้พ่ายไป 3-1 และแดงดา ก็ยิงประตูไม่ได้” รายงานจาก Planet Football
และทำให้การลงเล่นในพรีเมียร์ลีกของแข้งสายเลือดไทย ยังเป็นแค่ความฝันต่อไป
ส่วนเกินของทีม
ด้วยสถานะทางการเงินที่ฝืดเคือง ของทักษิณ หลังถูกศาลไทยสั่งอายัดทรัพย์ มูลค่ากว่า 65,000 ล้านบาท ที่ถึงขั้นต้องยืมเงิน จอห์น วอร์ดเดิล อดีตประธานสโมสร แมนฯซิตี้ มาจ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะ ทำให้ก่อนฤดูกาล 2008-2009 จะเริ่มขึ้นเขาตัดสินใจขายสโมสรให้กับ อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป
และมันก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนของแข้งไทยในแมนฯซิตี้ อย่าง สุรีย์, ธีรศิลป์ และเกียรติประวุฒิ เมื่อทั้งสามถูกโละทิ้งออกจากทีมในเดือนตุลาคม 2008 หรือราว 1 เดือนหลังทักษิณ ขายทีมให้กลุ่มทุนจากยูเออี
“สุดท้ายซิตี้ก็ตัดสัมพันํธ์กับคนไทยภายใต้ระบอบของชินวัตร ด้วยการโละทิ้ง 3 แข้งที่ถูกเซ็นเข้ามาด้วยเหตุผลทางการเมือง” พาดหัวข่าวในเว็บไซต์ของ Daily Mail เมื่อปี 2008
“สุรีย์ สุขะ, ธีรศิลป์ แดงดา และเกียรติประวุฒิ สายแวว ถูกซิตี้เซ็นสัญญามาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีซึ่งเป็นเจ้าของทีมในตอนนั้น ใน 4 สัปดาห์ก่อนที่พรรคของเขาได้รับเลือกในบ้านเกิด”
ขณะที่ตัวแทนของเรือใบสีฟ้าในไทยระบุว่าเหตุผลสำคัญเป็นเพราะทั้งสามคนไม่ได้ใบอนุญาตทำงาน และการเปลี่ยนเจ้าของใหม่ ก็มีผลในเรื่องนี้ไม่น้อย
“ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าสัญญาของผู้เล่นทั้งสามถูกยกเลิก” จิมมี่ แห้วสันติ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (ประเทศไทย) ยอมรับ
“เราพยายามอย่างเต็มที่ แต่เราไม่ได้ใบอนุญาตทำงานสำหรับพวกเขา”
แต่ถึงอย่างนั้น ในมุมมองของคนต่างชาติ หรือแม้กระทั่งนักเตะของ แมนฯ ซิตี้ บางคนก็มองว่าการเซ็นสัญญากับแข้งชาวไทยในตอนนั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะไม่ว่าจะชาติไหนก็อยากให้บ้านเกิดของตัวเองแข็งแกร่งขึ้นด้วยกันทั้งนั้น
“เมื่อคนแบบนั้นเข้ามาดูแลสโมสร พวกเขาจะพยายามทำให้นักเตะจากชาติพวกเขาแข็งแกร่งขึ้น และผมก็คิดว่านั่นคือเหตุผลที่เขาเซ็นผู้เล่นมาจากประเทศไทย” ฆาเบียร์ การ์ริโด อดีตกองหลังแมนฯซิตี้ ในยุคทักษิณ กล่าวกับ ITV เมื่อปี 2017
และอย่างน้อย มันก็ทำให้ชื่อของทั้งสามคนถูกพูดถึงในทั่วโลก และรับรู้ว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน ก่อนที่เลสเตอร์ ซิตี้ จะสร้างปรากฎการณ์ “จิ้งจอกสยาม” ในอีกไม่กี่ปีต่อมา
https://www.worldsoccer.com/world-soccer-latest/man-city-to-sign-3-thai-players-155062
https://www.news24.com/sport/thai-player-to-join-thaksins-man-city-20080909