สื่อวิเคราะห์ ทำไม ญี่ปุ่น เชิญทีมชาติไทยที่ “ระดับต่ำกว่า” มาอุ่นเครื่องในวันปีใหม่?

สื่อวิเคราะห์ ทำไม ญี่ปุ่น เชิญทีมชาติไทยที่ “ระดับต่ำกว่า” มาอุ่นเครื่องในวันปีใหม่?
มฤคย์ ตันนิยม

อย่างเป็นทางการไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับนัดกระชับมิตรของ “ช้างศึก” ทีมชาติไทย หลังได้รับเชิญให้ไปอุ่นเครื่องก่อนศึกเอเชียนคัพ 2023 ถึงญี่ปุ่น ในวันที่ 1 มกราคมที่จะถึงนี้

สำหรับแฟนบอลชาวไทย นี่คือการแข่งขันที่หลายคนรอคอย ที่ทีมชาติของเรา จะได้ลับฝีเท้ากับยอดทีมอย่าง ญี่ปุ่น ทว่า กลับกันกับฝั่งญี่ปุ่น ที่สื่อออกมาตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงเชิญที่ “ระดับต่ำกว่า” มาลับฝีเท้าก่อนทัวร์นาเมนต์สำคัญ

พวกเขาวิเคราะห์ไว้แบบไหน และคิดอย่างไรกับเกมนัดนี้ ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ลับแข้งก่อนเอเชียนคัพ

สำหรับเกมกระชับมิตรระหว่างทีมชาติไทย และทีมชาติญี่ปุ่น ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2024 กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถถึง โดยเฉพาะสื่อญี่ปุ่น เนื่องจาก ซามูไรบลู ไม่เคยลงเล่นในวันขึ้นปีใหม่มาก่อนในประวัติศาสตร์

หนึ่งในนั้นคือ RONSPO สื่อกีฬาของแดนอาทิตย์อุทัย ที่ออกมาตั้งคำถาม พร้อมกับวิเคราะห์ว่าเหตุใด ญี่ปุ่น จึงเลือกไทย มาเป็นคู่ต่อกรในเกมนี้ ทั้งที่มีอันดับโลกที่ห่างกันอย่างลิบลับ

“เพราะเหตุใด? เหตุผลที่เกมกระชับมิตรระหว่างทีมชาติญี่ปุ่นของโมริยาสุ ที่ไม่สามารถเรียกตัวผู้เล่นในต่างแดนจาก มิโตมะ และคุโบะ และไทยที่ ‘ระดับต่ำกว่า’” พาดหัวของ RONSPO

พวกเขามองว่า ตอนนี้ญี่ปุ่นรั้งเบอร์ 1 ของเอเชีย และอันดับ 19 ของโลก ส่วนไทยอยู่อันดับ 112 ของโลก ที่ต่างกันกว่า 90 อันดับ แถมสถิติการเจอกัน ซามูไรบลู ยังกินขาด ด้วยชัยชนะ 16 นัด เสมอ 4 นัด และ แพ้เพียง 2 เกม

Photo : AFP

แต่ที่ทีมชาติญี่ปุ่น จำเป็นต้องมีนัดอุ่นเครื่องครั้งนี้ ก็เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ เอเชียนคัพ 2023 ที่จะจัดขึ้นในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเขามักจะมีปัญหาในการออกสตาร์ททัวร์นาเมนต์มาตลอด

ยกตัวอย่างเช่น เอเชียนคัพ 2011 ที่กาตาร์ ญี่ปุ่นก็เปิดสนามด้วยการเสมอกับจอร์แดน 1-1 หรือครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 ที่ออสเตรเลีย ที่แม้จะเอาชนะเติร์กเมนิสถานไปได้ 3-2 แต่ก็หืดจับ หลังโดนนำไปก่อน 1-0 ในครึ่งแรก

พวกเขาหวังจะใช้เกมนี้ เป็นเกมเคาะสนิม หลังจากเจลีกเป็นฤดูกาลไปเป็นที่เรียบร้อย ขณะเดียวกันก็จะเป็นบททดสอบที่ดีในการเจอกับทีมจากอาเซียน หลังซามูไรบลู ต้องโคจรมาพบกับเวียดนามในศึกเอเชียนคัพ รอบแบ่งกลุ่ม

Photo : AFP

“เหตุผลก็คือพวกเขาต้องเผชิญกับสภาวะขาดสัญชาติญานในการแข่งขัน โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่าเจลีกปิดฤดูกาลไปแล้ว” บทความอธิบาย

“หลังจากพัฒนาความรู้สึกในการต่อสู้ที่แท้จริงในเกมกับไทย ซึ่งเอาไว้ทดสอบขั้นสุดท้าย ที่กาตาร์พวกเขาจะได้เจอกับทีมจากเอเชียที่เน้นตั้งรับ อย่าง เวียดนาม ที่มีฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ อดีตผู้จัดการทีมชาติญี่ปุ่น ในรอบแบ่งกลุ่ม วันที่ 14 มกราคม”

แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ JFA เลือกเตะกับไทยในวันปีใหม่

แหล่งรายได้

1 มกราคม อาจจะเป็นแค่วันขึ้นปีใหม่ สำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับวงการฟุตบอลญี่ปุ่น มันคือวันสำคัญของพวกเขา ในฐานะวันดูฟุตบอลแห่งชาติ จากการที่นัดชิงชนะเลิศ ถ้วยจักรพรรดิ จัดขึ้นในวันนี้เป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ปี 1968

“ผมหวังว่าประชาชน 1 เปอร์เซ็นต์ที่ไปขอพรที่ศาลเจ้าในวันปีใหม่ จะมาสนามกีฬาแห่งชาติในระหว่างทางกลับบ้าน” บอร์ดบริหารของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ในตอนนั้นอธิบาย

แม้ว่านับตั้งแต่ปี 2021 JFA จะย้ายนัดชิงชนะเลิศเอ็มเพอร์เรอร์สคัพมาเป็นวันอื่น แต่ความสนใจในการชมฟุตบอลในวันปีใหม่ ก็ยังคงอยู่ เห็นได้จากเกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลมหาวิทยาลัย ชิงแชมป์แห่งชาติ เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา มียอดผู้ชมสูงถึง 12,481 คน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ RONSPO มองว่าการที่เกมกระชับมิตรระหว่างทีมชาติไทย และทีมชาติญี่ปุ่น ถูกจัดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม เป็นเพราะ JFA เล็งว่านี่คือโอกาสสำคัญในการหารายได้เสริมให้สมาคมฯ

Photo : FIFA

“แฟนบอลจำนวนมากอยากดูฟุตบอลในวันปีใหม่ และมันน่าจะดึงดูดแฟนบอลและสร้างรายได้ ได้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการสนับสนุนที่จะจัดเกมกระชับมิตรระดับนานาชาติในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน” บทความระบุ

เนื่องจากตอนนี้ ซามูไรบลู ภายใต้การนำทัพของ ฮาจิเมะ โมริยาสุ กำลังทำผลงานได้อย่างร้อนแรง ไม่รู้จักกับความปราชัยมา 6 เกมติดต่อกัน แถมหนึ่งในนั้นยังเป็นการถล่มเอาชนะเยอรมัน ยอดทีมของโลกไปอย่างขาดลอย 4-1

RONSPO เสริมว่า JFA น่าจะคิดว่าฟอร์มการเล่นเช่นนี้ น่าจะดึงดูดแฟนบอลเข้ามาชมเกมได้เป็นจำนวนมาก และอาจจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่พวกเขา หลังมีปัญหาทางการเงินจนต้องขายตึกที่ทำการสมาคมฯ

“การแข่งขันนัดกระชับมิตรที่จัดขึ้นในญี่ปุ่น ได้รับการคาดหมายว่าจะทำเงินเป็นล้านๆ จากค่าเข้าชมการแข่งขัน ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด สินค้าและของที่ระลึก ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักของ JFA” RONSPO กล่าว

อย่างไรก็ดี ทีมชาติญี่ปุ่น อาจจะต้องเผชิญปัญหาใหญ่ เมื่ออาจจะไม่สามารถเรียกนักเตะที่เล่นอยู่ในยุโรปมาร่วมทัพได้ เนื่องจากการแข่งขันไม่ได้อยู่ในตารางฟีฟ่าเดย์

ไม่ว่าจะเป็น คาโอรุ มิโตมะ (ไบรท์ตัน), วาตารุ เอ็นโด (ลิเวอร์พูล) และ ทาเคฮิโร โทมิยาสุ (อาร์เซนอล) จากพรีเมียร์ลีก ที่ยังมีการแข่งขันในช่วงบ็อกซิ่งเดย์ เช่นกันกับ ทาเคฟุสะ คุโบะ (เรอัล โซเซียดัด) หรือแม้แต่แข้งจากลีกอื่นอย่าง บุนเดสลีกา ที่พักหนีหนาว ก็ต้องอาจเจรจาเป็นรายบุคคล

Photo : AFP

"ผมคิดแผนไว้หลายอย่าง สำหรับเกมอุ่นเครื่องกับ ทีมชาติไทย ในวันที่ 1 มกราคม 2024 เบื้องต้นการเรียกนักเตะทั้ง 23 คน มาลงเล่นเกมนี้คงเป็นไปไม่ได้" ฮาจิเมะ โมริยาสุ กุนซือทีมชาติกล่าว

"ผมกำลังคิดอยู่ว่า เราจะเรียกนักเตะที่เคยติดทีมชาติในอดีต หรือ เราจะเรียกนักเตะที่คิดว่าเป็นอนาคตของทีมชาติดี ? ซึ่งตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น"

ด้วยเหตุนี้ RONSPO ตั้งคำถามว่าเกมกระชับมิตรนัดนี้จะมีประโยชน์แค่ไหน ในเมื่อเกมกับทีมชาติไทย และในเอเชียนคัพ 2023 ที่กาตาร์ อาจจะเป็นผู้เล่นคนละชุดกัน

“แม้ว่าผู้เล่นจากเจลีก จะได้รับการคาดหวังว่าจะได้ฟื้นสัญชาติญาณในการแข่งขัน หลังปิดฤดูกาล แต่มีผู้เล่นในประเทศเพียงแค่ 4 คนที่ถูกเรียกติดทีมชาติในเกมกระชับมิตรเมื่อเดือนกันยายนและตุลาคม” RONSPO ระบุ

“เชื่อว่าผู้เล่นส่วนใหญ่ใน 23 คนชุด เอเชียนคัพ จะเป็นผู้เล่นจากยุโรป”

ญี่ปุ่นไม่ฟูลทีม : โมริยาสุ รับเกมดวล ไทย คงได้นักเตะชุดที่ดีที่สุดไม่ครบ
ทีมชาติไทย ได้รับโอกาสทองที่จะได้ดวลแข้งกับทีมเบอร์หนึ่งของทวีปอย่าง ญี่ปุ่น หลังสมาคมฟุตบอลทั้งสองประเทศ บรรลุข้อตกลงกันที่จะเล่นเกมอุ่นเครื่องในวันที่ 1 มกราคม 2024 ก่อนไปลุยศึกเอเชียนคัพ ที่ประเทศกาตาร์

ก็ต้องมารอดูว่าสุดท้ายแล้วจะออกมาในรูปแบบไหน ญี่ปุ่น จะใช้แข้งจากเจลีกยกชุด หรือชุดผสม แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สำหรับทีมชาติไทย นี่คือบททดสอบสำคัญสำหรับ “ช้างศึก” ของเราอย่างแน่นอน

แหล่งอ้างอิง

https://news.yahoo.co.jp/articles/b90a10d16749535a318d9d9e7be4f175301eee84

https://news.yahoo.co.jp/articles/e601678bb33c6d70742ceb9be844580ec522c1c4?page=1

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ