กล้าฝันยิ่งกว่าจีน : ไขเบื้องหลังการปฎิวัติโลกลูกหนังของลีกซาอุฯ

กล้าฝันยิ่งกว่าจีน : ไขเบื้องหลังการปฎิวัติโลกลูกหนังของลีกซาอุฯ
มฤคย์ ตันนิยม

เปิดตัวกันไปอย่างเป็นทางการสำหรับ คาริม เบนเซมา ดาวยิงชาวฝรั่งเศส ในฐานะกองหน้าตัวใหม่ของ อัล อิตติฮัด ในซาอุดิ โปรลีก ที่เซ็นสัญญายาวจนถึงปี 2026

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า เบนเซมา ไม่ใช่นักเตะระดับโลกคนสุดท้ายที่จะมาโชว์ฝีเท้าในตะวันออกกลาง เพราะนอกจาก เอนโคโล กองเต้ ที่ย้ายตามเขามาติด ๆ ก็มีกระแสข่าวว่ายังมีแข้งดังอีกหลายคน กำลังเตรียมตัวมาเล่นในลีกแห่งนี้

อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้สโมสรลีกซาอุฯ ทุ่มเงินคว้าตัวนักเตะดังมาร่วมทัพมากมายขนาดนี้ ที่บางทีอาจเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นสโมสรอาชีพที่แท้จริงของพวกเขา

ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้งได้ที่นี่

สู่ความเป็นมืออาชีพ

ลีกซาอุ ถือเป็นหนึ่งในลีกที่เก่าแก่ของเอเชีย เมื่อมันมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1974 และเป็นแหล่งผลิตนักเตะสู่ทีมชาติมากมาย รวมถึงชุดที่เคยไปลุยฟุตบอลโลกทั้ง 5 สมัย (1994, 1998, 2002, 2006, 2018, 2022)

แต่ถึงอย่างนั้น ในปัจจุบัน สโมสรในลีกเกือบทั้งหมด ก็ยังไม่ได้เป็นสโมสรอาชีพอย่างแท้จริง เมื่อพวกเขายังมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับหน่วยงานของรัฐ และได้รับเงินอัดฉีดมหาศาลจากรัฐบาลซึ่งมีรายได้หลักจากการค้าน้ำมัน ในแต่ละปี

นั่นคือเหตุผลว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่ายอดแฟนบอลเฉลี่ยในสนามจะลดน้อยแค่ไหน สโมสรและลีกก็ยังสามารถไปต่อได้ แถมยังมีเงินไปจับจ่ายใช้สอยดึงแข้งจากยุโรปมาร่วมทีมได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ทรัพยากรน้ำมันของพวกเขา มีได้ก็หมดได้ ทำให้ ซาอุฯ ที่นำโดยมกุฏราชกุมาร มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน พยายามจะลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน และเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด “Saudi Vision 2030” และการแปรรูปสโมสรฟุตบอลให้เป็นเอกชนก็เป็นหนึ่งในนั้น

Photo : AFP

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสำคัญเริ่มขึ้นปีนี้ เมื่อกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของรัฐบาลซาอุฯ (PIF - Public Investment Fund) กองทุนเดียวกับเจ้าของสโมสรนิวคาสเซิล ในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ได้ประกาศเทคโอเวอร์ อัล นัสร, อัล ฮิลาล, อัล อาลี และ อัล อิตติฮัด 4 สโมสรยักษ์ใหญ่ของซาอุฯ

โดยกองทุนฯ จะเข้าไปถือหุ้น 75 เปอร์เซ็นต์ของทั้ง 4 ทีม ส่วนอีก 25 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร (NGO)  ซึ่งจากรายงานของกระทรวงกีฬาระบุว่าบอร์ดบริหาร 5 จาก 7 คนจะมาจาก PIF ส่วนอีกสองคนมาจาก NGO

มันเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในอเมริกา, ยุโรป หรือแม้แต่ไทย กับการที่ 4 ทีมชั้นนำของลีกมีเจ้าของสโมสรร่วมกัน หรือถ้าเทียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับ บุรีรัมย์, เมืองทอง, บีจี ปทุม และท่าเรือมีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน

Photo : AFP

“ในอดีตรัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับสโมสรฟุตบอล โดยเฉพาะการตัดหนี้สูญ ล่าสุดก็เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา” ไซมอน แชดวิค ศาสตราจารย์ด้านกีฬาและเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัย SKEMA Business ประเทศฝรั่งเศสกล่าวกับ Al Jazeera

“ตอนนี้พวกเขาพยายามจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร จากการพึ่งพารัฐไปสู่องค์กรที่มีจุดมุ่งหมายเชิงกลยุทธ์และเป็นธุรกิจมากขึ้น”

ดูดนักลงทุน

จากการรายงานของสำนักข่าวซาอุดิ (Saudi Press Agency -SPA) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลซาอุฯ ระบุว่า การเทคโอเวอร์ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้วงการกีฬาได้เติบโต และดึงดูดนักลงทุนจากภายนอก

SPA กล่าวว่าแผนดังกล่าวเน้นไปที่ 3 ส่วนสำคัญคือ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดต่อการลงทุน, ปรับปรุงการบริหารงานของสโมสร ให้เป็นมืออาชีพ และมีความยั่งยืนทางการเงิน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการยกระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐาน

“ซาอุฯ อยากสร้างเม็ดเงินลงทุนจากภายใน จากการลงทุนในภาคเอกชนของสหรัฐฯ หรือการลงทุนจากที่อื่นบนโลก และเพื่อทำให้สโมสรน่าดึงดูด พวกเขาแปรรูปพวกมัน เพื่อให้ได้รับข้อเสนอทางการตลาดที่มีศักยภาพมากขึ้น” ศาสตราจารย์แชดวิค อธิบาย

Photo : AFP

ขณะที่แพท เจนเซน ที่เคยเป็นซีอีโอของ อัล ชาบาบ ในช่วงปี 2017-2018 ยืนยันว่าการแปรรูปสโมสรเป็นเอกชน ไม่ใข่เรื่องใหม่ เพราะเขาเห็นมันอยู่ในวาระการประชุมตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่ที่นั่น

“ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้เป็นสโมสรอาชีพ แต่มันเป็นเรื่องธุรกิจนอกสนามมากกว่า”  แจนส์เซนกล่าวกับ Al Jazeera

“มันหมายความว่าพวกเขาจะมีการจัดการที่ดีขึ้นในระยะยาว แต่ไม่ต้องคิดแบบปีต่อปี เนื่องจากการใช้เงินของรัฐบาลเป็นเรื่องง่าย และทำไปโดยไม่ต้องมีภาระทางบัญชีที่ต้องรับผิดชอบ”

ทั้งนี้ การแปรรูป ไม่ได้เป็นเรื่องการเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของโครงสร้าง ที่หวังจะให้สโมสรและลีกซาอุฯ มีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้น

SPA ระบุว่าเป้าหมายเริ่มต้นของพวกเขาคือให้ลีกซาอุฯ มีรายได้ตอนนี้อยู่ที่ 120 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,100 ล้านบาท) ต่อปี เป็น 480 ล้านดอลลาร์ต่อปี (16,000 ล้านบาท) ภายในปี 2030 และคาดหวังให้มูลค่าของลีกเพิ่มขึ้นมาเป็น 2,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 83,000 ล้านบาท) ที่จากเดิมมีมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ (27,000 ล้านบาท)

Photo : AFP

ขณะเดียวกัน พวกเขายังตั้งเป้าให้ลีกซาอุฯ ขึ้นมาอยู่ในท็อป 10 ของโลก หลังจากปัจจุบัน จากการรายงานของ Twenty First Group เมื่อเดือนมราคม พวกเขาอยู่ในอันดับ 58 ของโลก ตามหลังแม้กระทั่งสก็อตติช พรีเมียร์ชิพ (49) ของสก็อตแลนด์

และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้แต่ละทีมพยายามคว้านักเตะที่ไม่ใช่แค่บิ๊กเนม แต่ต้องเป็นระดับโลกมาร่วมทีมอย่างต่อเนื่อง เช่นการมาถึงของ คริสเตียโน โรนัลโด้ ของ อัล นัสร ที่ทำให้ ซาอุดิ โปรลีก ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดได้เป็นจำนวนมาก

“ถ้าวัดกันด้วยสิทธิ์ทางการค้า ผู้เล่นเหล่านี้สร้างความแตกต่างมหาศาล” แจนส์เซนให้ความเห็น

“พวกเขาทำให้ที่นั่งเต็มไปด้วยผู้คน สามารถขายของที่ระลึก ดึงดูดความสนใจของสื่อซึ่งจะขายสิทธิ์ของสื่อที่ดึงดูดใจสปอนเซอร์”

อย่างไรก็ดี เส้นทางมันไม่ง่าย

อนาคตต่อจากนี้

แม้ว่าการขึ้นมาเป็นหนึ่งในลีกท็อป 10 ของโลก ดูจะเป็นความทะเยอทะยานที่ห่างไกลของลีกซาอุฯ แต่ศาสตราจารย์แชดวิค ก็มองว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

“ด้วยกลยุทธ์ที่ถูกต้อง มันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี เขาก็ย้ำว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และการยอมรับในการเปลี่ยนแปลงก็เป็นอุปสรรคสำคัญของสโมสรฟุตบอล

อย่างสโมสรยุโรป ก็ใช้เวลาเป็นร้อยปีในการสร้างสโมสรให้เป็นอย่างในปัจจุบัน หรือเกาหลี ที่เป็นชาติแรกของทวีปที่มีลีกอาชีพ ก็ก่อตั้งลีกของพวกเขามาตั้งแต่ปี 1983

ทำให้ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม รัฐบาลยังต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างเสถียรภาพ เพราะถึงแม้จะแปรรูปเป็นเอกชน แต่เจ้าของที่แท้จริง ก็คือกลุ่มผู้ปกครองซาอุฯ ที่เป็นเจ้าของเงิน

Photo : AFP

นอกจากนี้ การแปรรูปเป็นสโมสรอาชีพในเอเชียก็มีหลากหลาย ทั้ง ไทยและญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว หรือที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างลีกมาเลเซีย ที่ติดปัญหาว่าสโมสรทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลในแต่ละรัฐ

ขณะที่ฝั่งตะวันออกกลาง อาจจะยังเป็นเรื่องยากเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสโมสรแข็งแกร่งในระดับฝังรากลึก ยกตัวอย่างเช่นที่อิหร่าน เคยมีการพยายามแยก เปอร์เซโปลิส และ เอสเตกัล จากการดูแลของกระทรวงกีฬา แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

“พวกเขายังขาดประสบการณ์ในเชิงการค้าและการแปรรูปในเอเชีย” แชดวิคกล่าว

แชดวิคเสริมว่า คุณลักษณะของฟุตบอลเอเชีย คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มักจะแตกต่างระหว่างวิสัยทัศน์ ที่เคยวาดฝันเอาไว้ ยกตัวอย่างจีน ที่ใช้เงินเป็นร้อยล้าน ทุ่มคว้าโค้ชและนักเตะระดับบิ๊กเนม เข้ามาสร้างสีสันในลีกเอเชียอยู่ช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายตอนนี้หลายทีมต้องล้มละลายอย่างไม่เป็นท่า

ตามหา ”โจ้ คำบ่อ” แข้งไทยที่เคยฮือฮาและเคยเกือบติดธงเยอรมัน U-19 | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ย้อนกลับไปสัก 10-15 ปีก่อน ถือเป็นช่วงที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดเรื่องราวมากมายที่หลายคนไม่เคยรู้ และเรื่องราวในวงการฟุตบอลไทยหลาย ๆ เรื่องก็เกิดขึ้นในช่วงนั้น โดยเรื่องที่มักจะสร้างความฮือฮาก็คือข่าวลูกครึ่งไทยในต่

“เจ้าหน้าที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการสิ่งที่อยู่ตรงหน้า” เขาอธิบาย

แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็มองว่า ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ โดยชี้ให้เห็นความสำเร็จของกาตาร์ กับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งเป็นชาติแรกในประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลาง ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ชาติอื่นๆ รวมถึงซาอุฯ เดินตาม

“ฟุตบอลโลก กาตาร์ แสดงให้เห็นว่าประเทศตะวันออกกลาง สามารถเชื่อมช่องว่างนี้ และส่งมอบสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ได้ ซาอุดิอาระเบีย ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งนี้ และเชื่อว่ามันสามารถประสบความสำเร็จในสิ่งที่ชาติอื่นเอเชียล้มเหลว” แชดวิคทิ้งท้าย

แหล่งอ้างอิง

https://www.aljazeera.com/sports/2023/6/8/why-has-saudi-sovereign-wealth-fund-taken-over-football-clubs

https://theathletic.com/4583162/2023/06/06/ronaldo-messi-benzema-saudi-arabia/

https://theathletic.com/4581869/2023/06/05/saudi-arabia-pif-pro-league/

https://theathletic.com/2886837/2021/10/14/newcastle-takeover-why-pif-and-the-saudi-state-are-the-same-thing/

https://www.reuters.com/sports/saudi-arabia-revives-sports-clubs-privatisation-plan-2023-06-05/

https://www.arabnews.com/node/2316136/sport

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ