ต่างชาติคนแรกในลีกญี่ปุ่น : “เนลสัน” เทพแซมบ้าแห่ง “ยันมาร์ ดีเซล” ผู้ทำให้คนดูเต็มสนาม

ต่างชาติคนแรกในลีกญี่ปุ่น : “เนลสัน” เทพแซมบ้าแห่ง “ยันมาร์ ดีเซล” ผู้ทำให้คนดูเต็มสนาม
ชยันธร ใจมูล

กว่าที่ฟุตบอลจะมาเป็นกีฬายอดนิยมของประเทศญี่ปุ่น และมีลีกที่แข็งแกร่งที่สุดในทวีปเอเชีย พวกเขาผ่านช่วงเวลาทั้งขึ้นและลงมามากมาย

สิ่งสำคัญคือพวกเขา กล้าคิด และกล้าทดลอง และกล้าลงมือทำ เพราะพวกเขาต่างชื่อว่าหากไม่มีก้าวแรก ความสำเร็จไม่มีทางเกิดขึ้น

สิ่งใหม่ ๆ ต่าง ๆ กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายประวัติศาสตร์ของฟุตบอลที่นี่ และหนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของนักเตะต่างชาติคนแรกที่มาค้าแข้งในประเทศญี่ปุ่น

และทีมที่เปิดแนวคิดสุดล้ำจนกลายเป็นต้นแบบการอิมพอร์ทนักเตะต่างชาติคือ ยันมาร์ ดีเซล หรือ เซเรโซ โอซาก้า ในปัจจุบัน

พวกเขาคือทีมแรกที่ใช้นักเตะต่างชาติลงสนามในวันที่ฟุตบอลญี่ปุ่นยังห่างไกลคำว่าลีกอาชีพอยู่เลยด้วยซ้ำ ... นี่คือเรื่องราวของแข้งประวัติศาสตร์คนนั้น 

เขามีดีอย่างไร ? มาจากไหน ? และทำไม เซเรโซ โอซาก้า จึงให้โอกาสกับเขา ?  ติดตามก้าวสำคัญของประวัติศาสต์วงการฟุตบอลญี่ปุ่นที่นี่ 

ก่อนจะมีลีกอาชีพ

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นก่อนที่ฟุตบอลลีกยี่ปุ่นจะแกร่งที่สุดในเอเชีย และทำให้แฟนบอลบ้านเรารอดูการถ่ายทอดสดทุกสัปดาห์แบบนี้ พวกเขาต้องผ่านอะไรมาไม่น้อย

ในช่วงปี 50s ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ถือว่าไกลตัวคนญี่ปุ่นมาก ความนิยมด้านกีฬาตกเป็นของกีฬา เบสบอล ที่ทิ้งห่างฟุตบอลด้านความนิยมแบบไกลสุดกู่ ... แต่ถ้าไม่เริ่มก้าวแรก ความสำเร็จเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ฟุตบอลลีกของญี่ปุ่นเริ่มแข่งขันกันครั้งแรกภายใต้ชื่อ เจแปน ซ็อคเกอร์ลีก (JSL) ในปี 1965 ณ เวลานั้นมีทีมเข้าแข่งขันกันทั้งหมดเพียง 8 ทีมเท่านั้น โดย 8 ทีมดังกล่าวในปัจจุบันถูกเรียกว่า Original Eight(ต้นตำรับ 8 สโมสรแรก) ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นสโมสรที่เป็นตัวแทนของบริษัทห้างร้านหรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่ง ยันมาร์ ดีเซล หรือ เซเรโซ โอซาก้า ในปัจจุบันก็เป็น 1 ในนั้น

โดย เซเรโซ โอซาก้า ได้เริ่มก่อตั้งสโมสรภายใน 1957 โดยมี ยันมาร์ องค์กรเจ้าของธุรกิจยานยนต์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เป็นผู้ส่งทีมเข้าแข่งขัน นอกจากนี้ยันมาร์ยังเป็นองค์กรแรกในญี่ปุ่นที่จัดตั้งโปรแกรมกีฬาของบริษัท แบบครบวงจรด้วย ยันมาร์ ดีเซล ฟุตบอลคลับ อีกด้วย

จริง ๆ แล้วการทำทีมฟุตบอลในช่วงเวลานั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เนื่องจากกระแสความนิยมในประเทศนั้นน้อยมาก แต่ ยันมาร์ มีวิสัยทัศน์ในการมองไปให้ไกลกว่านั้น เพราะในขณะเดียวกันนอกประเทศญี่ปุ่น ฟุตบอล คือกีฬาของมหาชน และเป็นกีฬาที่กำลังบูมแบบสุด ๆ

โดยเป้าของการก่อตั้งสโมสร ก็เพราะในเมื่อฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมของคนทั่วโลก หาก ยันมาร์ มีทีมฟุตบอลที่เก่งกาจ ก็จะทำให้คนทั่วโลกรู้จักยันม่าร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ทำให้บริษัทพัฒนา​ โดยจุดเริ่มต้นเริ่มจากพนักงาน 14 คน และค่อย ๆ เริ่มขยับขยายให้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้สโลกแกน Football is our engine หรือ "ฟุตบอลคือแรงขับเคลื่อนของเรา"

แน่นอนว่าเริ่มแรกการพัฒนานักเตะในสโมสรถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับ 1 เพราะถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ และทำให้องค์กรได้เข้าใกล้ชุมชนมากขึ้น ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดเพราะว่าการมีสโมสรฟุตบอลสโมสรนี้

และแน่นอนว่าในเมื่อคุณมีทีมที่ดี มีนักเตะท้องถิ่นที่แช็งแกร่งระดับแถวหน้าของประเทศแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต่อยอดได้ดีที่สุด เหมือนกับที่วงการฟุตบอลลีกประเทศอื่น ๆ ในแถบยุโรปทำกันก็คือ การเอานักเตะต่างชาติฝีเท้าดีเข้ามาเสริมทัพ เพราะนอกจากเรื่องของฝีไม้ลายมือแล้ว นักเตะต่างชาติยังนำเอาความรู้และเทคนิคใหม่ ๆ มาช่วยพัฒนานักเตะท้องถิ่นให้โตไปพร้อม ๆ กัน แถมยังเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้อีกด้วย

ซึ่ง ยันมาร์ ดีเซล ได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่มีสโมสรไหนในญี่ปุ่นทำ นั่นคือการ "อิมพอร์ท" นักเตะต่างชาติคนแรก ... ซึ่งเรื่องราวหลังจากนั้นน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก

นี่สินะ...ระดับของนักเตะบราซิล

ยันม่าร์เป็นทีมฟุตบอลทีมแรกที่นำผู้เล่นจากต่างประเทศมาที่ญี่ปุ่น ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 พวกเขาได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนผู้เล่นชาวบราซิลและญี่ปุ่น เข้ามาในรูปแบบของพนักงานองค์กร ซึ่งชื่อของเขาคือ ไดชิโร โยชิมูระ (ชื่อบราซิลคือ เนลสัน โยชิมูระ)

ไดชิโร โยชิมูระ บราซิลตรงไหน ? เชื่อว่าหลายคนคงจะสงสัย เพราะชื่อของเขาคือญี่ปุ่นจ๋าขนาดนั้น ? ทว่าอันที่จริงแล้ว ญี่ปุ่น กับ บราซิล นั้นถือเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกันมาอย่างยาวนาน .. และต้องย้อนกลับไปในช่วงราว ๆ ปี ค.ศ. 1900 เลยทีเดียว

เนื่องจาก ณ เวลานั้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยขาดแคลนอาหาร รัฐบาลญี่ปุ่นจึงผลักดันให้แรงงานชาวญี่ปุ่นออกไปหากินในต่างแดน เพราะนอกจากจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารได้แล้ว ยแรงงานยังสามารถส่งเงินกลับมาพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนในญี่ปุ่นได้ด้วย ... ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ชาวญี่ปุ่นอพยพไปมากที่สุดคือ บราซิล ซึ่ง ณ เวลานั้น ศรษฐกิจของบราซิล กำลังรุ่งเรืองด้วยการเติบโตของการส่งออกกาแฟ  คนญี่ปุ่นจึงไปฝังรกรากที่ บราซิล ตั้งแต่นั้นมา ซึ่งต้นตระกูลของ ไดชิโร ก็เช่นกัน

ไดชิโร โยชิมูระ ถูก ยันมาร์ ดีเซล ดึงตัวมาร่วมทีมในวัย 19 ปี และการมาของเขาส่งแรงกระเพื่อมถึงขั้นที่ว่าทำให้ ยันมาร์ ดีเซล คือทีมที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น ณ เวลานั้นเลยทีเดียว

เหตุผลก็นั้นก็เพราะว่าบราซิลคือดินแดนที่มีลมหายใจเป็นฟุตบอล ต่างกับญี่ปุ่นในยุคเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น โยชิมูระ ที่ได้เล่นฟุตบอลในบราซิลมาตั้งแต่อายุ 12 ปี กับสโมสรท้องถิ่น ลากยาวมาจนช่วงที่เขาอายุ 19 ปี ก็เล่นฟุตบอลในระดับชิงแชมป์รัฐต่าง ๆ แม้จะยังไม่ได้เล่นให้กับทีมใหญ่ทีมเก่าแก่อย่าง ซานโตส หรือ ฟลาเมงโก้ แต่ ณ เวลานั้น ถ้านักเตะที่เล่นฟุตบอลแบบบราซิลมาตั้งแต่อ้อนแต่ออด มาเตะในลีกญี่ปุ่นที่กำลังตั้งไข่ มีหรือที่เขาจะไม่สร้างอิมแพ็คต์ ?

แม้ โยชิมูระ อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในฟุตบอลลีกบราซิล บ้านเกิดและสัญชาติของเขา แต่การมาจาก บราซิล การันตีเรื่องคุณภาพด้านทักษะและเทคนิคต่าง ๆ ที่เหนือชั้นแบบสุด ๆ มีการระบุว่า ณ เวลานั้นแฟนบอลญี่ปุ่นถึงกับตื่นตาตื่นใจมากที่ได้เห็นทักษะและความพริ้วไหวแบบที่ โยชิมูระ ทำได้

การมาอยู่กับ ยันมาร์ ดีเซล และประสานงานในแดนหน้าคู่กับ  คามาโมโตะ คูนิชิเกะ นักเตะท้องถิ่นที่ภายหลังเป็นตำนานสโมสร ถือเป็นแม่เหล็กดูดแฟนบอลให้เข้ามาชมเกมการแข่งขันในสนามเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

โดยทางสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น หรือ JFA ได้ลงประวัติของ โยชิมูระ และบรรยายถึงความเก่งกาจของนักเตะบราซิลรายนี้ว่า

"การมาเล่นที่ ยันมาร์ ดีเซล ของ โยชิมูระ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับแฟนบอล และยกระดับเพื่อนร่วมทีมของเขาขึ้นมาได้ ด้วยสัมผัสบอลที่พริ้วไหวอ่อนนุ่ม และเทคนิคในแบบที่ไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน"

"ความสามารถในการจ่ายบอลของเขานั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ในการทำให้คู่หูกองหน้าอย่าง คุมาโมโตะ เติบโตโตอย่างรวดเร็ว และกลายมาเป็นผู้เล่นชั้นนำระดับประเทศ"

"เขาช่วยให้ ยันมาร์ คว้าแชมป์รายการแรกในการแข่งขันชิงแชมป์ ออล เจแปน ในปี 1968 และแชมป์ JSL ในปี 1971 ก่อนพาสโมสรนี้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ด้วยการเพิ่มแชมป์ลีกอีก 4 สมัย และตำแหน่งแชมป์ ออล เจแปน (ฟุตบอลถ้วย เอ็มเพอเร่อร์ คัพ ในปัจจุบัน) อีก 3 สมัย” 

และถ้าคุณคิดว่านี่คืออิมแพ็คต์ที่ โยชิมูระ สร้างไว้ทั้งหมด ต้องขอบอกว่ามันยังไม่จบแค่นั้น เขาไม่ใช่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของ ยันมาร์ ดีเซล เท่านั้น แต่เขาทำให้ฟุตบอลญี่ปุ่นฟีเวอร์จนถึงขั้นที่ว่าต้องมีการโอนสัญชาติ เพื่อให้เขามาเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นเลยทีเดียว

วิสัยทัศน์ยันมาร์เปลี่ยนฟุตบอลญี่ปุ่น 

อย่างทีได้กล่าวไว้ข้างต้นแนวคิดการนำนักเตะต่างชาติมาเล่นในลีกญี่ปุ่นของ ยันมาร์ ดีเซล คือการวางแผนและมีการตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างละเอียด ยิ่งมาเจอนักเตะอย่าง โยชิมูระ ด้วยแล้ว ต้องบอกว่าอาจจะเป็นดีลที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลลีกของญี่ปุ่นเลยทีเดียว

เพราะหลังจากคว้าแชมป์ระเบิดระเบ้อกับ ยันมาร์ แล้ว ในปี 1970 โยชิมูระ ได้รับสัญชาติญี่ปุ่น และก้าวขึ้นมาติดทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการโอนสัญชาติครั้งแรกก็คงไม่ผิดนัก 

โยชิมูระ ติดทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ และเริ่มร่ายเวทมนตร์แซมบ้าของเขา ข่าวคราวเรื่องนักเตะจากบราซิลที่เล่นบอลเหมือนกับพ่อมดระบือไกลไปทั่ว จึงเกิดกระแสการที่ทำให้คนญี่ปุ่นหันมาดูฟุตบอลมากขึ้น เพราะความน่าตื่นตาตื่นใจในแบบที่ชาวญี่ปุ่นไม่เคยเห็นมาก่อน

"คุณสมบัติทางเทคนิคของเขาล้ำค่ายากจะหาใครเทียบ เขาก้าวเข้ามาและเป็นผู้เล่นระดับเอซ (คนสำคัญที่สุด) ของทีมและสู้เพื่อทีมชาติญี่ปุ่นด้วยความมุ่งมั่นตลอด 7 ปีต่อจากนั้น" 

"เขาคือผู้เปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของแฟนบอลญี่ปุน เพราะใครที่ได้เห็นลีลาของ โยชิมูระ พวกเขาก็เกิดความรู้สึกที่ว่าแม้แต่นักเตะญี่ปุ่นก็สามารถใช้ทักษะแบบนักเตะบราซิลได้” 

“มันคือการสร้างความมั่นใจที่เป็นหมุดหมายสำคัญของฟุตบอลญี่ปุ่น มากถึงขั้นที่ว่าไม่ใช่แค่การดูฟุตบอลในประเทศแล้ว เพราะแฟนบอลชาวญี่ปุ่นหลายคนก็เริ่มติดตามฟุตบอลลีกของ บราซิล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา"  บทความใน JFA ว่าเช่นนั้น

หลังจากนั้นฟุตบอลญี่ปุ่นก็เริ่มวางรากฐานกันแบบมีอาชีพ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย จนกลายเป็นลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดในเอเชีย ซึ่งนักเตะต่างชาติที่ย้ายมาเล่นในเจลีกหลาย ๆ คนก็กลายเป็นเหมือนครูของนักเตะท้องถิ่น พวกเขาเข้ามาสร้างแรงบันดาลใจครั้งใหญ่

และปลุกกระแสให้ฟุตบอลกลายเป็นที่นิยมในวงกว้าง เหนือสิ่งอื่นใดองค์ความรู้จากเหล่านักเตะต่างชาติ ก็ช่วยสร้างนักเตะญี่ปุ่นหลายคนให้มีความฝันในการออกไปค้าแข้งในต่างประเทศ จนทุกวันนี้ 11 นักเตะตัวจริงของทีมชาติญี่ปุ่น ล้วนค้าแข้งในลีกดัง ๆ ของโลกแทบทั้งสิ้น

จุดเริ่มต้นการใช้นักเตะต่างชาติของ ยันมาร์ ดีเซล หรือ เซเรโซ โอซาก้า คือหนึ่งในจุดเปลี่ยนของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้ ส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยพนักงานบริษัท "ยันม่าร์" เพียง 14 คน แต่กลับเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ที่มองไกลจนเห็นความสำเร็จในอนาคต 

พวกเขาสร้างความเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดครั้งใหญ่ให้กับวงการฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

และถ้าคุณยังอยากติดตามเรื่องราวทั้งหมดของ เซเรโซ โอซาก้า ที่ตอกย้ำสโลแกน #FootballIsOurEngine ของ ยันม่าร์  เรามีเรื่องราวตั้งแต่วันเริ่มต้นจนถึงวันนี้มาฝาก

อ่านตำนานของ เซเรโซ โอซาก้า เพิ่มเติมที่นี่ https://www.yanmar.com/th/about/sports/soccer/concept/

บทความอ้างอิง (Reference)

https://www.jfa.jp/eng/about_jfa/hall_of_fame/member/YOSHIMURA_Daishiro.html

https://www.yanmar.com/global/about/ymedia/article/asftalk_yamaoka_sato.html

https://www.nippon.com/en/features/h00051/

https://en.wikipedia.org/wiki/Daishiro_Yoshimura

แชร์บทความนี้
หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ