ตำนาน เปเล่ : 5 สตอรี่สุดพีกที่ทำให้ เปเล่ คู่ควรกับคำว่า "ตำนานโลกฟุตบอล"
การเกิดไม่ทันดู เปเล่ ลงสนามถือเป็นสิ่งที่หลายคนเสียดาย เพราะไม่ได้เห็นลีลาของ "เทพเจ้า" คนแรกของโลกฟุตบอล
อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่เห็นก็ไม่ได้หมายความว่าประวัติศาสตร์จะถูกเปลี่ยนแปลง และนี่คือเรื่องราวระดับตำนานที่สามารถทำให้คุณเข้าใจได้ทันทีว่าทำไม เปเล่ จึงถูกยกย่องตั้งแต่อายุ 17 ปี จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเขา ติดตามที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : รู้จัก Palliative Care : การรับการรักษาวาระสุดท้ายของ 'เปเล่'
แฮตทริกฟุตบอลโลกครั้งแรก
เด็กหนุ่มอายุ 17 ปี ลงสนามในเกมฟุตบอลโลกครั้งแรก แค่ได้ยินก็พอจะนึกภาพออกว่ามันจะกดดันและพาขาสั่นมากขนาดไหน ?
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เกิดขึ้นกับ เปเล่ มาก่อน โดยในฟุตบอลโลกปี 1958 เขาอายุแค่ 17 ปีเท่านั้น และติดทีมไปแข่งฟุตบอลโลกที่สวีเดนครั้งนั้น ว่ากันว่าความเด็กน้อยของ เปเล่ ทำให้มีกระแสต่อต้านกุนซือ บิเซนเต้ ฟีโอลา ไม่ให้เอา เปเล่ ไปฟุตบอลโลกด้วยเพราะว่าเขายังเด็กเกินไปและไม่บรรลุนิติภาวะ
ซึ่งที่สุดเเล้ว ฟีโอลา ก็เถียงจนหยดสุดท้ายและเอา เปเล่ มาแข่งฟุตบอลโลก 1958 จนได้ โดย ฟีโอล่า เล่าว่า "ผมบอกพวกเขาว่าคุณอาจจะพูดถูกเรื่องอายุ แต่คุณไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับฟุตบอลเลย คุณไม่เคยเห็นเปเล่เล่นแบบผมแน่นอน"
เมื่อ เปเล่ ไปแข่งเขายอมรับว่ามีการตื่นเต้นอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มีความกดดันอะไร เปเล่ บอกกับ สื่อในภายหลังว่า "ฟุตบอลโลกครั้งแรกผมไปแข่งแบบไม่ได้คิดคาดหวังอะไรสักอย่าง ผมไปที่สวีเดน ไปสนุกกับมัน รู้สึกว่าตัวเองเหมือนอยู่ในดินเเดนความฝัน เท่านั้นแหละที่ผมในตอนอายุ 17 ปี พอจะคิดได้"
สุดท้ายก็ตามนั้น ที่เหลือคือประวัติศาสตร์ เปเล่ ยิงในการชนะ 1-0 ในรอบก่อนรองชนะเลิศเหนือเวลส์ เป็นประตูแรกของเขา และนั่นยังไม่พอ เพราะเมื่อถึงรอบรองชนะเลิศเขากดแฮตทริกใส่ฝรั่งเศสไป 5-2 และกลายเป็นผู้เล่นคนแรกที่ยิงแฮตทริกได้ในฟุตบอลโลกครั้งแรกด้วยวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น
นัดชิงยิ่งชอบ
นักเตะบางคนเมื่อถึงเกมใหญ่ ๆ ก็เกิดอาการขาแข้งขยับไม่ออก แต่คงไม่ใช่กับ เปเล่ อีกครั้ง...
ต่อยอดจากเกมกับ ฝรั่งเศส ที่เขาทำแฮตทริก ในรอบรองชนะเลิศ ทว่าโชว์ยังไม่จบง่าย ๆ บราซิล เข้าไปเจอกับ สวีเดน ในรอบชิงชนะเลิศ และในเกมนั้น เปเล่ ก็กลายเป็นไอค่อนของโลกฟุตบอลทันทีด้วยการยิงไป 2 ประตู ช่วยให้ บราซิล คว้าเเชมป์โลกได้สำเร็จ โดยเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า "นี่คือความรู้สึกที่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ มันคือสุดยอดความรู้สึก ที่ผมอยากจะกลับไปสัมผัสมันอีกสักครั้งจริง ๆ"
เด็ก 17 ปี ที่บันดาลแชมป์โลก... จุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่สำหรับ เปเล่ เริ่มต้นจากตรงนั้นอย่างแท้จริง
นักเตะที่ทำได้ทุกอย่างในสนาม
หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า เปเล่ ยิงประตูมาแล้วเป็น 1,000 ลูก และอาจจะเบือนหน้าหนีไม่คิดว่ามันเป็นความจริง... เรื่องนี้สุดแท้แล้วแต่ใครจะตัดสิน แต่ความจริงที่ทุกคนที่ได้เป็นเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่งของเปเล่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ "ที่สุดของที่สุด" ตัวจริงเสียงจริง
มีคลิปหนึ่งที่เอาวิธีการเล่น การจ่ายบอล และการจบสกอร์ ของ เปเล่ มาเทียบกับนักฟุตบอลยุคหลัง ๆ และปรากฎว่าทักษะของเขานั้นเหลือเชื่อ เลี้บงบอลเหมือน ลิโอเนล เมสซี่, จบสกอร์เหมือนกับ โรนัลโด้ จ่ายบอลเหมือนกับซีดาน กระโดดสูงและทำประตูด้วยลูกโหม่งแบบ คริสเตียโน่ โรนัลโด้
ที่เหลือคุณต้องไปดูกันเอาเองแล้ว
สมบัติของชาติ
หนึ่งในสิ่งที่แฟนบอลรุ่นหลังถามกันเสมอว่าถ้าเปเล่เก่งจริง ทำไมถึงไม่มาค้าแข้งในยุโรปให้รู้แล้วรู้รอดหรือลีกบราซิลจะพิสูจน์อะไรได้ ? ซึ่งความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องนี้น่าสนใจเป็นอย่างมาก
นับตั้งแต่ปี 1958 เปเล่ อยู่กับ ซานโต๊ส มาอย่างยาวนานแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องความภักดีเสียทีเดียว เขาอาจจะให้สัมภาษณ์ว่าเหตุผลที่เขาไม่อยากย้ายทีมก็เพราะเหตุผลทางครอบครัวที่ไม่ต้องการไปอาศัยในยุโรป ทว่าความจริงแล้วมันเป็นเพราะเขาไม่สามารถย้ายทีมได้ต่างหาก
เรอัล มาดริด เคยอยากได้ตัวเขามาก ๆ และเมื่อแฟน ๆ รู้ข่าวกระแสการตื่นตัวก็บูมถึงขีดสุด แม้กระทั่งแฟนบราซิลยังอยากให้พระเจ้าของพวกเขาไปเขย่ายุโรปเลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นเพราะ รัฐบาลบราซิล ไม่อยากให้ เปเล่ ไปเล่นนอกประเทศ เพราะจะทำให้กระแสของฟุตบอลในประเทศบราซิลตกลงไป นอกจากนี้หาก เปเล่ ไปเล่นในยุโรป จะต้องเดินทางไกลมากในการกลับมาเล่นทีมชาติแต่ละครั้ง และมันจะส่งผลกระทบต่อร่างกายทำให้เขาเล่นไม่เต็มที่ หรือบางครั้งก็ไม่สะดวกเดินทางกลับมาช่วยชาติได้
รัฐบาลบราซิลจึงใช้ ช่องโหว่ของกฎหมายโดยเปลี่ยนสถานะของ เปเล่ จากพลเมืองบราซิล กลายมาอยู่ในสถานะ "สมบัติของชาติ" และกฎของการเป็นสมบัติของชาตินั้นไม่อาจะถูกส่งไปนอกแผ่นดินบราซิลได้ นั่นเองคือจุดจบความฝันลุยยุโรปของเปเล่ ที่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนสงสัยว่าหากเขามาเล่นในยุโรปฝีเท้าของเขาจะเป็นอย่างไร? และกลายเป็นคำถามคลาสสิกจนทุกวันนี้
หยุดสงคราม
ความยิ่งใหญ่ของ เปเล่ ไม่ได้พิสูจน์ได้จากผลงานในสนามเท่านั้น แต่นอกสนามเขาก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในระดับโลกอีกด้วย
ในปี 1969 เปเล่ และสโมสรฟุตบอลซานโตส เดินทางสู่ประเทศไนจีเรีย เพื่อลงแข่งขันเกมฟุตบอลนัดพิเศษ ท่ามกลางความโหดร้ายของ “สงครามกลางเมืองไนจีเรีย” ที่คร่าชีวิตผู้คนด้วยความอดยาก วันละหลายพันคน
ทันทีที่เปเล่ก้าวเท้าเหยียบแผ่นดินไนจีเรีย เสียงปืนที่เคยดังกลับเงียบสงัด มีการตกลงหยุดยิงเป็นเวลา 2 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้แฟนบอลทั่วประเทศ ซึมซับบรรยากาศของนักเตะที่เก่งที่สุดในโลก
เปเล่บอกว่า “สิ่งสำคัญที่เปลี่ยนมุมมองด้านกีฬาของผมไปอย่างสิ้นเชิงเลยก็คือแอฟริกา.... เรามีโปรแกรมไปเตะที่ไนจีเรีย ผู้จัดการทีมปฏิเสธเสียงลั่นว่า "จะบ้าเหรอ! เราไปเล่นที่นั่นไม่ได้หรอก ที่นั่นกำลังมีสงครามกลางเมืองกันอยู่" แต่ทางผู้จัดการแข่งขันบอกกับเราว่า "ไม่นะ! ไม่! อย่าปฏิเสธเลย ที่นั่นมีแต่คนอยากดู เปเล่ เราพยายามยุติสงครามด้วยการให้พวกเขาดูเปเล่เตะบอลที่นั่น"
“พอเราไปถึง สงครามก็สงบลงจริงๆ 48 ชั่วโมงเพื่อชมผมเล่นฟุตบอล ผมรู้สึกภูมิใจมาก คุณรู้ใช่ไหม เพราะว่ามีคนอยากเห็นทีม ซานโตส ของผมเล่นฟุตบอล ถ้าคุณเห็นเทปบันทึกการแข่งขันครั้งนั้น หรือเคยอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของผม ผมจะเขียนเรื่องราวเรื่องนี้ลงไปอย่างภาคภูมิใจ เราหยุดสงครามได้เพราะผู้คนคลั่งไคล้ในฟุตบอล พวกเขารักฟุตบอลและยินดีหยุดสงครามเพื่อดูพวกเราลงเตะในแอฟริกาจริงๆ” เปเล่ กล่าว
แหล่งอ้างอิง
https://www.bbc.com/sport/football/63848421
https://www.theguardian.com/football/2006/may/13/sport.comment9
https://talksport.com/football/1236600/why-brazil-use-nicknames-world-cup-players-real-names-pele-neymar/
https://www.sports-king.com/nicknames.php?q=pele
https://www.goal.com/en/news/did-pele-and-santos-really-stop-a-war-in-nigeria-in-1969/yhomuw4g6fyr1fdvda0pu58b3