ถอดรหัส “ท่าจีบมือ” บันลือโลก ที่ ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ ได้เรียนรู้สมัยค้าแข้งในอิตาลี
ทีมชาติญี่ปุ่น ยังคงโชว์ฟอร์มได้อย่างแข็งแกร่ง ในโปรแกรมฟีฟ่าเดย์เดือนตุลาคม หลังเปิดบ้านถล่มแคนาดา 4-1 ต่อด้วยพิชิตตูนิเซีย 2-0 ทำสถิติเก็บชัยชนะ 6 นัดติดต่อกัน เรียกความมั่นใจก่อนสู้ศึกฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก ในเดือนหน้า
ทัพซามูไรบลูยิงไป 24 ประตู จาก 6 เกมหลังสุด เฉลี่ยแล้วยิงนัดละ 4 ประตู นักเตะในเกมรุกอย่าง จุนยะ อิโตะ, ทาเคฟุสะ คุโบะ และ คาโอรุ มิโตมะ จึงได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก แต่พวกเขาคงทำผลงานที่ดีแบบนั้นไม่ได้ หากขาด ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ ที่คอยเก็บกวาดในแนวรับและปิดทองหลังพระมาตลอด
โดยเฉพาะเกมกับตูนิเซีย ดาวเตะจากอาร์เซนอล คุมเกมรับได้อย่างแข็งแกร่งตลอด 90 นาที และช่วยทีมเก็บคลีนชีตได้อีกครั้ง นอกจากนี้เขายังได้รับความสนใจจากแฟนบอลทั่วโลก จากการแสดงท่าทางบางอย่างในสนามด้วย
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในนาทีที่ 41 โทมิยาสุ ถูกผู้ตัดสินจับฟาวล์ จากจังหวะเข้าปะทะกับนักเตะตูนิเซีย จากนั้นเขาก็หันมาทำท่าจีบมือใส่ผู้ตัดสิน จนโดนแซวว่าเขากลายเป็นคนอิตาลีไปแล้ว ทั้งที่เคยค้าแข้งใน กัลโช่ เซเรีย อา กับ โบโลญญ่า เพียง 2 ฤดูกาล
หากใครดูบอลลีกอิตาลีหรือทีมชาติลงแข่ง ต้องคุ้นเคยกับการแสดงท่าทางแบบนั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่พบเห็นได้แทบจะทุกเกม เมื่อใดก็ตามที่นักเตะอิตาเลี่ยนต้องการคำอธิบาย พวกเขาก็จะทำท่าจีบมือแกว่งขึ้นลงใส่ผู้ตัดสิน แล้วเคยสงสัยไหมว่า มันมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ ?
ความจริงแล้ว "ท่าจีบมือ" มีชื่อเรียกในภาษาอิตาเลี่ยนว่า "Ma Che vuoi" และมันก็ไม่ได้จำกัดอยู่ในสนามฟุตบอลเท่านั้น เพราะคนอิตาลีต่างใช้ท่านี้ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไปแล้ว
การใช้มือสื่อสารแทนคำพูดคือวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในสังคมอิตาลี ว่ากันว่ามันเริ่มตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน (ค.ศ. 476) หรือกว่า 2,000 ปีก่อน เนื่องจากมีกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์หลั่งไหลเข้ามาในโรม คนท้องถิ่นจึงต้องหาวิธีสื่อสารกับกลุ่มคนเหล่านั้น และมันก็นำมาซึ่งการใช้มือทำท่าทางต่าง ๆ
จากข้อมูลของ อิสซาเบลล่า ปอจจี้ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโรม่า เตร ยูนิเวอร์ซิตี้ ระบุว่า ปัจจุบันคนอิตาลีใช้มือสื่อสารมากถึง 250 ท่า เพื่ออธิบายทั้งความเศร้า, ความโกรธ, ความิส้นหวัง, ความสับสน และอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน
แต่ท่าที่ได้รับความนิยมและถูกคนทั่วโลกพูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น "ท่าจีบมือ" (Ma Che vuoi) แปลว่า "พูดว่าอะไรนะ ?" หรือ "คุณต้องการอะไร ?" มันจะถูกใช้ในกรณีที่คนทำไม่เข้าใจความหมายของคู่สนทนาที่ต้องการจะสื่อ
ตัวอย่างเช่น เวลานักฟุตบอลไม่เข้าใจคำตัดสินของผู้ตัดสิน พวกเขาก็จะทำท่าจีบมือใส่เพื่อขอคำอธิบาย แต่มันไม่ได้จบแค่นั้น ยิ่งเขาแกว่งมือขึ้นลงรุนแรงเท่าไร คำพูดที่ใช้แทนก็จะรุนแรงขึ้นเท่านั้น เพื่อประท้วงคำตัดสินดังกล่าว บางทีแปลออกมาเป็นคำหยาบเลยก็มี
สเตฟาน อดีตพระเอกชื่อดังผู้มีเชื้อสายอิตาเลี่ยน ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นกูรูฟุตบอล จนได้รับฉายาว่า "สเตฟาน กด 9" เคยบอกไว้ในรายการทางช่อง Youtube เสือร้องไห้ว่า ถ้าคนอิตาลีทำท่าจีบมือแรง ๆ เน้น ๆ มันคือการด่าอีกฝ่ายว่า "มึงเป็นเ_ี้ยอะไร"
ขณะที่ ซิลเวีย มาร์เค็ตติ นักข่าวชาวอิตาเลี่ยนของ CNN กล่าวว่า ท่าจีบมือน่าจะเป็นท่าที่คนอิตาลีใช้บ่อยที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ แล้ว ขนาดตอนคุยกันทางโทรศัพท์ พวกเขายังทำท่านี้โดยอัตโนมัติ แม้ว่าคู่สนทนาจะไม่เห็นก็ตาม
บทความที่น่าสนใจ
เหตุใด โช ยอง-อุค จึงเป็นแข้งเกาหลีใต้คนเดียว ที่ทำวันทยาหัตถ์ตอนเคารพเพลงชาติ ?
ไม่ใช่ DNA : วู กึน ยอง เผยความลับทำไมแข้งเกาหลีใต้ "ตัวใหญ่,แข็งแรง" กว่าเอเชียทั่วไป ?
เหตุใดร้านไก่ทอดเกาหลีจึงดีใจ เมื่อได้ ญี่ปุ่น เป็นคู่ต่อกร ในนัดชิงเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ?
‘เจ้าร้านขนมปัง’ เปิดที่มาฉายาใหม่เอกนิษฐ์ที่แฟนบอล อุราวะ เรดส์ ตั้งให้
มุมมองผู้เชี่ยวชาญ : แข้งเกาหลีเหนือ ไล่หวด ญี่ปุ่น เพราะแนวคิด คิม จอง-อึน จริงหรือไม่ ?
อ้างอิง
https://edition.cnn.com/travel/article/experts-guide-to-italian-hand-gestures/index.html
https://www.footchampion.com/what-the-players-hand-signs-really-mean-in-italy/