ศุภณัฎฐ์ ตามรอย มิโตะมะ ? : ลีกเบลเยี่ยม บันไดสู่ยอดแข้งที่เหมาะกับนักเตะเอเชีย
คาโอรุ มิโตมะ ยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นนักเตะคนสำคัญที่ทำให้ ไบรท์ตัน ยังคงไล่ล่าโควต้าฟุตบอลยุโรปในเวลานี้
อย่างไรก็ดี ดาวเตะทีมชาติญี่ปุ่น เกือบจะมาไม่ได้ถึงจุดนี้ หากไม่ได้ย้ายไปลีกเบลเยี่ยม ระหว่างรอขอใบอนุญาตทำงาน (เวิร์ค เพอร์มิต)
เพราะอะไรจึงต้องเป็นที่นี่ และลีกเบลเยี่ยม เหมาะกับผู้เล่นที่ขอ ‘เวิร์ก เพอร์มิต’ ยากอย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
อดีตแหล่งฟาร์มสัญชาติที่สอง
อันที่จริง ลีกเบลเยี่ยม นั้นเคยเป็นลีกยอดนิยมของหลายทีมในพรีเมียร์ลีก ในการส่งนักเตะมาลงเล่นที่นี่ เนื่องจากหากอยู่ครบ 3 ปี ก็จะได้รับสัญชาติที่สอง ทว่าหลังจากสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
เนื่องจากการออกจากอียูของสหราชอาณาจักร มีผลให้ผู้เล่นทุกชาติที่ไม่ใช่ชาวบริติช (อังกฤษ, เวลส์, สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ) ต้องขอใบอนุญาตทำงาน หรือ เวิร์ค เพอร์มิต ดังนั้นไม่ว่าสัญชาติที่สองจะเป็นอะไรก็ไร้ความหมายอยู่ดี ถ้าไม่ใช่กลุ่มสหราชอาณาจักร
แต่ถึงอย่างนั้น เบลเยี่ยม ก็ยังเป็นหมุดหมายสำคัญ สำหรับนักเตะที่มาจากชาติที่ได้เวิร์ค เพอร์มิต ยาก เหมือนกับ กรณีของ คาโอรุ มิโตมะ ที่ไบรท์ตัน ส่งไปให้ ยูเนียน เอสจี ยืมตัวไปใช้งาน 1 ฤดูกาล แล้วค่อยเรียกตัวกลับมา และเฉิดฉายอยู่ในพรีเมียร์ลีกซีซั่นนี้
เนื่องจากกฎการขอใบอนุญาตทำงานหลังเบรซิต ระบุว่าผู้เล่นต้องผ่านเกณฑ์ที่เรียกว่า Governing Body Endorsement (GBE) ที่เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2021
ระบบ GBE คือระบบการประเมินคะแนนที่ดูจากปัจจัยหลายอย่างทั้งสถิติการติดทีมชาติ ทั้งชุดใหญ่และเยาวชน, คุณภาพของสโมสรที่ย้ายมา โดยวัดจากระดับของลีก ผลงานในลีก ผลงานในถ้วยระดับทวีป และสถิติการลงเล่น ทั้งลีกในประเทศ และเกมระดับทวีป
ทำให้แม้ว่าตอนที่มิโตมะ ย้ายมาจาก คาวาซากิ ฟรอนทาเล คะแนนของเขาจะไม่ผ่านเกณฑ์ แต่หลังจากย้ายไปลีกที่มีคะแนนมากที่สุดใน Band Two อย่างเบลเยี่ยม ทำให้เขาได้แต้มจากส่วนนี้มาไม่น้อย
บวกกับความเข้มข้นของลีก ที่น้อยกว่า 5 ลีกใหญ่ในยุโรป (อังกฤษ, อิตาลี, เยอรมัน, สเปน, ฝรั่งเศส) ทำให้ มิโตมะ ถูกใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งตัวเขาก็ตอบแทนความไว้ใจด้วยการซัดไป 8 ประตูจาก 29 เกม พาทีมเข้าป้ายในตำแหน่งรองแชมป์ ทั้งที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมา จนทำให้เขาได้รับใบอนุญาตทำงานในสหราชอาณาจักร ในอีกหนึ่งปีต่อมา
“เมื่อนักเตะญี่ปุ่นมาถึงยุโรป พวกเขาต้องทำตามแผนกีฬาก่อน” มิชาเอล เฮาส์พี นักภาษาศาสตร์และล่ามภาษาญี่ปุ่น ชาวเบลเยี่ยม อธิบายกับ archysport
“ พวกมีรายได้ในจูปิแลร์ โปรลีกไม่ได้มากกว่าที่ได้ในเจลีกของญี่ปุ่นในทันทีเลยด้วยซ้ำ”
ทั้งนี้ ลีกแห่งนี้ยังเหมาะสมสำหรับนักเตะที่มาจากชาติที่ไม่ได้อยู่ในท็อป 50 ของโลก รวมถึงไทย
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ประตูสู่ยุโรป
แม้ว่า จูปิแลร์ โปรลีก ของเบลเยี่ยม จะได้รับการจัดอันดับให้เป็นลีกเกรดบีของยุโรป แต่มันก็เป็นลีกที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างในฐานะแหล่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของนักเตะเอเชีย มาตั้งแต่หลายสิบปีก่อน
เห็นได้จากนักเตะหลายคน โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่ต่างเคยมาฝังตัวในลีกแห่งนี้ ในช่วงแรกของการย้ายมาอยู่ยุโรป ก่อนที่จะใช้มันเป็นบันไดไปยังลีกที่ใหญ่กว่าในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็น จุนยะ อิโต ที่เคยเล่นกับ เกงค์ ก่อนไปอยู่กับ เรมส์ ในลีกฝรั่งเศส, วาตารุ เอนโดะ, ไดจิ คามาดะ และ ทาคาฮิโระ โทมิยาสุ ที่เก็บเลเวลกับ แซงต์ ทรุยดอง แล้วย้ายไปเล่นกับสตุตการ์ต (บุนเดสลีกา), แฟรงค์เฟิร์ต (บุนเดสลีกา) และ อาร์เซนอล (พรีเมียร์ลีก) ตามลำดับ
“พวกเขาเห็นว่าเบลเยี่ยมเป็นประตูที่ดีสู่ฟุตบอลยุโรป ในฐานะสปริงบอร์ดในการกระโดดไปสู่ลีกที่ใหญ่ขึ้น” เฮาส์พี อธิบาย
“ชาวญี่ปุ่น มองว่าช่วงเวลาของพวกเขาในเบลเยี่ยมคือการลงทุนในอาชีพ มันคล้ายกับกรณีของผู้เล่นแคนาดาอย่าง (โจนาธาน) ดาวิด (อดีตนักเตะ เอเอ เกนต์) หรือ (ทายอน) บูชานัน (คลับ บรูจจ์)”
นอกจากที่นี่ยังเป็นเวทีที่ดีในการปรับตัวกับฟุตบอลยุโรป สำหรับผู้เล่นที่มาจากต่างทวีป เพราะเบลเยี่ยมถือเป็นชาติที่มีสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกับอังกฤษ ทั้งมีความชื้นสูง ฝนตกตลอดทั้งปี และอุณภูมิเฉลี่ยอยู่ในช่วง 9-15 องศาเซลเซียส (อังกฤษ 9-18 องศาเซลเซียส)
“มันดีสำหรับเขา จากมุมมองของคนญี่ปุ่น เรารู้สึกตื่นเต้นที่เขาได้ไปยุโรป” ทาสุคุ โอคาวะ หัวหน้ากองบรรณาธิการ DAZN สาขาญี่ปุ่น กล่าวกับ The Athletic ในตอนที่มิโตมะ ย้ายไป ยูเนียน เอสซี
“ปกติแล้ว ผู้เล่นญี่ปุ่นต้องพยายามอย่างหนักในการปรับตัวเข้ากับพรีเมียร์ลีกตั้งแต่ต้น ปัจจุบันผู้เล่นญี่ปุ่นจำนวนมากถ้าไม่ไปเบลเยี่ยมก็ไปลีกระดับ 2 ของเยอรมันและปรับตัวเข้ากับที่นั่น ก่อนจะไปลีกที่ใหญ่ขึ้น”
“พวกเขาต้องการเวลาพอสมควร พรีเมียร์ลีกคือลีกที่ยากที่สุดในโลก ดังนั้นมันจึงดีสำหรับเขาที่ได้ไปปรับตัวที่นั่น มันจะเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับขั้นต่อไป”
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ เบลเยี่ยม เป็นชาติที่ค่อนข้างเปิดรับคนจากเอเชีย ดังที่เห็นได้จากการมีชุมชนชาวญี่ปุ่นขนาดใหญ่ในกรุงบรัสเซลล์ และชาวจีน ที่นอกจากบรัสเซลล์แล้ว ยังอยู่ในเมืองอย่าง อันท์เวิร์ป และลูเวิร์น ที่ช่วยในการใช้ชีวิตไม่น้อย
“แน่นอนว่ามันแตกต่าง ทั้งวัฒนธรรม ผู้คน และอาหาร” มิโตมะ กล่าวกับ The Athletic ในตอนที่อยู่กับ ยูเนียน เอสจี
“ที่บรัสเซลล์ มีร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่เต็มไปหมด ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องอาหารญี่ปุ่น ผมได้ลองกินหอยแมลงภู่ และเฟรนช์ฟรายแบบเบลเยี่ยมแล้ว มันไม่ถูกปากผมเท่าไร”
แม้ว่าภาษาอาจจะเป็นอีกอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากเบลเยี่ยมใช้ภาษาดัตช์, ฝรั่งเศส และเยอรมัน เป็นภาษาราชการ แต่ประชากรของพวกเขากว่า 55 เปอร์เซ็นต์ สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ในระดับสื่อสารทั่วไป
ทำให้หากดีลของ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา กับ เลสเตอร์ ซิตี้ ลุล่วง จูปิแลร์ โปรลีก จะเป็นลีกที่เหมาะสม ในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างรอเวิร์ค เพอร์มิต อีกทั้ง เลสเตอร์ เองก็มีสโมสรอย่าง โอเอช ลูเวิร์น ซึ่งเป็นสโมสรลูกอยู่ในลีกแห่งนี้อีกด้วย
และบางที หาก ศุภณัฏฐ์ ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในลีกเบลเยี่ยม นี่อาจจะเป็นหมุดหมายสำคัญ สำหรับนักเตะไทยในการย้ายมาแข้งในลีกระดับรองของยุโรป ก่อนที่จะขยับไปเล่นในลีกที่ใหญ่กว่าต่อไป
“ในเชิงพาณิชย์ มันแตกต่างเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้เราได้ดูเกมพรีเมียร์ลีกมากเลย” โอคาวะ หัวหน้ากองบรรณาธิการ DAZN สาขาญี่ปุ่น กล่าวกับ The Athletic
“ผู้เล่นจำเป็นต้องประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ต้องมีเวลาลงเล่น เพื่อเป็นที่จดจำในหมู่แฟนบอล แค่ย้ายทีมไป มันไม่พออีกแล้ว”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ศุภณัฎฐ์ พุ่งพรวด : อัพเดท 10 อันดับนักเตะไทยลีกมูลค่าสูงที่สุดในเวลานี้
ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา : ไปเจออะไรมาที่ เลสเตอร์ ทำไมถึงเก่งเบอร์นั้น ?
เปิดกฎเวิร์คเพอร์มิตพรีเมียร์ลีก : ศุภณัฎฐ์ ไป เลสเตอร์ ได้จริงหรือ ?
แหล่งอ้างอิง
https://theathletic.com/3554783/2022/09/06/brexit-transfers-clubs-work-permit/