ทำไม ‘อิหร่าน’ จึงเป็นเบอร์ 1 แห่งตะวันออกกลางที่เศรษฐีน้ำมันชาติอื่นแซงไม่ได้สักที ?

ทำไม ‘อิหร่าน’ จึงเป็นเบอร์ 1 แห่งตะวันออกกลางที่เศรษฐีน้ำมันชาติอื่นแซงไม่ได้สักที ?
มฤคย์ ตันนิยม

ไม่ทันไร ฟุตบอลชายเอเชียนเกมส์ ก็เดินทางมาถึงรอบน็อคเอาท์ โดยทีมชาติไทย ต้องรับศึกหนักด้วยการพบกับ อิหร่าน แชมป์ของกลุ่มบี

อันที่จริง อิหร่าน ไม่ได้โชว์ฟอร์มเด่นแค่ในรายการนี้เท่านั้น แต่พวกเขาคือทีมที่แกร่งที่สุดในตะวันออกกลาง ที่การันตีได้จากการรั้งเบอร์ 1 ของภูมิภาค มากว่าชาติร่ำรวยอย่าง กาตาร์ หรือซาอุดิอาระเบีย รวมถึงเคยขึ้นไปรั้งอันดับ 1 เอเชีย ในตารางฟีฟ่าเวิลด์แรงกิ้ง มานานหลายปี

พวกเขาทำได้อย่างไร เพราะเหตุใดจึงไม่มีชาติใดในตะวันออกกลางแซงพวกเขาได้สักที ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ผู้บุกเบิกแห่งตะวันออกกลาง

อันที่จริงความแข็งแกร่งของอิหร่าน ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาชั่วข้ามคืน แต่จุดเริ่มต้นอาจต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน หลังการนำเข้ามาของชาวอังกฤษ ที่เข้ามาขุดน้ำมัน ในยุคที่ประเทศยังใช้ชื่อว่า “เปอร์เซีย”

หลังจากนั้น “ฟุตบอล” ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในโรงเรียนของผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในยุคที่จักรวรรดิอังกฤษ มีอิทธิพลเหนือดินแดนแห่งนั้นในช่วงศตวรรษที่ 19-20 หลังพิสูจน์ได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ ชาวเปอร์เซีย และทำให้คนที่นั่นสุขภาพดี

“ฟุตบอลถูกนำเข้ามาโดยเจ้าหน้าที่ชาวยุโรป ในความพยายามเพื่อเปลี่ยนให้ผู้อยู่ใต้การปกครอง กลายเป็น ‘บุคคลที่เชื่อฟัง’” อับดุลเลาะห์ อัล อาเรียน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวในหนังสือ Football in the Middle East ที่เขาเป็นผู้แต่ง

“ซึ่งการปรับสภาพร่างกายก็เป็นส่วนสำคัญในการศึกษาของยุคอาณานิยม”

Photo : FIFA

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ อิหร่าน หรือ เปอร์เซีย ถือเป็นชาติแรกๆในภูมิภาคแห่งนี้ ที่ได้รู้จักกับเกมลูกหนัง ก่อนที่มันจะกลายเป็นงานอดิเรกยอดนิยมของคนทั้งประเทศ รวมถึงชนชั้นแรงงานที่คุ้นเคยกีฬาชนิดนี้ผ่านกะลาสีเรือ และวิศวกรชาวอังกฤษที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน

นอกจากนี้ ในปี 1925 ฟุตบอลยังได้รับความสนใจจาก พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ปาห์ลาวี จนเข้ามาเป็นองค์อุปถัมป์ และได้สั่งให้สร้างสนามอัมจาเดีย ในปี 1933 ที่ถือเป็นสนามฟุตบอลรูปแบบใหม่แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันตกอีกด้วย

ทำให้ฟุตบอลกลายเป็นกีฬาที่หยั่งรากลึก และสามารถปักธงได้ในดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และทำให้พวกเขาสามารถสร้างผู้เล่นเก่งๆ มาประดับวงการได้อย่างมากมาย

หนึ่งในนั้นคือสองพี่น้องตระกูลฮุสเซน นั่นคือ ฮุสเซน ซาดาเกียนี และ ฮุสเซน อาลี ข่าน ซาดาร์ ที่ได้ย้ายไปเล่นในลีกยุโรป ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1920s หรือก่อนหน้าที่หลายชาติในภูมิภาคจะรู้จักกับฟุตบอลเสียอีก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ฟุตบอลของอิหร่านยังได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว พวกเขาได้เป็นสมาชิกฟีฟ่าในปี 1948 ก่อนจะเข้าร่วมสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือเอเอฟซีในปี 1958 รวมถึงได้เข้าไปเล่นในโอลิมปิกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในปี 1964

Photo : FIFA

อิหร่าน ยังเป็นทีมแรกของตะวันออกกลางที่ได้แชมป์เอเชียนคัพ ในปี 1968 และเป็นทีมแรกของเอเชียที่คว้าแชมป์รายการนี้ได้ 3 ครั้งติดต่อกัน หลังป้องกันแชมป์ได้ในปี 1972 และ 1976

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ อิหร่าน คือตัวแทนจากเอเชียตะวันตกชาติแรกในประวัติศาสตร์ (หลังอิสราเอลถูกขับจากเอเอฟซี) ที่ได้ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1978 ที่อาร์เจนตินาอีกด้วย

อย่างไรก็ดี พวกเขายังมีแรงขับเคลื่อนที่ใหญ่กว่านั้น

ชาติบ้าบอล

นอกจากการมีรากฐานที่ดี อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมชาติแข็งแกร่งคือการเป็นประเทศที่คลั่งไคล้ในเกมลูกหนัง ในระดับที่ความเชื่อทางศาสนา ยังหยุดไม่ได้

ในปี 1979 หรือ 6 เดือนหลังจากที่ อิหร่าน ไปโชว์ฝีเท้าให้ชาวโลกได้เห็นในเวิลด์คัพ 1978 อิหร่าน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ถูกโค่นล้ม และทำให้ อยาตอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำทางจิตวิญญาณ ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด พร้อมเปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริย์ มาเป็นรัฐอิสลาม ที่รู้จักกันดีในชื่อ “การปฏิวัติอิหร่าน”

Photo : AFP

ในช่วงแรกของการปฏิวัติ กีฬาชนิดต่างๆ รวมถึงฟุตบอลต่างถูกแบนไม่ให้เล่นกันในหมู่ประชาชนทั่วไป เนื่องจากกลุ่มผู้ปกครองมองว่ามันเป็นสิ่งไร้สาระ แถมยังขัดต่อคำสอนของศาสนาอิสลาม

นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1980s ทีมชาติอิหร่าน ยังถูกแบนฟีฟ่า อันเนื่องมาจากสงครามอิรัก-อิหร่าน (1980-1988) อีกทั้ง สงครามและความวุ่นวายทางการเมือง ยังทำให้ลีกในประเทศของพวกเขาต้องห่างหายจากการแข่งขันไปจนถึงปี 1989

ทว่าหลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ฟุตบอลของ อิหร่าน ก็กลับมาครองความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการก้าวไปถึงอันดับ 3 ในเอเชียนคัพ 1996 ก่อนในปี 1998 พวกเข้าจะผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้อีกครั้ง ด้วยการเอาชนะออสเตรเลีย ด้วยกฏประตูทีมเยือนในรอบเพลย์ออฟ

ยิ่งไปกว่านั้น ในฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส อิหร่าน ยังสามารถเอาชนะสหรัฐอเมริกา ศัตรูทางการเมืองที่เป็นไม้เบื่อไม้เบามากว่าหลายสิบปี ด้วยสกอร์ 2-1 และทำให้คนนับพันออกมาฉลองทั่วท้องถนนในกรุงเตหะราน

Photo : AFP

“นี่เป็นครั้งแรกหลังการปฏิวัติที่สังคมอิหร่านเปิดเผยด้านที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง” อายัต นาจาฟี ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิหร่านกล่าวกับ DW

“มันสร้างความตกใจให้แก่รัฐบาลอิหร่าน ไม่มีใครรู้เลยว่าฟุตบอลได้รับความนิยมขนาดนี้ และหลายคนก็อยากมีชีวิตที่ต่างออกไป”

ความนิยมอย่างมหาศาลเหล่านี้ ทำให้ผู้ปกครองมองเห็นประโยชน์ของเกมลูกหนัง จึงได้พยายามส่งคนของฝ่ายการเมืองหรือทหาร เข้าไปมีส่วนร่วมในวงการฟุตบอล ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ เช่น เปอร์เซโปลิส ที่มีกระทรวงกีฬาและเยาวชน เป็นเจ้าของ หรือ เอสเตกัล ที่มีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังคอยดูแล

Photo : AFP

“อิหร่านก็เหมือนกับประเทศส่วนใหญ่ในตะวันออกกลาง ที่คลั่งฟุตบอลมาก” เจมส์ ดอว์ซี นักวิชาการอาวุโส แห่ง S. Rajaratnam School of International Studies มหาวิทยาลัยนันยาง กล่าวกับ The Independent

“นี่คือป๊อบคัลเจอร์รูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศ ด้วยเหตุนี้ การควบคุมทางการเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อระบอบการปกครอง”

“ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา คุณจะเห็น กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน เข้ามาอยู่ในฝ่ายบริหารของทีมฟุตบอล พวกเขาเป็นบอร์ดบริหารของหลายสโมสร”

แม้ว่ามันอาจจะทำให้เกิดการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ แต่ในทางกลับกัน การได้รับเงินสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐในทุกปี ก็ทำให้พวกเขาเหล่านี้เดินหน้าไปอย่างมั่นคง สามารถสร้างผู้เล่นออกมาสู่ทีมชาติได้อย่างต่อเนื่อง

ยอดแข้งในยุโรป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน อิหร่าน คือเบอร์ 1 แห่งตะวันออกกลางอย่างแท้จริง ที่การันตีได้จากตารางในฟีฟ่าเวิลด์แรงค์กิงค์ ที่พวกเขาเคยขึ้นไปรั้งเบอร์ 1 ของเอเชียอยู่นานหลายปี และเพิ่งเสียตำแหน่งให้ทีมชาติญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้

นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นชาติที่ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมภูมิภาค ร่วมกับ ซาอุดิอาระเบีย ที่ 6 ครั้ง ในปี  1978, 1998, 2006, 2014, 2018, และ 2022 ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน กัลฟ์ โปรลีก ลีกในประเทศของพวกเขา ยังมียอดผู้ชมเฉลี่ยในระดับสูงแทบทุกปี อย่างฤดูกาลปัจจุบัน (2023-2024) พวกเขามีจำนวนแฟนบอลเฉลี่ยมากถึง 12,852 ทิ้งซาอุฯ ที่อุดมไปด้วยสตาร์มากมาย (8,361 คน) แบบไม่เห็นฝุ่น

คิดไซด์โค้ง BEST XI : ทีมยอดเยี่ยมไทยลีกสัปดาห์ที่ 5 ศึกรีโว่ ไทยลีก 2023/24
สัปดาห์ที่ 3 ของศึกไทยลีกจบลงไปแล้ว มีนักเตะหลายคนที่ฟอร์มดีเข้าตา โดดเด่นยิ่งกว่าใคร ๆ และนี่คือหน้าตาของ 11 ผู้เล่นยอดเยี่ยมของทีมงานคิดไซด์โค้ง ระบบ 4-3-3 โค้ช : ธชตวัน ศรีปาน : วางหมากมาอย่างยอดเยี่ยมและใช้อดทนในเกมให้เป็นประโยชน์ก่อนพา ทรู

“ผมเคยมีส่วนร่วมในเกมดาร์บี้ (เปอร์เซโปลิส - เอสเตกัล)  3 ครั้ง และผมเสมอทั้ง 3 ครั้ง เพราะทุกคนเล่นแบบไม่ให้แพ้” อัฟชิน โกตบี อดีตกุนซือเปอร์เซโปลิส กล่าวกับ Bleacher Report

“ถ้าคุณแพ้เกมนี้ ไม่ว่าคุณจะชนะหรือคว้าแชมป์ คุณจะถูกตัดสินจากนัดนี้เท่านั้น”

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ อิหร่าน เหนือกว่าชาติอื่นในเอเชียตะวันตกมากที่สุดก็คือ การส่งออกผู้เล่นไปต่างประเทศ โดยจากรายงานของ CIES Football Observatory เมื่อปี 2023 ระบุว่ามีมากถึง 26 คน มากว่า อิรัก (12 คน), จอร์แดน (11 คน), ซาอุฯ (4 คน) และ ยูเออี (1 คน) อย่างชัดเจน

แถมผู้เล่นหลายคนยังเล่นอยู่ในลีกใหญ่ของยุโรป ไม่ว่าจะเป็น เมห์ดี ตาเรมี ดาวยิงของเอฟซี ปอร์โตในลีกโปรตุเกส, เออร์ซาน ฮัจซาฟี แนวรับของ เออีเค เอเธนส์ ของกรีก, ซาดาร์ อัซมูน กองหน้าของ โรมา ในอิตาลี หรือ ซามาน กอดดอส ของเบรนฟอร์ด ในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ

Photo : AFP

อันที่จริง อิหร่าน ยังเป็นชาติแรกๆของเอเชีย ที่ส่งผู้เล่นไปค้าแข้งในยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุค 1990s ที่ถือเป็น “โกลเด้น เจนเนอเรชั่น” ของพวกเขา และทำให้โลกได้รู้จักกับผู้เล่นอย่าง อาลี ดาอี (บาเยิร์น มิวนิค, แฮร์ธา เบอร์ลิน), เมห์ดี มาดาวิเกีย (โบคุม, ฮัมบูร์ก, แฟรงค์เฟิร์ต) และ คาริม บาเกรี (บีเลเฟลด์, ชาลตัน)

หรือจะเป็นยุคต่อมาที่หลายคนไปเล่นให้กับทีมใหญ่ ทั้ง อาลี คาริมี (บาเยิร์น, ชาลเก้ 04), ญาวัด เนกูนาม (โอซาซูนา) หรือ อันดราดริค เตมูเรียน (โบลตัน, ฟูแลม) เป็นต้น

Photo : AFP

แน่นอนว่าการไปเล่นในต่างแดน ย่อมทำให้พวกเขาได้พัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการที่แข้งระดับโลกแวะเวียนกันมาให้วัดฝีเท้าในทุกสัปดาห์ จึงไม่แปลกที่จะทำให้อิหร่านยังคงเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคของพวกเขา

ทั้งนี้ แฟนบอลชาวไทย จะมีโอกาสได้ยลฝีเท้าของมหาอำนาจเอเชียรายนี้อีกครั้ง หลังทีมชาติอิหร่านชุดอายุไม่เกิน 23 ปี จะโคจรมาพบกับ ทีมชาติไทย ในฟุตบอลชาย เอเชียนเกมส์ 2022 รอบ 16 ทีมสุดท้าย ในวันที่ 27 กันยายนนี้

Photo : Team Melli

ร่วมเป็นกำลังใจให้กับ “ช้างศึก” กับการพบกับยอดทีมของทวีป ผ่านการถ่ายทอดสดทางช่อง AIS Play ตั้งแต่เวลา 15:30 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เป็นต้นไป

แหล่งอ้างอิง

https://football-observatory.com/WeeklyPost422

https://www.parstimes.com/soccer/players_europe2.html

https://www.fifa.com/fifaplus/en/articles/irans-football-history-of-turning-points-and-milestones

https://www.independent.co.uk/sport/football/international/world-cup-2018-russia-iran-squad-line-between-politics-and-football-thin-a8353066.htm l

https://www.dw.com/en/in-iran-football-religion-and-politics-often-overlap/a-44301366

https://www.mei.edu/publications/political-football-how-iranian-government-intervenes-sports

https://bleacherreport.com/articles/2779523-a-journey-into-the-wild-complex-and-unique-world-of-football-in-iran

https://www.insider.com/history-soccer-middle-east-africa-colonialism-independence-fifa-world-cup-2022-12

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ