บอลลีกเทียบไม่ติด : ทำไมคนญี่ปุ่นจึงอินกับบอล ม.ปลาย ในระดับคนดูครึ่งแสน
จบลงไปแล้วสำหรับฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมปลายญี่ปุ่นครั้งที่ 101 ที่สุดท้าย โรงเรียนโอคายามะ กาคุเง ตัวแทนจากจังหวัดอาโอยามะ เป็นฝ่ายเอาชนะโรงเรียนฮิงาชิยามะ ตัวแทนจากจังหวัดเกียวโตไปได้ 3-1 กลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ของอาโอยามะ ที่คว้าแชมป์รายการนี้
ทว่า นอกจากความสนุกในเกมการแข่งขันแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือเกมนัดนี้ มีผู้ชมเข้ามาชมเกมในสนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่นมากถึง 50,868 คน และเป็นอีกครั้งที่ฟุตบอลมัธยมปลายของพวกเขามีคนดูแตะหลักครึ่งแสน
มันแทบจะเทียบไม่ได้เลยสำหรับฟุตบอลชิงแชมป์ ม.ปลาย ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของไทยอย่าง “ฟุตบอล 7 สี” เมื่อผู้ชมมากสุดน่าจะไม่เกิน 20,000 คน เพราะสนามศุภชลาศัย สังเวียนนัดชิงฯ ของรายการนี้จุผู้ชมได้มากที่สุดที่ 19,173 คน
อะไรที่ทำให้คนญี่ปุ่น อินกับฟุตบอลมัธยมปลายได้มากขนาดนี้ ทั้งที่มันเป็นเพียงกีฬาสมัครเล่น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve
มีมาก่อนบอลอาชีพ
ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างนักกีฬาตั้งแต่ระดับเยาวชน ทำให้นอกจาก “วันกีฬาแห่งชาติ” (วันจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม) ที่ทุกโรงเรียนจะมีกิจกรรมการแข่งขันกีฬาภายในโรงเรียนแล้ว พวกเขายังมีทัวร์นาเมนต์กีฬาของนักเรียนตั้งแต่ระดับประถม
ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ (All Japan High School Soccer Tournament) หรือที่เรียกกันว่า “ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว” ก็คือหนึ่งในนั้น มันคือการแข่งขันที่มีมาตั้งแต่ปี 1918 หรือก่อนที่สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) จะก่อตั้งถึง 11 ปี
อันที่จริง ในช่วงเริ่มแรกของการแข่งขัน ทัวร์นาเมนต์นี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดโอซากา เนื่องจากหนังสือพิมพ์ไมนิจิ ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่นี่เป็นสปอนเซอร์การแข่งขัน ด้วยเป้าหมายหวังจะให้รายการนี้ช่วยเพิ่มยอดขายให้พวกเขา
ทว่า ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ ทั้งสู้ความนิยมของการแข่งขันเบสบอลมัธยมไม่ได้, ช่วงแรกมีแต่ทีมจากภูมิภาคคันไซ (ภาคตะวันตก)เข้าร่วม ไปจนถึงการบรรจุฟุตบอลเข้าสู่อินเตอร์ไฮ (กีฬามัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ)ในปี 1965 ทำให้ในปี 1966 JFA ตัดสินใจเข้ามารับช่วงต่อ และเปลี่ยนเจ้าภาพมาเป็นสหพันธ์กีฬามัธยมปลายตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา
มันกลายเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะสำหรับเพราะ 3 ปีก่อนหน้านั้นทีมชาติญี่ปุ่นเพิ่งจะคว้าเหรียญทองแดงในฟุตบอลโอลิมปิก 1968 ที่เม็กซิโก ที่ช่วยปลุกกระแสฟีเวอร์ไปทั่วประเทศ
และเมื่อรวมกับการที่ผู้จัดการแข่งขัน ตัดสินใจย้ายสนามแข่งจากโอซากา มายังสนามกีฬาแห่งชาติที่โตเกียว ที่มีความจุมากกว่าในปี 1976 ยิ่งทำให้ฟุตบอลมัธยมปลายได้รับความสนใจมากขึ้นไปอีก
“ในปี 1976 สนามจัดการแข่งขันครั้งที่ 55 ได้ย้ายจากโอซากา มาที่สนามกีฬาแห่งชาติโตเกียว ที่ช่วยเพิ่มความสนใจที่มีต่อศึกชิงแชมป์มัธยมปลายยิ่งขึ้น” อัตสึโอะ ซูงิโมโต กล่าวในบทความ School sport, physical education and the development of football culture in Japan
“ในช่วงเวลานั้น มีผู้ชมราว 230,000 คน เข้ามาชมเกมตลอดการแข่งขัน 8 วัน สำหรับนัดชิงชนะเลิศ มีผู้ชมราว 55,000 คน เข้ามาเต็มสนามกีฬาแห่งชาติ”
และสิ่งนี้ก็ทำให้แม้ว่าญี่ปุ่น จะมีลีกอาชีพหรือเจลีกในปี 1993 ฟุตบอลมัธยมปลายก็ยังไม่เสื่อมความนิยม โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศ ที่ได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ เป็นประจำทุกปี ... คนญี่ปุ่นติดใจอะไรจากรายการนี้ ?
ความจริงใจในวัยเยาว์
แม้ว่าความนิยมของฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมปลาย อาจจะยังไม่เทียบเท่าเบสบอลชิงแชมป์มัธยมปลายหรือ “โคชิเอ็ง” แต่มันก็ถือเป็นทัวร์นาเมนต์กีฬาสมัครเล่นที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ
จากการรายงานของ Gekisak ระบุว่านับตั้งแต่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2022 พบว่า “ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว” มียอดผู้ชมที่เข้ามาให้กำลังใจถึงขอบสนามตลอดทัวร์นาเมนต์ ไม่ต่ำกว่า 200,000 คน เกือบทุกปี
โดยเฉพาะครั้งที่ 98 ในปี 2019 ซึ่งเป็นปีต่อเนื่องจากฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งญี่ปุ่นผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ มีผู้ชมรวมมากถึง 336,999 คน มากที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่จดสถิติมา
เช่นกันกับนัดชิงชนะเลิศ ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ด้วยยอดแฟนบอลในระดับสองหมื่นคนไปจนถึงครึ่งแสน และเคยทำสถิติสูงสุดถึง 56,025 คน ในปี 2019 ซึ่งมากกว่าผู้ชมในนัดชิงชนะเลิศเอ็มเพอเรอร์สคัพ เมื่อปี 2022 เสียอีก
และหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นชื่นชอบรายการนี้ก็คือการเล่นอย่างซื่อตรงของผู้เล่นวัยเยาว์ แม้ว่าเมื่อเทียบกับเจลีก ฟุตบอล ม.ปลาย จะมีคุณภาพของผู้เล่นที่ต่ำกว่า แต่การเล่นของพวกเขานั้นเต็มไปด้วย “ความจริงใจ”
เพราะกว่าจะได้มาโชว์ฝีเท้าในรอบสุดท้าย แต่ละคนต้องฝึกซ้อมอย่างหนักตลอดระยะเวลา 3 ปี แถมบางครั้งสำหรับทีมใหญ่ที่มีสมาชิกนับร้อย พวกเขายังต้องแข่งขันกันเองในทีม เพื่อได้เป็น 11+9 คน ที่ได้สิทธิ์ลงไปยืนอยู่ในสนาม
“ต้องขอบคุณชีวิตสมัยมัธยมปลายที่ต้อนผมจนจนมุม และทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น” โยชิโตะ โอคูโบะ อดีตกองหน้าทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลก 2 สมัย และดาวยิงสูงสุดตลอดกาลเจลีก ที่สร้างชื่อจากโรงเรียนคุนิมิกล่าว
“สมัยมัธยมปลาย การฝึกซ้อมตอนหน้าร้อนเข้มงวดมาก ผมวิ่งมากที่สุดในชีวิต มากจนรู้สึกว่าร่างกายจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ก่อนวิ่งผมมักจะบ่นว่า ‘แบบนี้ไม่ไหวแน่’ พอครูเป่านกหวีดเริ่ม ก็เหมือนเปิดสวิตช์ และขยับไปเอง วิ่งไปแบบนั้นจดหมดแรง”
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในการแข่งขันทุกอย่างจึงดูสมจริง และเต็มไปแพชชั่น ทั้งดีใจอย่างสุดเหวี่ยงเมื่อยิงประตูได้ หรือผิดหวังมากเมื่อเสียประตู ไปจนถึงชนะก็เต็มไปด้วยมวลแห่งความสุข และในทางกลับกันก็ไม่อายที่จะหลั่งน้ำตาเมื่อพ่ายแพ้
มันไม่ต่างจากโคชิเอ็ง ที่ทุกทีมต่างมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะ พวกเขาพร้อมเสียเหงื่อเพื่อตัวเอง เพื่อเพื่อน เพื่อทีม และเต็มที่ทุกครั้งเมื่อลงสนาม ไล่บอลอย่างเต็มกำลัง จนถึงวินาทีสุดท้าย
“มันไม่มีอะไรทดแทนได้กับการได้สัมผัสความรู้สึกของหยาดเหงื่อ หยดน้ำตา และเสียงเชียร์ที่แท้จริงในกีฬา ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม” คัตสึนาริ ซาวาดะ อดีตเจ้าหน้าที่ของ Nippon Television ผู้รับผิดชอบการถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์ฤดูหนาว กล่าวกับ Soccer King
นอกจากนี้ การได้เห็นสิ่งที่ไม่คาดคิด ก็เป็นอีกเสน่ห์ของฟุตบอล ม.ปลาย ไม่ว่าจะเป็นแชมป์เก่า หรือทีมใหญ่ ถูกเขี่ยตกรอบ ตั้งแต่วันแรก ๆ หรือทีมม้ามืดที่เพิ่งเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรก ทะลุเข้าไปถึงรอบลึก ๆ เป็นต้น
สายสัมพันธ์ท้องถิ่น
ด้วยความที่ฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมปลาย เป็นการแข่งขันในระบบตัวแทน ที่แต่ละจังหวัดจะต้องหาทีมที่แกร่งที่สุดเพียง 1 ทีม (ยกเว้นโตเกียวได้โควต้า 2 ทีม) จาก 47 จังหวัด มาชิงชัยแบบน็อตเอาท์ในรอบสุดท้าย ทำให้มันเป็นเหมือนตัวแทนความภาคภูมิใจในท้องถิ่น
ดังที่เห็นในพิธีเปิดของการแข่งขันครั้งที่ 101 ที่แต่ละโรงเรียน พยายามพรีเซนท์จุดเด่นของจัดหวัดตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น อาโอโมริ ยามาดะ แชมป์เก่าของครั้งที่ 100 ที่เดินถือลูกแอบเปิ้ลเข้าสนาม เนื่องจากจังหวัดอาโอโมริ ขึ้นชื่อในเรื่องแอปเปิ้ล
หรือโรงเรียนมาเอบาชิ ฟูคูเอ ตัวแทนจากจังหวัดกุมมะ ที่ถือตุ๊กตาดารูมะ เนื่องจากจังหวัดของพวกเขาเป็นแหล่งผลิตตุ๊กตาดารูมะที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีเทศกาล มาเอบาชิ ฮัตสึอิจิ มัตสึริ หรือเทศกาลทำลายตุ๊กตาดารูมะ ที่ดังในระดับประเทศ
ขณะเดียวกันฟุตบอลชิงแชมป์ม.ปลายยังเป็นเวทีที่ทำให้พวกเขาได้มีโอกาส เห็นทีมรวมไปถึงนักเตะในบ้านเกิดของตัวเอง เฉิดฉายในระดับชาติ เพราะนี่คือหนึ่งแหล่งผลิตแข้งจากส่วนภูมิภาคขึ้นสู่ทีมชาติมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น ฮิเดโตชิ นาคาตะ จากจังหวัดยามานาชิ, ชุนซูเกะ นาคามูระ จากจังหวัดคานางาวะ, ยาซูฮิโตะ เอ็นโด จากจังหวัดคาโงชิมา, เคซูเกะ ฮอนดะ จากจังหวัดไอจิ (แต่เกิดที่โอซากา) หรือ ทีมชาติชุดปัจจุบันอย่าง ทาคูมะ อาซาโนะ ก็สร้างชื่อมาจากโรงเรียนในจังหวัดมิเอะ ในทัวร์นาเมนต์นี้
มันคือภาพสะท้อนอย่างดีของระบบการศึกษาญี่ปุ่น ที่ความเจริญไม่ได้กระจุกตัวอยู่ศูนย์กลาง แต่กระจายตัวไปยังส่วนภูมิภาค และทำให้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ไม่ได้ถูกผลิตจาก เมืองหลวงของประเทศเท่านั้น
“เมื่อต้องรับมือกับนักเรียน มันเป็นการแข่งขันที่จริงจังเสมอ แทนที่จะรู้สึกว่ากำลังสอน ผมกลับรู้สึกว่าจะแพ้นักเรียนไม่ได้ ผมไม่เคยเข้าห้องสาย มันเหมือนน้ำที่ไหลลงมา เด็กมีแนวโน้มที่จะไหลไปในทิศทางที่สบาย” ทาดาโตชิ โคมิเนะ เคยพาโรงเรียนคูนิมิ จากจังหวัดนางาซากิ คว้าแชมป์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ 6 สมัยกล่าวกับ NTV News
“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคุณจะไม่สามารถสร้างทีมที่แข็งแกร่งได้ หากเด็กไม่ได้การศึกษาอย่างดี ทั้งโรงเรียนและที่บ้าน เพื่อให้ฟุตบอลของญี่ปุ่นแข็งแกร่งขึ้น ผู้เล่นจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ผมคิดว่านี่คือกุญแจสำคัญ”
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว ทำหน้าที่เป็นเหมือนสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงคนในท้องถิ่นเดียวกัน และทำให้แต่ละปี มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่เดินทางข้ามจังหวัดมาเชียร์ลูกหลานของพวกเขากันอย่างคึกคัก
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
“ครั้งนี้ต้องขอบคุณความสำเร็จของโรงเรียนเก่าของผม ที่ทำให้ผมเชื่อว่าการได้มีส่วนร่วมกับ ‘ฟุตบอล ม. ปลาย’ ทุกปี ได้ทำให้ผมตระหนักถึงสายสัมพันธ์ของผู้คนในบ้านเกิดของพวกเขา” คัตสึโนริ ซาวาดะ ศิษย์เก่าโรงเรียนโคคุกาคุอิง คุงายามะ รองแชมป์ครั้งที่ 94 เมื่อปี 2015 กล่าวกับ Soccer King
“นั่นคือพลังของฟุตบอลมัธยมปลาย และผมก็รู้สึกขอบคุณที่ได้มีประสบการณ์สัมผัสแง่มุมของวัฒนธรรมกีฬาที่นำพาผู้คนมารวมกัน ที่ไม่ใช่แค่ความสนุกและความผิดหวังจากชัยชนะหรือความพ่ายแพ้เท่านั้น แต่คือสายสัมพันธ์ของผู้คนผ่านกีฬา”
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลนี่คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากขาดสิ่งนี้
ความรู้สึกที่ส่งต่อผ่านทีวี
อันที่จริงกระแสฟุตบอลมัธยมปลาย อาจจะจุดไม่ติด หากไม่มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสิ่งได้รับความนิยมอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960s หลังญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1964
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ Nippon Television หรือ NTV ที่รับหน้าที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1970 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี จุดเด่นของ NTV คือพวกเขาไม่ได้แค่นำเสนอในมุมของการแข่งขัน แต่ยังถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักเตะ สต้าฟโค้ช กองเชียร์ รวมไปถึงผู้ปกครอง
มันจึงทำให้ทัวร์นาเมนต์นี้ เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก ขณะเดียวกันพวกเขามักจะมักจะโฟกัสกับผู้แพ้มากกว่าผู้ชนะ เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องราว ที่มักจะไม่มีใครพูดถึง
และหนึ่งในช่วงที่ได้รับการพูดถึงคือ “ห้องแต่งตัวครั้งสุดท้าย” (Last Locker Room) ที่จะไปถ่ายห้องแต่งตัวของทีมแพ้ เพื่อดูว่าพวกเขาคุยอะไรกัน รวมถึงสัมภาษณ์นักเตะและโค้ช ถึงความรู้สึกของพวกเขาในฟุตบอล ม.ปลายครั้งนี้
มันคือการนำเสนออารมณ์ออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง และถ่ายทอดความรู้สึกนี้ไปให้ผู้คนทั้งประเทศ รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ที่ได้รับชมรู้สึกว่า นี่คือรายการศักดิ์สิทธิ์ เป็นรายการแห่งความฝันที่ผู้คนต้องฝ่าฝัน อย่างยากลำบาก เพื่อไปอยู่บนจุดสูงสุด ไม่ต่างจาก “โคชิเอ็ง”
แต่มันคงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีความมุ่งมั่นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ที่ช่วยผลักดันจนทำให้ ฟุตบอลฤดูหนาว ฮิตติดตลาด จนกลายเป็นการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นที่ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย
“เป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว นับตั้งแต่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลม.ปลายทางทีวีเป็นครั้งแรก และตลอดช่วงเวลาเหล่านั้น การแข่งขันก็ต้องเผชิญกับวิกฤติหลายอย่างในการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด” ซาวาดะ กล่าวกับ NTV เมื่อปี 2015
“สิ่งที่ทำให้มันก้าวข้ามมาได้ก็คือ ‘จิตวิญญาณ’ ของผู้เล่นและโค้ช ‘แพชชั่น’ ของเจ้าหน้าที่โทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดสด ครูของสหพันธ์กีฬาโรงเรียนมัธยม และพ่อแม่, รุ่นพี่, ศิษย์เก่า, คนในท้องถิ่นที่ชมการแข่งขัน”
“ผมคิดว่าเป็นเพราะ ‘ความรัก’ ของผู้คนที่ช่วยสนับสนุนเหล่านี้ การได้รู้สึกถึงความรู้สึกโดยตรงเหล่านี้ คือความสุขของผมที่สุด”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อาวุธลับที่หายไป : เพราะเหตุใดทีมชาติญี่ปุ่นยุคหลังจึงไม่มีจอมสังหารฟรีคิก?
โมเดิร์นกัมพูชา : ‘ฮอนดะสไตล์’ การสอนให้นักเตะ วิ่ง บู๊ และกินอยู่แบบมืออาชีพ
เป็นรอง ของถนัด : การสู้สุดใจของทีมชาติญี่ปุ่นในบอลโลก 2022 ราวหลุดมาจากมังงะ
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ Football Goes East : Business, Culture and the People's Game in East Asia
https://www.soccerdigestweb.com/news/detail3/id=103254
https://zeninsyugo.com/2019/11/19/sensyuken/
https://soccer-baka.jp/archives/5346
https://www.soccer-king.jp/sk_column/article/394156.html
https://spaia.jp/column/student/soccer/4221
https://web.gekisaka.jp/news/detail/?295911-295911-fl
https://koko-soccer.com/news/5-koukousoccer/28330-202101103
https://gendai.ismedia.jp/articles/-/69342
https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=103254
https://news.yahoo.co.jp/articles/ba2eeaca015004773f2d6a8196308fb9c32c4425