ทำไมกล่าวถึง ‘ศศลักษณ์’ ? : เบื้องหลังการบูลลี่ในสังคมเกาหลีใต้
หลังจากข่าวเรื่องการถูกเหยียดสีผิวของ ศศลักษณ์ ไหประโคน แพร่กระจายไปตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ จนถึงขนาดเจ้าตัวต้องออกมาโพสต์สตอรี่ส่วนตัวด้วยวลีว่า “No Room For Racism” หมายความว่า ดาวเตะจากสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด คงรู้สึกผิดหวังกับเรื่องนี้พอสมควร
เป็นที่ทราบกันดีกว่า พี เคยย้ายไปเล่นแบบยืมตัวกับสโมสร ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ ปี 2021 ในฐานะโควต้านักเตะอาเซียน แล้วก็ได้รับการยอมรับจากแฟนบอลของทีมในเรื่องของความทุ่มเท แม้ว่าจะไม่ได้ลงสนามมากเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามนักเตะทีมจ่าฝูง เค ลีก ในปัจจุบันจากสโมสร อุลซาน ฮุนได อย่าง พัค ยอง-อู, อี คยู-ซอง และ อี มยอง-แจ กลับใช้ถ้อยคำเชิงนัยสื่อถึง ศศลักษณ์ เกี่ยวกับประเด็นโควต้าอาเซียน รวมไปถึงสีผิวของเขา บวกกับล่ามของทีม คัง ดง-ฮุน ก็เข้ามาผสมโรงเอ่ยชื่อของ พี ออกมาเต็มๆ
ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันกลายเป็น ดิจิตอล ฟุตปริ้นท์ ที่ถึงจะลบโพสต์ออกไป ก็ไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ แล้วยิ่งตอกย้ำเรื่องวัฒนธรรมการ ‘บูลลี่’ ในประเทศเกาหลีใต้ ที่ยังฝังรากลึกลงในแวดวงสังคมทุกระดับชั้นเข้าไปอีก
ที่มาที่ไปของการกระทำดังกล่าวนั้นมีจุดเริ่มต้นจากอะไร? ความร้ายแรงของผลการกระทำนั้นไปไกลถึงขั้นไหน? ร่วมหาคำตอบไปกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
จากโรงเรียนสู่สังคมวงกว้าง
จากการเก็บข้อมูลของสื่อต่างๆ ในประเทศเกาหลีใต้ มีการเปิดเผยออกมาว่า โรงเรียน เป็นจุดเพาะบ่มเริ่มต้นการ บูลลี่ ตั้งแต่นักเรียนชั้นประถม ยาวไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งแยกกันไปตามระดับชั้น แถมยังมีการใช้ศัพท์สแลงต่างๆ เพื่อแทนที่อย่าง ผู้กระทำ (หวังตา - เด็กที่รังแกผู้อื่น) หรือ ผู้ถูกกระทำ (ยองตา - เด็กที่ถูกบูลลี่อยู่เป็นประจำ)
รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ ระบุว่า จะมีนักเรียนอย่างน้อย 1 จาก 100 คน ตกเป็นเหยื่อจากการบูลลี่จากเพื่อนๆ ซึ่งมีสาเหตุจากความรู้สึก ‘ไม่ชอบ’ เป็นชนวนจุดประกายเท่านั้น พอเติบโตไปทำงานในแวดวงสังคมที่กว้างขึ้น จะเริ่มยกระดับไปเป็นเรื่องของ ‘ความอิจฉา’ ไม่ว่าจะเป็น ค่ายทหาร และ บริษัทต่างๆ
เมื่อคนที่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าในสังคม ไม่สามาถเอาชนะผู้อื่นได้ด้วยความสามารถของตัวเอง จึงเลือกวิธีการเล่นงาน เป้าหมาย จากการ บูลลี่ ลับหลัง ใช้ถ้อยคำคุกคามต่างๆ จนเหยื่อโดนผลกระทบเล่นงาน ซึ่งเหตุผลที่ จอน มิน-ซู หัวหน้าฝ่ายสืบสวนอาชญากรรมออนไลน์สำนักตำรวจนครบาลกรุงโซล เปิดเผยไว้ว่า
“มันง่ายกว่ามากหากเป็นการทำร้ายร่างกาย เพราะเหยื่อแค่เดินไปหาหมอ หลังจากนั้นไม่นานคุณก็จะหาย แต่สำหรับเหยื่อที่ถูกคุกคามในลักษณะนี้ พวกเขาไม่มีทางรักษาแผลในใจได้เลย”
จากการที่โลกมีวิวัฒนาการหมุนไปตามยุคสมัย อินเตอร์เน็ต สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผู้ใช้งานเติบโตขึ้นเป็นหลักสิบล้าน-ร้อยล้านบัญชี มีทั้งบัญชีจริงและบัญชีปลอมปะปนกันไป กลุ่มที่เสพติดเรื่องของการ บูลลี่ ผู้อื่นในสังคม ก็มีการพัฒนาแพร่กระจายวัฒนธรรมอันเลวร้ายสู่โลกออนไลน์ จนกลายเป็นการ “ไซเบอร์บูลลี่”
ซึ่งไม่ได้พุ่งเป้าไปที่คนรอบตัวเพียงอย่างเดียว แต่คราวนี้ยกระดับเหยื่อเป็นบุคคลสาธารณะ ที่มีพื้นที่สื่อให้ติดตามหลายช่องทาง อาทิ นักร้อง, นักแสดง และรวมไปถึง นักกีฬา ที่ไม่รอดพ้นเช่นกัน
เหยื่อรายใหม่บนโลกออนไลน์
กลุ่มผู้ชื่นชอบในการ ไซเบอร์บูลลี่ มีรายงานระบุออกมาว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นนักเรียนระดับประถมและชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เมื่อจัดการเหยื่อรอบตัวในโรงเรียนหรือเป้าหมายรอบตัวได้สำเร็จ ด้วยการใช้บัญชีที่ไม่เปิดเผยตัวตนบนโลกออนไลน์ ก็จะย่ามใจก้าวไปถึงบุคคลสาธารณะ จากความรู้สึกอิจฉาที่พวกเขาได้รับความนิยม
ประเด็นที่กลุ่มนักเลงคีย์บอร์ด นำมาใช้โจมตีนั้นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น รูปร่างหน้าตา, การแต่งหน้าแต่งตัว หรือ รสนิยมทางเพศ ซึ่งถ้าผู้ถูกกระทำที่เป็นบุคคลสาธารณะแข็งแกร่งพอ มีภูมิคุ้มกันจากกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะรอดตัว แล้วสามารถหาหนทางตอบโต้ที่เหมาะสมได้
ยกตัวอย่างเช่นเคสของ อัน ซาน นักกีฬายิงธนูเจ้าของ 3 เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ถูกเล่นงานเพียงเพราะเธอเลือกที่จะตัดผมสั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าจะได้สะดวกต่อวิสัยทัศน์ในการยิงธนูเท่านั้น แต่ชาวเน็ตตัวร้าย กลับมองว่าเธอเป็นพวกแปลกประหลาด ไม่ปฏิบัติตรงตามค่านิยม แล้วกล่าวหาว่าเธอเป็น “เฟมินิสต์” (ดิคชันนารีของ ม.อ็อกซ์ฟอร์ด แปลความหมายว่า ผู้สนับสนุนสิทธิและความเสมอภาคของสตรี)
ภัยเงียบเรื่องการ บูลลี่ ในสังคมเกาหลีใต้ เป็นประเด็นที่ต้องถูกแก้ไข แล้วผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องแต่ละวงการก็ออกมาจัดการเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งกรณีศึกษาจากเคสของสองแฝดวงการวอลเล่ย์บอลหญิงตัวทีมชาติอย่าง อี ดา-ยอง และ อี แจ-ยอง
ทั้งคู่ถูกสืบประวัติแล้วเจอว่า เคยรวมหัวกันรังแกเพื่อนร่วมชั้นเมื่อ 10 ปีก่อน ส่งผลให้ทางสหพันธ์วอลเล่ย์บอลเกาหลีใต้ จัดการสั่งลงโทษแบนแฝดสองแบบไม่มีกำหนด ไม่สามารถลงแข่งขันในประเทศบ้านเกิด นับเป็นเวลากว่าสองปีเข้าให้แล้ว
หลักของการบูลลี่นั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการกระทำสนุกโดยไม่สนความรู้สึกของคนที่ถูกกระทำ เเละเป้าหมายของคนที่มักจะถูกบูลลี่ มักจะเป็นคนที่ไม่ตอบโต้ คนที่ีคาแร็คเตอร์เงียบ ๆ มีความเป็นหน้าใหม่ และยังไม่ได้มีผลงานพิสูจน์ตัวเองมากนักซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ศศลักษณ์ ทำไมถึงกลายเป็นเป้า
แม้ว่านักเตะของ อุลซาน จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ความแตกต่างในทุก ๆ มุมของ ศศลักษณ์ ไม่ว่าจะด้วยภาพลักษณ์, ผลงานในอดีต และการมาจากประเทศที่ไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องฟุตบอลมากนักอย่างประเทศไทย ว่าง่าย ๆ คือสิ่งเหล่านี้มันทำให้เขาถูกมองว่าอ่อนแอกว่านักเตะท้องถิ่นชาวเกาหลีใต้
ยืนหยัดแม้โลกจะโหดร้าย
ล่าสุดเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเคสของ ศศลักษณ์ เมื่อรู้ไปถึงสโมสรต้นสังกัดอย่าง อุลซาน ฮุนได ก็มีการออกมาแถลงการณ์ว่าจะมีบทลงโทษนักเตะ รวมไปถึงกล่าวขอโทษกับเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว แสดงว่า พวกเขาไม่ได้เพิกเฉยกับเรื่องนี้
โลกที่หมุนไปเร็วมากขึ้น ปัญหาก็ย่อมต้องเกิดขึ้นตามมา ขึ้นอยู่กับว่าหนทางของการแก้ไข ทุกฝ่ายจะร่วมมือจัดการกับประเด็นต่างๆ แบบไหน อย่างกรณีของการเหยียดสีผิว ก็มีแคมเปญต่างๆ ออกมามากมาย ยกตัวอย่างเช่น Black Lives Matter และ No Room For Racism ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเคสของ ศศลักษณ์ มาจากตัวจุดชนวนชาวเกาหลีใต้เพียงแค่ 4 คน เผลอๆ นักเตะจากบ้านเขาที่ย้ายมาเล่นในประเทศไทย ยังมีจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว ดังนั้นเราจึงไม่ควรเหมารวมว่า ทุกคนที่เป็นคนเกาหลีใต้ จะมีทัศนคติที่ย่ำแย่เหมือนกับ 4 คนนั้น
เนื่องจากตัวอย่างนักเตะไทยที่ไปค้าแข้งแดนโสม แล้วได้รับการยอมรับก็มีให้เห็นกันอยู่ในรายของ “เดอะ ตุ๊ก” - ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ตำนานของหน้าทีมชาติไทย ที่เคยไปสร้างผลงานอันน่าจดจำกับสโมสร ลัคกี้ โกลด์ สตาร์ (เอฟซี โซล ในปัจจุบัน) พร้อมได้รับคำชมจากโค้ชและสื่อในประเทศเกาหลีใต้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น
พัค เซฮัค กุนซือคนแรกของ ลัคกี้ โกลด์สตาร์ กล่าวถึง ปิยะพงษ์ ไว้ว่า
“เขาเป็นผู้เล่นพรสวรรค์โดยธรรมชาติ หากเขาคุ้นเคยกับการเล่นเป็นทีม เขาจะกลายเป็นผู้เล่นที่น่ากลัว”
แม้ว่าช่วงแรก ปิยะพงษ์ จะเจอประเด็นเรื่องการดูถูก เพื่อนร่วมทีมไม่ยอมส่งบอลให้ แต่พอเขาสามารถพิสูจน์ตัวเองด้วยการยิงประตูได้แบบถล่มทลาย สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปเป็นคำยกย่องทันที ตามสื่อต่างๆ ที่พูดถึงเขาเอาไว้ว่า
“ปิยะพงษ์ คือตำนานที่ถูกเลือกให้ติดทีมยอดเยี่ยมแห่งปี หลังคว้าทั้งดาวซัลโว และท็อปแอสซิสต์ในฤดูกาล 1985”
“ปิยะพงษ์ ที่ยิงไป 17 ประตูจาก 34 เกมในเคลีก ได้รับการพิจารณาว่าเป็นนักเตะต่างชาติที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์เคลีก” เว็บไซต์ spochoo.com ระบุ
“เขากลายเป็นสตาร์ และจากไปอย่างรวดเร็วให้เป็นที่จดจำตลอดไป ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน คือชายคนนั้น” ข้อความจาก สำนักข่าว Korea Herald
เชื่อเหลือเกินว่าเหตุการณ์ของ ศศลักษณ์ ต้องมีการพิจารณาบทลงโทษที่เหมาะสมประกาศออกมาจาก อุลซาน ฮุนได เร็วๆ นี้ แล้วนักกีฬามืออาชีพอย่าง พี คงพร้อมที่จะให้อภัย ผู้ที่ทำผิดพลาด เพื่อก้าวข้ามสิ่งที่เลวร้ายไปได้
ดังนั้นแฟนบอลไทย ก็ควรจะเคารพการตัดสินใจของนักเตะ แล้วผ่านประเด็นนี้ไปแบบไม่มีการเก็บมาเป็นประเด็นเจ้าคิดเจ้าแค้น ไปลงกับผู้เล่นรายอื่นๆ ชาวเกาหลีใต้ที่มาค้าแข้งในไทยลีก เพื่อการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าบ้านที่ดี ไม่ชอบแบบไหน เราก็ไม่ควรทำแบบนั้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://www.thairath.co.th/sport/worldsport/volleyball/2595125
https://missiontothemoon.co/entertainment-lee-jae-yeong-lee-da-yeong/
https://thinkcurve.co/outside-in-piyaphngs-phiw-n-daawyingchaawaithythiikhnekaahliiykaihepntamnaan/
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไม่เส้นแต่ของจริง : ‘ศุภณัฏฐ์’ ตอนอายุ 14 ปีกับดาวรุ่งที่เลื่อนขั้นไวที่สุดในฟุตบอลไทย
เจาะศุภชัย 2 เวอร์ชั่น : ทำไมเล่นให้ บุรีรัมย์ เด่นกว่าทีมชาติ ?
เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก
คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ
เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?
บุรีรัมย์ ยังห่างแค่ไหน ? 10 สถิติไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้
คุณสมบัติอะไรที่ทำให้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นทีมไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ ?
ศุภณัฏฐ์ นำทัพ : 6 วันเดอร์คิดเอเชียที่ติดอันดับโลกปี 2019 ทุกวันนี้เป็นอย่างไร ?