ไม่ใช่แค่ตัวท็อป : เผยสาเหตุแข้งญี่ปุ่นรากหญ้ากับการนิยมไปเล่นในต่างประเทศ (และไทย)

ไม่ใช่แค่ตัวท็อป : เผยสาเหตุแข้งญี่ปุ่นรากหญ้ากับการนิยมไปเล่นในต่างประเทศ (และไทย)
มฤคย์ ตันนิยม

เรียกได้ว่าแทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว สำหรับ ญี่ปุ่น ในการส่งออกผู้เล่นไปต่างประเทศ หลังจาก มีแข้งดังสัญชาติซามูไร ออกไปฝังตัวในยุโรป หลายสิบคนในแต่ละปี

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่ผู้เล่นชั้นนำ หรือแข้งระดับทีมชาติที่มีชื่อเสียงเท่านั้น เมื่อหากมองลงไปในผู้เล่นระดับรากหญ้า ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ออกไปเล่นต่างแดน โดยไม่ผ่านการเล่นในลีกบ้านเกิดด้วยซ้ำ

เพราะอะไรแข้งชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้เล่นโนเนมจึงขวนขวายออกไปเล่นในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เอเชีย หรือแม้แต่อาเซียน เป็นจำนวนมาก หาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ระบบพัฒนาผู้เล่นดีเกินไป

อันที่จริงการออกไปเล่นในต่างประเทศของชาวญี่ปุ่น นั้นมีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970s หลังยาซูฮิโกะ โอคุเดระ ได้ย้ายไปเล่นให้กับ แวเดอร์ เบรเมน ในฐานะแข้งญี่ปุ่นคนแรกในยุโรป ก่อนที่หลังจากนั้น พวกเขาก็ส่งนักเตะไปค้าแข้งในต่างแดนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีนักเตะสัญชาติซามูไร กระจายตัวอยู่ทั่วโลก

จากรายงาน CIES Football Observatory ระบุว่า ญี่ปุ่นคือชาติที่ส่งออกผู้เล่นไปต่างประเทศ มากที่สุดของเอเชีย โดยในปี 2023 มีแข้งชาวอาทิตย์อุทัย เล่นอยู่ในต่างแดนมากถึง 169 คน มากกว่าชาติอย่าง ออสเตรีย, สวิตเซอร์แลนด์ หรือ แคเมอรูนเสียอีก

และสิ่งที่ทำให้เป็นเช่นนี้ มาจากการสร้างนักเตะที่เป็นระบบ และถูกเน้นย้ำหลังการกำเนิดขึ้นของเจลีกในปี 1993 ไม่ว่าจะเป็นระบบอคาเดมี, ศูนย์ฝึกแห่งชาติ หรือฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติ ที่มีตั้งแต่ประถม มัธยม ไปจนถึงมหาวิทยาลัย

“ผู้เล่นสามารถพัฒนาในระบบใดก็ได้ที่เหมาะกับพวกเขามากที่สุด” แดน ออโลวิตช์ นักข่าว Japan Times ผู้คร่ำหวอดในวงการฟุตบอลญี่ปุ่นกล่าวกับ Anadolu Agency ของตุรกี

“ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คาโอรุ มิโตมะ เขาได้รับการเสนอสัญญาอาชีพจาก คาวาซากิ ฟรอนทาเล ตอนอายุ 18 แต่เขาก็ตัดสินใจไปเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเขาคิดว่ายังไม่พร้อม”

Photo : AFP

และมันก็ทำให้ญี่ปุ่น มีผู้เล่นที่ใช้งานอย่างเหลือเฟือ โดยจากข้อมูลของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ระบุว่า จำนวนนักฟุตบอลชายญี่ปุ่นที่ลงทะเบียนกับสมาคมฯ มีจำนวนมากถึง 773,337 คนในปี 2022 ซึ่งมากกว่าปี 1979 ซึ่งเป็นปีแรกที่เก็บสถิติซึ่ง 2.5 เท่า (272,968 คน)

อย่างไรก็ดี มันกลับเป็นดาบสองคม โดยเฉพาะผู้เล่นที่มีฝีเท้าไม่ได้โดดเด่น เนื่องจากด้วยอัตราการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนไม่สามารถเบียดแทรกขึ้นมาเป็นผู้เล่นชุดแรกของทีม หรือแม้กระทั่งได้รับสัญญาอาชีพ จนทำให้พวกเขาต้องขวนขวายออกไปเล่นในต่างประเทศแทน

ไทอิจิโร ไซโต คือหนึ่งในนั้น เขาเริ่มต้นเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ ก่อนจะขึ้นติดทีมโรงเรียนตอนมัธยมปลาย และได้เป็นสมาชิกของชมรมฟุตบอลมหาวิทยาลัยวาเซดะ แต่สุดท้ายไม่สามารถเบียดแย่งตำแหน่งในทีมมหาวิทยาลัยได้ และมาประเดิมชีวิตนักเตะอาชีพในเอสลีกของสิงคโปร์แทน

Photo : Tai Saito

“ขนาดเป็นแค่ตัวสำรอง ผมยังทำไม่ได้ ผมไม่ได้เล่นเลย ตอนนั้นระดับของผู้เล่นในทีมมันสูงมาก” ไซโต้ย้อนความหลังกับ Soccerkakis

“รุ่นพี่ผมได้ลงเล่นทีมชาติตั้งแต่อยู่ปีสอง ทำให้หลายคนตื่นเต้นและเป็นแรงบันดาลใจ แต่ผมไม่มีโอกาสเลยตลอด 4 ปี”

ขณะเดียวกัน เรื่องรายได้ก็มีส่วนไม่น้อย

ข้อจำกัดเรื่องสัญญา

แม้ว่าญี่ปุ่น จะเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง ที่ทำให้นักฟุตบอลของพวกเขามีรายได้อย่างมหาศาลในระดับเฉลี่ย 58 ล้านเยนต่อปี (ราว 14 ล้านบาท: สถิติปี 2023) แต่สำหรับสัญญาฉบับแรก นี่เป็นตัวเลขที่ห่างไกลกว่าความเป็นจริง

เนื่องจากตามกฎของเจลีก ผู้เล่นหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยลงสนามอย่างเป็นทางการ (สัญญาระดับ C) จะถูกจำกัดเงินเดือนไว้ที่ 4.8 ล้านเยนต่อปี หรือราว 1.16 ล้านบาท น้อยกว่าเงินเดือนเฉลี่ยต่อปีของชายญี่ปุ่นเสียอีก (5.5 ล้านเยน หรือราว 1.33 ล้านบาท)

ยิ่งไปกว่านั้น การจะเพิ่มขีดจำกัดของเงินเดือน (สัญญาระดับ A) พวกเขาจำเป็นต้องถูกส่งลงสนามมากขึ้น ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละระดับ เช่นเจ1 ต้องลงเล่นไม่น้อยกว่า 450 นาที หรือ 900 นาทีในเจ2

มันอาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้เล่นระดับท็อป ที่ถูกใช้งานอยู่เสมอ แต่สำหรับตัวสำรอง นอกจากจะเป็นการปิดประตูในความก้าวหน้าของอาชีพแล้ว ยังส่งผลทางรายได้ต่อพวกเขาไม่น้อย และเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนออกไปตัดสินใจออกไปแสวงโชคในต่างแดนตั้งแต่อายุยังน้อย

Photo : AFP

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คาซูกิ นางาซาวะ เขายอมรับว่านอกจากความท้าทายแล้ว เงินก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เขาตัดสินใจไปเล่นในยุโรปทันทีหลังจบมหาวิทยาลัย และได้เซ็นสัญญากับ เอฟซี โคโลญจน์ โดยที่ยังไม่เคยลงเล่นในเจลีกแม้แต่เกมเดียว

“ในขณะที่ผมยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะย้ายไปทีมไหนในเจลีก ผมก็ได้รับข้อเสนอจากโคโลญจน์ให้ไปร่วมฝึกซ้อม” นางาซาวะ กล่าวกับ Soccer King

นอกจากนี้ ด้วยชื่อชั้นของเจลีก ในฐานะลีกแถวหน้าของเอเชีย บวกกับการพาเหรดไปเล่นในท็อปลีก ทั้ง พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, ลาลีกา รวมถึง กัลโช เซเรียอา ของแข้งสัญชาติซามูไร อย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายลีก โดยเฉพาะอาเซียน ประเมินความสามารถนักเตะชาวญี่ปุ่นไว้ค่อนข้างสูง ที่ทำให้บางครั้ง พวกเขาได้เงินเดือนในจำนวนที่มากกว่าเล่นในบ้านเกิดเสียอีก

Outside In : ‘อดุล หละโสะ’ แข้งไทยคนแรกที่ได้โชว์ฝีเท้าในลีกญี่ปุ่นหลังยุคเจลีก | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ปฎิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่ วิทยา เลาหกุล ย้ายไปร่วมทีม ยันมาร์ ดีเซลล์ หรือ เซเรโซ โอซากา ในปี 1977 หลังจากนั้น แข้งสายเลือดไทยจำนวนไม่น้อย ก็พาเหรดเดินตามรอยเขาไปเล่นที่ญี่ปุ่นมากมาย โดยเฉพาะในยุค 1980s ทว่า หลังจากลีกญี่ปุ่น

"สำหรับไทยแล้ว พวกเขาให้ค่าตัวกับนักกีฬาต่างชาติสูง พูดคร่าวๆ พอๆ กับในยุโรป สำหรับผม ทั้งได้รับการดูแล และความเป็นต่างชาติมาไทย รู้สึกว่าทุกคนให้การประเมินสูงมาก" ฮาจิเมะ โฮโซงาอิ(โฮโซไก) อดีตผู้เล่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กล่าวในรายการ J.League: Playing Asia

"นักกีฬาที่ได้รับข้อเสนอจากเจลีก ก็มีเยอะรวมถึงกับนักกีฬาคนไทยด้วย แต่พอไปเจลีกแล้วค่าเหนื่อยก็จะลดลง"

Photo : AFP

ขณะเดียวกัน ด้วยบุคลิกและนิสัยของชาวญี่ปุ่น ยังทำให้พวกเป็นได้รับความนิยมจากโค้ชในหลายประเทศ จากความจริงจัง ขยัน และมีวินัย แถมยังไม่ค่อยมีปัญหา เมื่อเทียบกับผู้เล่นจากละตินอเมริกา

“พวกเขาถ่อมตัว และเป็นคนทำงานหนักที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มก่อน” มิชาเอล เฮาส์พี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นกล่าวกับ Archy Sport

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักเตะญี่ปุ่น ที่ไม่สามารถแจ้งเกิดในบ้านเกิดของตัวเอง ยังมีที่ทาง และดำรงชีวิตในฐานะนักฟุตบอลอาชีพต่อไปได้ จนทำให้พวกเขามีผู้เล่นกระจายตัวเล่นในลีกต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน

แหล่งอ้างอิง

https://inf.news/en/sport/8aad9b4fda269acedc568caca5a20051.html

https://football-observatory.com/IMG/sites/b5wp/2019/wp292/en/

https://football-observatory.com/WeeklyPost422

https://www.jfa.jp/about_jfa/organization/databox/player.html

https://www.bbc.com/sport/football/63559988

https://soccerkakis.org/2020/12/12/meet-taiichiro-saito-the-man-who-made-football-his-life-long-career-part-1-the-rarely-spoken-about-playing-career/

https://www.soccer-king.jp/news/world/ger/20140202/165919.html

https://inews.co.uk/sport/football/project-dna-japan-league-flair-factory-europe-top-clubs-2184690

https://www.spin.ph/football/everything-you-need-to-know-about-thailand-s-football-league-and-filipinos-playing-there-a795-20201222-lfrm

https://www.hindustantimes.com/sports/football/made-in-japan-export-quality-footballers-101669480205067.html

https://www.archysport.com/2022/01/the-emperors-of-our-league-what-makes-belgium-the-ideal-destination-for-japanese-footballers-jupiler-pro-league/

https://www.lexology.com/library/detail.aspx?g=eeb55788-6bed-46a4-b7aa-89bc07166cd9

https://footystats.org/japan/j1-league/salaries

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ