เมื่อก่อนไม่เคยมี : ทำไมโค้ชญี่ปุ่นเบอร์ใหญ่ มาคุมทีมในไทยมากขึ้น ?

เมื่อก่อนไม่เคยมี : ทำไมโค้ชญี่ปุ่นเบอร์ใหญ่ มาคุมทีมในไทยมากขึ้น ?
มฤคย์ ตันนิยม

เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับ “เทกุ” หรือ มาโคโตะ เทงุราโมริ กุนซือชาวญี่ปุ่น ที่หวนมาคุมทัพในไทยลีกอีกครั้ง กับการเป็นเฮดโค้ชคนใหม่ ของชลบุรี เอฟซี

ทั้งนี้ น่าสนใจว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา กุนซือเลือดซามูไร ได้เข้ามาคุมทีมในไทยลีกอย่างต่อเนื่อง  และที่สำคัญหลายราย ยังเป็นเบอร์ใหญ่ ที่มีชื่อเสียงในบ้านเกิดของพวกเขาอยู่แล้ว

เพราะเหตุใด ประเทศไทย จึงกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายใหม่ของพวกเขา ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์ โค้งได้ที่นี่

สายสัมพันธ์เอเชีย

อันที่จริงฟุตบอลไทยกับญี่ปุ่น ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างยาวนาน และจุดเริ่มต้นสำคัญก็คือปี 2012 ที่เจลีกประกาศใช้แผน Asia Strategy หรือ ‘มุ่งสู่เอเชีย’ โดยมีเป้าหมายว่า หากจะพัฒนาฟุตบอลญี่ปุ่น ก็ต้องพัฒนาฟุตบอลเอเชียไปพร้อมกัน

“เราพยายามที่จะเพิ่มฐานแฟนบอลในเจลีก และพัฒนาฟุตบอลเอเชียไปพร้อมกัน ที่จะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย” เคอิ โคยามะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเจลีกอธิบาย

พวกเขาเริ่มต้นด้วยการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับลีกไทย รวมทั้งลีกอื่นๆ ในอาเซียน และเอเชีย ทั้ง เวียดนาม, อินโดนีเซีย หรือสิงคโปร์ ขณะเดียวกันหลายทีมในไทยลีกก็ได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับทีมในเจลีก

ตัวอย่างเช่น ชลบุรี เอฟซี ที่จับมือกับ วิสเซล โกเบ, บางกอกล๊าส (บีจี ปทุม) กับ เซเรโซ โอซากา, เมืองทอง ยูไนเต็ด กับ จูบิโล อิวาตะ หรือ สุพรรณบุรี เอฟซี กับ โยโกฮามา เอฟ มารินอส ซึ่งหลายทีมยังมีความสัมพันธ์อันดีมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว ไม่เพียงแต่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองลีกให้แนบแน่นเท่านั้น แต่มันยังเป็นโอกาส ที่ทำให้แข้งชาวไทย ได้มีโอกาสย้ายไปโชว์ฝีเท้าในเจลีกอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็น สิทธิโชค ภาโส นักเตะไทยคนแรกในเจลีกที่ย้ายไปอยู่กับคาโงชิมา เอฟซี, ชนาธิป สรงกระสินธ์ ผู้สร้างกระแส “ชนาฟีเวอร์” ตอนอยู่กับ คอนซาโดเล ซัปโปโร ไปจนถึง ธีราทร บุญมาทัน ที่ร่วมคว้าแชมป์เจลีกกับ โยโกฮามา เอฟ มารินอส

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่ผู้เล่นชาวไทย ที่ได้รับอานิสงค์ในครั้งนี้ เมื่อในทางกลับกัน มันก็เป็นช่องทางในการส่งออกโค้ชชาวญี่ปุ่น มายังเอเชีย รวมถึงลีกไทยมากขึ้น

เพราะนับตั้งแต่ปี 2012 จะพบว่าสโมสรในไทยลีก ต่างใช้บริการโค้ชจากแดนอาทิตย์อุทัยกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้ง มาซาฮิโระ วาดะ (ชลบุรี เอฟซี และระยอง เอฟซี ), ซูงาโอะ คัมเบะ (นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี, เชียงใหม่ ยูไนเต็ด), โคอิจิ ซูงิยามะ (ชัยนาท ฮอร์นบิลล์) หรือ เท็ตสึยะ ยามามูระ (สมุทรปราการ ซิตี้ เอฟซี)

แต่นั่นก็เป็นเพียงระลอกแรกเท่านั้น

อาคิระ นิชิโนะ เอฟเฟ็ค

แม้ว่าหลังปี 2012 จะมีโค้ชชาวญี่ปุ่น เข้ามาคุมทีมในไทยลีกมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ใช่โค้ชชื่อดังในบ้านเกิด อาธิ วาดะ ก็เคยมีผลงานคุม โกเบ มาแค่ทีมเดียว, หรือ คัมเบะ ก็คุม เจฟ ยูไนเต็ด จิบะ เพียงแค่ไม่กี่นัด หรือ มารุยามะ ที่แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะเขาไม่เคยเป็นเฮดโค้ชให้กับทีมไหนมาก่อนในชีวิต

ทว่า หลังปี 2019 ไทยลีก กลับมีโอกาสได้ต้อนรับโค้ชญี่ปุ่นเบอร์ใหญ่หลายรายอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น มาซาฮิโระ วาดะ อดีตกุนซือ คาชิมา อันท์เลอร์ส ชุดรองแชมป์สโมสรโลก หรือ มาโคโตะ เทงุราโมริ ที่เคยพาทีมชาติญี่ปุ่นไปถึงอันดับ 4 ในฟุตบอลโอลิมปิก 2012

และเหตุผลสำคัญ ก็มาจากชายที่ชื่อ อาคิระ นิชิโนะ

อดีตกุนซือทีมชาติญี่ปุ่น ชุดฟุตบอลโลก 2018 ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นเฮดโค้ช ทีมชาติไทยคนใหม่อย่างเซอร์ไพร์ส ในเดือนมิถุนายน 2019 ก่อนที่จะเขาจะได้รับความนิยมในหมู่แฟนบอลไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์ “นิชิโนะเซนเซ” ในไม่ช้า

“ทำไม อาคิระ จึงเข้าไปอยู่ในหัวใจคนไทย? สิ่งนั้นมีพื้นฐานมาจากฟุตบอลไทยมองว่าฟุตบอลญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่พิเศษ” ทัตสึนาริ ฮอนดะ ผู้สื่อข่าวของ Soccerking กล่าวในบทความ ‘ไม่ใช่แค่อาคิระ นิชิโนะ - คนญี่ปุ่นที่มีบทบาทในไทย

“ไทยมีอิมเมจเป็น ‘ประเทศที่ชอบญี่ปุ่น’ และแม้แต่ฟุตบอล คนไทยก็ให้ความเคารพฟุตบอลญี่ปุ่นเป็นพิเศษ และมองเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการขึ้นไปเป็นผู้นำของเอเชีย”

“ความนิยมอย่างเหลือเชื่อของโค้ชนิชิโนะ จึงเป็นตัวแทนตามความเป็นจริงของจุดยืนคนไทย”

ความนิยมของ นิชิโนะ ยังกลายเป็นแรงกระตุ้นให้โค้ชชาวญี่ปุ่น หันมาพิจารณาลีกไทยมากขึ้น และทำให้หลังจากนั้น แฟนบอลไทยได้เห็นฝีไม้ลายมือของโค้ชดัง อย่าง อิชิอิ และ เทงุราโมริ

“จำนวนเฮดโค้ชชาวญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้นในไทยลีกในฤดูกาลที่แล้ว เป็นผลมาจากความนิยมที่สูงมากในท้องถิ่นของโค้ชอาคิระ นิชิโนะ กุนซือทีมชาติไทย” ฮอนดะ กล่าวในบทความของ Soccerking เมื่อปี 2021

“ดิวิชั่น 1 มี มาซาทาดะ อิชิ ของสมุทปราการ ซิตี้ หรือปีที่แล้วก็มี มาซากิ ทาคิ ที่พาเชียงราย ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ และได้ไปเล่นใน ACL”

“หรือในดิวิชั่น 2 ก็มี ซูงาโอะ คัมบะ ของ ขอนแก่น ยูไนเต็ด ที่เคยคุมทีมในไทยลีกมาหลายทีมนับตั้งแต่ปี 2013 รวมถึงมาซายูกิ มิอุระ ที่คุมอุทัยธานี เอฟซี ในช่วงกลางฤดูกาล”

ขณะเดียวกัน ความสนใจในวิธีคิดและการทำงานของคนญี่ปุ่นของเจ้าของสโมสรในไทยลีก ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กุนซือจากแดนอุทิตย์อุทัย ตัดสินใจมาหาความท้าทายที่นี่

“มีคนว่าบอกว่าเธอ (ศิริมา พานิชชีวะ - เจ้าของทีม) ไม่ได้สนใจผู้จัดการทีมชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่สนใจในตัวผมเป็นการส่วนตัว” อิชิอิ ย้อนความหลังกับ Number ในช่วงก่อนเข้ามาคุมทีมสมุทรปราการซิตี้

“ตอนที่ผมได้รับข้อเสนอ เจ้าของทีมบอกผมว่า พวกเขาไม่ใช่แค่อยากเรียนรู้ฟุตบอลของญี่ปุ่น แต่เขาทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ในตอนนั้น เขาจึงบอกว่า เขาประทับใจในวิธีคิดและการทำงานแบบคนญี่ปุ่น”

อย่างไรก็ดี การคุมทีมในไทยไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่โค้ชที่มาจากชาติชั้นนำอย่างญี่ปุ่นก็ตาม

ระวังเจ้าของทีมให้ดี!

แม้ว่าโค้ชชาวญี่ปุ่น จะเป็นที่ต้องการสำหรับทีมในไทยลีกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็รู้ดีว่า งานคุมทีมในไทย ไม่ใช่งานที่มั่นคง และอาจจะกระเด็นออกจากตำแหน่งได้ทุกเมื่อ ซึ่งบางทีไม่ได้มีเหตุผลมาจากฟุตบอลด้วยซ้ำ

หนึ่งในเหตุผลที่ถูกพูดถึงมากคืออิทธิพลของเจ้าของทีม โดย Soccer King สื่อดังในญี่ปุ่นถึงขั้นทำบทความในชื่อว่า “แม้ว่าความต้องการของเฮดโค้ชชาวญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคในระยะยาว” เพื่ออธิบายในเรื่องนี้

“ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น สโมสรไทย ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนโค้ชบ่อย” บทความระบุ

“ถ้าผลงานไม่ดี พวกเขาจะหมดความอดทนอย่างรวดเร็ว และบางทีอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะถูกไล่ออก หากขัดแย้งกับ เจ้าของสโมสร”

ประเทศไทย เป็นสังคมที่มีชนชั้น การตัดสินใจส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มมาจากเจ้าของทีม ยกตัวอย่างเช่นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ประสบความสำเร็จมากมายด้วยระบบ One Man”

“แต่คนจำนวนไม่น้อยก็มองว่านี่คือสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาฟุตบอลของไทย”

นอกจากนี้ พวกเขายังมองว่า ระบบดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้โค้ชชาวญี่ปุ่น ไม่สามารถอยู่กับสโมสรไหนได้นาน หรือวางแผนระยะยาวได้

“แม้ว่าจะมีโค้ชชาวญี่ปุ่นหลายคนที่ได้คุมทีมในไทย แต่ส่วนใหญ่พวกเขาล้วนมีเวลาจำกัด และอยู่กับสโมสรเดิมได้ไม่เกิน 2 ปี” ทัตสึนาริ ฮอนดะ แสดงความเห็นในบทความ

“อย่าง ซูงาโอะ คัมเบะ ที่เป็นเฮดโค้ชในไทยมา 8 ปี ก็ผ่านการคุมทีมในลีกไทยมาแล้วถึง 5 สโมสร ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกุนซือของ ระยอง เอฟซี ในลีกระดับ 2 ซึ่งเป็นสโมสรที่ 6 ของเขา”

แต่ถึงอย่างนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าโค้ชชาวญี่ปุ่น ก็ยังเป็นที่ต้องการในไทย ไม่ว่าจะด้วยความรู้ ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากบ้านเกิด ซึ่งเป็นมหาอำนาจฟุตบอลของเอเชีย หรือความรู้สึกอันดีต่อชาวญี่ปุ่นของคนไทย

ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่า “เทกุ” น่าจะไม่ใช่โค้ชดังชาวญี่ปุ่นคนสุดท้าย ที่เข้ามารับงานในไทยลีกอย่างแน่นอน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก

คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ

เวียดนามกร้าวก่อนซีเกมส์ : "4 ปีก่อน ทรุสซิเย่ร์ ก็เคยพาทีมเวียดนามยู 19 เอาชนะไทยมาแล้ว

เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?

บุรีรัมย์ ยังห่างแค่ไหน ? 10 สถิติไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้

คุณสมบัติอะไรที่ทำให้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นทีมไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ ?

ศุภณัฏฐ์ นำทัพ : 6 วันเดอร์คิดเอเชียที่ติดอันดับโลกปี 2019 ทุกวันนี้เป็นอย่างไร ?

แหล่งอ้างอิง

https://www.jleague.co/id/news/a-bridge-through-football-how-the-jleague-connected-japan-and-southeast-asia-part-1/

https://number.bunshun.jp/articles/-/842285

https://www.nikkan-gendai.com/articles/view/sports/309351/2

https://plus.tver.jp/news/70244/detail/

https://www.soccer-king.jp/news/world/asia/20210512/1387964.html

https://www.soccer-king.jp/news/world/asia/20200729/1101895.html

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ