ทั้งที่เป็นภูมิภาคบ้าบอล : ทำไมไม่ค่อยมีนักเตะสัญชาติ ‘อาเซียน’ ค้าแข้งอยู่ในยุโรป
“พวกเขาบอกว่าเด็กไทยเก่งไม่น้อยหน้าเด็กยุโรป แต่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือแบบพวกเขา หรือได้รับการฝึกฝนในระดับเดียวกันในช่วงวัยกำลังพัฒนา”
เรียกได้ว่ากำลังลุ้นเป็นนักเตะชาวไทยคนแรกในพรีเมียร์ลีกสำหรับ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ดาวเตะจากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เมื่อตอนนี้แข้งวัย 20 ปี กำลังทดสอบฝีเท้าอยู่กับ เลสเตอร์ ซิตี้
อย่างไรก็ดี หากมองในภาพกว้าง ศุภณัฏฐ์ อาจจะเป็นเพียงแค่ชนกลุ่มน้อยของอาเซียนที่มีโอกาสได้ไปเล่นในยุโรป เมื่อหลายทศวรรษมีผู้เล่นจากภูมิภาคนี้ ไปเล่นที่นั่นเพียงหยิบมือเท่านั้น
เพราะอะไร? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ภูมิภาคบ้าบอล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่คลั่งไคล้ฟุตบอลมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนประชากรที่รวมกันมากถึง 655 ล้านคน มากกว่าอเมริกาใต้ทั้งทวีป แถมยังเป็นดินแดนมีสัดส่วนแฟนบอล อยู่ในอันดับต้นๆ ของทวีป
จากการรายงานของ Nielsen เมื่อปี 2022 ระบุว่าเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว มีชาติจากอาเซียนถึง 6 ชาติที่มีสัดส่วนแฟนบอลมากที่สุดจาก 12 อันดับแรกของเอเชีย โดยเวียดนามคือเบอร์ 1 ด้วยจำนวนมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์
ส่วนรองลงมาคือ อินโดนีเซีย ที่รั้งอันดับ 3 ของโลกด้วยร้อยละ 69 ขณะที่ไทยตามมาเป็นอันดับ 5 ที่ 58 เปอร์เซ็นต์ ต่อด้วยมาเลเซียที่อยู่อันดับ 7 และสิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 9 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 53 และ 43 ตามลำดับ
“ผมเดินทางไปทั่วโลกเพื่อรายงานผลการแข่งขัน และภูมิภาคนี้แทบทั้งหมดมีแพชชั่นมากที่สุดที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนในโลกนี้ รวมถึงในอเมริกาใต้” สก็อต แม็คอินไตร์ นักข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลเอเชีย กล่าวกับ Hybrid Magazine
ทั้งนี้ ชาวอาเซียนไม่ได้ชื่นชอบแค่ฟุตบอลยุโรปเท่านั้น แต่พวกเขายังให้การสนับสนุนลีกในประเทศ และเกมทีมชาติ อย่างเต็มที่ ซึ่งเห็นได้จากเกมนัดชิงชนะเลิศ เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 ทั้ง 2 นัด มีผู้ชมรวมกว่า 57,000 คน มาให้กำลังใจถึงขอบสนาม
“มันมีทั้งความรัก ทั้งแพชชั่นที่มีต่อเกมอยู่มากทีเดียวในภูมิภาคนี้ และไม่ใช่แค่ทีมต่างประเทศ ไม่ใช่แค่เกมของทีมใหญ่ แต่รวมถึงทีมท้องถิ่นด้วย” ไรช์ รอสฮาน ไร อดีตนักฟุตบอลชาวสิงคโปร์กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าชาวอาเซียน จะชื่นชอบในเกมลูกหนังมากขนาดนี้ แต่พวกเขากลับมีผู้เล่นที่ได้ไปค้าแข้งในยุโรปเพียงแค่หยิบมือ หรือน้อยมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือบรรดาผู้เล่นชุดสู้ศึก เอเอฟเอฟ คัพ 2022 ที่จากทั้งหมด 230 รายมีเพียงแค่ 4 ราย ที่ค้าแข้งอยู่ในยุโรป ได้แก่เซบาสเตียน ราสมุสเซน (เดนมาร์ก) ของฟิลิปปินส์ วิทาน ซูเลมาน และ เอกี เมาลานา (สโลวาเกีย) ของอินโดนีเซีย รวมถึง เหงียน กวง ไฮ (ฝรั่งเศส) ของเวียดนาม
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
วัฒนธรรมที่แตกต่าง
แม้ว่าที่จริงแล้ว นักเตะสัญชาติอาเซียนที่มีโอกาสได้ค้าแข้งในยุโรป จะมีจำนวนไม่น้อย ทว่านักเตะส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ มักจะเป็นผู้เล่นลูกครึ่ง ที่เกิดหรือเติบโตที่นั่น เช่น นีล อีเธอร์ริดจ์ ของฟิลิปปินส์ หรือ ธนวัฒน์ ซึ้งจิตถาวร ของไทยเป็นต้น
เพราะถ้าหากพูดถึงแข้งชาวอาเซียนแท้ ๆ ที่เติบโตมาจากภูมิภาคนี้ จะพบว่ามีจำนวนที่น้อยมาก แถมส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ หรือต้องพบกับฝันร้ายในการค้าแข้งในยุโรป
โดยเหตุผลหลักคือคุณภาพของฝีเท้า เพราะแม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาลีกของอาเซียน จะเริ่มยกระดับมาตรฐานขึ้นมาได้บ้าง แต่มันยังคงแตกต่าง และห่างไกลจากคุณภาพของลีกยุโรป แม้กระทั่งในลีกรองก็ตาม
ตัวอย่างเช่นในกรณีของ ซาฟาวี ราซิด นักเตะทีมชาติมาเลเซีย ที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นกับ ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม ด้วยการซัดไปถึง 20 ประตูจาก 36 นัด จนได้ย้ายไปเล่นให้ ปอร์ติโมเนนเซ ในลีกโปรตุเกส ด้วยสัญญายืมตัว
ทว่า ราซิด กลับต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในทีม U23 ของ ปอร์ติโมเนนเซ และได้ลงเล่นไปเพียงแค่ 1 นัด ก่อนจะยกเลิกสัญญายืมตัว กลับมาเล่นให้ ยะโฮร์ ก่อนจะย้ายมาเล่นให้ ราชบุรี เอฟซี ในไทยลีกซีซั่นนี้
นอกจากนี้ วัฒนธรรมที่แตกต่าง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง พวกเขาต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการปรับตัวเข้ากับที่นั่น ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่คุ้นชิน ตั้งแต่อาหารการกิน สภาพอากาศ ไปจนถึงภาษา
ธีรศิลป์ แดงดา กองหน้าหมายเลขหนึ่งของไทย ก็เคยเผชิญกับสิ่งนี้ ในตอนนั้น นอกจากนาทีที่น้อยนิดในการลงสนามแล้ว ภาษายังเป็นอุปสรรคสำคัญ จนทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนเกินของสโมสร
“พอนานเข้าๆ เริ่มรู้สึกว่าเราตามเพื่อนไม่ทัน…ทุกๆอย่าง เราเริ่มรู้สึกแย่กับการไม่เข้าใจสิ่งที่โค้ชต้องการสื่อสารมากขึ้น เราพูดไม่ได้ มันรู้สึกด้อยๆไปเอง เวลามีนัดหมายอะไร เราก็ไม่รู้เรื่อง มันสะสมมาเรื่อยๆ เราก็ยิ่งไม่กล้าคุย” มุ้ยกล่าวกับ FourFourTwo Thailand
“แต่ช็อตที่รู้สึกแย่ที่สุด คือ วันที่มีประชุมกันทั้งสโมสร และจัดเป็นค็อกเทลเลี้ยงช่วงเที่ยงวันหลังซ้อมตอนเช้า ทุกคนจับกลุ่มคุยกัน แล้วมีเราอยู่คนเดียว ทั้งสโมสรที่พูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง มันยิ่งแย่กว่าเวลาอยู่ในสนาม”
“ความรู้สึกมันเหมือนโดนปล่อยให้อยู่โดดเดี่ยว เคว้งคว้าง ทั้งที่เราก็นั่งอยู่ท่ามกลางเพื่อนๆ นั่นแหละ เขาพูดอะไร หัวเราะอะไรกัน เราก็ได้แต่หัวเราะตาม ปัญหาเรื่องภาษามันเริ่มชัดขึ้น”
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
อันที่จริงมันคือปัญหาคลาสสิค ที่ล้วนเคยเกิดขึ้นกับนักเตะเอเชียมาก่อน ไม่เว้นแม้แต่ญี่ปุ่น หนึ่งในชาติของทวีปที่มีนักเตะค้าแข้งอยู่ในยุโรปมากที่สุด ทว่าสิ่งที่ต่างออกไปคือพวกเขามีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว
ยกตัวอย่างเช่นในตอนที่ ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ เป็นเฮดโค้ชในช่วงปี 1998-2002 เวลาที่ทีมชาติญี่ปุ่นไปทัวร์ต่างประเทศ เขามักจะใช้วิธีปล่อยผู้เล่นลงกลางทาง แล้วให้พวกเขาหาวิธีกลับโรงแรมเอาเอง
“คนญี่ปุ่น (ในตอนนั้น) รู้เรื่องราวโลกไม่มากพอ ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาที่จะมีประสบการณ์ของมนุษย์” ทรุสซิเยร์ กล่าวกับ New York Times
“พวกเขาต้องเดินไปทั่วลอนดอน หรือกินพิซซ่าที่อิตาลี สิ่งนี้จะช่วยทำลายพรมแดนทางสังคมและทำให้พวกเขามีวิธีใหม่ๆในการแสดงออก
อย่างไรก็ดี บางทีปัญหาอาจจะหยั่งรากลึกกว่านั้น
โครงสร้างพื้นฐานที่ล้าหลัง
คำว่า “มืออาชีพ” สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะเป็นเรื่องใหม่ เมื่อฟุตบอลลีกของพวกเขาเพิ่งจะเป็นลีกอาชีพได้เพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นไทยลีก ที่เป็นลีกอาชีพเต็มตัวในปี 2000 หรือ วีลีก ในฤดูกาล 2000-2001
“การขาดความเป็นมืออาชีพของลีกในประเทศเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ถอยหลัง” เกียน จันทร์ศรีชวาลา จาก Football Tribe ที่อยู่ในไทย กล่าวกับ The Diplomat
“มาตรฐานของการฝึกซ้อม ความคาดหวังต่อพฤติกรรมของผู้เล่นในสนาม และมุมมองของความเป็นองค์กรของสโมสรเป็นสิ่งที่ยังขาดอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มาตรฐานของการเล่นของฟุตบอลที่นี่ไม่สูงเท่าที่ควร”
เกียน เล่าว่า จากการได้พูดคุยกับ โค้ชจากต่างประเทศ พบว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ มีความล้าหลังกว่าตะวันตกอยู่มาก
“พวกเขาบอกว่าเด็กไทยเก่งไม่น้อยหน้าเด็กยุโรป แต่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือแบบพวกเขา หรือได้รับการฝึกฝนในระดับเดียวกันในช่วงวัยกำลังพัฒนา ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้ขยับไปสู่โครงสร้างแบบมืออาชีพระดับสูง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่” เขาอธิบาย
“ผมเดาว่ามันน่าจะเป็นเรื่องแบบเดียวกันกับประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ เพราะตราบใดที่แข้งอาเซียนยังไม่เก่งพอ ก็ไม่แปลกที่สโมสรยุโรป จะมองข้ามไม่สนใจ รวมถึงไม่กล้าที่จะทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างเครือข่ายแมวมองในภูมิภาคนี้
“นอกจากเรื่องเทคนิคและสภาพร่างกายที่ผู้เล่นในภูมิภาคนี้ขาดแล้ว มันยังเป็นเรื่องของสายตาที่มองมายังภูมิภาคนี้ อย่างที่รู้ แมวมองต้องเห็นคุณ โค้ชต้องเห็นคุณ” รอสฮานกล่าวกับ Hybrid Magazine
นอกจากนี้ อาเซียน ยังขาดระบบการพัฒนาเยาวชนที่ยั่งยืน ซึ่งเห็นได้จากการที่หลายชาติมักจะมี “ยุคทอง” เป็นช่วงๆ ที่สามารถก้าวขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ ก่อนที่ผลงานดร็อปลงไป เมื่อผู้เล่นในยุคทองโรยราหรือเลิกเล่น
“เมื่อเรามองไปยังโครงสร้างพัฒนาเยาวชน คุณต้องมีฐานปิรามิดที่กว้าง และมันจะเริ่มเล็กลงเมื่อระดับฟุตบอลสูงขึ้น แต่ในบางพื้นที่ มันดูเหมือนปิรามิดนี้ จะค่อนข้างกระจัดกระจาย” รอสฮานอธิบาย
ทว่าย ยังมีอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
กับดักค่าเหนื่อย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟุตบอลอาเซียน มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่แฟนบอล และมูลค่าทางการตลาด ที่เห็นได้จากเม็ดเงินหลายพัน หลายหมื่นล้านบาท หมุนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้
การเติบโตของอุตสาหกรรมฟุตบอล ยังทำให้ค่าจ้างผู้เล่น สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยจากการรายงานของ Straits Times เมื่อปี 2016 ระบุว่าผู้เล่นในไทยลีกจะได้รับค่าเหนื่อยอยู่ที่ราว 100,000 บาทต่อเดือน ขณะที่นักเตะต่างชาติอาจจะมีเงินเดือนอยู่ในระดับหลักล้านบาท
และมันจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกสำหรับ มาเลเซีย ซูเปอร์ลีก เมื่อจากรายงานของ Goal Malaysia เมื่อปี 2019 ระบุว่า ผู้เล่นของพวกเขามีเงินเดือนอยู่ในระหว่าง 40,500 - 101,100 ริงกิต (ราว 300,000- 773,000 บาท) ซึ่งมากกว่าค่าเหนื่อยเฉลี่ยของ คอนซาโดเล ซัปโปโร (5 แสนบาท) หรือ โยโกฮามา เอฟมารินอส (5.2 แสนบาท)
แม้ว่ารายรับมหาศาล จะช่วยดึงดูดให้ผู้เล่นต่างชาติดีกรีหรู ย้ายมาเล่นในลีกอาเซียน แต่สิ่งนี้ก็เป็นเหมือนกับดักที่คอยฉุดรั้งไม่ให้ผู้เล่นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ายไปเล่นในต่างประเทศ จนทำให้ฝีเท้าของพวกเขาไม่พัฒนาเท่าที่ควร
“เมื่อคุณทำงานในต่างประเทศ คุณต้องฝึกซ้อมด้วยวิธีที่ต่างออกไป โค้ชที่ต่างออกไป คุณยังต้องเล่นในการแข่งขันที่ต่างจากเดิม คุณจะเจอปัญหามากมาย” ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ กล่าวกับ J SELECT Magazine
อันที่จริง อาเซียนอาจจะจำเป็นต้องมองญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง จากการที่พวกเขาพยายามผลักดันนักเตะออกไปเล่นในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการไปเล่นในลีกรอง ที่เป็นบันไดพาไปเล่นในลีกใหญ่
“นักเตะหลายคนจำเป็นต้องย้ายไป ‘ตลาดรอง’ (เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ) ก่อนจะหาโอกาสไปอังกฤษ หรือลีกอื่นที่ ‘ใหญ่กว่า’” แม็คอินไตร์ กล่าวกับ Hybrid Magazine
“ฟุตบอลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรทำตามสโมสรในเจลีกหรือเคลีก ที่ขายนักเตะพวกเขาออกไปในราคาที่ถูกจนเกินไป กว่าราคาที่แท้จริง” มาร์ติน โลว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลเอเชียเสริม
เพราะหากมีผู้เล่นอาเซียนอยู่ในยุโรปมากขึ้น มันยิ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานฟุตบอลของภูมิภาค ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของฝีเท้า แต่ยังหมายถึงประสบการณ์ ทัศนคติ วิธีคิด รวมถึงเป็นแบบอย่างให้กับผู้เล่นในรุ่นต่อไป
“ทำไมญี่ปุ่นจึงพัฒนา เพราะว่าผู้เล่นของพวกเขาไปยุโรป” ทรุสซิเยร์ ที่เคยรับตำแหน่งผู้อำนวยการอคาเดมีของทีมชาติเวียดนาม กล่าวกับ Football Asian
“ถ้าคุณถามผมว่าผมพัฒนาฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างไร ผมพูดได้ว่า เป็นเพราะนักเตะ 20 คนของพวกเขาไปยุโรป มันไม่ใช่การพัฒนาจากนโยบายเชิงเทคนิคของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้”
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมผู้เล่นสู่ยุโรปให้ดี ทั้งในเชิงกายภาพ ทัศนคติ และจิตใจ เพื่อให้พวกเขา “พร้อม” อยู่เสมอ และไม่ปล่อยให้โอกาสที่มาถึงหลุดลอยไป
“สิ่งที่ KFA ทำอยู่ตอนนี้ มันเพียงพอแล้ว สอน ให้การศึกษา สิ่งเหล่านี้มันแข็งแกร่งแล้ว แต่ถ้าผยังอยู่ในเกาหลีล่ะ มันก็พัฒนาไม่ได้ ถ้าคุณไปยุโรป คุณจะพัฒนาไปอีก คุณภาพของนักเตะญี่ปุ่นและเกาหลีในตอนนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากการไปเล่นยุโรป” ทรุสซิเยร์ อธิบาย
แม้ว่าจะไม่มีอะไรการันตี ว่านักเตะที่พร้อมเหล่านี้ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ในยุโรป แต่อย่างน้อยมันจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา ในการพาฟุตบอลอาเซียนไปไกลกว่าตรงนี้
“การย้ายไปยุโรปของเขา (ควงไฮ) เป็นการถ่อไปในสิ่งที่ไม่รู้จัก ซึ่งน้อยคนที่จะประสบความสำเร็จ” โลว์ กล่าวกับ The Dipomat
“อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญคือเขาได้ไปแล้ว และหากอยากจะแผ้วถางทางสู่ยุโรปต้องมีผู้เล่นที่ยอมเสี่ยงมากกว่านี้ เพื่อให้มันถูกสร้างขึ้นมากกว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คำภีร์ปรับตัว : นักเตะที่ย้ายทีมกลางทางต้องเจออะไรบ้าง ?
มาปุ๊ปร้อนปั๊ป : 7 แข้งไทยลีกที่ย้ายทีมเลก 2 แล้วปังทันที
ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ : กุนซือคนแรกในประวัติศาสตร์ที่พาญี่ปุ่นเข้าถึงรอบน็อคเอาท์ฟุตบอลโลก
แหล่งอ้างอิง
https://www.hybridmag.co.uk/p/why-dont-we-see-southeast-asian-footballers
https://thediplomat.com/2022/08/is-southeast-asian-football-finally-on-the-cusp-of-success/
https://www.dw.com/en/vietnam-looking-to-take-southeast-asia-back-to-the-world-cup/a-59030386
https://www.nytimes.com/2000/09/14/sports/IHT-french-coaching-style-stirs-japanese.html
http://www.football-asian.com/news/articleView.html?idxno=34
https://www.todayonline.com/sports/thai-league-rule-change-opens-doors-spore-players