The masked man : ทำไม ซน ฮึง-มิน ถึงเลือกใส่หน้ากากสีดำลงสนาม ?

นักฟุตบอลกับอาการบาดเจ็บเป็นของคู่กัน ทุกคนล้วนเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วทั้งนั้น ด้วยความที่ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ใช้ร่างกายหนักและต้องปะทะอยู่ตลอดเวลา อาการบาดเจ็บจึงเกิดได้ทุกเมื่อ ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ ต่อให้คุณดูแลตัวเองอย่างดี คุณก็ยังมีโอกาสบาดเจ็บ
อาการบาดเจ็บเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนร่างกายของนักฟุตบอล ที่พบบ่อยที่สุดคือขาและเท้า ไม่ว่าจะเป็น กล้ามเนื้อ, เส้นเอ็น, กระดูก และข้อต่อ ซึ่งเป็นอาการบาดเจ็บที่ต้องรักษาให้หาย ถึงจะกลับไปวาดลวดลายในสนามได้
ในขณะเดียวกัน มันก็มีอาการบาดเจ็บที่ดูรุนแรง แต่คุณไม่จำเป็นต้องรอให้หายสนิท แค่สวมอุปกรณ์ป้องกัน ก็กลับไปสวมสตั๊ดลงเล่นได้เหมือนเดิม ในที่นี้เรากำลังพูดถึง ‘อาการบาดเจ็บบนใบหน้า’ ของนักฟุตบอล
บทความที่เกี่ยวข้อง : Blue Lock : มังงะฟุตบอลที่พาญี่ปุ่นก้าวข้ามกำแพง ‘เยอรมัน’ ในบอลโลก
ส่วนใหญ่อาการบาดเจ็บบนใบหน้าจะเกิดในลักษณะอุบัติเหตุ และนักเตะจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นพิเศษ เนื่องจากมีโอกาสนำไปสู่อาการกระทบกระเทือนทางสมอง (Concussion) หากยังมีอาการมึนงงต้องถูกเปลี่ยนออกทันทีเพื่อความปลอดภัย
กรณีเบาหน่อยก็มีแค่แผลแตก เย็บแล้วก็หาย หนักหน่อยก็กระดูกหัก ต้องผ่าตัดสถานเดียว ฟังดูแล้วเป็นอาการที่หนักเอาเรื่อง และคงใช้เวลานับเดือนกว่ากระดูกจะประสาน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า นักเตะจะต้องพักฟื้นอย่างเดียว ซึ่งต้องขอบคุณวิทยาการทางการแพทย์
ด้วยโปรแกรมแข่งขันที่อัดแน่นตลอดทั้งปี นักเตะในลีกระดับท็อปของยุโรปใช้เวลาอยู่กับการฝึกซ้อมและลงแข่งเฉลี่ย 10 เดือนต่อปี วิทยาการทางการแพทย์จึงมีบทบาทสำคัญในเกมฟุตบอลยุคนี้ ในแง่ของการฟื้นฟูสภาพร่างกายและป้องกันอาการบาดเจ็บ โดยเฉพาะอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของนักฟุตบอล หนึ่งในนั้นก็คือ ‘หน้ากาก’

หน้ากากถูกนำมาใช้กับนักเตะที่มีอาการบาดเจ็บใบหน้า เพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำจุดเดิมในระหว่างลงซ้อมหรือลงแข่ง ต่อให้คุณจมูกหักหรือเบ้าตาแตก คุณก็สามารถลงสนามช่วยทีมได้ เพียงแค่ใส่หน้ากากเอาไว้
แม้ว่าคุณจะเข้าบอลเอาป็นเอาตายเหมือนตอนร่างกายปกติไม่ได้ เพราะต้องเล่นด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ และหลายคนก็มองว่ามันเป็นอุปสรรคในการเล่นอย่างหนึ่ง แต่อย่างน้อยหน้ากากก็ช่วยให้เขาลงไปยืนในสนาม โดยที่ไม่ต้องรอให้อาการบาดเจ็บหายดี
มันมีความหมายต่อนักเตะคนหนึ่งมาก ยิ่งเกมนั้นเป็นเกมสำคัญอย่าง ฟุตบอลโลก, ฟุตบอลยูโร, นัดชิงฟุตบอลถ้วยด้วยแล้ว ไม่มีใครอยากพลาดโอกาสสำคัญแบบนี้ ที่อาจผ่านเข้ามาครั้งเดียวตลอดอาชีพค้าแข้ง เพียงเพราะอาการบาดเจ็บที่ใบหน้าหรอก
หน้ากากไม่ได้เพิ่งเข้าสู่วงการลูกหนัง ย้อนกลับไปในยุค 90s นักเตะหลายคนเริ่มใส่ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว และคนที่เป็นที่จดจำของแฟนบอลคงหนีไม่พ้น พอล แกสคอย พ่อมดลูกหนังชาวอังกฤษ ที่ไปพลาดโดนศอกของกัปตันทีมชาติเนเธอร์แลนด์อย่าง แยน วูเตอร์ส จนกระดูกแก้มแตก ในเกมคัดฟุตบอลโลก 1994 ทำให้เขาต้องใส่หน้ากากลงเล่นทั้งกับสโมสรและทีมชาติตลอดฤดูกาลนั้น

เช่นเดียวกับตำนานนักเตะอีกหลายราย เช่น เปาโล มัลดินี, ยูริ จอร์เกฟฟ์, มิชาเอล บัลลัค, จอห์น เทอร์รี และเฟร์นันโด ตอร์เรส เป็นต้น และทุกคนก็ยังสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยไม่ปล่อยให้หน้ากากเข้ามาเป็นอุปสรรคเลย
รูปแบบของหน้ากากยืดหยุ่นไปตามอาการบาดเจ็บของนักเตะ ไม่ได้ถูกกำหนดตายตัว บางคนเจ็บเบ้าตา, บางคนเจ็บแก้ม, บางคนเจ็บจมูก รูปแบบของหน้ากากของแต่ละคนก็จะแตกต่างไปตามอาการ ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าเห็นนักเตะใส่หน้ากากรูปร่างพิลึก
การใส่หน้ากากในช่วงแรกค่อนข้างอิสระ ไม่มีกฎมาควบคุมมากนัก นักเตะบางคนเลือกที่จะเพิ่มกิมมิคลงบนหน้ากากตัวเอง เพื่อความคูลและดูเท่ห์ อย่างในรายของ จามเปาโล ปาซซินี่ อดีตกองหน้าของ เอซี มิลาน และทีมชาติอิตาลี ก็เพนท์เบอร์เสื้อและชื่อเล่นลงไป ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถทำแบบนั้นได้แล้ว

คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ (IFAB) ที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดกติกาเกมฟุตบอล ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า หน้ากากที่นักเตะจะใส่ลงสนาม ต้องเป็นสีดำหรือสีเดียวกับชุดแข่งเท่านั้น และห้ามใส่ลวดลายใด ๆ ลงไปเด็ดขาด ซึ่งมีผลครอบคลุมในทุกรายการแข่งขัน
นั่นคือเหตุผลที่ ซน ฮึง-มิน กองหน้าตัวความหวังทีมชาติเกาหลีใต้ เตรียมใส่หน้ากากสีดำลงสนามในศึกฟุตบอลโลก 2022 หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเบ้าตาแตก ที่ได้มาจากจังหวะปะทะกับ ชานเซล เอ็มเบมบ้า กองหลังของ โอลิมปิก มาร์กเซย ในเกมยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก
ตรงกับคำชี้แจงของสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ที่ระบุว่า ซน ฮึง-มิน ไม่สามารถเติมเลข 7 ลงไปบนหน้ากากได้ และต้องใส่หน้ากากสีดำหรือสีเดียวกับชุดแข่งของทีม ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่ลงเล่นในฟุตบอลโลก
หน้ากากสีดำของ ซน ฮึง-มิน ยังมีเหตุผลด้านความเอนกประสงค์ซ่อนอยู่ เพราะ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ในฐานะต้นสังกัด เป็นคนสั่งทำหน้ากากชิ้นนี้เป็นสีดำ เพื่อให้นักเตะได้นำไปใช้ตอนเล่นกับทีมชาติเกาหลีใต้ได้ด้วย

ขณะที่ ซน ฮึง-มิน พูดถึงหน้ากากที่ใส่ว่า “ผมรู้สึกสบายตัวตอนใส่หน้ากากมากกว่าที่จินตนาการไว้เสียอีก ผมลงซ้อมกับทีมตั้งแต่ก่อนเดินทางมากาตาร์ 2 วัน ผมพยายามวิ่งเต็มสปีด และมันก็ไม่มีปัญหาอะไร ผมยินดีเสี่ยงตัวเองเพื่อมอบความหวังและความสุขให้กับแฟนบอลฟุตบอลของเรา“
หลังจบเหตุการณ์ที่ สต๊าด เวโรโดม คงไม่มีใครกังวลไปกว่าตัวของ ซน ฮึง-มิน อีกแล้ว เขารู้ดีว่าการผ่าตัดรักษากระดูกเบ้าตาซ้ายแตก มีโอกาสพรากฟุตบอลโลก 2022 ไปจากเขา ด้วยระยะเวลาที่กระชั้นชิด แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็จบอย่างแฮปปี้เอนดิ้งเพราะหน้ากาก และ ซน ฮึง-มิน ก็ได้บินไปกาตาร์พร้อมกับเพื่อนร่วมทีมชาติเกาหลีใต้สมใจ
ชีวิตนักฟุตบอลคนหนึ่ง จะมีอะไรน่าภูมิใจไปกว่า การได้สวมชุดแข่งที่มีธงชาติปักอยู่ตรงอกซ้ายในฟุตบอลโลก ไม่ว่าใครก็อยากมีโมเมนต์แบบนี้ ไม่เว้นแม้แต่สตาร์ดังอย่าง ซน ฮึง-มิน ที่อาจพลาดโอกาสนั้นไปแล้ว หากไม่มีวิทยาการทางการแพทย์ที่เรียกว่า ‘หน้ากาก’
แหล่งอ้างอิง
https://www.theifab.com/laws/latest/the-players-equipment/#other-equipment
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR

อดีตแข้งทีมชาติฮอลแลนด์ โดนฟ้องขนโคเคน 1.3 ตัน มูลค่า 2,800 ล้านบาท
MOST POPULAR

อดีตแข้งทีมชาติฮอลแลนด์ โดนฟ้องขนโคเคน 1.3 ตัน มูลค่า 2,800 ล้านบาท

รีแมทช์บอลโลก 2022 ญี่ปุ่น นัดอุ่นแข้ง เยอรมัน ฟีฟ่าเดย์เดือนกันยาย

ส.บอลอินโดนีเซีย ตั้งเป้าเกมกับ อาร์เจนตินา ต้องเก็บรายได้ 600 ล้านบาท

อิเนียสต้า ติดด้วย 10 อันดับนักเตะค่าเหนื่อยแพงที่สุดในโลกปี 2023

วิถีบุรีรัมย์ : รวมนักเตะเล่นดี แฟนบอลรัก แต่ไม่ได้ไปต่อกับปราสาทสายฟ้า
