ทีมใหญ่ ๆ ทั้งนั้น : ไขข้อข้องใจทำไมทีมชาติไทยไม่เข้าร่วมแข่ง CAFA 2023 ?

ทีมใหญ่ ๆ ทั้งนั้น : ไขข้อข้องใจทำไมทีมชาติไทยไม่เข้าร่วมแข่ง CAFA 2023 ?
ชยันธร ใจมูล


หลังจากที่สมาคมฟุตบอลเอเชียกลาง หรือ “CAFA” ได้ส่งหนังสือเทียบเชิญ ทีมชาติไทย ให้ไปแข่งขันทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์เอเชียตะวันออกกลาง ในช่วงโปรแกรม ฟีฟ่า เดย์ เดือนมิถุนายน ระหว่างวันที่ 9-21 ณ ประเทศอุซเบกิสถาน แฟนบอลชาวไทยที่เห็นข่าวช่วงแรก คงจะแอบรู้สึกตื่นเต้นกันไม่มากก็น้อย

รายนามของชาติที่จะลงทำการแข่งขันมีทั้งหมด 8 ทีม เป็นชาติจากเอเชียกลางเป็นหลักจำนวน 6 ทีม ประกอบไปด้วย อัฟกานิสถาน, อิหร่าน, คีร์กีซสถาน, เติร์กมินิสถาน และ อุซเบกิสถาน บวกกับชาติรับเชิญอีกสองทีม คือ ทีมชาติไทย และ รัสเซีย

ทีมใหญ่ ๆ ทั้งนั้น อันดับโลกสวย ๆ น่าดูชม แต่มีการเปรยออกมากลาย ๆ ว่าทีมชาติไทยจะไม่ไปแข่งในทัวร์นาเม้นต์นี้ ? ... เหตุผลทั้งหมดเกิดขึ้นจากอะไรติดตามได้ที่นี่

เบื้องหลังเกมอุ่นเครื่อง

กว่าจะจัดเกมอุ่นเครื่องสักเกมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแบบที่หลายคนเข้าใจ มันไม่ใช่แค่การที่สมาคมฟุตบอลของชาติหนึ่งส่งจดหมายเชิญไปยังสมาคมฟุตบอลอีกชาติหนึ่ง จากนั้นก็ตอบตกลงและมาแข่งขันกัน

เพราะความจริงการจัดเกมอุ่นเครื่องเกมนึง ต้องคำนึงถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างทีมชาติไทยของเรา หากเราจะเชิญใครมาแข่งสักทีม เราก็ต้องหาทีมที่เข้ามาแล้วสร้างประโยชน์กับเราให้ได้มากที่สุดเช่น อาจจะเป็นทีมที่มีอันดับโลกสูงกว่า ทีมที่มีคุณภาพดีกว่าเพื่อใช้วัดระดับของตัวเองหรืออาจจะเป็นทีมที่มีสไตล์การเล่นในแบบที่เราต้องการจะทดลองทีมเพื่อแมตช์สำคัญที่รออยู่ข้างหน้า ... ส่วนที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของฟุตบอล้วน ๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันยังไม่จบแค่นั้น

เพราะจริง ๆ แล้วมันยังมีเรื่องการตลาด ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการมีสปอนเซอร์สนับสนุนที่เข้ามาช่วยจัดการออกเงินต่าง ๆ และสำคัญที่สุดคือการการันตีว่าหากเชิญทีมนี้มาแข่งแล้วจะสามารถทำเงินได้ทั้งจากยอดขายตั๋ว และค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด  

กรณีนี้สามารถยกตัวอย่างแบบชัด ๆ ได้ 1 เคส นั่นคือการเกมนัดเปิดสนาม นิว เวมบลี่ย์ ของทีมชาติอังกฤษ ที่เลือกเชิญทีมชาติบราซิล มาแข่งขันเกมกระชับมิตร ในปี 2007 นั้น นอกจากจะเป็นเกมใหญ่ฟัดใหญ่แล้ว ยังเป็นเกมที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงมาก ๆ เพราะทั้งสองชาติใส่เสื้อที่มีผู้สนับสนุนเดียวกันอย่าง Nike และ Nike เป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการจ้าง บราซิล มาเตะอุ่นเครื่องเกมนี้ทั้งหมด  

ไฮไลต์เกมอังกฤษ vs บราซิล ที่ เวมบลี่ย์  ปี 2007

ทำไม Nike ถึงทำแบบนั้น ? ง่ายนิดเดียว เพราะ บราซิล คือชาติระดับเรือธงของแบรนด์  Nike  มีอิทธิพลและมีภาพจำต่อแฟนฟุตบอลทั่วโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งการพา บราซิล มาเตะกับทีมชาติอังกฤษนั้นได้ผลบวกหลายทาง อย่างแรกคือนี่คือเกมที่ทั้งโลกอยากจะดู การันตีว่าตั๋วกว่า 9 หมื่นใบในสนามจะขายหมด และการถ่ายทอดสดก็จะถูกแพร่ภาพไปทั่วโลก นอกจากนี้ อังกฤษ ยังเป็นตลาดใหญ่ของ Nike ในเชิงธุรกิจอีกด้วย เมื่อผลประโยชน์ลงตัวทุกอย่างก็ลุล่วง

นอกจากตัวอย่างของเกมบราซิลแล้วยังมีอีกหลายเกมที่เป็นบัญชาสปอนเซอร์ เช่นรายการ คิริน คัพ ของญี่ปุ่น เมื่อปี 2013 พวกเขาเชิญลัตเวียมาเเเข่งขันด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วเกรดของญี่ปุ่นนั้นสามารถเชิญทีมที่ดีกว่าลัตเวียได้ แต่พวกเขาก็ต้องเลือกลัตเวีย เพราะ  Kirin Beverage สปอนเซอร์หลักของทีมชาติขอมา เนื่องจากจะมีการตีตลาดเบียร์ในประเทศลัตเวีย ณ ตอนนั้น อีกทั้ง สเปน ก็ยังเคยต้องมาอุ่นเครื่องกับ กาตาร์ ที่โดฮา เพราะ กาตาร์แอร์เวย์ เป็นสปอนเซอร์ของทีมกระทิงดุ เป็นต้น

สำหรับทีมชาติไทยที่ไม่ได้มีแบรนด์ระดับโลกสนับสนุนล่ะ ?

ต้องยอมรับว่าทีมชาติไทยเป็นชาติที่ไมได้มีชื่อเสียงเรื่องฟุตบอลนัก ไม่ว่าจะด้วยความสำเร็จในอดีตหรืออันดับในฟีฟ่า แรงกิ้ง ดังนั้น การที่ทีมชาติไทยจะได้แข่งขันเกมกระชับมิตรกับทีมที่อันโลกสูงกว่า คุณภาพดีกว่า ทีมชาติไทยก็ต้องจ่ายเงินให้กับทีมเหล่านั้นมาเเข่งขันด้วย เช่นรายการฟุตบอลอุ่นเครื่องอย่าง "คิงส์คัพ" ที่ไทยเราไปเชิญทีมอันดับโลกสูงกว่ามาเช่น สโลวาเกีย ในปี 2018 เป็นต้น

ไฮไลต์เกม ไทย กับ สโลวาเกีย ใน คิงส์คัพ 2018

การจัดแมตช์อุ่นเครื่องด้วยการเชิญที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ด้านการทูตระหว่างประเทศระดับแน่นแฟ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะดีลกันง่าย ๆ และคนที่ทำให้ 2 ชาติที่อาจจะไม่ได้รู้จักมักจี่มาเเข่งขันกันได้ในเกมอุ่นเครื่องก็คือ แมตช์ เมคเกอร์ (Match Maker) ซึ่งหน้าที่ของพวกเขาจะคล้าย ๆ กับโปรโมเตอร์มวยที่ คอยจัดมวยในไฟต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะคู่เล็กคู่ใหญ่ พวกเขาสามารถทำได้เพราะคอนเน็คชั่นกว้างขวาง สามารถจัดหาคู่แข่งให้ทีมชาติที่จ่ายเงินให้กับพวกเขาได้  ซึ่งแน่นอนว่าจ่ายเยอะ ก็มีโอกาสที่จะได้แข่งขันกับทีมที่เก่งขึ้น

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปี ก่อนหลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่าไทยมีโอกาสที่จะอุ่นเครื่องกับระดับแชมป์โลก 5 สมัยอย่าง บราซิล มาแล้ว เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วง ฟีฟ่า เดย์ เดือน ตุลาคม ปี 2019 ซึ่งตอนนั้น บราซิล เดินทางมาอุ่นเครื่องที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัทเอเยนซีระดับโลกเป็นคนนำทางพวกเขามา

เดิมทีพวกเขาตั้งใจมาเตะกับทีมชาติสิงคโปร์ แต่ สิงคโปร์ ไม่สามารถลงเเข่งขันด้วยได้ เพราะต้องลงเล่นเกมคัดเลือกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกกับ ซาอุดิอาระเบีย และ อุซเบกิสถาน  ดังนั้นจึงมีเอเยนซี่ หรือแมตช์เมคเกอร์ ติดต่อมายังทีมชาติไทย แต่ก็ด้วยราคาค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับการลงเล่นเกมนี้ ทีมชาติไทยก็ถอยทัพ และปล่อยให้ บราซิล ต้องลงเเข่งขันกับทีมอย่าง เซเนกัล และ ไนจีเรีย แทน ซึ่งเรื่องของตัวเลขนั้นไม่ได้มีการเปิดเผย แต่ชัดเจนว่าด้วยอันดับโลกที่เป็นรองบราซิลเยอะมาก ทำให้ไทยจะต้องจ่ายเยอะกว่า เซเนกัล และ ไนจีเรีย ในการเล่นเกมอุ่นเครื่องแบบชกข้ามรุ่นพอสมควร

Photo : www.straitstimes.com

เมื่อการเล่นกับทีมชาติที่เก่งกว่า ๆ แบบจัดการแข่งขันขึ้นเองนั้นเป็นไปได้ยากมาก ๆ สำหรับทีมชาติไทย ดังนั้นโอกาสของเราที่จะได้เล่นกับทีมในระดับแถวหน้าของเอเชีย หรือทีมระดับโลกนั้นจึงต้องรอในโอกาสพิเศษจริง ๆ เช่นการมีเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่ออกค่าจ้างเอาทีมระดับโลกมาเอง ยกตัวอย่างที่แฟนบอลไทยน่าจะจำได้ก็คือการที่ ไทย ถูก จีน เชิญไปแข่งขันฟุตบอล 4 เส้าในปี 2019 ที่ ณ เวลานั้นไทยที่มีความสัมพันธ์ดีกับจีนในหลายๆ  เรื่องได้ค่าจ้างในระดับใกล้ ๆ 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังบุญหล่นทับได้เล่นกับทีมชาติ อุรุกวัย ทีมระดับท็อป 20 ของโลกในนัดชิงชนะเลิศ เนื่องจากไทยสามารถเอาชนะ จีน ได้ในเกมรอบแรก

ไฮไลต์เกม ไทย vs อุรุกวัย ปี 2019

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าถ้าไม่ได้เชิญและไม่มีเจ้าภาพที่รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทีมชาติไทยก็ยากที่จะหาเกมอุ่นเครื่องกับทีมระดับสูง ๆ มาเเข่งขันด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ว่าไมช้างศึกจึงไม่ค่อยได้เล่นกับทีมอันดับโลกสูงว่าหลาย ๆ อันดับ โดยเฉพาะการไปเยือนยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ว่าจะทั้งในเอเชีย ขณะที่ในยุโรปนั้นไม่ต้องพูดถึงครั้งสุดท้ายที่ไทยไปเล่นเกมเยือนกับชาติในยุโรปนั้นต้องย้อนกลับไปเกือบ 70 ปีเลยทีเดียว

เรื่องเงินเรื่องใหญ่

ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในเกมอุ่นเครื่องนั้น ตามธรรมเนียมแล้วหาก สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นผู้ออกหนังสือเทียบเชิญชาติที่มีอันดับ แรงกิ้ง ต่างๆ มาแข่งขันโดยเรารับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ ค่าใช้จ่ายทั้งหมด สมาคมฯ ต้องออกเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าตั๋วเครื่องบิน, ค่าที่พัก และ ค่าอาหารแต่ละมื้อ ส่วนทีมที่มีอันดับต่ำกว่า ทัพช้างศึก ก็ต้องคุยกันเป็นกรณีไป

PHOTO : ช้างศึก

พอเปรียบเทียบกับการที่ ไทย ได้รับเทียบเชิญไปแข่งขันนอกประเทศแล้ว เต็มที่ส่วนใหญ่ทางสมาคมฯ ต้องออกค่าใช้จ่ายสำคัญ เพียงแค่ค่าเดินทางเท่านั้น อ้างอิงจากคำกล่าวของ น.อ. ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ซึ่งเปิดเผยเอาไว้ว่า

“โดยหลักแล้วส่วนใหญ่ เราจะเป็นฝ่ายออกค่าเดินทาง ส่วนฝั่งที่เชิญเราไปเตะจะดูแลค่าที่พักและอาหารให้ แต่ถ้าเราเชิญชาติที่มี แรงกิ้ง เหนือกว่ามาเตะที่ประเทศไทย เราต้องเป็นฝ่ายออกทั้งหมดนะ”

“แต่ถ้าเป็นทีมที่อันดับแรงกิ้งต่ำกว่า ไทย สมมติว่าเราอยู่อันดับ 111 แล้วเชิญชาติที่มีอันดับใกล้เคียงกันอย่าง 112,113 หรือ 114 บางทีมในกลุ่มนี้ต้องออกค่าเครื่องบินและที่พักเองทั้งหมด บางทีมจะออกเองแค่ค่าตั๋ว แล้วทางเรามีที่พักรับรองให้”

จากข้อมูลดังกล่าว แปลว่าสิ่งที่ทาง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ต้องจ่ายแน่ๆ คือ ค่าเดินทาง คือ ตั๋วเครื่องบินนั่นเอง นอกจากนี้ข้อกำหนดในการเข้าประเทศต่างๆ ที่ต้องคำนวนเพิ่มเติมอีกหนึ่งเรื่อง ย่อมหนีไม่พ้น วีซ่า การเข้าประเทศนั้นๆ ซึ่งแต่ละทวีปจะมีความแตกต่างกันออกไป

Photo : AFC


ล่าสุดที่ทีมชาติไทยปฎิเสธการไปอุ่นเครื่องรายการ “CAFA 2023" หรือศึกชิงแชมป์เอเชียกลาง ที่จะลงทำการแข่งขันมีทั้งหมด 8 ทีม เป็นชาติจากเอเชียกลางเป็นหลักจำนวน 6 ทีม ประกอบไปด้วย อัฟกานิสถาน, อิหร่าน, คีร์กีซสถาน, เติร์กมินิสถาน และ อุซเบกิสถาน บวกกับชาติรับเชิญอีกสองทีม คือ ทีมชาติไทย และ รัสเซีย มองเผินแล้ว ๆ เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ

แต่เหตุผลหลัก ๆ ของการปฎิเสธครั้งนี้ก็มาจากเหตุผลเรื่องของงบประมาณค่าใช้จ่าย ซึ่งคำนวนออกมาแล้วสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณในการเตรียมทีม, ค่าเข้าร่วมการแข่งขัน และ ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ทุกอย่างล้วนไม่เหมาะสมกับสถานการณ์สภาพคล่องด้านการเงินของสมาคมในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเราคำนวณดูคร่าว ๆ เฉพาะแค่ค่าตั๋วเครื่องบินแบบไปกลับ บนเที่ยวบินราคาประหยัด ทีมชาติไทย จะต้องใช้เงินถึง 1.3 ล้านบาท  ... ย้ำว่านี่เป็นแค่ค่าตั๋วอย่างเดียว ไม่รวมค่าวีซ่า ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายตอนที่อยู่ที่นั่น ค่าโรงแรม และค่าจิปาถะอีกมากมาย

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าโลกของฟุตบอลนั้นมีอะไรซ่อนอยู่มากมาย เกมฟุตบอลสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันอย่างเดียวเท่านั้น มีปัจจัยมากมายมาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทีมชาติไทยจึงไม่ตอบรับการแข่งขันรายการที CAFA 2023 ที่น่าตื่นเต้นนี้นั่นเอง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

ย้อนหาคำตอบปรัชญาฟุตบอลของ ฟรอนตาเล่ จริง ๆ สไตล์ไหนทำไมขัดชนาธิป ?

เคียวโกะ ฟูรุฮาชิ : กองหน้าตัวเป้าที่สูงแค่ 170 ซม. กับวิธีการเล่นที่แข้งไทยควรศึกษา

คอมเม้นต์แฟนญี่ปุ่นถึง ‘สุภโชค’ ดีไม่ดี ? หลังประเดิมตัวจริงคอนซาโดเลนัดแรก


แหล่งอ้างอิง

https://www.agussportandevents.com/friendly-matchmaker

https://en.wikipedia.org/wiki/Kirin_Cup_Soccer

https://www.quora.com/How-does-a-national-team-manager-plan-a-friendly-match

https://www.straitstimes.com/sport/football/football-brazil-to-play-thailand-in-friendly-at-singapores-national-stadium-in

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ