ทีมชาติญี่ปุ่นมีผู้จัดการทีมหรือไม่ พวกเขามีหน้าที่อะไรบ้าง ?
หลัง นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมชาติไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงหน้าที่ของเธอในทัพช้างศึก คือการให้ความสำคัญเรื่องนอกสนามเป็นหลัก
Think Curve - คิดไซด์โค้ง จึงขอพาไปดูมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างญี่ปุ่น ว่าพวกเขามีสต้าฟในตำแหน่งนี้หรือไม่ และมีบทบาทแค่ไหน?
เจ้าหน้าที่ประจำ
อันที่จริง ผู้จัดการทั่วไป ถือเป็นตำแหน่งที่อยู่คู่กับฟุตบอลมาอย่างยาวนาน เพียงแต่อาจไม่ค่อยถูกพูดถึงนักเหมือนกับไทย และเป็นไปในลักษณะผู้ปิดทองหลังพระมากกว่า
เช่นกันสำหรับ ทีมชาติญี่ปุ่น ที่มีตำแหน่งที่เรียกว่า “Team Manager” หรือผู้จัดการทีม และผู้ที่ทำหน้าที่นี้ก็คือ นาโอกิ สึชิมะ ที่ได้รับการแต่งตั้งในปี 2007 ตอนเขาอายุเพียง 27 ปี หลังจากเคยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปให้ คอนซาโดเล ซัปโปโร มาก่อน
หน้าที่ของเขาก็ตามชื่อตำแหน่ง คือจัดการทุกสิ่งทุกอย่างภายในทีม เพื่อให้เกิดความราบรื่นมากที่สุดในทีมชาติ ทั้งการหาที่พักยามไปเล่นเป็นทีมเยือน การเดินทาง ไปจนถึง หาสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อม ที่อาจต้องไปเซอร์เวย์ถึง 50 ที่ในแต่ละครั้ง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้จัดการทั่วไปของ “ซามูไรบลู” ต่างจากไทยคือ เขามีหน้าที่ต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสโมสร และเป็นเหตุผลว่าทำไมตำแหน่งนี้ต้องเป็นพนักงานประจำ และห้ามมีส่วนเกี่ยวข้องกับสโมสรใดสโมสรหนึ่งเป็นพิเศษ
ยิ่งไปกว่านั้น การที่นับตั้งแต่ปี 2010 มีนักเตะทีมชาติญี่ปุ่น ย้ายไปเล่นในต่างประเทศมากขึ้น เขาก็จำเป็นต้องเดินทางไปพูดคุยกับต้นสังกัดของผู้เล่นเหล่านั้นในยุโรป ที่ทำให้เขากลายเป็นผู้ช่ำชองพื้นที่นี้คนหนึ่งของ JFA
“ประมาณปี 2010 มีผู้เล่นทีมชาติที่เล่นอยู่ในต่างประเทศแค่ 5 คน สำหรับผู้เล่นในเจลีก สโมสรจะเป็นคนกลางโดยพื้นฐาน และพวกเขาก็จะติดต่อกับผู้เล่นตอนเล่นทีมชาติเอง” สึชิมะ อธิบาย
“แต่สำหรับผู้เล่นที่ย้ายไปต่างประเทศ เรามีการติดต่อกันโดยตรงมากขึ้น แน่นอนว่าผมติดต่อกับเอเยนต์และสโมสร แต่โดยพื้นฐานแล้วผมทำงานโดยตรงกับนักเตะ”
อย่างไรก็ดี หน้าที่ของ สึชิมะ ไม่ได้แค่ดูแลในเรื่องสภาพร่างกายของผู้เล่นทีมชาติญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังดูแลปัญหาด้านจิตใจ ที่ทำให้เขากลายเป็นเหมือนที่ปรึกษาของผู้เล่นเลือดซาูไรในต่างแดน
“มันอาจจะยากสำหรับผู้เล่นที่จะคุยกับใครบางคนเหมือนผม ที่ใกล้ชิดกับหน้างาน แต่สึมูระสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว และปัญหาชีวิตได้” ยาสุฮารุ โซริมาจิ ประธานเทคนิคทีมชาติญี่ปุ่นกล่าวกับ Tokyo Keizai
ก่อนที่มันจะทำให้เขาได้รับตำแหน่งประวัติศาสตร์
ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรป
ด้วยความที่ในช่วงหลัง นักเตะชาวญี่ปุ่น ออกไปค้าแข้งในยุโรปมากขึ้น บวกกับงานดูแลนักเตะของ สึชิมะ ส่วนใหญ่ ก็อยู่นอกประเทศญี่ปุ่น ทำให้ JFA ตัดสินใจตั้งสำนักงานยุโรปขึ้นที่เมือง ดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมัน เมื่อปี 2020
“ก่อนที่ อาคิระ นิชิโนะ จะเข้ามารับตำแหน่งเฮดโค้ชก่อนฟุตบอลโลก เรามีเฮดโค้ชต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผมจึงใช้คอนเน็คชั่นและช่องทางของพวกเขาเข้าไปเยี่ยมสโมสร” สึชิมะ กล่าวกับ Tokyo Keizai
“แต่หลังจาก ฮาจิเมะ โมริยาสุ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นเข้ามาคุมทีม เราก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่กิจกรรมเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น นอกจากเราจะมีฐานที่มั่นอยู่ในยุโรป”
“ด้วยเหตุนี้การตั้งออฟฟิศในยุโรป จึงได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ และเริ่มเปิดใช้ในเดือนเมษายน 2020”
แม้ว่าตำแหน่งของ สึชิมะ จะเปลี่ยนเป็น ผู้อำนวยการสำนักงาน JFA ภาคพื้นยุโรป แต่หน้าที่ของเขาก็ยังคงเดิมคือการเป็นผู้จัดการทั่วไปทีมชาติ ที่คอยดูแล และอำนวยความสะดวกให้ผู้เล่นชาวญี่ปุ่นที่ค้าแข้งในต่างแดน
“แม้ว่าทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้น แต่จำนวนผู้เล่นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผมจึงต้องทำงานหนักทุกวันเพื่อคิดว่า จะเลือกอะไร และดำเนินการแบบไหน” สึชิมะกล่าวต่อ
“ทีมที่อยู่ไกลที่สุดคือ ซานตา คลารา ที่ ฮิเดมาสะ โมริตะ อยู่เมื่อฤดูกาลที่แล้ว เมืองอาโซเรสอยู่ไกลมากจริงๆ การใช้ชีวิตในท้องถิ่นก็ยากในตัวมันเองอยู่แล้ว และผมก็ตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนผู้เล่นที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น”
ทั้งนี้ นอกจากความสัมพันธ์กับสโมสร และดูแลผู้เล่นแล้ว เขายังทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนข้อมูลอาการบาดเจ็บของผู้เล่นแต่ละคน เพื่อประเมินว่านักเตะเหล่านั้น ควรถูกเรียกติดทีมชาติหรือไม่
นอกจากนี้ ในสำนักงานของ JFA ภาคพื้นยุโรป ยังมีห้องพยาบาล ที่จะมีเทรนเนอร์แวะเวียนกันมาดูแลนักเตะชาวญี่ปุ่นที่ได้รับบาดเจ็บ โดยมี มายะ โยชิดะ และ อาโอ ทานากะ เป็นลูกค้าประจำ
“การต้องอาศัยอยู่ในต่างประเทศ มักจะเป็นไปได้ไม่ดีเหมือนตอนอยู่ญี่ปุ่น ผมคิดว่าการที่มีคนและฐานที่มั่นที่สามารถช่วยเหลือได้ทั้งร่างกายและจิตใจมันดีจริงๆ” ยาสุฮารุ โซริมาจิ ประธานเทคนิคทีมชาติให้ความเห็น
สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่หลักของผู้จัดการทั่วไปทีมชาติญี่ปุ่น ที่ผ่านการวางแผนอย่างมีระบบ จนเกิดผลลัพท์ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังที่ทำให้ “ซามูไรบลู” ยังคงรั้งเบอร์ 1 ของเอเชียในปัจจุบัน
แหล่งที่มา :
https://toyokeizai.net/articles/-/622733?page=3
https://note.jfa.jp/n/n33b49204dc96
https://www.sanspo.com/article/20221112-2MPPF42U7ZJNHK2K46L2VERWSM/?outputType=theme_qatar2022
https://www.sankei.com/article/20221111-7KVAGJL25JI3HC5ADWTA4MFF4I/?outputType=theme_qatar2022