ทีมชั้น 3 : ทำไม เวลส์ เป็นชาติเดียวในบอลโลก ที่ไม่ได้ใส่เสื้อเกรดเพลเยอร์ Adidas ?
ปกติแล้วแบรนด์กีฬาที่สนับสนุนทีมฟุตบอล จะผลิตชุดแข่งออกมา 2 เวอร์ชัน ได้แก่ เกรดเพลเยอร์ (authentic) ไว้ให้นักเตะใส่ลงแข่ง ซึ่งจะผลิตจากวัสดุที่ดีกว่าและมีราคาสูงกว่า กับ เกรดแฟนบอล (replica) ที่ใช้วัสดุที่ด้อยลงมา แต่มีราคาย่อมเยาว์กว่า
แบรนด์ระดับโลกอย่าง Nike, Adidas, Puma หรือ New Balance ยึดแนวทางนี้แทบทั้งสิ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับแฟนบอลของทีมนั้น ๆ ใครมีงบมากก็ซื้อเกรดเพลเยอร์ ส่วนคนงบน้อยก็ซื้อเกรดแฟนบอล โดยไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต
ตัวอย่างราคาเสื้อแข่งของแบรนด์ Adidas ที่วางขายในประเทศไทย ทั้ง 2 เวอร์ชัน
- แมนฯ ยูไนเต็ด : เกรดเพลเยอร์ 4,600 บาท, เกรดแฟนบอล 2,900 บาท
- ทีมชาติเยอรมัน : เกรดเพลเยอร์ 4,600 บาท, เกรดแฟนบอล 2,900 บาท
แต่ใช่ว่าทุกทีมจะได้รับเสื้อจากแบรนด์ผู้สนับสนุนทั้ง 2 เวอร์ชัน มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแบรนด์ ที่อาจเลือกให้เฉพาะทีมชั้นนำและสร้างรายได้เม็ดงามให้กับพวกเขา ส่วนทีมเล็ก ๆ ก็จะได้ไปแค่เสื้อเกรดแฟนบอล เหมือนกับกรณีของ ทีมชาติเวลส์ ที่ร่วมโม่แข้งในศึกฟุตบอลโลก 2022
ในฟุตบอลโลกฉบับกาตาร์ Adidas สนับสนุนชุดแข่งให้กับ 7 ชาติ ประกอบด้วย เยอรมัน, ญี่ปุ่น, อาร์เจนตินา, สเปน, เบลเยียม, เม็กซิโก และเวลส์ แต่ปรากฎว่า เวลส์ เป็นชาติเดียวที่ Adidas ไม่ได้ผลิตเสื้อเกรดเพลเยอร์ให้ ผลิตให้แต่เกรดแฟนบอล ในขณะที่อีก 6 ชาติ ได้รับเสื้อเกรดเพลเยอร์ทั้งหมด
เหตุผลที่ เวลส์ ไม่ได้ใส่เสื้อเกรดเพลเยอร์ ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดในกระบวนการผลิต แต่เป็นเพราะ Adidas ได้แบ่งลำดับของทีมที่สนับสนุนเป็นพีระมิด 3 ชั้น โดยแต่ละลำดับก็จะได้รับเสื้อจากแบรนด์แตกต่างกันไป ดังนี้
- AAA Level : เยอรมัน, ญี่ปุ่น จะได้เสื้อเกรดเพลเยอร์แขนยาว
- Top Level : เบลเยียม, สเปน, อาร์เจนตินา, เม็กซิโก จะได้เสื้อเกรดเพลเยอร์แขนสั้น
- B Level : สก็อตแลนด์, สวีเดน, เวลส์ จะได้เสื้อเกรดแฟนบอล
จะเห็นว่า ทีมชาติเวลส์ ถูกจัดอยู่ในลำดับล่างสุด (ชั้น 3) ของพีระมิด Adidas พวกเขาจึงต้องใส่เสื้อเกรดแฟนบอลลงเล่นในฟุตบอลโลก นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ ย้อนกลับไปในศึกยูโร 2020 ทีมชาติเบลเยียม ก็เคยใส่เสื้อเกรดแฟนบอลลงเล่นมาแล้ว ก่อนจะถูกปรับขึ้นไปอยู่ระดับ Top Level และได้ใส่เสื้อเกรดเพลเยอร์ทำศึกที่กาตาร์
เสื้อเกรดเพลเยอร์ของ Adidas มีความพิเศษอยู่ที่เนื้อผ้าที่นำมาใช้ Adidas ออกแบบให้มีรูระบายอากาศ 3 มิติ เพื่อช่วยระบายเหงื่อและช่วยให้นักเตะหายใจสะดวกยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่าเทคโนโลยี Heat.Rdy ขณะที่เสื้อเกรดแฟนบอลไม่ได้นำเทคโนโลยีตัวนี้มาใช้
ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดของกาตาร์ การได้ใส่เสื้อที่ระบายอากาศได้ดี ย่อมดีกว่าใส่เสื้อเนื้อผ้าปกติ ซึ่งไม่รู้ว่ามันมีส่วนทำให้ทีมชาติเวลส์โชว์ฟอร์มไม่ออกหรือไม่ หลังเก็บไปได้แค่ 1 คะแนน จาก 2 เกมแรก โอกาสผ่านเข้ารอบน็อคเอาท์เลือนลางเต็มที
สำหรับ Adidas นำโมเดลพีระมิดมาใช้ตั้งแต่ปี 2020 โดยเริ่มจากเสื้อสโมสรที่แบ่งเป็น 5 ลำดับชั้น ได้แก่ Elite, Premium, Standard, 3rd party และ No contact โดยชั้นสูงสุดก็จะมีทีมอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล, ยูเวนตุส และบาเยิร์น มิวนิค เป็นต้น ซึ่งแบรนด์คู่แข่งอย่าง Nike กับ Puma ก็ใช้โมเดลนี้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง : https://www.thesun.co.uk/sport/football/20577929/wales-adidas-world-cup-replica-kits/
https://www.footyheadlines.com/2020/11/adidas-nike-puma-pyramids-of-football.html
ข่าวและบทความล่าสุด