ทุ่มเหมือนกัน แต่แนวคิดต่าง : เหตุใด ลีกซาอุฯ จึงไม่เสี่ยงล้มเหมือน ลีกจีน ?
สโมสรจากลีกซาอุดิอาระเบียสร้างแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ในตลาดนักเตะโลก หลังทุ่มเงินดึงนักเตะชั้นนำจากยุโรปเข้ามาค้าแข้งคนแล้วคนเล่า แม้แต่เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์คนล่าสุดอย่าง คาริม เบนเซมา ยังต้องยอมจำนนต่อข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ของพวกเขา
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Transfermarkt ระบุว่า ลีกซาอุดิอาระเบีย คือลีกที่ลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ในตลาดซัมเมอร์นี้ ด้วยเม็ดเงินมากกว่า 300 ล้านยูโร (11,000 ล้านบาท) เหนือกว่าลีกท็อปสองของโลกอย่าง ลาลีก้า ด้วยซ้ำ
นั่นทำให้หลายคนกังวลว่า ลีกซาอุดิอาระเบียมีโอกาสลงเอยแบบเดียวกับลีกจีน หากยังใช้เงินมือเติบ ไม่คิดหน้าคิดหลังแบบนี้ แต่ Marca สื่อดังของสเปน กลับไม่ได้คิดอย่างนั้น พร้อมนำข้อมูลของทั้งสองลีกมาเปรียบเทียบให้ทุกคนเห็นภาพ
ไชนีส ซูเปอร์ ลีก
จุดเริ่มต้นของการเป็นลีกเจ้าบุญทุ่มของ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก คือรัฐบาลจีนต้องการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของประเทศ และมองว่าฟุตบอลคือกุญแจที่จะนำไปสู่การยอมรับในเวทีโลก แถมพวกเขายังมองเห็นช่องทางดึงเม็ดเงินมากมายต่างประเทศเข้ามาได้
จีนจึงผลักดันวงการฟุตบอลในประเทศอย่างเต็มที่ พร้อมตั้งเป้าว่า ทีมชาติจีนต้องติดอันดับท็อป 20 โลกภายในปี 2050 ทำให้กลุ่มทุนเอกชนของจีนพากันเทคโอเวอร์สโมสรและทุ่มเงินกวาดสตาร์ดังเข้ามามากมาย
แผนของจีนเหมือนจะราบรื่นไปด้วยดี เพราะสโมสรอย่าง กวางโจว เอเวอร์แกรนด์ สามารถคว้าแชมป์ถ้วยใบใหญ่ของเอเชีย เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ถึง 2 สมัย แต่ผลที่ตามมาคือสโมสรขาดทุนป่นปี้ เพราะรายจ่ายสูงกว่ารายรับแบบเทียบกันไม่ติด
รัฐบาลจีนจึงต้องใช้ยาแรงจัดการ เพราะไม่สามารถทนเห็นเงินไหลออกนอกประเทศไปมากกว่านี้ จนเป็นที่มาของมาตรการต่าง ๆ นา ๆ อาทิ บังคับสโมสรจ่ายภาษีเท่าค่าตัวนักเตะ กรณีย้ายมาด้วยค่าตัว 5 ล้านปอนด์ขึ้นไป (220 ล้านบาท), จำกัดเพดานค่าเหนื่อยนักเตะ และห้ามนักลงทุนจีนเทคโอเวอร์สโมสรต่างประเทศ
สุดท้ายแล้วลีกจีนก็ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ ทีมแบกค่าเหนื่อยไม่ไหว, นักเตะดังพากันย้ายออก และนักลงทุนยังหนีหายไปอีก จากลีกที่มาแรงที่สุดของเอเชียกลายเป็นลีกฟองสบู่แตก และถอยหลังลงคลองมาเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นเพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลจีน
ซาอุดิอาระเบีย โปร ลีก
ในขณะที่สโมสรในลีกซาอุดิอาระเบีย แม้จะทุ่มเงินในลักษณะเดียวกัน แต่พวกเขามีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (PIF) เป็นแบ็คคอยสนับสนุน ซึ่งว่ากันว่าเตรียมงบส่วนนี้ไว้สูงถึง 17,500 ล้านปอนด์ (7.5 แสนล้านบาท)
รัฐบาลซาอุดิอาระเบียรู้ว่า แหล่งทำเงินหลักของประเทศอย่าง ทรัพยากรน้ำมัน จะหมดลงสักวันหนึ่ง พวกเขาจึงร่างยุทธศาสตร์แห่งชาติที่มีชื่อว่า "Vision2030" เพื่อหารายได้จากช่องทางอื่น ๆ เข้ามาทดแทน โดยมีการสร้างลีกฟุตบอลที่แข็งแกร่งเป็นหนึ่งในนั้น เพื่อเป้าหมายในการเป็นท็อปลีกของโลกและเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2030
พวกเขาไม่ได้เอาแต่ใช้เงินดูดนักเตะตัวท็อปเข้ามา แต่ยังให้ความสำคัญกับฟุตบอลทั้งระบบ มีการประกาศหานักเตะเข้ามาเล่นในระดับดิวิชั่น 4 เพราะมองว่าลีกที่มีอยู่ 3 ดิวิชั่น ยังไม่เพียงพอ นักเตะจากรากหญ้าจะได้มีโอกาสก้าวขึ้นมามากขึ้น
นี่คือข้อแตกต่างจากจีนอย่างชัดเจน ในขณะที่รัฐบาลจีนไม่ได้วางแผนเป็นขั้นเป็นตอน มองภาพในระยะสั้น และตัดสินใจไม่รอบคอบ แต่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียวางแผนสร้างลีกอย่างเป็นระบบ อัดฉีดงบประมาณสนับสนุน และโฟกัสไปที่เป้าหมายในระยะยาว
ขณะเดียวกัน Marca ยังชี้ให้เห็นว่า นักฟุตบอลเลือกย้ายมาเล่นในซาอุดิอาระเบีย เพราะคิดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของพวกเขา ไม่ใช่เพราะขาดทางเลือกเหมือนสมัยที่ลีกจีนบูม
จริงอยู่เงินคือเหตุผลหลักที่นักเตะย้ายมาเล่นในสองลีกนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาสัมผัสได้จากซาอุดิอาระเบียมากกว่า คือความทะเยอทะยานในการพัฒนาลีกฟุตบอล ผ่านแผนงานของสโมสรที่เสนอให้นักเตะในโต๊ะเจรจา
จะเห็นว่า ซาอุดิอาระเบีย มีทั้งเงินทุน แผนการที่ชัดเจน การสนับสนุนจากรัฐ และได้ใจนักเตะ โอกาสที่พวกเขาจะลงเอยแบบลีกจีนจึงมีน้อย ถ้าเกิดไม่พลาดไปเดินสะดุขาตัวเองเสียก่อน
แต่คำถามคือ ซาอุดิอาระเบีย จะสามารถดึงดูดนักเตะตัวท็อปจากยุโรปได้นานแค่ไหน เพราะมันจะส่งผลต่อการสร้างภาพลักษณ์ของฟุตบอลในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2030 เป้าหมายสูงสุดในการหาเม็ดเงินเข้าประเทศของพวกเขา