Underdog Story : จาก(จะ)ตกชั้นสู่แชมเปี้ยนส์ - พนักงานยาสูบ 2004/05
ปรากฏการณ์ 5000-1 ของเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อฤดูกาล 2015/16 อาจจะเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ลูกหนังที่ชวนอือฮา เมื่อทีมที่หนีตกชั้นเมื่อฤดูกาลก่อน สามารถปาดหน้าคว้าแชมป์ลีกในฤดูกาลต่อมาได้อย่างเซอร์ไพรส์ เช่นเดียวกับแชมป์ยูโร ของทั้ง เดนมาร์ก (1992) และ กรีซ (2004)
แต่สำหรับฟุตบอลไทย เรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และเป็นครั้งที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทีมอย่างพนักงานยาสูบ สามารถคว้าแชมป์ไทยลีก ในซีซั่น 2004/05 ได้ ทั้งๆ ที่ฤดูกาลที่แล้ว พวกเขามีแต้มเหนือพื้นที่ตกชั้นเพียง 3 คะแนน!
มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เรื่องราวที่มาที่ไปและบทสรุปทั้งหมด ติดตามได้ที่นี่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
หนีตกชั้น
ย้อนกลับไปเมื่อฤดูกาล 2003/04 พนักงานยาสูบ ทำผลงานจบอันดับที่ 8 โดยมีแต้มห่างจากทีมที่ตกชั้นอย่าง ทหารอากาศ เพียง 3 คะแนน และต้องไปเพลย์ออฟเลื่อนชั้น-ตกชั้นกับ ทหารบก ก่อนจะเอาตัวรอดมาได้
แต่หากว่ากันด้วยขุมกำลัง ส่วนใหญ่แข้งของยาสูบในเวลานั้นส่วนใหญ่เป็นแข้งอายุน้อย ผสมกับตัวเก๋าๆ เจษฎา จิตสวัสดิ์ กองหลังกัปตันในเวลานั้นเล่าให้ ฟุตบอลสยาม ว่า ทีมในช่วงนั้นอยู่ในสภาพที่ต้องหนีตกชั้นแทบทุกปี และช่วงเวลานั้นเขากำลังจะตัดสินใจย้ายออกจากทีมด้วยซ้ำ!
"ทีมตอนนั้นหนีตกชั้นเกือบทุกปี เราต้องเพลย์ออฟและเกือบจะตกลงไปเล่นในดิวิชั่น 1 อยู่ประมาณ 3-4 ปี ตอนนั้นเราคิดว่าการที่เราอยู่ที่นี่แล้วเราพัฒนาได้อยู่ไหม? ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนของทีมงาน ตอนนั้นผมมีโอกาสไปซ้อมกับทีมๆ หนึ่ง เกือบ 2 เดือน ซึ่งเกือบจะย้ายแล้วด้วย"
ซึ่งทีมในเวลานั้น ตัวผุ้เล่นหลายรายตัดสินใจย้ายออกไปก่อนหน้า อาทิ โกสินทร์ หทัยรัตนกุล, ณัฐพร พันฤทธิ์, สมเจตน์ เกษารัตน์, กฤษณะ วงศ์บุตรดี เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ ล้วนเป็นขุมกำลังดาวรุ่งที่น่าจับตามองของทีมชาติไทย
แต่สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนคือการเข้ามาของทีมงานเซา เปาโล ที่นำเข้ามาโดย ไอแอม สปอร์ต..
อิงถึงการเข้ามาของ ไอแอม สปอร์ต สักเล็กน้อย ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน "เสี่ยไทเกอร์" ภาคภูมิ เกียรติศรีชาติ ในฐานะผู้บริหารไอแอม สปอร์ต พยายามเข้ามาเปิดตลาดแข้ง โดยนำเข้าทีมงานผู้เล่นและสตาฟฟ์โค้ชจากบราซิล ด้วยการเป็นพันธมิตรกับ เซา เปาโล ทีมดังจากบราซิล แะมีการเปิดสอนโรงเรียนลูกหนังแถวบางนา
โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่เข้ามทำทีม สมาคมกีฬาคริสเตียนไทย ลงเล่นในถ้วยพระราชทาน ค ก่อนจะคว้ารองแชมป์ในการแข่งขันปี 2003/04
โดยมีกุนซืออย่าง โจเซ่ อัลเวส บอร์จีส ที่มาพร้อมกับแข้งบราซิล อย่าง โจเซ่ คาร์ลอส ดา ซิลวา และแข้งไทยระดับดาวรุ่งจากเครือจตุรมิตรฯ อาทิ อภิศักดิ์ อาสายุทธ, หัตฐพร สุวรรณ, อิทธิพล พูลทรัพย์, ธนา ชะนะบุตร, วีรยุทธ จิตรขุนทด
และเมื่อทางพนักงานยาสูบ ได้มีการพูดคุยกับ เสี่ยไทเกอร์ จนเป็นที่มาในการร่วมวงไพบูลย์ร่วมทำทีมสู้ศึกไทยลีก!
เตรียมรบ!
หากเทียบกันกับผู้เล่นในฤดูกาลก่อนหน้า พวกเขามีตัวหลักที่ขึ้นมาได้อย่าง นริศ ทวีกุล, ทศพล การปลูก, สุชนม์ สงวนดี โดยมีตัวเก๋าๆ อย่าง สมชาย หันเอียง และ พนิพล เกิดแย้ม รวมไปถึงตัวใหม่ๆ ที่เข้ามาผสมผสาน อาทิ ประดิษฐ์ ทวีไชย, วัชระ มหาวงษ์, ชัยวุฒิ วัฒนะ และตัวที่ยกมาจากคริสเตียนไทย ประกอบเป็นทีมใหม่
ช่วงเวลานั้น ที่มที่มีศักยภาพดีๆ หนีไม่พ้นทีมใหญ่ๆ อย่าง ธนาคารกรุงไทย, บีอีซี เทโร ศาสน และ โอสถสภา ที่นับได้ว่าเป็นบรรดาทีมทุนหนาไม่น้อยและมีศักยภาพการทำทีมในเวลานั้น
แต่สิ่งที่น่าสนใจของ พนักงานยาสูบ ในเวลานั้น คือการนำ วิทยาศาสตร์การกีฬา และการใช้หลักจิตวิทยา เข้ามาบ่มเพาะทีม ซึ่งแน่นอนว่า เครดิตนี้ ต้องยกให้ทีมงานโค้ช อย่าง เฟอร์นันเดซ นูเนส แกสดิเมีย โค้ชจิตวิทยา และ รอยเตอร์ โมเรร่า โค้ชผู้รักษาประตู ที่รับบทนักวิเคราะห์เกมอีกด้วย
พนิพล เกิดแย้ม กองกลางซีเนียร์ของทีมในเวลานั้นเล่าให้ฟังถึงเรื่องการซ้อมของบอร์จีส ที่มุ่งเน้นในการสร้างความฟิต และสภาพจิตใจ ซึ่งปลุกไฟเจ้าตัวกลับมาลงสนามได้ แม้ว่าในตอนนั้น เขาจะอายุเกือบ 33 ปีเข้าไปแล้ว และตัดสินใจที่จะอบรมโค้ชรอไว้แล้ว
"ปีนั้นเป็นปีที่ทำให้ผมทดสอบ 7 รอบ 12 นาที ผ่าน เพราะปกติเวลาซ้อมผมจะไม่ถึง มันมีเทคนิคการซ้อมอยู่ซึ่งมันทำให้เรามีสภาพร่างกายกลับมาเฟิร์ม แล้วมีโปรแกรมฝึกซ้อมที่บอกว่าวันไหนทำอะไรบ้าง มันมีความชัดเจนและมันทำให้ร่างกายเราเป็นแบบไหนอะไรยังไง ซึ่งมันตรงกับที่เราอบรมโค้ช เราได้เห็นตรงนั้นแล้วมันตรงกันพอดีกับชุดนี้เราก็ไหนๆ ก็ไหนแล้ว เลยลองอีกสักตั้ง"
หากแกะ 11 ตัวจริงของพนักงานยาสูบ ชุดนี้ ถือว่ามีจุดเด่นที่น่าสนใจ และอาจเรียกได้ว่า 'ล้ำยุค' ไม่น้อย ในวันที่ฟุตบอลไทยเล่นบอลแบบไดเร็กต์ แต่ บอร์จีส กลับใส่ระบบฟุตบอลสมัยใหม่ โดยให้ความสำคัญกับแดนกลางในการสร้างสรรค์เกม โดยมีตัวต่างชาติที่ทักษะเหลือร้าย มีเพลย์เมกเกอร์ที่มีประสบการณ์และแนวรุกที่สดใหม่ และเกมรับที่เล่นกันอย่างเข้าขา โดยมีแบ็กสองข้างที่สามารถเล่นได้ทั้งเกมรุกและเกมรับ
"สิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงทีมในตอนนั้น ต้องย้อนกลับไปตอนที่เริ่มซ้อมกันครั้งแรก ผมนั่งและมองว่าผู้เล่นทำอะไรบ้าง ซึ่งพอเราเริ่มซ้อมปรีซีซั่นจริงๆ จังๆ ผมบอกกับพวกเขาว่า บอลมันโยนจากหลังไปหน้าโต้งๆ ไม่ได้ๆ กองกลางต้องมีส่วนร่วมในการเล่น และทำให้ตัวรุกเล่นบอลได้ง่าย ไม่ใช่แค่โยนยาวและให้กองหน้าวิ่งอย่างเดียว" บอร์จีส เล่าถึงสไตล์การเล่นของทีมที่ทำให้ยาสูบเป็นแชมป์
ขณะที่ เจษฎา กล่าวถึงการทำงานอย่างเข้มข้นกับ สยามกีฬา ว่า "แท็กติกที่ใส่ในการซ้อมแต่แรกเลย ปัญหาหรืออะไรที่เยอะแยะมากมาย เขากลับมานั่งดูวิดิโอวิเคราะห์กันก่อนเลย และชี้เป็นรายบุคคล 1-2-3-4 ทำไมไม่เดินเข้าหา เกมรับทำไมหละหลวม ซึ่งช่วงนั้นมันน้อยมาก"
แต่สิ่งที่บอร์จีส เข้ามาเปลี่ยน ก็ถูกตั้งคำถามจากฝ่ายบริหารและผู้เล่นไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะสิ่งที่เขาพูดในวันแรกกับทีมว่า 'ผมจะพายาสูบเป็นแชมป์'
"ตอนที่ผมเข้ามาที่ยาสูบ ทุกคนไม่คิดว่าเราจะเป็นแชมป์ เราเลยสร้างทัศนคติที่ว่า 'เราซ้อมเพื่อจะเป็นแชมป์' เพราะความลับตรงนี้ข้อหนึ่งไม่ใช่แต่ผลงานในสนาม แต่มันคือการฝึกซ้อมที่ทำให้ผู้เล่นเชื่อในสิ่งที่เราพูด ต่อให้เราพูด กระตุ้นแค่ไหน แต่ถ้านักบอลไม่เชื่อ มันก็ไม่เกิดอะไรที่ดีได้ ฉะนั้นเราเลยทำให้เห็นตั้งแต่ซ้อม เริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติตรงนั้นเลย"
ต่อสู้!
ละแล้วก็มาถึงวันเปิดฤดูกาล-4 ธันวาคม 2547 พนักงานยาสูบ มีคิวพบกับ ธนาคารกรุงเทพ เกมนี้พวกเขาเปิดมาได้ไม่สวยนักด้วยการโดนออกนำไปก่อน 2-0 และมาโดนใบแดงจาก ศักดา แก้วบุญมี ก่อนที่ค่อยมาไล่ยิงจาก 3 ประตูของ อนุชา ช่วยศรี, สาคร ปิ่นเกท และ เอกวิทย์ ใจนวน พลิกกลับมาชนะ 3-2
จากนั้น พนักงานยาสูบ ไร้พ่ายถึง 5 เกมติด ก่อนจะมาถูกเบรกในเกมที่พ่าย การท่าเรือฯ 0-2 ในนัดที่ตัวหลักอย่าง ชัยวุฒิ วัฒนะ มาโดนใบแดง และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเกมนั้น
ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคืออีก 8 เกม พวกเขาไม่แพ้ และสามารถเก็บแต้มกับทีมลุ้นแชมป์ ทั้ง บีอีซี เทโร ศาสน, โอสถสภา, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก่อนจะมาสะดุดในช่วงโค้งสุดท้ายกับการพ่ายต่อคู่ปรับลุ้นแชมป์อย่าง โอสถสภา ในการเจอเลกที่สอง
สถานการณ์ครั้งนั้นคือความกดดัน เมื่อทั้ง การไฟฟ้าฯ และ โอสภสภา ทำคะแนนตามกันมา ทำให้จ่าฝูงในช่วงนั้นกลายเป็นสมบัติผลัดกันชม ในช่วงโค้งสุดท้าย กระทั่งก่อนเกมนัดสุดท้าย พนักงานยาสูบ นำจ่าฝูงก็จริง แต่ทั้ง ผู้ตามอย่าง การไฟฟ้าฯ และ โอสถสภา ก็ทำคะแนนไล่ไม่ห่างกันมาก
แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งสำคัญ คือเรื่องของ 'สปิริตในทีม' ที่แข็งแกร่งและไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดัน
"ก่อนช่วง 3 แมตซ์สุดท้าย สิ่งที่เราโชว์ให้เห็นคือ สปิริตในทีม ค่อนข้างดี ไม่ว่าเรื่องของการที่เราโดนยิงนำแล้วเราสามารถกลับมาได้ หรือเวลาที่เราชนะแล้วในครึ่งแรก พอเราเข้าห้องแต่งตัว กลับโดนตำหนิเยอะว่าเราประมาท" กัปตันเจษ กล่าว
ขณะที่ พนิพล กล่าวว่า "ตอนนั้นช่วง 5 แมตซ์สุดท้าย คะแนนมันห่างกันแต้มเดียว ทุกทีมมันจะไล่ๆ กันหมด ใครก็สามารถขึ้นมาเป็นแชมป์ได้ถ้ารักษามาตรฐานหรือชนะติดๆ กัน ตอนนั้น เราวัดกับการไฟฟ้าฯ ด้วย"
ซึ่งทุกอย่างต้องมาตัดสินแชมป์ในบั้นปลาย โดย พนักงานยาสูบ มีคิวพบกับ ธนาคารกรุงเทพ ที่ต้องการแต้มเพื่อหนีตกชั้น!
"นัดสุดท้าย เรามองว่าเราต้องช่วยตัวเอง เราไปหวังเพิ่งคนอื่นไม่ได้ว่า ถ้าเราเสมอ เราต้องลุ้นให้ทีมนั้นทีมนี้มีผล แต่ถ้าเราชนะเราเป็นแชมป์เลยเพราะแต้มเราห่างอยู่ แต่ทีนี้มันได้เปรียบตรงที่เรากระหายในเกมรุกและความอยากชนะ เพราะเรื่องจิตวิทยา บอร์จีส เป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจ ปลุกเร้าให้เด็กไปสู้ มันขนลุกเวลาเขาพูดก่อนลงสนาม ทำให้พวกเราฮึกเหิมอยากที่จะได้แชมป์"
7 พฤษภาคม 2548-นัดสุดท้าย!
เปิดมาเพียง 13 นาที ยุทธจักร อุสาพรม ยิงประตูออกนำให้พนักงานยาสูบไปก่อน ก่อนที่อีก 3 นาทีต่อ แบงก์บัวหลวงจะเหลือ 10 คนหลัง ณัฐพงศ์ รุจีธนัสต์ มาโดนใบแดง ก่อนที่จะหมดครึ่งแรกเพียง 3 นาที สุชนม์ สงวนดี มายิงประตูในนาทีที่ 42 จบครึ่งแรกสกอร์ 2-0
ขณะที่ครึ่งหลัง ด้วยความกระหายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึง พนักงานยาสูบ มายิงอีก 1 ประตู จาก สุชนม์ สงวนดี ในนาทีที่ 76 และกลายเป็นประตูแชมป์ที่ส่งให้ พนักงานยาสูบ เถลิงแชมป์ไทยลีกสมัยแรกอย่างยิ่งใหญ่
"เราไม่คิดว่าเราจะไปถึงแชมป์ได้ ตั้งแต่เราหนีตกชั้น เพลย์ออฟมา แต่ในทีม การทำงานร่วมกัน แม้ว่าเราทำงานหนักก็จริง แต่เราจดจำเวลาที่มีสิ่งดีๆ และเราทำงานหนักดีกว่าปล่อยให้ทำงานเรื่อยๆ และไม่ได้มีสิ่งที่ดี" เจษฎา กล่าวในส่วนนี้
การเดินทางของเทพนิยายยาสูบแห่งคลองเตย กลายเป็นอีกตำนานบทใหม่วงการลูกหนังเมืองไทย จากทีมที่จะหนีตกชั้น สู่ทีมที่คว้าแชมป์ได้ด้วยสปิริต และความใจสู้ ด้วยการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่ มันหล่อหลอมให้ พวกเขาสามารถหักปากกาเซียนทุกสำนักผงาดไปสู่จุดสูงสุดอย่างมั่นคง
อ้างอิง
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR