อาเซียนก็แชมป์, เอเชียก็ได้ลุ้น : ทำไมเยาวชนเวียดนามประสบความสำเร็จบ่อยในช่วงหลัง ?
เวียดนามคว้าแชมป์ฟุตบอลยู 23 ชิงแชมป์อาเซียน เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันหลังจากดวลจุดโทษชนะ อินโดนีเซีย อนกจากนี้พวกเขายังมีผลงานระดับเยาวชนช่วงหลังยอดเยี่ยมเสมอ
ตั้งแต่รายการ AFC U20 ที่ชนะได้ทั้ง ออสเตรเลีย และ กาตาร์ นอกจากนี้พวกเขายังเคยไปเล่นในฟุตบอลโลก ยู20 เมื่อปี 2017 อีกทั้งยังได้รองแชมป์เอเชีย ในปี 2018 ด้วย
เหตุผลใดทำไมทีมเยาวชนของเวียดนามจึงประสบความสำเร็จบ่อย ๆ ในยุคหลัง … ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน
แม้ว่าในอดีต เวียดนามจะเคยเป็นหนึ่งในแถวหน้าของเอเชีย ทั้งแชมป์และรองแชมป์ซีเกมส์หลายสมัย พ่วงด้วยอันดับ 4 เอเชียนคัพในปี 1956-1960 แต่นั่นก็เมื่อสมัยยังเป็นเวียดนามใต้เท่านั้น
เพราะนับตั้งแต่รวมประเทศสำเร็จในปี 1976 ฟุตบอลของทัพดาวทอง ก็ห่างไกลจากความสำเร็จ ซึ่งผลงานดีที่สุดของพวกเขาก็คือการคว้ารองแชมป์ซีเกมส์ หรืออาเซียนคัพเท่านั้น ส่วนระดับทวีปแทบไม่ต้องหวัง หลังตกรอบคัดเลือกไปแบบไม่มีลุ้น
อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนก็มาถึงในปี 2008 ที่นอกจากเวียดนามจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์เอเอฟเอฟ ได้เป็นครั้งแรก หลังเอาชนะไทย อดีตเบอร์ 1 ของทวีปด้วยสกอร์รวม 3-2 พวกเขายังได้เปิดตัวศูนย์ฝึก "The Promotion Fund of Vietnamese Football Talent" หรือ PVF ในปีเดียวกัน
มันคือศูนย์พัฒนาเยาวชนแบบครบวงจร ซึ่งการร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน โดยมี Vingroup บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และ PVF 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ภายในเต็มไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย บนพื้นที่กว่า 132 ไร่
ทั้งนี้ ศูนย์ฝึกดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดมาจากไอเดียของ ฝอ ฟัน เกี๊ยท อดีตนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ที่อยากจะสร้างระบบฝึกฝนนักฟุตบอลรุ่นเยาว์ตามมาตรฐานสากล แบบรุ่นต่อรุ่น เพื่อป้อนให้สู่ทีมชาติชุดใหญ่
นอกจากนี้ หนึ่งปีก่อนคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ คัพ ฮองอันยาลาย สโมสรในวีลีกยังได้จับมือ อาร์เซนอล ทีมดังจากเกาะอังกฤษ สร้างศูนย์ฝึก HAGL-Arsenal JMG ขึ้น
“ระบบของเวียดนามนั้นดำเนินการมากว่า 10 ปี จากการที่อคาเดมีเอกชนและสโมสรเข้ามาช่วยสร้างผู้เล่นตั้งแต่อายุยังน้อย” ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ อดีตผู้อำนวยการ PVF ที่ล่าสุดรั้งตำแหน่งกุนซือทีมชาติเวียดนามชุดใหญ่กล่าวกับ The World Game
“การพัฒนากำลังเข้าใกล้เงื่อนไขที่ต้องการและเกณฑ์ระดับนานาชาติ ทั้งในแง่การจัดการและโปรแกรมด้านเทคนิค”
อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้มีแค่นั้น
อดทนเพื่อความสำเร็จ
ในตอนที่เวียดนาม ก่อตั้งโครงการพัฒนาเยาวชนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แทบไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขามาถึงจุดนี้ เนื่องจากในช่วงแรกของการตั้งโครงการ ทีมเยาวชนของพวกเขาเป็นเพียงไม้ประดับของทัวร์นาเมนต์ ทั้งทีม U20 และ U23
แต่สำหรับชาวเวียดนาม มันคือแผนระยะยาวที่ต้องอดทน และในปี 2016 หรือเกือบ 10 ปี มันก็เริ่มผลิดอกออกผล ที่ทำให้เวียดนาม ผ่านเข้าไปถึงรอบ 4 สุดท้ายในเอเชียนคัพ U20 ในปี 2016 พร้อมคว้าตั๋วไปเล่นในฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในปีต่อมา
“ผู้เล่นที่นี่ มีเทคนิคที่ดีมากๆ และเช่นกันกับความเร็ว” คลาดิโอ อูเบด้า กุนซือทีมชาติอาร์เจนตินา U20 กล่าวถึงเวียดนาม หลังเกมกระชับมิตรก่อน ฟุตบอลโลก U20 เมื่อปี 2017
“มีอนาคตที่สดใสอยู่ที่นี่”
ทีมเยาวชนของเวียดนาม ยังทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องในปีต่อมา และคราวนี้ก็เป็นทีม U23 ที่ไปไกลถึงตำแหน่งรองแชมป์ เอเชียนคัพ U23 รวมถึงยังสามารถเข้าถึงรอบชิงเหรียญทองแดงในฟุตบอลเอเชียนเกมส์ปีเดียวกัน
ขณะที่ผู้เล่นจากอคาเดมีของ อองอันยาลาย หลายคน ก็ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังให้กับทีมชาติชุดใหญ่ ทั้ง วู วา ธัน, เหงียน วัน ตวน, เหงียน ตวนอัน, เหงียน กง เฝิง หรือ ลวน ซวนตรวง เป็นต้น
“มันเป็นอคาเดมีที่มีการจัดการที่ดี และตอนที่ผมอยู่ที่นั่น ผมเห็นผู้ดาวรุ่งพรสวรรค์สูงมากมาย” อัลเฟรด รีเดิล อดีตกุนซือเวียดนามกล่าวถึงอคาเดมีของ ฮองอันยาลาย
“สิ่งอำนวยความสะดวกดีมาก เช่นเดียวกับความช่วยเหลือที่มอบให้ผู้เล่น หากมีความอดทนที่จะอยู่ในเส้นทางนั้น รางวัลก็จะอยู่ที่นั่น”
อย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่า สมาพันธ์ฟุตบอลเวียดนามยินดีที่จะรอ คือการมอบสัญญาระยะยาวให้กับสต้าฟโค้ช จนเห็นผลงานที่ดีขึ้นแบบปีต่อปี และโชว์ฟอร์มได้ดีอยู่ในขณะนี้
“สโมสรให้สัญญากับโค้ชท้องถิ่นในระยะยาว และยังยืนหยัดกับพวกเขา แม้จะได้รับเสียงวิจารณ์จากสื่อ และสื่อเวียดนามก็เป็นนายจ้างที่แข็งกร้าว” สตีฟ ดาร์บี้ อดีตกุนซือทีมชาติเวียดนามชุดหญิงกล่าวกับ Today Online
“แต่สมาพันธ์ฟุตบอลเวียดนามก็แสดงให้เห็นว่านี่คือผลประโยชน์ในแผนระยะยาว และพวกเขาก็ได้เงินช่วยเหลือลงทุนจากฟีฟ่า และเอเอฟซี เพื่อสร้างศูนย์ฝึกชั้นนำในมีดินห์ที่ฮานอย”
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความทะเยอทะยานของพวกเขา ทั้งการพยายามผลักดันผู้เล่นไปค้าแข้งในยุโรป และเพิ่งจะทำสำเร็จกับ เหงียน ควงไฮ ที่ไปเล่นให้กับ โป แอฟเซ ทีมในลีกรองของฝรั่งเศส แม้ว่าจะไม่ค่อยได้ลงสนามก็ตาม
“การย้ายไปยุโรปของเขา (ควงไฮ) เป็นการถ่อไปในสิ่งที่ไม่รู้จัก ซึ่งน้อยคนที่จะประสบความสำเร็จ” มาร์ติน โลว นักข่าวผู้คร่ำหวอดในฟุตบอลเอเชียกล่าวกับ The Diplomat
“อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญคือเขาได้ไปแล้ว และผู้เล่นต้องเริ่มที่จะเสี่ยงมากขึ้น หากจะแผ้วถางทางในยุโรปให้มากขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”
และเหนือสิ่งอื่นใด คือความมุ่งมั่นในการก้าวข้ามอาเซียน รวมถึงตั้งเป้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2026 ที่กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้เยาวชนดาวทอง มุ่งไปข้างหน้าแบบไม่เกรงใจใคร
“ความจริงที่ว่าฟุตบอลโลก 2026 จะมีรูปแบบการแข่งขัน 48 ทีม เป็นตัวเร่งที่ยอดเยี่ยมสำหรับแรงจูงใจและความทะเยอทะยานของเวียดนามในการรวมตัวกันเพื่อจัดหาวิถีทางให้กับการฝึกฝนและโครงสร้างในการพัฒนาฟุตบอล” ทรุสซิเยร์ ยอมรับกับ SBS
มันคือการเดินหน้าชนสู่เป้าหมาย โดยมีแผนรองรับอย่างเป็นรูปธรรม และช่วยให้ทีมรุ่นเยาว์ของทัพดาวทองเฉิดฉายอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนทำให้ ทีมชาติไทย คู่แข่งร่วมภูมิภาคอาเซียนได้แต่มองตาปริบๆ
“เวียดนามคือหัวหอกในเรื่องนี้ ทั้งในด้านการลงทุนที่สำคัญในโครงสร้างระบบเยาวชน และแนวทางโดยรวมที่สอดคล้องกับทีมชาติ” โลวอธิบายกับ The Diplomat
“แม้ว่าความสำเร็จ จะมีขึ้นมีลง แต่อัตลักษณ์ของพวกเขาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่ามันจะมีคนพูดในเชิงลบบ้าง แต่สภาพแวดล้อมที่มั่นคงสำหรับผู้เล่นก็ยังคงเติบโตต่อไป”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
ตอนนั้นเป็นกระแส ตอนนี้เป็นไง ? : ตามรอยแข้งโอนสัญชาติจีนที่เคยฮือฮา
กี่นาทีก็มีความหมาย : สุภโชค กับโอกาสน้อยนิดที่วัดกันด้วยทัศนคติล้วน ๆ
แหล่งอ้างอิง
https://thediplomat.com/2022/08/is-southeast-asian-football-finally-on-the-cusp-of-success/
https://www.todayonline.com/sports/vietnam-footballs-reaping-rewards-investments-youth-development