VAR ออกอากาศเสียงผู้ตัดสิน : ทางแก้ปัญหาความแคลงใจของ ไทยลีก?

VAR ออกอากาศเสียงผู้ตัดสิน : ทางแก้ปัญหาความแคลงใจของ ไทยลีก?
ชยันธร ใจมูล

ดราม่า กับ เกมฟุตบอลไทย ยังคงเป็นของคู่กันอยู่เสมอ หากมีเหตุการณ์ที่คลางแคลงใจของแฟนบอล ต่อคำตัดสินของ “กรรมการ” ในสนาม อย่างเช่นในเกมไทยลีกคู่บิ๊กแมตช์ ซึ่งมีผลต่อการลุ้นแชมป์โดยตรงระหว่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เปิดบ้านเอาชนะ ชลบุรี เอฟซี ไปได้ 2-0 แต่ประตูขึ้นนำนั้นแฟนบอลยังแคลงใจว่า “ล้ำหน้า” หรือไม่?

ดังนั้นเราจะลองมาดูกันว่านโยบายใหม่ ๆ ที่ถูกนำมาเสนอให้ใช้กันทั่วโลกอย่าง "การให้ผู้ตัดสินอธิบายการตัดสินให้แฟนบอลรับรู้ในทันที"  จะเป็นไปได้จริงหรือไม่ ? และ ถ้าทำได้มันจะช่วยทำให้ดราม่าน้อยลงหรือเปล่า ?ติดตามที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ทำความเข้าใจระบบ VAR ของ “ไทยลีก”

หน้าที่หลักของ VAR ที่สามารถเข้าไปแทรกแซงการตัดสินได้ ยึดตามหลักสากลจากทาง Fifa และ IFAB ประกอบไปด้วย 1. เป็นประตู หรือ ไม่เป็นประตู 2. เป็นจุดโทษ หรือ ไม่เป็นจุดโทษ 3. ดูเรื่องการแจกใบแดงโดยตรง ไม่ใช่ใบเหลืองที่สอง 4. การคาดโทษใบเหลือง/ใบแดง ผิดคน

เจาะลึกลงไปเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ VAR ของ ไทยลีก บ้านเราเลือกใช้บริการบริษัท Hawkeye Innovation ซึ่งเป็นเจ้าเดียวกับที่ศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ลีกชั้นนำในทวีปยุโรปเลือกใช้เช่นเดียวกัน แต่ต้องทำความเข้าใจและยอมรับว่า “แพ็คเกจราคา” ที่เราจ่ายได้นั้นถูกกว่า เป็นเหมือนตัวเลือกเบื้องต้น ไม่ได้มาเต็มระบบเหมือนที่ต่างประเทศ

ถ้าเปรียบให้เข้าใจกันง่ายๆ คือ การตัดฟีเจอร์การใช้งานบางอย่างออกไป คล้ายๆ กับเลือกซื้อแพ็คเกจสตรีมมิ่งอย่าง Netflix ที่มีหลากหลายราคา ดูภาพยนตร์และซีรีส์ทุกเรื่องได้ไม่ต่างกัน แต่อาจจำกัดเรื่อง ความละเอียดของภาพ และ จำนวนผู้เข้าชม ให้เหมาะสมกับราคาที่จ่ายไป ซึ่งต้องยอมรับการตามตรงว่า ค่าลิขสิทธิ์บอลไทยลีก นั้นมีมูลค่าต่ำกว่าลีกชั้นนำอื่นๆ การลงทุนเต็มระบบไป คงไม่คุ้มค่าเป็นแน่

Photo : Goal

ต่อกันที่เรื่องของกล้องต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในระบบ VAR บ้านเราทั้งหมดจะมี 10 กล้อง แบ่งเป็นกล้องในการถ่ายทอดสด 6 ตัว 1. กล้องหลักจับภาพมุมกว้างในการถ่ายทอดสด มีหน้าที่แพนไปมาทั้งสองแดน 2. กล้องแคบบน ทำหน้าที่ในการจับจังหวะฟาล์วในเกม 3. กล้องแคบล่าง ทำหน้าที่ในการจับจังหวะฟาล์วในเกม 4. กล้องหลังประตูฝั่งแรก 5. กล้องหลังประตูฝั่งที่สอง 6. กล้อง Reverse ทำหน้าที่จับท่าทางการแสดงอาการของเหล่าสตาฟฟ์และนักเตะในซุ้มม้านั่งสำรอง รวมไปถึงจับภาพจากอัฒจันทร์หลักฝั่งมีหลังคา

ส่วนกล้องที่เหลืออีก 4 ตัว ที่เป็นกล้อง VAR โดยเฉพาะจะเอาไว้จับภาพกรณีปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเกม ประกอบไปด้วย 1. กล้องโกลไลน์ฝั่งแรก ทำหน้าที่จับภาพว่าบอลข้ามเส้นหรือไม่ 2.กล้องโกลไลน์ฝั่งสอง ทำหน้าที่จับภาพว่าบอลข้ามเส้นหรือไม่ 3. กล้องจับล้ำหน้าฝั่งแรกตั้งอยู่ขนานกับเส้น 18 หลา 4. กล้องจับล้ำหน้าฝั่งที่สองตั้งอยู่ขนานกับเส้น 18 หลา

ภาพรีเพลย์ที่ทางผู้ชมได้เห็นกันจากการถ่ายทอดสด ย่อมต้องมาจากกล้องจับล้ำหน้า VAR ไม่ใช่กล้องถ่ายทอดสด เช่นเดียวกับภาพที่ผู้ตัดสินและทีมงานในห้อง VAR เห็น แต่บางครั้งการสลับภาพของผู้ให้บริการถ่ายทอดสด อาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้บางครั้ง จากการที่ไม่ได้เรียกภาพจากห้องควบคุมมาใช้

แน่นอนว่าด้วยการจ่ายแพคเกจที่ต่ำกว่าของ ไทยลีก ย่อมทำให้ฟังก์ชั่นต่างๆ ถูกลดทอนลงมา ดังนั้นแฟนบอลคงไม่สามารถคาดหวัง ความละเอียดระดับไม่กี่เซนติเมตรแบบลีกชั้นนำได้ ตัวภาพการแสดงผลต่างๆ การตีเส้นก็ไม่ชัดเจนเทียบเท่า จึงกลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ตามมา หลังเกิดประเด็นแล้วมีการถกเถียงกันเมื่อเกมจบไปแล้ว

Photo : Football Tribe

ทีมงานห้อง VAR มีหน้าที่อย่างไรบ้าง?

จำนวนทีมงานในห้อง VAR จะมีทั้งหมด 4 คน ประกอบไปด้วย

1. หัวหน้าทีม VAR ทำหน้าที่ดูจอมินิเตอร์หลัก และ จออื่นๆ ในห้อง เพื่อทบทวนเหตุการณ์ปัญหา พร้อมทั้งรับผิดชอบในการออกคำสั่งนำทีม และ สื่อสารกับผู้ตัดสินหลักที่ทำหน้าที่ในสนาม

2. ผู้ช่วย 1 (AVAR 1) มีสมาธิจดจ่ออยู่กับกล้องหลัก คอยรายงานหัวหน้าทีมเมื่อมีเหตุการณ์ปัญหาเกิดขึ้น 3. ผู้ช่วย 2 (AVAR 2) คอยจับตามองเหตุการณ์ล้ำหน้าจากมุมกล้องทั้งสองฝั่ง โดยมีโปรแกรมช่วยตรวจความละเอียดเป็นเครื่องมือ ให้การทำงานรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

4. ผู้ช่วย 3 (AVAR 3) รับหน้าที่ดูแลภาพจังหวะปัญหาต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในการถ่ายทอดสด เช่นในสถานการณ์เกี่ยวกับลูกล้ำหน้า ที่ต้องสื่อสารกับหัวหน้าทีม และ ผู้ช่วย 2 ให้ละเอียดถี่ถ้วน ก่อนจะเผยแพร่ออกไป

Photo : Goal

การให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อแฟนบอล

องค์กรอย่าง Fifa เข้าใจเรื่องมุมมองของแฟนบอล ที่มีความกังขาในคำตัดสินของกรรมการในบางจังหวะปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีการพัฒนาระบบการให้ข้อมูลขึ้นมาชื่อว่า “VAR information for broadcasters, commentators and infotainment” แต่ละเกมจะมีการส่งทีมงานขององค์กรไปอยู่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินแบบเป็นขั้นเป็นตอนอย่างละเอียด รวมไปถึงเหตุผลประกอบผ่านทางแท็บเลตให้กับ คอมเมนเตเตอร์ และ ทีมงานถ่ายทอดสด ก่อนจะนำไปขึ้นเป็นภาพกราฟฟิกประกอบให้แฟนบอลได้เห็นภาพทางทีวีจอยักษ์ในสนามต่อไป ป้องกันความเคลือบแคลงใจในคำตัดสิน เป็นด่านแรก

Photo : Goal

ก้าวต่อไปเรื่องการเผยแพร่การสื่อสารของผู้ตัดสินและทีมงานห้อง VAR

ความจริงแล้วการพัฒนาระบบ VAR เรื่องการเผยแพร่เสียงการพูดคุยระหว่าง ผู้ตัดสินที่หนึ่ง และ ทีมงานห้อง VAR ถูกนำมาใช้แบบทดลองไปแล้วตั้งแต่ปี 2018 ในศึกฟุตบอลโลก และ ศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ด้วยการมุ่งหวังในการลดข้อพิพาท ที่เกิดขึ้นหลังจบเกมที่เป็นการถกเถียงกันของแฟนบอล ยังนับรวมไปถึงกีฬาอื่นๆ อย่าง รักบี้ อีกด้วย

ประเด็นความแคลงใจในส่วนนี้ลีกชั้นนำอย่าง พรีเมียร์ลีก ก็มีการวางแผนที่จะทำการถ่ายทอดสดเสียงให้แฟนบอลในสนามได้ยินการพูดคุยดังกล่าว เพราะทุกวันนี้หน้าจอมอนิเตอร์ยักษ์ มีการแสดงผลเพียงแค่ว่า การเช็ค VAR เสร็จสิน แต่ไม่มีคำอธิบายใดๆ เพิ่มเติม

ซึ่งทาง เดวิด แอลเรย์ อดีตผู้ตัดสินมืออาชีพ กล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า “ผมคิดว่าผู้ชมส่วนใหญ่ ยังไม่ยอมรับว่าระบบนี้มันเป็นความสำเร็จอย่างสมบูรณ์หรอกนะ”

“แต่หลายบทเรียนที่ผ่านมา จะสอนให้รู้ว่า ควรนำไปปรับปรุงตรงส่วนไหนในปีต่อๆ ไป พวกเรารู้มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้มาช่วยเป็นเวลาหลายปีในรายการแข่งขันต่างๆ มันคงไม่มีสิ่งไหนไปได้สวยตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”

Photo : Forbes

นอกจากนี้ ริชาร์ด มาสเตอร์ส ประธานบริหารของ พรีเมียร์ลีก ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้ว่า “ความคิดที่จะเปิดเผยเสียงการพูดคุยของผู้ตัดสินนั้นเป็นเรื่องที่ดี ความปรารถนาของเรา คือ การเปิดเผยความใสสะอาดในการตัดสินของกรรมการต่อแฟนๆ อย่างไรก็ตามเราต้องวางแผนทดลองแบบเป็นขั้นเป็นตอน”

ทางฝั่งศึก เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ลีกเบอร์หนึ่งของสหรัฐอเมริกา ได้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวออกมาผ่านทางแพลตฟอร์ม Youtube หลังจบเกมไปแล้ว แต่เนื่องด้วยข้อกำหนดของทาง IFAB ยังไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวออกมาแบบสดๆ ให้ผู้ชมได้รับรู้ได้แบบทันท่วงที ซึ่งพวกเขาก็เข้าใจถึงประโยชน์ในการปรับปรุงกฏข้อนี้เช่นกัน เพียงแต่ยังอยู่ในช่วงการปรึกษาหารือ คิดค้นหลายๆ แนวทาง ที่จะมีการปรับใช้ในปีต่อไป

ทุกวันนี้การสื่อสารของผู้ตัดสินและทีมงานห้อง VAR มีการถูกบันทึกเอาไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ทางฝั่งผู้ตัดสินเองก็มีการพูดคุยถึงประเด็นนี้เช่นกันว่า หากอยากเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวแบบสดๆ จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมพวกเขาให้คุ้นชินเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดประเด็นการใช้คำพูด หรือ การสื่อสารที่ผิดพลาด จนเป็นปัญหาที่จะเกิดตามมาภายหลังได้

ปัจจุบัน โฮเวิร์ด เว็บบ์ อดีตกรรมการชื่อดังของ พรีเมียร์ลีก ที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนานในวงการ เป็นอีกหนึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาระบบ VAR ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ด้วยการนำเสนอแนวคิดต่างๆ โดยตอนนี้ตัวเขาก็ย้ายกลับมาทำงานในประเทศอังกฤษ หลังไปรับงานอยู่ใน สหรัฐอเมริกา และ แคนาดา ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ด้วยการรับบทบาทนั่งแท่นเป็น หัวหน้าทีมผู้ตัดสิน แทนที่ของ ไมค์ ไรลี่ย์ อย่างเป็นทางการแล้ว จากการยืนยันของ PGMOL ซึ่งการเผยแพร่วิดีโอการตัดสินใจในห้อง VAR ของศึก เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ก็คือ ผลงานชิ้นเอกที่การันตีได้ว่า แนวคิดดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในลีกสูงสุดแดนผู้ดีในอนาคต

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
บุรีรัมย์ บูม! : อัพเดท 10 อันดับแข้งต่างชาติในไทยลีกมูลค่าสูงที่สุด | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
หลังจากที่ ฟุตบอล รีโว่ ไทยลีก ในฤดูกาลนี้ (2022-23) ได้มีการคอนเฟิร์มไปเมื่อกลางปี 2022 แล้วว่าจะสามารถลงทะเบียนผู้เล่นต่างชาติได้ 5+1+อาเซียนไม่จำกัด คือ นักเตะต่างชาติ 5 คน เอเชีย 1 คน และ อาเซียนไม่จำกัดจำนวน แต่เมื่อส่งรายชื่อลงทำการแข่งขันในแต่ละเกมจะส่งได้เพียง นักเตะต่างชาติ 3 คน เอเชีย 1 คน…


การออกอากาศเสียงผู้ตัดสินในไทยลีก เป็นแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดีจริง?

จากข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอไปข้างต้น ต้องยอมรับกันตามตรงว่า การออกอากาศเสียงให้แฟนบอลในไทยลีก ได้รับฟังกันแบบสดๆ ย่อมต้องเป็นผลดีกับแฟนบอลแน่ๆ เพราะจะได้รับรู้ทุกคำพูด ทุกขั้นตอนในการตัดสินใจของกรรมการในเกมนั้นๆ

อย่างไรก็ตามหากมองในมุมกลับกัน ขนาดลีกที่มีความพร้อมมากกว่าอย่าง พรีเมียร์ลีก ยังไม่กล้าที่จะใช้แนวทางนี้ในการแก้ปัญหาแบบเป็นจริงเป็นจัง ทันเหตุการณ์แบบปัจจุบันทันด่วน หมายความว่า การแก้ไขปัญหาความแคลงใจ ด้วยการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ต้องมีข้อบกพร่องในบางจุดอยู่แน่นอน

ประเด็นที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การอบรมผู้ตัดสินให้มีความเชี่ยวชาญ และ ชำนาญในการใช้ภาษาการสื่อสาร เมื่อต้องเปิดเผยคำพูดทั้งหมด ออกมาให้คนหมู่มากฟัง ธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่เป็นประจำ ความตื่นเต้น แรงกดดันจากแฟนบอลในสนาม ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจของพวกเขาแน่นอน

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องของงบประมาณการจัดการของ ไทยลีก ที่มีงบประมาณสนับสนุนจำกัด ถ้าต้องไปเพิ่มฟังก์ชั่นของเทคโนโลยีที่มีราคาสูงขึ้น ให้ทำทุกอย่างได้เทียบเท่ากับลีกชั้นนำ ผลตอบแทนที่ได้รับไม่มีทางที่จะคุ้มค่ากับการลงทุนร้อยเปอร์เซ็นต์

Photo : Football Tribe

ปิดท้ายกันที่ “ตัวบั๊ค” ประจำวงการฟุตบอลอย่างวลีที่ว่า “ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ตัดสิน” ต่อให้มีการออกอากาศเสียงออกมาทั้งหมด แฟนบอลได้รับรู้ทุกข้อมูลแบบถูกต้องไม่มีผิดเพี้ยน คำตัดสินจากผู้ตัดสินที่หนึ่งในสนาม เป็นประกาศิตสุดท้ายที่จะจัดการเหตุการณ์ปัญหาดังกล่าวอยู่ดี แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจริงของการใช้ VAR คือ ต้องมีฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ แล้วมีอีกฝ่ายที่เสียประโยชน์ ซึ่งต้องมองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอารมณ์ร่วมของแฟนบอลด้วยเช่นกัน การปะทุของอารมณ์ที่เดือดดาลเพราะมองต่างมุม เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก การหาทางปกป้องผู้ตัดสินแบบกันไว้ดีกว่าแก้ ควรจะถูกนำมาคิดร่วมในจุดนี้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นการถ่ายทอดเสียงแบบทันท่วงที ที่ยังผิดข้อกำหนดของ IFAB จำเป็นต้องตัดทิ้งไปก่อน แต่การเปิดเผยภาพบันทึกเหตุการณ์ที่เคยถูกนำมาใช้แก้ต่างหลังเกมให้กับผู้ตัดสิน ตอนนี้อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ หากมีจังหวะปัญหาเกิดขึ้นในแต่ละเกม ซึ่งแฟนบอลควรจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจเรื่องระบบ VAR ในบ้านเราที่คุณภาพต่างจากลีกชั้นนำอื่นๆ แล้วเปิดใจให้กว้าง

การพัฒนาทุกอย่าง ควรมีการวางแผนแบบค่อยเป็นค่อยไป มั่นใจได้เลยว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ไทยลีก รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้นิ่งเฉย แล้วคงมีการปรึกษาหารือกันอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าข้อสรุปที่ออกมาจะถูกใจแฟนบอลหรือไม่? ใช้เวลานานเท่าไหร่? ยังไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ถูกต้องในตอนนี้ สิ่งที่แฟนบอลต้องทำคือ อดทนรอ จนกว่าทุกอย่างจะลงตัว ไม่เช่นนั้นการแก้ไขปัญหาแบบ แก้ผ้าเอาหน้ารอด เน้นเร็ว เน้นถูกใจเข้าว่า ไม่มีทางเป็น สิ่งที่อยู่แบบคงทนถาวรตลอดไป แล้วนำไปปรับใช้พัฒนาในอนาคตได้แน่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Y2K เดอะ ซีรีส์ : เปิดตำนาน “ชลขาโหด” ของ ชลทิตย์ จันทคาม

รับรุกบุกแหลก : 10 กองหลังที่ยิงประตูเยอะที่สุดในไทยลีกซีซั่นนี้

ของดีเพื่อนบ้าน : 10 นักเตะอาเซียนมูลค่าสูงสุดในไทยลีก

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://www.thetimes.co.uk/article/conversations-between-referees-and-vars-to-be-made-available-to-public-after-premier-league-matches-fxbbk0v3g

https://www.thetimes.co.uk/article/plan-for-fans-to-hear-conversations-between-referees-and-var-vl2nf83ln

https://www.youtube.com/watch?v=ve9Dfk4PEdw

https://www.theifab.com/laws/latest/video-assistant-referee-var-protocol/#reviewable-match-changing-decisions-incidents

https://www.fifa.com/technical/football-technology/football-technologies-and-innovations-at-the-fifa-world-cup-2022/video-assistant-referee-var

https://www.90min.com/posts/6568631-premier-league-consider-broadcasting-var-audio-in-stadiums-to-keep-fans-informed

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ