ว่าด้วยสถิติ : บุรีรัมย์ เล่นเกมรุกด้วยการเปิดโหม่งอย่างเดียวจริงหรือ ?
หลังบุรีรัมย์ แพ้ ให้กับ เมลเบิร์น ซิตี้ คาบ้าน คอมเม้นต์ของแฟน ๆ ในแง่ของแท็คติกการเล่นมักชี้ตรงไปที่เรื่องการเล่นบอลโยนจากริมเส้นของทัพปราสาทสายฟ้าในเกมนี้
หากประเมิณด้วยสายตา บุรีรัมย์ มีการโยนบอลจากด้านข้างเพื่อเล่นเกมรุกมากกว่า 10 ครั้งอย่างแน่นอน แต่การเปิดแต่ละครั้งมีการไปถึงเป้าหมายน้อยมาก
เพื่อจะดูว่าพวกเขา "เล่นเป็นเเต่บอลครอส" จริงหรือไม่ ? มีเพียงสถิติเท่านั้นที่จะตอบได้ชัดเจนที่สุด ?
ไปดูกันว่าสถิติบอกอย่างไร ?
วิมเบิลดัน ไทยแลนด์
บุรีรัมย์ เป็นทีมที่ได้ประตูจากการเล่นลูกครอสริมเส้น และลุกตั้งเตะบ่อยครั้งในศึกไทยลีก แน่นอนว่าความแข็งแกร่งเฉพาะทางนี้เอง ที่ทำให้ใครต่อใครต่างมีภาพจำของ บุรีรัมย์ ในรูปแบบของบอลโยน และเรื่องนี้หลุดออกมาจากคู่แข่งในไทยลีกของพวกเขาอย่าง "บิ๊กฮั่น" มิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด ที่ออกมาพูดก่อนเกมที่ทั้งสองทีมจะเจอกันว่า
"ถ้าใครรู้จักสมญานามของทีม วิมเบิลดัน ที่เป็นทีมแห่งเจ้าเวหา นั่นคือ บุรีรัมย์ ในตอนนี้เลย โชคยังดีที่ตอนนี้ โบลิงกิ ไม่อยู่แล้ว แต่ตอนนี้พวกเขามีปีกที่สามารถครอสบอลเข้ามาให้กับ ดุมบูย่า และ ศุภชัย ใจเด็ด ได้ดี”
"ซึ่งผมมองว่า บุรีรัมย์ เวย์ คือ วิมเบิลดันเมืองไทย ที่รับมือได้ยากแม้จะรู้อยู่แล้วว่า เน้นไปที่การเล่นบอลไดเร็คท์ แต่ก็ยากที่จะจัดการ” บิ๊กฮั่น กล่าว
การจะบอกว่า บุรีรัมย์ เล่นแต่เกมรุกด้วยการเปิดอย่างเดียวคงเป็นคำพูดที่ใส่ร้ายกันเกินไป อันที่จริงหากคุณเปิดดูไฮไลต์แต่ละประตูของ บุรีรัมย์ ในไทยลีกซีซั่นนี้คุณจะเห็นได้ว่ามันมีความหลากหลายพอสมควร มีหลายจังหวะที่พวกเขาได้ประตูจากการสวนกลับ และการยิงไกลจากแถวสอง แต่สิ่งที่ทำให้การเล่นลูกครอสเป็นภาพจำ มันน่าจะเป็นเรื่องของวิธีการเล่นมากกว่า
บุรีรัมย์ เป็นทีมที่ใช้ผู้เล่นในเกมรุกเยอะมาก หรือที่เรียกกันในภาษาฟุตบอลว่า "การโอเวอร์โหลดผู้เล่น" โดยเฉพาะในเวลาเจอกับทีมที่มีศักยภาพน้อยกว่า ซึ่งแน่นอนว่าในไทยลีก ทีมส่วนใหญ่นั้นด้อยคุณภาพกว่า บุรีรัมย์ ทั้งนั้น ดังนั้นเราจะพบได้ว่าบอลริมเส้นของ บุรีรัมย์ จึงมีประสิทธิภาพมาก ๆ ในเวลาที่พวกเขาเล่นในไทยลีก เพราะตัวผู้เล่นคู่แข่งที่มีคุณภาพน้อยกว่า ไม่ว่าจะในเชิงของ ทักษะ และรูปร่าง อีกทั้ง บุรีรัมย์ มีตัวในกรอบเขตโทษเยอะไปหมด
ยกตัวอย่างเช่นประตูของ ศุภชัย ใจเด็ด ในเกมที่เสมอกับ ชลบุรี เอฟซี 2-2 นั้น บุรีรัมย์ มีผู้เล่นในกรอบเขตโทษระยะ "ได้ยิง" ถึง 4 คน เท่ากับกองหลังของฝั่ง ชลบุรี เลยด้วยซ้ำ ... ยิ่งเจอคนตัวใหญ่อย่าง เคาซิช และโดยเฉพาะ ดุมบูย่า เป็นเป้า พวกเขาก็สามารถจัดการกับลูกโด่งได้อย่างแข็งแกร่งกว่าทีมไหน ๆ
ยิ่งถ้าคุณเปิดสถิติว่ากันด้วยเรื่องการเปิดบอลจากริมเส้น คุณยิ่งจะต้องแปลกใจ เพราะ บุรีรัมย์ ไม่ใช่ทีมที่เล่นบอลจากลูกเปิดริมเส้นมากที่สุดในไทยลีก พวกเขามีสถิติการเปิดบอลจากริมเส้นแบบโอเพ่นเพลย์ 111 ครั้ง ถ้าเทียบให้เห็นภาพคือ บุรีรัมย์ เปิดบอลจากริมเส้นเป็นอันดับ 8 ของไทยลีก ... ไม่ติดท็อป 5 ด้วยซ้ำ ขณะที่การเล่นบอลครอสจากลูกเตะมุม บุรีรัมย์ ยังใช้การครอสจากเตะมุมเพียง 170 ครั้ง มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของลีก ทีมอย่าง การท่าเรือ และ สุโขทัย เอฟซี ยังเล่นบอลครอสจากริมเส้นมากกว่า บุรีรัมย์ ด้วยซ้ำไป
จากสถิติที่กล่าวมาควรจะบอกให้ถูกว่า บุรีรัมย์ เป็นทีมที่เล่นบอลจากริมเส้นได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ใช่เล่นบ่อยที่สุดอย่างที่หลายคนเข้าใจ
กำแพงระดับเอเชีย
คราวนี้เรามาดูระดับเอเชีย หรือ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก กันบ้าง บุรีรัมย์ เองก็พยายามจะใช้วิธีการเดิมแบบที่ใช้ในไทยลีกคือพยายามหาทางเข้าทำจากทุกทิศทุกทาง แต่เมื่อความจริงนั้นทีมระดับเอเชียไม่ได้อ่อนชั้น แต่กับเเข็งแกร่งทั้งเรื่องทักษะและร่างกาย การจะผ่านด้วยวิธีการชิ่งบอลทะลุผ่านเข้าไป หรือใช้ความสามารถเฉพาะตัวเอาชนะกองหลังคู่แข่งจึงเป็นไปได้ยากมาก
ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องการประตู ในช่วงเวลาที่จำกัด ไม่มีวิธีใดง่ายกว่าการโยนบอลเข้าไปวัดในกรอบเขตโทษอีกแล้ว ในเกมกับ เมลเบิร์น บุรีรัมย์ เองก็ส่งผู้เล่นไปลุ้นในกรอบเยอะมาก และเน้นการครอสบอลแบบเออร์ลี่ครอส จากนักเตะตำแหน่ง วิงแบ็ค มากเป็นพิเศษ แต่ก็อย่างที่กล่าวไป "แข็งแกร่งระดับไทยลีก" ก็ยังห่างไกลจากคำว่า "แข็งแกร่งระดับเอเชีย" เราจึงได้เห็นภาพของเปิดเข้าไปและโดนโหม่งสกัดออกมาแบบไม่ได้ลุ้น จนกระทั่งจบเกมและพวกเขาแพ้ไปในท้ายที่สุดนั่นเอง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ข่าวและบทความล่าสุด