วากาบายาชิ เก่งขนาดนี้ : แต่ทำไมญี่ปุ่นยังไม่มีผู้รักษาประตูระดับโลก ?
ถ้า โอโซระ สึบาสะ เป็นแรงบันดาลใจให้ญี่ปุ่นผลิตกองกลางสู่ระดับโลกได้มากมาย แล้วทำไม วากาบายาชิ เก็นโซ อีกหนึ่งตัวละครเด่นในตำแหน่งผู้รักษาประตูจอมเซฟ จึงยังทำไม่สำเร็จ
ติดตามได้ที่นี่
ขาดคนสอนสั่ง
มันเป็นอีกหนึ่งเกมที่ไม่น่าจดจำสำหรับ ไซออน ซูซูกิ เมื่ออุตสาห์ปัดบอลจากลูกโหม่งของผู้เล่นบาห์เรนได้แล้ว แต่จังหวะไปคว้าดาบสอง ดันทำบอลหล่นใส่หัว อายาเสะ อูเอเดะ ที่มาช่วยเกมรับ เข้าประตูตัวเองไป
แม้ว่าสุดท้าย อูเอดะ จะมาแก้ตัว ยิงประตูปิดกล่องให้ ญี่ปุ่น เอาชนะไปได้ 3-1 ผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่ ซูซูกิ ก็ยังไม่สามารถเก็บคลีนชีทให้ตัวเองได้เลย และถูกวิจารณ์ว่านี่อาจจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ญี่ปุ่นไปไม่ถึงแชมป์
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เพราะที่จริงซามูไรบลู ก็มีปัญหาในตำแหน่งผู้รักษาประตูมาอย่างช้านาน แม้ว่าพวกเขาจะโกลฝีมือดี ที่สามารถออกไปค้าแข้งในต่างแดนอย่าง โคซูเกะ นาคามูระ, ดาเนียล ชมิดต์ หรือ เออิจิ คาวาชิมะ ที่เพิ่งย้ายกลับมาเล่นในเจลีก แต่ไม่มีใครสามารถก้าวไปถึงระดับโลกได้เลย
มันช่างแตกต่างจากตำแหน่งอื่น โดยเฉพาะกองกลาง ที่ขุนพลซามูไรสามารถสร้างผู้เล่นฝีเท้าเยี่ยมให้โลกได้เห็นมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น ชินจิ คางาวะ, ฮิเดโตชิ นาคาตะ หรือทีมชาติญี่ปุ่นในปัจจุบันอย่าง ทาเคฟุสะ คุโบะ และ คาโอรุ มิโตมะ
และมันก็ทำให้เกิดคำถามว่า หาก โอโซระ สึบาสะ จากมังงะกัปตันสึบาสะ มีอิทธิพลช่วยให้ฟุตบอลญี่ปุ่นสามารถผลิตมิดฟิลด์ระดับท็อปได้มากมาย แล้วทำไม วากาบายาชิ เก็นโซ ผู้รักษาประตูเจ้าของฉายา SGGK (Super Great Goalkeeper) ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องจึงทำไม่สำเร็จ
รูปร่างอาจจะเป็นสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง ซึ่งในอดีตก็ไม่ผิด เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ส่วนสูงเฉลี่ยของโกลญี่ปุ่นจะอยู่ที่ราว 185 เซนติเมตรเท่านั้น แต่ปัจจุบันนายด่านญี่ปุ่นมีร่างกายที่ดีขึ้น เห็นได้จากผู้รักษาประตูทั้ง 3 คนในเอเชียนคัพ 2023 ของพวกเขาล้วนสูงเกิน 190 เซนติเมตรทั้งสิ้น
ดังนั้นปัญหาที่แท้จริง อาจจะไม่ใช่ส่วนสูง แต่เป็นเรื่องคุณภาพ ดิโด ฮาร์ฟนาร์ อดีตผู้รักษาประตูชาวเนเธอร์แลนด์ ที่เคยค้าแข้งในญี่ปุ่นทั้ง นาโงยา แกรมปัส, จูบิโล อิวาตะ และซานเฟรชเช ฮิโรชิมา รวมถึงเป็นโค้ชให้หลายทีมในเจลีก บอกว่าญี่ปุ่นยังขาดแคลนผู้มีประสบการณ์ตรงที่จะมาสอนรุ่นน้อง
เพราะหากมองหาอดีตผู้รักษาประตูที่เคยมีประสบการณ์อย่างโชกโชนในยุโรป ชั่วโมงนี้ก็มีเพียงรายเดียวคือ คาวาชิมะ ที่ลงเล่นในยุโรปมากว่า 260 นัด แถมส่วนใหญ่ยังเล่นการเล่นในลีกเกรดรองอย่าง เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส
“ปัญหามันมีมากขึ้นเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขายังดีไม่พอ” ดิโด้ กล่าวกับ New York Times
“วิธีที่ดีที่สุดในการเรียนที่จะเป็นผู้รักษาประตูคือเรียนรู้จากผู้รักษาประตูที่มีประสบการณ์ ทั้งในด้านเทคนิคและแทคติกที่ถูกต้อง และสิ่งนี้ยังคงขาดในญี่ปุ่น”
“ตอนนี้ประเทศที่มีผู้รักษาประตูที่มีประสบการณ์ที่ดีพอ จะสามารถสร้างความแตกต่าง และส่งต่อองค์ความรู้ของพวกเขาได้”
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเดียวของพวกเขา
จิตใจไม่มั่นคง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกจุดด่างพร้อยของผู้รักษาประตูชาวญี่ปุ่นคือความแข็งแกร่งทางจิตใจ เมื่อเทียบกับโกลระดับโลก เพราะหลายครั้งที่ผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่น ที่โชว์ฟอร์มเซฟในนัดก่อน กลายมาเป็นโกลตรงเป็นตุงในนัดต่อมา
ยิ่งไปกว่านั้น หากประตูแรกที่เสียไปเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากตัวของเขาเอง อาจทำให้พวกเขากู่ไม่กลับ เนื่องจากชาวญี่ปุ่น มีความรับผิดชอบที่สูงมาก โดยเฉพาะความผิดพลาดส่วนตัวที่ทำให้ส่วนรวมต้องเดือดร้อน แต่แนวคิดนี้ก็กลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนมาทำร้ายพวกเขาเอง
“ผู้เล่นญี่ปุ่นเข้าใจเป้าหมายในการฝึกซ้อมอย่างรวดเร็ว และทำงานหนัก พวกเขาอ่านเกมได้ และมีลักษณะทางกายภาพที่ไม่เลว” แกรี เพย์ตัน อดีตผู้รักษาประตูของอาร์เซนอล ที่เคยทำงานในญี่ปุ่นกับ จูบิโล อิวาตะ, วิสเซล โกเบ และ ชิมิซึ เอสพัลส์ กล่าวกับ Soccer Digest
“แต่แม้แต่กอนดะ ที่เป็นมือหนึ่งทีมชาติญี่ปุ่น และน่าจะได้ความมั่นใจจากการเล่นทีมชาติตอนกลับมาเล่นให้สโมสร ก็ยังไม่สามารถจัดการกับลูกยิงนอกกรอบเขตโทษในเกมเจลีกได้อย่างใจเย็น”
“เขาควรจะผ่อนคลายและเยือกเย็น หลังได้รับความมั่นใจ แต่กลับตัดสินใจผิดพลาด และมีสภาพจิตใจที่เหมือนเดิม ก่อนไปเล่นให้ทีมชาติ”
เพย์ตัน มองว่าสาเหตุส่วนใหญ่น่าจะมาจากกระบวนการพัฒนาตั้งแต่ระดับเยาวชน ที่หลายทีมในเจลีก มักจะดันผู้รักษาประตูขึ้นมาเล่นตั้งแต่อายุยังน้อย ยกตัวอย่างเช่น กอนดะ ที่ขึ้นมายึดมือหนึ่ง เอฟซี โตเกียว ตั้งแต่อายุ 20 ปี หรือ ซูซูกิ ที่ประเดิมสนามให้ อูราวะ เรดส์ ตั้งแต่อายุ 18 ปี
ข้อเสนอของอดีตโค้ชผู้รักษาประตูอาร์เซนอล ที่อยู่เบื้องหลังโกลระดับโลก ทั้ง เยนส์ เลห์มันน์ และ วอยเซียค เชสนี่ย์ คือควรเน้นการพัฒนาทางด้านจิตใจให้แก่ผู้รักษาประตูชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีความอ่อนไหว และต้องพึ่งพาความมั่นใจในระดับเดียวกับความสามารถ
“เนื่องจากผู้รักษาประตูอยู่ในตำแหน่งที่พิเศษ ดังนั้นเรื่องสภาพจิตใจของพวกเขาจึงพิเศษเช่นกัน เขาสามารถเป็นฮีโรหรือผู้ร้ายก็ได้ จากการเซฟหรือผิดพลาดครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียว” เพย์ตันกล่าว
“นักจิตวิทยา แม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยา แต่ก็ยังไม่เข้าใจความยากของการเป็นผู้รักษาประตู นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องมีโค้ชมากประสบการณ์เพื่อสนับสนุนผู้รักษาประตู รวมถึงการดูแลทางด้านจิตใจ”
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้พวกเขาไปไม่สุด
ถูกมองข้าม
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนผู้รักษาประตูฝีเท้าเยี่ยม อาจจะเป็นเพราะตัวพวกเขาเอง ที่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งผู้เล่นเอาท์ฟิลด์มากกว่าตำแหน่งนี้
แม้ว่าสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น หรือ JFA จะมีโครงการพัฒนาผู้รักษาประตูในชื่อ “โกลคีปเปอร์ โปรเจ็ค” มาตั้งแต่ปี 1998 แต่ในเชิงปฏิบัติ มันกลับเป็นตำแหน่งที่อยู่ในลำดับท้าย ๆ ที่ถูกเน้นย้ำ
“ฟุตบอลญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เจลีกก่อตั้งขึ้น ผู้เล่นจำนวนมากยังย้ายไปเล่นในลีกระดับท็อปของโลก ทั้งเยอรมัน อิตาลี และอังกฤษ” เพย์ตัน กล่าวเริ่ม
“แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็คิดว่าเราควรโฟกัสเกี่ยวกับการพัฒนาผู้รักษาประตูให้มากกว่านี้ ผู้รักษาประตูเป็นตำแหน่งที่สามารถพัฒนาให้ดีกว่านี้สำหรับทีมชาติญี่ปุ่น ถ้าเราสามารถข้ามผ่านมันได้ เราจะสามารถสร้างทีมที่สร้างความตกตะลึงให้ทั้งโลกได้”
สิ่งนี้สะท้อนได้จากเทรนด์การเลือกใช้ผู้รักษาประตูต่างชาติ ก่อนผู้รักษาประตูญี่ปุ่น ของหลายทีมในเจลีก โดยเฉพาะนายด่านชาวเกาหลี ที่พาเหรดกันมายึดครองลีกญี่ปุ่นในช่วงหลายปีให้หลัง
“ส่วนสูงเฉลี่ยของผู้รักษาประตูเกาหลีในเจลีกน่าจะประมาณ 190 เซนติเมตร จึงไม่ต้องสงสัยว่าผู้รักษาประตูที่มีรูปร่างดีนั้นน่าดึงดูด และมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันอย่างชัดเจน” จอง จีฮุน ผู้สื่อข่าวจาก JoongAng Ilbo กล่าวกับ Yahoo Japan
“เป็นเรื่องปกติในเจลีกที่จะเห็นพวกเขาตะโกนสั่งผู้เล่นจากแนวหลังเพื่อยกระดับขวัญกำลังใจของทีม และให้คำแนะนำในการควบคุมแนวรับ”
แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้รักษาประตูต่างชาติ ทะลักเข้ามาแย่งงานโกลญี่ปุ่น มาจากการที่เจลีกไม่มีกฎห้ามสโมสรใช้งานโกลต่างชาติ เหมือนกับลีกจีน หรือเกาหลี ที่ยึดถือข้อห้ามนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อส่งเสริมผู้รักษาประตูท้องถิ่น
“ผมไม่เคยเห็นโกลต่างชาติคนไหนสามารถสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาลได้เลย อย่างน้อยก็ไม่ใช่ผู้เล่นที่สามารถเล่นในพรีเมียร์ลีกได้” เพย์ตัน กล่าว
“แน่นอนว่าไม่มีอะไรผิดกับการใช้นักเตะที่ดีที่สุดในแต่ละตำแหน่ง เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะตกชั้นลงไปเล่นในเจ2 มันมีความกดดันอย่างมหาศาลต่อโค้ช ดังนั้นจึงเข้าใจได้ที่เขาพยายามใช้ตัวช่วยต่างชาติที่สามารถคาดหวังผลงานได้ทันที เหมือนกับตำแหน่งกองกลางและกองหน้า”
“แต่ผู้รักษาประตูคือตำแหน่งที่สำคัญ ผมทำงานกับอาร์เซนอลมา 15 ปีแล้ว การมีผู้รักษาประตูดี ๆ คือหัวใจสำคัญของทีม”
เขามองว่าหากเจลีกมีแนวทางในการพัฒนาผู้รักษาประตูที่เข้มข้นกว่านี้ เพื่อสร้างผู้เล่นฝีเท้าเยี่ยมออกมาให้ได้สักคน ก็น่าจะทำให้พวกเขาสามารถยกระดับคุณภาพของผู้เล่นตำแหน่งนี้ได้
“ถ้าทีมเจลีกสามารถอดทนและพัฒนาผู้รักษาประตูฝีมือเยี่ยมให้ได้อย่างน้อยหนึ่งคน นี่จะเป็นทรัพยากรที่ใหญ่มากในอนาคต” อดีตโค้ชโกลอาร์เซนอล อธิบาย
ก็ต้องมารอดูว่าพวกเขาจะทำสำเร็จไหม หรืออีกนานแค่ไหนกว่าที่จะเห็นผู้รักษาประตูชาวญี่ปุ่น เล่นอยู่ในท็อปทีมของลีกใหญ่ในยุโรป เหมือนกับ วากาบายาชิ เก็นโซ ที่เล่นให้ บาเยิร์น มิวนิค ในมังงะกัปตันสึบาสะ
หรือบางทีพวกเขาได้เริ่มไปแล้ว จากการตะบี้ตะบันใช้งาน ไซออน ซูซูกิ เป็นมือหนึ่งของทีมชาติญี่ปุ่นในเอเชียนคัพ 2023 ครั้งนี้ ที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการณ์ปั้นโกลเลือดซามูไรไปสู่ระดับท็อปก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=89787
https://www.nytimes.com/2011/08/02/sports/soccer/02iht-GOALKEEPER02.html
https://news.yahoo.co.jp/expert/articles/5ea3a2de4b3e0a3214eb13b6abd76c89f001ab54