ว่ากันตามกฎ : สโมสรฟุตบอลสามารถปฎิเสธนักเตะไม่ให้ไปรับใช้ทีมชาติได้หรือไม่ ?

ว่ากันตามกฎ : สโมสรฟุตบอลสามารถปฎิเสธนักเตะไม่ให้ไปรับใช้ทีมชาติได้หรือไม่ ?
วิสูตร ดำหริ

เผลอแป๊บเดียวก็มาถึงสัปดาห์ทีมชาติอีกครั้ง แต่ละทวีปก็มีโปรแกรมลงเล่นในรายการแตกต่างกันไป อย่างในยุโรปจะทำศึกยูโร 2024 รอบคัดเลือก, อเมริกาใต้มีเกมฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก หรือ เอเชียก็มีแค่เกมอุ่นเครื่อง

การได้ใส่เสื้อทีมชาติลงสนามคือเกียรติยศของนักฟุตบอล หลายคนยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มีโอกาสแบบนั้นสักครั้ง มันคือความภาคภูมิใจส่วนตัว ต่อให้ต้องเดินทางข้ามโลกไปไกลแค่ไหน พวกเขาก็ยินดีทำเพื่อชาติ

บางคนยอมไปช่วยทีมชาติทั้งที่มีปัญหาบาดเจ็บติดตัว และมันก็นำมาซึ่งปัญหาขัดแย้งระหว่างสโมสรกับทีมชาติ ในมุมมองของสโมสร พวกเขาเป็นคนจ่ายค่าเหนื่อย ดังนั้นเมื่อนักเตะอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ พวกเขาก็ไม่ต้องการเสี่ยงให้ลงเล่นเกมทีมชาติ เพราะถ้าเกิดบาดเจ็บหนักขึ้นมา สโมสรก็ต้องแบกรับภาระไปเต็ม ๆ นอกจากจะใช้งานนักเตะไม่ได้ ยังต้องมานั่งรักษาอาการบาดเจ็บให้อีก แม้จะได้เงินชดเชยจากฟีฟ่า แต่มันก็ได้ไม่คุ้มเสีย

กรณีแบบนี้เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่บางครั้งก็มีสโมสรหัวหมอ ไม่อยากส่งนักเตะไปกรำศึกหนัก จึงออกอุบายข้ออ้างต่าง ๆ เพื่อให้นักเตะได้ถอนตัวจากทีมชาติ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการฟุตบอลโลก เพราะมีให้เห็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกัน มันก็กลายเป็นข้อถกเถียงแบบไม่รู้จักจบสิ้น Think Curve - คิดไซด์โค้ง จึงขอกางกฎของฟีฟ่าว่าด้วยเรื่อง "สโมสรปฏิเสธปล่อยนักเตะไปเล่นทีมชาติ" ว่าจริง ๆ แล้วทำได้หรือไม่

ว่าด้วยกฎของฟีฟ่า

"สโมสรต้องปล่อยนักเตะไปรับใช้ทีมชาติ หากนักเตะถูกสมาคมฟุตบอลนั้น ๆ เรียกติดทีมชาติ สโมสรกับนักเตะไม่สามารถทำข้อตกลงเพื่อปฏิเสธได้"

นี่คือกฎที่ถูกระบุอยู่ในภาคผนวก 1 ของฟีฟ่า ซึ่งก็ตีความเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากสโมสรมีหน้าที่ปล่อยนักเตะไปเล่นเกมทีมชาติเสมอ ถ้าเขาคนนั้นมีชื่อติดทีมชาติ หากใครฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามมา

อย่างระเบียบของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะลงโทษแบนนักเตะ 2 เกม หรือปรับเงินสโมสรครั้งแรก 100,000 บาท, ครั้งที่สอง 200,000 บาท และครั้งที่สาม 300,000 บาท หรือจะทั้งแบนนักเตะและปรับเงินสโมสรพร้อมกันเลยก็ได้

PHOTO : KFA

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าสโมสรต้องปล่อยนักเตะไปเล่นทีมชาติทุกกรณี หากนักเตะถูกเรียกนอกปฏิทินการแข่งขันของฟีฟ่า อาทิ โอลิมปิค เกมส์ และ เอเชียน เกมส์ สโมสรก็มีสิทธิ์ปฏิเสธเช่นกัน

หรือในกรณีที่ทีมชาติชุดใหญ่มีแข่งมากกว่า 1 รายการ สโมสรก็ไม่จำเป็นต้องปล่อยไปเล่นทั้งหมด ปล่อยแค่รายการเดียวก็พอแล้ว ซึ่งปกติแล้วทีมชาติชุดใหญ่จะมีทัวร์นาเมนต์ให้ลงเล่นปีละ 1 รายการอยู่แล้ว กรณีแบบนี้จึงไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อย

แต่ว่ากันตรง ๆ กฎของฟีฟ่าก็มีช่องว่างอยู่ ฟีฟ่าไม่สามารถควบคุมเรื่องนี้ได้แบบ 100% ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ของสโมสรและนักเตะสมรู้ร่วมคิดกัน ส่งข้อมูลเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่เกินจริงให้กับทีมชาติ เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการขอถอนทีมชาติ เพราะมันพิสูจน์ได้ยาก ในเมื่อนักเตะคนนั้นได้รับบาดเจ็บอยู่จริง ๆ

อีกตัวอย่างคือนักเตะสามารถปฏิเสธการติดทีมชาติ หรือ ประกาศเลิกเล่นทีมชาติได้ แต่มีข้อแม้ว่าสมาคมฟุตบอลของชาตินั้นต้องเห็นชอบด้วย ไม่ใช่ว่านักเตะอยากจะเลิกก็เลิกได้เลย แบบนั้นถือเป็นการละเมิดกฎของฟีฟ่า

หากนักเตะเกิดตัดสินใจไม่ไปเล่นทีมชาติโดยพลการ สมาคมฯ สามารถแทงเรื่องให้ฟีฟ่าลงโทษปรับเงินนักเตะคนนั้นได้ กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการแบนเขาจากฟุตบอลอาชีพในช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว

เช่น โจเอล มาติป ปฏิเสธที่จะเล่นให้กับ แคเมอรูน โดยขัดต่อเจตจำนงของสมาคมฯ ดังนั้น ส.บอลแคเมอรูน จึงแจ้งไปยังฟีฟ่าให้ลงโทษนักเตะ สุดท้าย มาติป  ก็โดนแบนจากเกมฟุตบอลเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เมื่อปี 2016

ในฐานะผู้คุมกฎฟุตบอลทั่วโลก ฟีฟ่า จึงต้องพยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อการันตีว่าทีมชาติจะได้นักเตะที่ต้องการมาเล่นครบทุกคน เว้นเสียแต่เจอเหตุสุดวิสัยแบบสองตัวอย่างข้างต้น ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่าง สโมสร กับ ทีมชาติ คณะกรรมการฝ่ายดูแลสถานะนักเตะของฟีฟ่า (Players' Status Committee) จะเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องนี้

สโมสรงัดข้อทีมชาติ

ที่ผ่านมาเกิดข้อพิพาทระหว่าง สโมสร กับ ทีมชาติ นับครั้งไม่ถ้วน แต่ครั้งที่แฟนบอลจดจำได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่าง บาเยิร์น มิวนิค กับ ทีมชาติเยอรมัน เมื่อปี 2019

เรื่องมีอยู่ว่า อูลี่ เฮอเนสส์ ประธานทีมเสือใต้ในเวลานั้น ไม่พอใจกับรายงานข่าวที่ว่า โยอาคิม เลิฟ ผู้จัดการทีมอินทรีเหล็ก จะดัน มาร์ค-อันเดร แทร์ สเตเก้น ขึ้นมาเป็นมือหนึ่งทีมชาติแทน มานูเอล นอยเออร์

นี่เป็นกรณีที่ค่อนข้างแปลก เพราะ เฮอเนสส์ ไม่ได้ติดใจกับการที่นักเตะติดทีมชาติ แต่เขากลับออกมาเรียกร้องให้สิทธิ์ให้กับนักเตะในสโมสร แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เขาดันไปขู่ว่าจะไม่ส่งนักเตะในทีมไปรับใช้ทีมชาติเยอรมัน ซึ่งขัดกับกฎของฟีฟ่าโดยตรง

"เราไม่มีวันยอมรับกับเรื่องที่ สเตเก้น จะเป็นมือหนึ่งทีมชาติแทน นอยเออร์ ถ้าเราได้รับแจ้งเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนเกมทีมชาติ เราคงไม่ส่งนักเตะเยอรมันคนอื่น ๆ ไปเล่นกับทีมชาติแล้ว" เฮอเนสส์ กล่าวกับ Bild

นั่นทำให้ โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ ในฐานะผู้จัดการทั่วไปทีมชาติเยอรมัน ออกโรงตอบโต้ทันทีว่า บาเยิร์น ไม่มีสิทธิ์ทำแบบนั้น เพราะกฎของฟีฟ่าอยู่เหนือทุกอย่าง ในเมื่อนักเตะถูกเรียกติดทีมชาติแล้ว ก็ต้องมารายงานกับทีมชาติ

ย้อนกลับไปไกลหน่อยก็ในปี 1997 เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กุสัน เคยคัดค้านที่จะส่งตัวนักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อย่าง แกรี่ เนวิลล์, เดวิด เบ็คแฮม, พอล สโคลส์ และ แอนดี้ โคล ไปเล่นกับทีมชาติอังกฤษ ในทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องที่ฝรั่งเศส (Le Tournoi de France) ก่อนฟุตบอลโลก 1998

"ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราต้องลงเล่นเฉลี่ย 50 เกมต่อฤดูกาล ฤดูกาลนี้ก็ไม่แตกต่างกัน จากนั้นยังมีเกมทีมชาติและเกมอุ่นเครื่องอีก โปรแกรมแน่นเกินไป นักเตะดาวรุ่งไม่ควรต้องกรำศึกหนักแบบนั้น" เฟอร์กี้ ให้เหตุผล

แต่สุดท้าย เซอร์ อเล็กซ์ ก็ต้องปล่อยนักเตะไปเล่นในทัวร์นาเมนต์นั้นอยู่ดี เพราะมันเป็นกฎของฟีฟ่าที่ไม่มีใครสามารถล้ำเส้นได้ นอกเสียจากจะมีเหตุผลรองรับตามที่ระบุในกฎ ถึงจะสามารถเก็บนักเตะไว้กับสโมสรได้

ความจริงแล้วโปรแกรมฟีฟ่าเดย์จะไม่ใช่ปัญหาเลย ถ้าสโมสร, ทีมชาติ และนักเตะ ทำตัวให้สมกับคำว่ามืออาชีพ มีความตรงไปตรงมา ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และเคารพกฎของฟีฟ่า แค่นี้ทุกอย่างก็จะดำเนินไปตามกลไกลของมัน ฟุตบอลก็สามารถขับเคลื่อนไปได้ทั้งระบบ  

อ้างอิง : https://www.goal.com/en/news/can-football-clubs-prevent-players-from-playing-international-matches/eksoltaiss191hjygdwoch6u8?fbclid=IwAR2tpZODwiJEXNsNXh5duaQ8MQSnK3j8R_ucOsQUO58aPux-OM5_ih8GYcg

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ฟุตบอล, อนิเมะ, กาแฟ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ